ไทยแลนด์ แดนถังขยะโลก ช่องโหว่กฎหมายกับภาระที่คนไทยต้องแบก

ถือเป็นกรณีที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับ “การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “ขยะอันตราย” ซึ่งมีแหล่งที่มาจากหลากหลายประเทศ เพื่อรีไซเคิล คัดแยก หรือแปรสภาพบางส่วนในประเทศไทย

ดังกรณีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้กลวิธีหลบเลี่ยงรูปแบบต่างๆ อาทิ สำแดงเท็จโดยขออนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทอื่น แต่กลับขนขยะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารเคมีและโลหะหนักเข้ามา, นำซากอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมาในตู้สินค้าที่ไม่เข้าข่ายอนุสัญญาบาเซล, สำแดงว่าเป็นสินค้านำเข้าเพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 และประเทศไทยเป็นเพียงทางผ่าน จากนั้นก็รู้กันกับเจ้าหน้าที่โดยแอบเปิดตู้และขนสินค้าออกไป ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ตรงกับใบนำเข้า

ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ประเทศไทยเองกลายเป็น “ถังขยะของโลก” แทนที่ประเทศจีน

เนื่องจากปีที่ผ่านมา ประเทศจีนเคยรับขยะดังกล่าวไปรีไซเคิล และประกาศไม่รับขยะอีก 24 ประเภท จากเดิม 69 ประเภท เช่น ขยะโรงเรือน, พลาสติกครัวเรือน และเตรียมประกาศห้ามนำเข้าเพิ่มอีก 32 ประเภท เช่น เศษไม้ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพราะจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในประเทศ

Advertisement

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์ขยะอันตรายในประเทศไทยคือ ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (1 ม.ค.-31 พ.ค.) ไทยนำเข้าขยะอันตรายมาแล้วถึง 8,694 ตัน หากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้อย่างปี พ.ศ.2558 นำเข้ามา 65,000 ตัน ปี พ.ศ.2559 นำเข้า 69,000 ตัน และปี พ.ศ.2560 นำเข้ามา 166,800 ตัน พบว่าตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้อนุญาตให้นำเข้าขยะอันตรายตามสิทธิของประเทศสมาชิกในอนุสัญญาบาเซลคอยควบคุมการนำเข้าสินค้าหรือขยะอันตราย โดยไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน และเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

เครดิตภาพ Florian Witulski-The Guardian

แต่เมื่อถึงเวลาที่จีนปิดประเทศจากการรับขยะอันตรายประเทศต่างๆ ทั้ง 35 ประเทศที่เคยส่งขยะอันตรายไปยังประเทศจีนจึงมีความจำเป็นต้องมองหา “ประเทศที่พร้อมจะเป็นถังขยะใบใหม่” โดยจะดูจากประเทศที่มีช่องโหว่ กฎหมายอ่อนแอ และเป็นประเทศสมาชิกในอนุสัญญาบาเซล ซึ่ง “ไทย” เป็นประเทศที่เข้าข่าย

อย่างไรก็ตาม ขยะอันตรายกว่าร้อยละ 90 ที่ถูกส่งไปยังประเทศจีนนั้นมาจากฮ่องกงและออสเตรเลีย เนื่องจากประเทศดังกล่าวไม่สามารถจัดการกับขยะอันตรายภายในประเทศของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีขยะอันตรายที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป รวมทั้งหมด 35 ประเทศ

Advertisement

นอกจากขยะอันตรายจะต่างประเทศแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ไทยมีขยะอันตรายอยู่มากมาย ส่วนหนึ่งมาจากขยะชุมชนหรือขยะครัวเรือน ซึ่งในปี พ.ศ.2559 กรมควบคุมมลพิษรายงานว่าประเทศไทยมีของเสียอันตรายจากชุมชนมากถึง 606,319 ตัน เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชน 393,070 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65 เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2.2 ต่อปี

สนธิ คชวัฒน์

จากประเด็นดังกล่าว สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้แสดงความเห็นในงานเสวนา “ไทยแลนด์แดนถังขยะโลก” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ในปัจุบันมีโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอันตราย โดยเฉพาะโรงงานประเภท 105 ที่ใช้คัดแยกและฝังกลบ และโรงงานประเภท 106 ที่ใช้สำหรับรีไซเคิลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่เกษตรกรรม สืบเนื่องมาจากประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 4/2559 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่อนุญาตให้สร้างโรงงานที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องมีผังเมืองบังคับ นอกจากนี้โรงงานดังกล่าวยังไม่ต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเมื่อใช้ร่วมกับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ทำให้ต้องทำงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดโรงงานภายในประเทศไทยที่นอกจากจะต้องรับมือกับขยะอันตรายภายในประเทศแล้ว ยังต้องคอยรองรับขยะอันตรายจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก

“สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาและป้องกันการที่ประเทศไทยอาจกลายเป็นถังขยะโลกในอนาคต ผมแบ่งออกเป็น 6 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนในการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย โดยยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพ หรือเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบ 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรต้องบูรณาการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบขนซากอุปกรณ์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เช่น การตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ ติดตั้ง GPS รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ทุกคันที่จะไปโรงงานตามที่สำแดงว่าไปยังโรงงานดังกล่าวจริงหรือไม่ เนื่องจากบางรายไปยังโรงงานที่ไม่ได้สำแดงไว้ หรือโรงงานที่ไม่ถูกกฎหมาย เพื่อป้องกัน

“3.กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเร่งตรวจสอบโรงงานประเภท 105 และ 106 ในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเข้มงวด 4.กำหนดให้โรงงานจัดการกากอุตสาหกรรมประเภท 101, 105 และ 106 ที่จะเกิดขึ้นใหม่ ต้องเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรมเท่านั้น รวมถึงผลักดันของเดิมให้เข้าร่วมด้วย ไม่ควรจัดตั้งเป็นโรงงานเดี่ยว พร้อมทั้งยกเลิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภทให้รวมถึงโรงงานประเภท 101, 105 และ 106 ด้วย 5.ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้โรงงานที่รับรีไซเคิลของเสียอันตรายทุกประเภทต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และต้องจัดรับฟังความเห็นของประชาชนในทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็น และ 6.เร่งออกพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. … เพื่อจัดการนำซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในชุมชนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในประเทศซึ่งมีถึงเกือบ 400,000 ตันต่อปี”

กุลิศ สมบัติศิริ

ส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบและอำนาจของ “กรมศุลกากร” นั้น กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ทางกรมศุลกากรเองเตรียมยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาว่าถูกต้องตามเอกสารที่ได้สำแดงมาหรือไม่ ซึ่งศุลกากรมีอำนาจอนุญาตนำเข้าของเสียและขยะอันตรายให้เคลื่อนย้ายอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 โดยผู้นำเข้าจะต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง พร้อมแสดงเอกสารแหล่งกำเนิดของเสียอันตราย และรายละเอียดโรงงานที่จะเป็นผู้รีไซเคิลว่ามีขีดความสามารถทำลายขยะและของเสียได้มากพอและถูกต้อง รวมถึงใบขนส่งสินค้า หลังจากนี้จะสั่งเฝ้าระวังทุกท่าเรือของกรมศุลกากร และกักกันสินค้าที่เข้าข่ายต้องสงสัย โดยกรมเองเตรียมจะตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประเภทขยะอันตรายให้เข้มงวดมากขึ้น และเตรียมประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทำงานบูรณาการร่วมกัน

“นอกจากการกักกันสินค้าที่เป็นปัญหาแล้ว อาจประสานกับแหล่งประเทศต้นทางเพื่อส่งกลับ เนื่องจากถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้น สินค้าจะกลายเป็นของกลาง และไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด หากสินค้าอยู่ที่ท่าเรือนานเกินไปอาจส่งผลเสียได้ เช่น ฝนตกหรืออากาศร้อนจัด อาจส่งผลให้ตัวสินค้ามีสภาพเปลี่ยนไป ก่อให้เกิดอันตรายได้”

อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวต่อว่า หากสินค้าจากโรงงานใดที่ติดบัญชีดำของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทางกรมจะต้องแจ้งมาที่กรมศุลกากรเพื่อตีกลับสินค้าที่มาจากโรงงานดังกล่าว หรือป้องกันไม่ให้สินค้าจากแหล่งนั้นเข้ามายังประเทศไทยในครั้งต่อไป อีกทั้งการจับกุมเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เนื่องจากต้นทางคือการคิดให้รอบคอบว่า เราได้ขยะมาแล้วจะจัดการอย่างไรต่อไป ซึ่งการทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำฐานข้อมูลเพื่อให้เข้าถึงได้ร่วมกัน รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มาประจำการที่กรมศุลกากร เพื่อคอยตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและตู้สินค้าที่มีการนำเข้ามา

ขณะที่เสียงจากตัวแทนชาวบ้านจาก อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อย่าง จร เนาวโอภาส ได้สะท้อนผลกระทบจากการมีโรงงานอยู่ในพื้นที่ชุมชนกว่า 10 ปีว่า การก่อสร้างโรงงานใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก จึงเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงงานมากขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลและควบคุมโรงงานแต่ละพื้นที่

“สุดท้ายคือ ต้องการให้ผู้ประกอบการทำรายงานการทำงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบำบัดและฝังกลบ เพื่อป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากโรงงานและสงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย”

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีตัวเลขการนำเข้าขยะอันตรายที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป ภายหลังจีนเลิกนำเข้าสินค้าขยะอันตรายทุกประเภท หากไม่มีวิธีการจัดการที่เด็ดขาดในอนาคตอันใกล้ ไทยอาจตกอยู่ในสภาพเดียวกับจีน หรือในสภาพใกล้เคียงกัน นั่นคือ “การเป็นถังขยะโลกลำดับต่อไป”

หากต้องการให้มีมาตรการจัดการที่เด็ดขาด ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้น เพื่อสภาพแวดล้อมในประเทศที่ดี รวมถึงสุขภาพของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะความเข้มแข็งในการจัดการด้านนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image