มหัศจรรย์การ์ตูน : เล่นอะไรให้บำรุงสมอง โดย : วินิทรา นวลละออง

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเล่าถึงแอนิเมชั่น “Seven Senses of the Re’Union” กล่าวถึงโลกยุคอนาคตที่สามารถเชื่อมต่อประสาทสัมผัสของตนเองเข้ากับเครื่องเล่นเกมทำให้เกิดความรู้สึกสมจริงมากขึ้น “อาซาฮี” เด็กสาววัยประถมซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักเล่นเกมชั้นแนวหน้าเสียชีวิตกะทันหัน พร้อมกับที่ตัวผู้เล่นของเธอตายในเกม ส่งผลให้เกมนี้ถูกสั่งระงับการเล่นทันที ผ่านไป 6 ปี เกมนี้กลับมาเปิดให้เล่นอีกครั้ง “ฮารุโตะ” ซึ่งเสียใจกับการเสียชีวิตของอาซาฮีตลอด 6 ปีที่ผ่านมา กลับไปเล่นเกมอีกครั้งหนึ่งและพบว่าอาซาฮียังคงอยู่ในเกมแม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม มีบางส่วนของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่สะท้อนค่านิยมของเด็กยุคใหม่ได้ดีค่ะ ในแอนิเมชั่นบอกว่านักเล่นเกมคนใดที่เล่นเกมนี้ได้เก่งมากจะมีโอกาสเข้าร่วมทำงานกับบริษัทเกมแห่งนี้และอาจมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บริหารของบริษัทด้วย การเล่นเกมจึงไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อีกต่อไป เพราะหากเล่นจนเก่งก็จะมีอนาคตดีๆ รออยู่ด้วย แอนิเมชั่นกำลังบอกเราว่าคนเล่นเกมเก่งย่อมมีพื้นฐานเป็นคนเก่ง และการรับคนเก่งเหล่านี้มาร่วมงานกันย่อมง่ายกว่ารับนักศึกษาจบใหม่มาฝึกงาน แท้จริงแล้วเกมเป็นตัวบอกความเก่งของเราได้มากขนาดนั้นจริงหรือ

ชายหนุ่มคนหนึ่งที่เคยพบหน้ากันครั้งสองครั้งสมัยมัธยมปลายไม่ยอมมาพบจิตแพทย์ตามนัดค่ะ คุณแม่ของเขาเป็นคนมาพบเสียแทนด้วยปัญหาเครียดกับลูกชายคนนี้ หนุ่มคนนี้ควรจะเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 แล้ว แต่กลับยังสอบไม่ผ่านชั้นปีที่ 1 เนื่องจากแทบไม่เข้าเรียนเลย เดิมเป็นคนขยัน น่ารัก และเข้าสังคมได้เก่ง แต่อยู่มาวันหนึ่งกลับเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากเจอเพื่อน อยู่แต่ในบ้านแล้วเล่นเกมออนไลน์ทุกวัน ช่วงแรกทุกคนในบ้านเชื่อว่าหนุ่มน้อยเป็นโรคซึมเศร้าและพยายามพามารักษา แต่หนุ่มน้อยคนนี้ยืนยันว่ากินยาแล้วอาการไม่ได้ดีขึ้นเลย ทั้งหมดเป็นอาการเบื่อที่เกิดขึ้นเองและเลือกจะไม่กินยาพร้อมกับอยู่บ้านเล่นเกมต่อไป คุณพ่อซึ่งเชื่อว่าลูกชายน่าจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้ต่อว่าที่ลูกชายไม่ไปเรียน กลับยังคอยให้กำลังใจและพยายามพาออกไปเที่ยวหรือกินข้าวนอกบ้านซึ่งลูกชายก็ไม่ค่อยจะยอมไป ความที่คุณพ่อทำงานต่างจังหวัดและกลับบ้านนานๆ ครั้ง ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับคุณแม่ที่พยายามใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งก็ยังไม่สามารถทำให้ลูกชายไปเรียนได้ นานเข้าก็เริ่มหนักข้อ เริ่มกินนอนไม่เป็นเวลา ไปอยู่บ้านเพื่อนครั้งละนานๆ เพื่อฟอร์มทีมเล่นเกมด้วยกัน คุณแม่เป็นห่วงจึงยอมเปิดบ้านตัวเองให้เพื่อนเป็นฝ่ายมาอยู่เสียแทน ผ่านไปหลายปีจนพี่ๆ บอกให้แม่ทำใจเถอะ ถ้าแม่เป็นห่วงน้องมากเดี๋ยวพี่ทุกคนรับปากว่าจะช่วยดูแลน้องคนนี้ให้เอง ถึงน้องจะไม่มีงานทำหรือไม่มีเงิน พี่ก็จะไม่ทิ้งน้อง พูดแบบนี้คุณแม่จึงค่อยหายเครียดค่ะ วันนี้คุณแม่ก็มาพบตามนัดด้วยสีหน้าสดชื่น

“ช่วงนี้ลูกชายเป็นอย่างไรบ้างคะ ยอมไปเรียนหรือยังคะ”

“ยังค่ะคุณหมอ เขายังอยู่แต่บ้าน ตอนนี้ก็เลยรีไทร์จากมหาวิทยาลัยแล้วค่ะ”

Advertisement

“คุณแม่คงเป็นห่วงเขามาก”

คุณแม่ได้ฟังก็อมยิ้มแล้วส่ายหน้าค่ะ

“ไม่เป็นห่วงแล้วค่ะคุณหมอ ล่าสุดเขากับเพื่อนไปแข่งอีสปอร์ตด้วยกัน เขาชนะได้เงินรางวัลมา 6 หมื่นบาทค่ะ แล้วหลังจากนั้นก็เหมือนเบื่อแล้วเลิกเล่นเกมไป ตอนนี้หันมาสนใจเล่นหุ้น มาให้แม่สอนดูหุ้น เขาบอกสนใจอยากไปเรียนเพิ่มเติมก็เลยบอกเขาว่าคณะที่ตัวเองโดนรีไทร์ออกมานั่นแหละเขาสอนเรื่องหุ้นด้วย เขาก็หัวเราะใหญ่เลย บอกว่าถ้ารู้อย่างนี้ก็จะไปเรียนตั้งแต่แรก”

“แล้วเขากลับไปเรียนอีกครั้งไหมคะ”

“ไม่ค่ะ เขาไม่ชอบไปเรียนในห้องเรียน ตอนนี้เขาซื้อหนังสือมาอ่านเอง ลองซื้อหุ้นเอง สงสัยก็มาถามแม่ เขาน่าจะชอบการเรียนแบบนี้มากกว่า”

สรุปว่าหนุ่มน้อยคนนี้อาจไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ เขาอาจจะเบื่อการใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปซึ่งต้องตื่นเช้าไปเข้าห้องเรียนแล้วก็คบเพื่อนที่ไม่ได้มีความชอบเหมือนกับเขา แม้จะใช้ชีวิตเหมือนเด็กติดเกมอยู่ช่วงหนึ่งแต่เขาก็พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นนักเล่นเกมที่เก่งมากถึงขนาดแข่งชนะจนได้รางวัล หลังจากนั้นเขาก็พบสิ่งที่ตัวเองชอบและสามารถทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม เขามีต้นทุนดีตรงที่เป็นคนเรียนเก่งมากมาก่อน ทางบ้านมีฐานะค่อนข้างดีมาก และครอบครัวส่วนใหญ่เข้าใจหรือพูดให้ถูกคือครอบครัวปลงตกจึงไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรง

พูดถึงเกมกับความเก่งทำให้นึกถึงเกมหรือ app ในปัจจุบันที่อ้างว่าหากเล่นจนเก่งแล้วจะสามารถพัฒนาสมองหรือเพิ่ม IQ ได้ มีผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Neuropsychologia บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่ควรด่วนสรุป เขาทดสอบให้คนเล่นเกมที่อ้างว่าช่วยพัฒนาสมองติดต่อกันระยะเวลาหนึ่งแล้วให้เปลี่ยนไปเล่นเกมที่สอง หากเกมแรกพัฒนาสมองจริง ผลการเล่นเกมที่สองก็ควรจะดีขึ้นแต่กลับไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้เล่นเกมพัฒนาสมองเกมแรกมาก่อน จึงสรุปว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกมสามารถพัฒนาสมองได้จริง

กิจกรรมที่มีหลักฐานว่าพัฒนาสมองจริงกลับไม่จำเป็นต้องเสียเงินมาก ได้แก่ นอนหลับอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ และการศึกษาค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image