ระบบเตือนภัยน้ำโขง ความร่วมมือต้องเร่งสร้าง : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

DCIM100MEDIADJI_0019.JPG

ภายหลังพายุโซนร้อนเบบินคาพัดเข้าบริเวณภาคเหนือและอีสานในระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากพัดเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และส่งผลให้แม่น้ำลำธารสายต่างๆ เอ่อล้นตลิ่งเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัยและการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ริมแม่น้ำโขงที่ทยอยได้รับผลกระทบตั้งแต่เที่ยงวันที่ 19 สิงหาคมตลอดชายฝั่งทั้งไทยและลาว โดยมีการแจ้งเตือนให้ยกของขึ้นที่สูงและอพยพผู้คนล่วงหน้าเพียงไม่นาน

สภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงระบบแจ้งเตือนภัยและการประมาณการน้ำฝน น้ำในลำน้ำ และการจัดการภัยพิบัติจากสภาพลมฟ้าอากาศที่ขาดความร่วมมือกัน ไม่สามารถเตือนภัยและคาดเดาล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสียหายได้เท่าที่ควร แม้ว่าจะมีความพยายามสร้างเครือข่ายป้องกันภัยในแต่ละจังหวัด แต่ก็ยังต้องเพิ่มเติมการประสานงานที่ต่อเนื่องทั่วถึงและคำนวณได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เนื่องจากการพยากรณ์อากาศนั้นสามารถรู้ถึงพายุหรือหย่อมความกดอากาสที่ก่อให้เกิดฝน พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่รับน้ำ และพื้นที่ริมฝั่งน้ำ ในแต่ละท้องที่มีความเชื่อมโยงกัน หากพื้นที่ต้นน้ำมีปริมาณน้ำฝนมาก ก็ต้องส่งข่าวให้พื้นที่ปลายน้ำเตรียมรอรับสถานการณ์ให้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดความเสียหาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่น้ำโขงอันเป็นแม่น้ำนานาชาติ อาศัยลำน้ำสาขาจากประเทศจีน ไทยและลาว สมทบไหลลงสู่ลำน้ำใหญ่ ลำพังปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงอาจจะไม่มากพอที่จะเอ่อล้นท่วมเมืองริมน้ำ แต่เมื่อลำน้ำสาขาได้รับผลกระทบจากฝนไหลลงสู่น้ำโขง แล้วน้ำโขงสามารถรองรับน้ำได้ น้ำในลำน้ำสาขาก็จะไหลย้อนขึ้นท่วมกลับไปตามเส้นทางลำน้ำนั้น สร้างภัยพิบัติรุนแรงในทุกเขตที่ลำน้ำสาขาไหลผ่านอย่างไม่ทันคาดคิด รวมถึงการคาดการแจ้งเตือนการปล่อยน้ำจากเขื่อนย่อยของลำน้ำสาขาที่ต้องนำมาคำนวณร่วมกัน เช่น กรณีเขื่อนน้ำงึม 1 และ 2 ของลาวเปิดประตูระบายน้ำต่อเนื่อง ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับน้ำโขง ทำให้พื้นที่ปลายน้ำต้องรองรับน้ำจำนวนมากสมทบกัน และยิ่งเมื่อเขื่อนทางตอนใต้ของจีน เช่น เขื่อนจิ่งหงเปิดระบายน้ำจากต้นลำน้ำโขงเพราะมีฝนตกหนักเหนือเขื่อน ภาวะน้ำท่วมก็ยิ่งจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าฝนจะไม่ตกในไทยและลาวเลยก็ตาม

ปัจจุบันแต่ละเขตพื้นที่ แต่ละจังหวัด มีการตรวจวัดระดับน้ำ การแจ้งเตือน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของตนเอง โดยบางจังหวัดมีกล้องวงจรปิดจับภาพระดับน้ำให้ดูออนไลน์ เช่น ที่เชียงราย แต่ความเชื่อมโยงและเครือข่ายที่สามารถคำนวณเตือนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องยังขาดแคลนอยู่ ในส่วนนี้พบว่าไม่มีหน่วยงานไหนรับเป็นเจ้าภาพประสานจัดการให้เกิดขึ้น ทำให้การป้องกันความเสียหายกลายเป็นความสามารถเฉพาะบุคคลของเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดว่า ที่ไหนทำงานดี ที่ไหนทำงานช้า

Advertisement

หากเกิดการประสานงานกันอย่างทั่วถึงตั้งแต่ต้นน้ำในจีน ลำน้ำสาขาในลาว จนถึงไทย ก็จะช่วยบรรเทาความเสียหาย ไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในลาวและไทยเท่านั้น ยังจะช่วยเหลือพื้นที่ปลายแม่น้ำโขงในกัมพูชาและเวียดนามได้อีกด้วยคณะกรรมการความร่วมมือแม่น้ำโขง และหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขง จึงต้องเร่งสร้างระบบบริหารจัดการและเตือนภัยของแม่น้ำร่วมกัน เพราะในโลกที่สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรุนแรงขึ้น พายุและภัยพิบัติธรรมชาตินั้นก็เกิดบ่อยและถี่ขึ้น

หากไม่สร้างระบบรับมือให้ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่แค่พื้นที่ริมน้ำเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่เขื่อนและเมืองที่อยู่ตามลำน้ำก็อาจก่อหายนะได้รุนแรงจากการรับมืออย่างไม่ทันท่วงที เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่เมืองสะหนามไซในลาว แต่หากเกิดบนแม่น้ำโขง หายนะนั้นจะยิ่งรุนแรงกว่าและส่งผลกระทบกว้างไกลกว่าอีกหลายเท่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image