มหัศจรรย์การ์ตูน : ความสมบูรณ์แบบที่น่าอึดอัด : โดย วินิทรา นวลละออง

ปัจจุบันนี้โลกชอบคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) มากขึ้นค่ะ เห็นได้จากโฆษณาว่าต้องใช้ผลิตภัณฑ์นี้เพื่อชีวิตที่สมบูรณ์แบบ หรือซื้อบ้านในหมู่บ้านนี้เพื่อให้ลูกได้อยู่ในสังคมที่สมบูรณ์แบบ กระทั่งในการทำงานเราก็ยังต้องการความสมบูรณ์แบบเพื่อบ่งบอกประสิทธิภาพการทำงานของเรา การนิยมความสมบูรณ์แบบ หมายถึง ส่วนผสมระหว่างมาตรฐานที่สูงกว่าปกติของตัวเองกับการประเมินตัวเองไปในทางจับผิดมากเกินไป แบ่งออกคร่าวๆ เป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มที่คาดหวังให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ คาดหวังให้คนอื่นสมบูรณ์แบบ และคาดหวังให้คนอื่นมองว่าตัวเราเองสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็จะทุกข์กันไปคนละอย่าง

นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งต้องการความสมบูรณ์แบบในด้านการเรียนอย่างมาก แต่น่าเห็นใจที่เขาไม่รู้ตัวสักนิดค่ะ เขาถูกอาจารย์บังคับให้มาพบจิตแพทย์หลังมีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนอย่างรุนแรงในมหาวิทยาลัยและโกรธจนทำลายสิ่งของในที่สาธารณะ เขาอ้างว่าสาเหตุที่ทะเลาะกันเนื่องจากเพื่อนพูดจาดูถูกเขา ที่จริงอาการเครียดเริ่มมีตั้งแต่สอบปี 2 ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้เกรด B เขาเชื่อว่าเพราะตัวเองไม่เก่งพอจึงไม่ได้ A ในวิชานี้ จึงพยายามเรียนหนักมากขึ้น ในเทอมต่อมาก็ยังมีวิชาที่ได้ B อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เกรดเฉลี่ยโดยรวมของเขายังอยู่ในอันดับหนึ่งของคณะ วันที่ทะเลาะกันเพื่อนเห็นเขาอ่านหนังสืออยู่ก็เลยแซวว่าเพราะขยันแบบนี้นี่เองถึงได้เรียนเก่ง เขาจึงโกรธมากเพราะเชื่อว่าตัวเองไม่เก่ง ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากมาตรฐานต่อผลการเรียนของตัวเองที่สูงกว่าปกติและการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมากเกินไปตามแบบคนนิยมความสมบูรณ์แบบ เมื่อได้ยินเพื่อนแซวแบบนี้จึงคิดว่าเพื่อนล้อเลียนคนไม่เก่งอย่างเขา ก็เลยอาละวาดเสียใหญ่โต

“หมอมองดูจากมุมของคนทั่วไปนะคะ ถ้าคุณสอบได้คะแนนสูงขนาดนี้ ก็น่าจะแปลว่าคุณเก่งตามที่เพื่อนบอกไม่ใช่เหรอคะ”

“ผมไม่ได้เก่ง! มีคนเก่งกว่าผม!”

Advertisement

“ใครเหรอคะ”

“คนที่ได้ A แต่ผมได้ B”

“ใช่ค่ะ เขาทำคะแนนได้มากกว่าคุณในวิชานี้ แต่หมอก็เห็นว่าพอดูภาพรวมคุณก็ได้คะแนนสูงมาก”

“ก็ผมไม่เก่งผมเลยต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเป็นสิบเท่าถึงจะได้คะแนนเท่านี้ คนเก่งจริงเขาไม่ต้องพยายามก็ทำคะแนนได้เท่านี้แล้ว”

“แปลว่าคุณเชื่อว่าคุณไม่เก่งเพราะคุณต้องพยายามอย่างมากถึงจะเก่ง แล้วมีจริงๆ เหรอคะ คนที่ไม่ต้องพยายามก็ได้คะแนนดี ถ้ามีจริง เขาก็น่าจะได้คะแนนสูงมากเหมือนคุณแล้ว”

“ก็เขาได้ A ไง”

“ไม่คิดว่าเขาก็พยายามอย่างหนักเหรอคะ”

“ไม่ ไม่มีใครพยายามมากเท่าผมอีกแล้ว”

ดูเหมือนเหตุผลสำหรับคนทั่วไปจะใช้ไม่ได้กับคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบอย่างยิ่งยวดค่ะ นักศึกษาหนุ่มคนนี้มีปัญหาซึมเศร้าท้อแท้จากความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอยู่ตลอดเวลา เขาควรลองศึกษาจากหนุ่มคนนี้บ้างค่ะ ศาสตราจารย์มอริอาร์ตี้จาก “Moriarty the Patriot” มาถึงเล่ม 3 แล้วที่เขาวางแผนฆาตกรรมสมบูรณ์แบบเพื่อจัดการขุนนางที่จิตใจต่ำทราม ในเล่มนี้เขาวางแผนฆาตกรรมขุนนางกลุ่มหนึ่งซึ่งจับเด็กจรจัดในเมืองไปทรมานและฆ่าตายหลายคน ในครั้งนี้เขาตั้งใจทดสอบฝีมือของนักสืบ “เชอร์ล็อค โฮล์ม” คู่ปรับคนสำคัญว่าจะทำลายแผนการฆาตกรรมที่สมบูรณ์แบบได้หรือไม่ แม้โฮล์มจะจับคนร้ายตัวจริงได้จนทำให้แผนฆาตกรรมไม่สมบูรณ์แบบ แต่ ศ.มอริอาร์ตี้ก็ไม่ได้รู้สึกซึมเศร้าเหมือนผู้นิยมความสมบูรณ์แบบแต่อย่างใด เขากลับมุ่งมั่นวางแผนฆาตกรรมขุนนางเลวต่อไป แม้การกระทำของ ศ.มอริอาร์ตี้จะไม่ดีนัก แต่ก็น่าเก็บมาศึกษาว่าทำไมเขาจึงไม่เผชิญกับปัญหาซึมเศร้าเหมือนผู้นิยมความสมบูรณ์แบบคนอื่น

ศ.พอล ฮิวอิท จาก Perfectionism and Psychopathology Lab จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียแนะนำวิธีการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากความต้องการสมบูรณ์แบบไว้ 3 วิธีดังนี้ค่ะ ข้อแรก อย่านำความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem) ไปผูกกับความสามารถของตนเอง เช่น เราต้องวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 จึงจะภูมิใจในตัวเอง ถ้าไม่เข้าที่ 1 แสดงว่าตัวเราไม่น่าภูมิใจ ลองคิดใหม่ด้วยการเมตตาตัวเองบ้าง โฟกัสไปที่ความพยายามของตัวเองมากกว่าผลลัพธ์ความสำเร็จ แล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจที่เราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ข้อสอง อย่ารีบทึกทักว่าตัวเองไม่เก่งจากความผิดพลาดแค่ครั้งเดียว เมื่อพลาดให้ลองโฟกัสไปที่เรื่องดีๆ ที่เคยเกิดหรือกำลังจะเกิดในอนาคต เช่น เตะฟุตบอลไม่เข้าโกล แทนที่จะคิดว่าไม่เก่งจึงเตะไม่เข้า อาจลองคิดไปว่าห่างไปแค่ฟุตเดียว ครั้งหน้าต้องเข้าได้แน่ ข้อสาม ทำงานให้เสร็จดีกว่าทำงานให้สมบูรณ์แบบ เมื่อเสร็จงานแล้วอย่ามัวคิดว่าสมบูรณ์แบบหรือยัง เพราะงานเสร็จก็คือเสร็จไปแล้ว

ถ้าหนุ่มนักศึกษาอยากลดความทุกข์ที่เกิดจากความต้องการเป็นนักเรียนที่สมบูรณ์แบบ เขาต้องลองชื่นชมความพยายามของตัวเองบ้างที่ขยันอ่านหนังสือมากกว่าเพื่อนหลายคน เมื่อได้ B ก็ให้มองว่าเกรดโดยรวมยังดี หรือโดยรวมก็ยัง A มากกว่า B และเมื่อสอบผ่านไปแล้วก็อย่าเก็บมาใส่ใจอีก ให้มุ่งเรียนวิชาต่อไปดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image