ไหลเรือ, ลอยกระทง นาฏกรรมแห่งรัฐจารีต โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขบวนไล่เรือ ส่งน้ำ สมัยอยุธยา (คาดว่าไปบางขดาน) ภาพพิมพ์โดยอองรี อาบราฮัม ชาเตอแลง นักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา รวมอยู่ในหนังสือซึ่งพิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2262 (ตรงกับกลางรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ) (ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

ลอยกระทง เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ ของรัฐนาฏกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องทำประจำปีเพื่อการเมืองการปกครอง อันมีระเบียบขั้นตอนซับซ้อน และเหลื่อมล้ำ ตามลำดับที่สูงที่ต่ำ ผู้ใหญ่ผู้น้อย

เป็นกิจกรรมสืบเนื่องจากพิธีกรรมดั้งเดิมขอขมาผีน้ำผีดิน มีในช่วงน้ำนองกับน้ำทรงขึ้นสูงสุด เรียก “เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง” เพื่อวิงวอนร้องขอให้น้ำลด ชาวนาจะได้เก็บเกี่ยว ได้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ เฉลิมฉลองปีนักษัตรใหม่ที่ใกล้เข้ามา เดือน 1 เรียก เดือนอ้าย

เทียบปัจจุบัน คือ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พบหลักฐานเก่าทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง มีลำดับกว้างๆ ดังนี้ แข่งเรือ, ไล่เรือส่งน้ำ, ลอยโคมดอกบัว (หรือลอยกระทง)

ลายเส้นฝีมือช่างในคณะสำรวจชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขง ระหว่าง พ.ศ. 2409-2411 เมื่อปลายแผ่นดิน ร.4 ถึงต้นแผ่นดิน ร.5 (ขวา) ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ราว พ.ศ. 2416 สมัย ร.5
ไหลเฮือ, ส่วงเฮือ ของชุมชนบ้านเมืองสองฝั่งโขง โดยคาดเดาจากลักษณะของภาพ

แข่งเรือ, ส่วงเฮือ

แข่งเรือ ลาวว่า ส่วงเฮือ เป็นพิธีกรรมเสี่ยงทายทำนายสถานการณ์ข้างหน้าของพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร จะได้เตรียมรับมือทันท่วงที (ต่อมามีการพนันด้วย)

Advertisement

ราชสำนักอยุธยามีนาฏกรรมแห่งรัฐ แข่งเรือมเหสีกับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วมีคำทำนายความอุดมสมบูรณ์ (มีในกฎมณเฑียรบาล)

ไล่เรือ, ไหลเฮือ

ไล่เรือ ลาวว่า ไหลเฮือ เป็นพิธีกรรมขอขมาผีน้ำผีดิน โดยการลอยเครื่องเซ่นไปตามน้ำไหลด้วยแพหยวกกล้วย หรือกระบอกไผ่

ต่อมาพัฒนาเป็นเรือขนาดต่างๆ และขบวนเรือของราชอาณาจักร แล้วเพิ่มความหมายว่าบูชาพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ (วันพระเจ้าเปิดโลก) และบูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที

นานเข้าชุมชนลุ่มน้ำโขงก็ปรับเปลี่ยนประดับประดาด้วยไฟหลากสีเรียก ไหลเฮือไฟ (เช่น งานที่ จ. นครพนม) เรียกทั่วไปตามภาคกลางว่า ไหลเรือไฟ

สมัยต้นอยุธยา มีบอกในกฎมณเฑียรบาล เป็นพระราชพิธีฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่เดือน 11 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) หลังออกพรรษา มีไล่เรือ ส่งน้ำ ล่องลงไปทางใต้ ทำพิธีที่ บางขดาน บริเวณสะดือดิน มีน้ำวน (อยู่ใต้ขนอนหลวง วัดโปรดสัตว์ ทางเหนือบ้านเลน บางปะอิน)

มีเห่เรือ ร้องขอขมาผีน้ำ (ขณะเรือจอดนิ่งทำพิธีกรรม ไม่ได้พายเคลื่อนที่) แล้ววิงวอนนาคบันดาลให้น้ำลดไหลลงบาดาล เพื่อชาวบ้านจะได้เก็บเกี่ยวข้าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image