‘เศรษฐพัฒน์’ ศูนย์บ่มเพาะคนพลังงาน ขับเคลื่อน ‘อุตสาหกรรมปิโตรเลียม’ เต็มประสิทธิภาพ

7 สิงหาคม พ.ศ.2523 คือวันเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมยูเนี่ยนออยล์” อย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย จ.สงขลา ด้วยเม็ดเงินก่อสร้างในสมัยนั้นกว่าร้อยล้านบาท

ศูนย์พัฒนาบุคลากรอันเกิดจากความสำเร็จในการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จนสามารถลงนามสัญญาขายก๊าซฉบับแรกได้ โดยบริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ หรือยูเนี่ยนออยล์ในขณะนั้น ปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงเกิดแนวคิดสร้างศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมชาวไทยทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อไปปฏิบัติงาน ณ แหล่งก๊าซธรรมชาติ “เอราวัณ” ที่กำลังจะเริ่มทำการผลิตเชิงพาณิชย์

เมษายน พ.ศ.2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการด้านการฝึกอบรมบุคลากรและการผลิตก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย พร้อมพระราชทานนามศูนย์ฝึกอบรมใหม่ว่า “เศรษฐพัฒน์” มาจากคำว่า “เศรษฐกิจ” และ “พัฒนา” จากนั้นในปี 2536 เชฟรอนได้เปิดศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ ERTC (Emergency Response Training Center) ขึ้นที่จังหวัดสงขลา ภายใต้การดูแลของเศรษฐพัฒน์ เพื่อฝึกอบรมความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟ โดยจำลองสถานที่ให้ใกล้เคียงกับแท่นขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม

หลักสูตรช่างเทคนิคปิโตรเลียมของ “เศรษฐพัฒน์” ใช้เวลาอบรมราว 6-8 เดือน โดยผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีเรื่องต่างๆ ตั้งแต่วิชาเทคโนโลยีปิโตรเลียมว่าด้วยการผลิตก๊าซธรรมชาติ การควบคุมการผลิต การซ่อมบำรุง ครอบคลุมการเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยา ไปจนถึงคุณสมบัติทางเคมีของก๊าซ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เน้นเรื่องความปลอดภัยและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมวิชาภาษาอังกฤษโดยเน้น “ภาษาอังกฤษบนแท่น” เรียนรู้การปฐมพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ฝึกหัดว่ายน้ำ ทักษะการช่วยเหลือตนเองให้อยู่รอดในน้ำ พร้อมวิธีใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ ตลอดจนการฝึกผจญเพลิงเพื่อให้พนักงานสามารถรับมือและมีประสบการณ์การผจญเพลิงในสภาพการณ์นอกฝั่ง หลังจากนั้น ผู้เข้าอบรมทุกคนต้องไปฝึกภาคปฏิบัติบนแท่นผลิตนอกฝั่ง เพื่อให้มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทาง อาทิ ด้านไฟฟ้า เครื่องยนต์ อุปกรณ์ การควบคุมกระบวนการผลิต โดยแต่ละภารกิจจะแบ่งเป็นกลุ่มขนาดเล็ก และมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด

ที่สำคัญคือ หลังจากพนักงานสำเร็จหลักสูตรการอบรมและเข้าทำงานกับเชฟรอนแล้ว ทุกคนต้องกลับมาฝึกทบทวนด้านความปลอดภัยที่เศรษฐพัฒน์ และ ERTC ตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลยก็ตาม

Advertisement

สอดคล้องกับ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ระบุว่า หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2523 ซึ่งเป็นปีที่เชฟรอนใกล้เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง “เอราวัณ” ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านปิโตรเลียมเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เชฟรอนเลยตัดสินใจผลิตบุคลากรเอง เพื่อสร้างงานให้กับคนไทยและทดแทนแรงงานต่างชาติให้เร็วที่สุด จนปัจจุบัน พนักงานที่ปฏิบัติงาน ณ แหล่งเอราวัณ ทั้งหมดเป็นคนไทย นอกจากการสร้างช่างเทคนิคปิโตรเลียม “เศรษฐพัฒน์” ยังจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอีกด้วย โดยพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาและความต้องการของอุตสาหกรรม

ทำให้วันนี้ “เศรษฐพัฒน์” ได้รับการยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอย่างเต็มเปี่ยม การันตีมาตรฐานการรับรองจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร หรือ OPITO (Offshore Petroleum Industry Training Organization) พร้อมด้วยการรับรองจากกรมเจ้าท่า ในการฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ ร่วมกับ มทร. ศรีวิชัย ตลอดจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนฝึกผจญเพลิงและการทำงานในพื้นที่อับอากาศ จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ.2560 “เศรษฐพัฒน์” ได้ผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมไปแล้วทั้งหมด 46 รุ่น เป็นจำนวน 1,700 คน รวมถึงฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปแล้วหลายแสนคน  ยิ่งไปกว่านั้น การที่เชฟรอนไม่เคยมีอุบัติการณ์ครั้งใหญ่ในทะเลเกิดขึ้นเลย ช่วยยืนยันความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้กับบุคลากร ที่มีเศรษฐพัฒน์เป็นกลไกสำคัญได้เป็นอย่างดี

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เศรษฐพัฒน์” เป็นมากกว่าศูนย์ฝึกอบรม พร้อมสร้างคนพลังงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอย่างเต็มประสิทธิภาพ และคาดหวังพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image