La tribu เรื่องตลกของคนเศร้า คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

ใครที่เคยหลงรักภาพยนตร์อังกฤษฟอร์มเล็กแต่เนื้อหาเข้มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจอย่าง “The Full Monty” อาจจะนึกครึ้มอยากดูภาพยนตร์สเปนเรื่องนี้ “La tribu” หรือในชื่อภาษาอังกฤษ “The Tribe” หนังที่ได้ฉายเปิดเทศกาล “Spanish Film Festival” ประจำปีนี้

“La tribu” ที่ว่ากันเผินๆ มีกลิ่นอายในแบบหนังดังโลกจำ The Full Monty ที่เป็นเรื่องราวกลุ่มชาย 6 คน ที่ตกงานและหันมารวมกลุ่มตั้ง “คณะโชว์ระบำเปลื้องผ้า” แบบหมดเปลือกล่อนจ้อนตามชื่อเรื่อง เป็นงานฟีลกู้ดที่มีอารมณ์ขัน เหนืออื่นใดคือสร้างความประทับใจให้คนดูล้นหลามทั้งมิตรภาพ และเข้าใจหัวอกหัวใจคนตกงานที่ต้องการกำลังใจ เป็นหนังดูเพลินๆ ที่กระแสดีมากเมื่อครั้งออกฉาย

มาในภาพยนตร์เรื่อง “La tribu” นั้น เล่าเรื่องของผู้คนชนชั้นแรงงาน เฉกเช่นใน The Full Monty โดยมีธีมหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ สภาพของการเป็น “คนตกงาน” และความต้องการ “กำลังใจในชีวิต”

ขณะที่อีกพล็อตหลักคู่ขนานคือ ความสัมพันธ์ของครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องรื้อฟื้นกลับมา เมื่อแม่กับลูกชายเพิ่งได้กลับมาเจอกันเป็นครั้งแรก หลังจากกันไปนานถึง 35 ปี เพราะมอบสิทธิเลี้ยงดูลูกให้ครอบครัวอื่นตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก

Advertisement

เหตุการณ์ในเรื่อง คือ การเผชิญหน้าและได้ใช้ชีวิตร่วมกันครั้งแรกของ “แม่วัยกลางคน” และ “ลูกชายวัย 35 ปี” ที่กำลังเศร้าสร้อยจากชีวิตชนิดกู่ไม่กลับ

ในหนัง The Full Monty ใช้เรื่องราวการเต้นระบำเปลื้องผ้าเป็นตัว “วัดค่า” ของการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มิตรภาพ และ “คุณค่าของมนุษย์”

ใน La tribu ใช้กลุ่ม “หญิงวัยคุณป้า” มารวมตัวตั้งทีม “สตรีทแดนซ์” เป็นคุณค่าของมิตรภาพของผู้หญิงหลากหลายอาชีพหน้าที่การงาน

Advertisement

หนังเริ่มเล่าเรื่องของ “ฟิเดล” ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีนิสัยไม่แยแสเพื่อนมนุษย์ ชีวิตเน้นต้นทุน-กำไร เขาทำการเลิกจ้างคนงานออกทีเดียว 200 คน จนเกิดม็อบประท้วง

แต่เมื่อโชคชะตาเล่นตลกกับเขา เพราะดันเกิดเรื่องฉาวโฉ่ทางเพศกับตัวเองจนถูกถ่ายคลิปวิดีโอโพสต์ลงโซเชียลมีเดียที่มีผู้คนดูมากกว่า 20 ล้านวิว จนเสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งกับบริษัทและตัวเขา

“ฟิเดล” กลายสภาพเป็นคนตกงานตามแรงงาน 200 คน ที่เขาเพิ่งเลิกจ้างไปด้วยในทันที ทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกล้อเลียนระดับชาติ

หนังแสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิต “ฟิเดล” หนุ่มที่เคยมีชีวิตหรูหราไฮโซ กลายสภาพเป็น “ผู้ถูกตัดสิน” จากสังคมทันที ทั้งแง่มุม “คนเลว” ที่เลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และ “ตัวตลก” บนโลกออนไลน์ กลายเป็นหนุ่ม Loser (ขี้แพ้) ภรรยาขอหย่าร้าง ต้องกินยาต้านซึมเศร้า และลงเอยพบจิตแพทย์ ที่ให้คำแนะนำว่า เขาต้องกล้า “เผชิญหน้าความจริง” และเลิกปฏิเสธมัน

นำมาสู่การเผชิญหน้ากับแม่ผู้ให้กำเนิดที่ไม่เคยเจอกันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

“เวอร์จิเนีย” หญิงวัยกลางคน มีอาชีพเป็นแม่บ้านทำความสะอาดประจำโรงแรม ทั้งตื่นเต้นและดีใจที่ “ฟิเดล” ติดต่อขอพบ

แต่ความอลเวงเกิดขึ้น สถานการณ์การพบกันครั้งแรกของแม่และลูกชายจึงกลายเป็นเรื่อง เมื่อ “ฟิเดล” เกิดสติแตกคล้ายคนจะฆ่าตัวตาย ผลกระทบจากอุบัติเหตุนั้นทำให้เขาความจำเสื่อมชั่วคราว “เวอร์จิเนีย” ตัดสินใจพา “ฟิเดล” มาอยู่ที่อพาร์ตเมนต์เพื่อรอความทรงจำของเขาฟื้นคืน

เมื่อ “ฟิเดล” ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่สดๆ ร้อนๆ ในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีน้องชายต่างพ่ออีก 2 คน เขาได้ค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถในการ “เต้นรำ” กระทั่งได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมแดนซ์ของก๊วนคุณป้า ที่แต่ละคนต่างก็มีคาแร็กเตอร์ และรูปร่างทรวดทรงท้วมบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้างแตกต่างกันไป

“เป็นความแตกต่างแต่ไปในจังหวะเดียวกันได้”

กิจกรรมการเต้นรำ และสังคมใหม่ของ “ฟิเดล” ในช่วงความจำเสื่อม จึงทำให้เขาเสมือนกลับมามีที่ยืนในสังคมอีกครั้ง

“ฟิเดล” ในร่างของหนุ่มความจำเสื่อม เป็นคนสดชื่นร่าเริง อารมณ์ดี สภาพแวดล้อมใหม่ ที่ตัวเขาเองก็ไม่สามารถจดจำเรื่องราวฉาวโฉ่บนอินเตอร์เน็ตที่ต้องทนแบกรับก่อนหน้านี้ กลับกลายเป็นด้านดีที่ทำให้เขากลายเป็นหนุ่มสดใส สุขภาพจิตดี

การได้ “ครอบครัวใหม่” เจอพ่อที่ให้กำเนิด ได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่แท้ๆ และได้เต้นรำ ช่างแตกต่างจากโลกเดิมที่เขาเคยอยู่

ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับคืนสู่วังวนเดิม ก่อนที่ความทรงจำแห่งความน่าอับอายนั้นจะกลับมา ทำให้เขาเป็นชายผู้มีใบหน้านิ่งเฉย คาแร็กเตอร์เย็นชา พักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ย่านไฮโซหงอยเหงาเพียงลำพัง

แม้ชีวิตในช่วงความจำเสื่อมชั่วคราว จะดูสนุกสนาน มีความครื้นเครง ช่วยให้เขาหลีก “หนีจากโลกความจริง” ที่ย่ำแย่แค่ไหน แต่เมื่อเวลามาถึง คนเราก็ต้องเผชิญหน้ากับ “ความจริง” และยอมรับสิ่งที่เคยทำผิดพลาดไป ยอมรับในการถูกกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างก่นด่า รังเกียจ ยอมรับว่าเขาคือชายที่เคยตกเป็นตัวตลกในโลกโซเชียลมีเดีย และต้องใช้ชีวิตต่อไปให้ได้

“La tribu” คือเรื่องราวของคนคนหนึ่งที่พลั้งพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตจนเสียศูนย์ เขาจะ “กู้วิกฤตชีวิต” ตัวเองกลับมาได้อย่างไร

ว่ากันตามเนื้อหา La tribu ไม่ได้สร้างความประทับใจให้คนดูเทียบเท่า The Full Monty ด้วยตัวหนังเล่าเรื่อง “หลายประเด็น” จนทำให้คนดูไม่รู้สึกซึ้งหรืออินไปในทางไหนมากกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่แตะกลิ่นอายเฟมินิสต์ การต่อสู้ของคนชั้นแรงงาน ตั้งแต่กลุ่มคนงานที่ถูกเลิกจ้าง ไปจนถึง “เวอร์จิเนีย” ที่เรียกร้องสิทธิแรงงานเขยิบตำแหน่งจากแม่บ้านขึ้นเป็นหัวหน้าแม่บ้าน ไปจนถึงเรื่องราวการสานสัมพันธ์อีกครั้งของครอบครัวหนึ่งที่สมาชิกแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ ไปจนถึงประเด็นที่คนคนหนึ่งถูกลงโทษทัณฑ์จากโซเชียลมีเดียขนาดคิดฆ่าตัวตาย

ทุกเส้นเรื่องถูกนำมารวมไว้เป็นก้อนเดียวกัน ส่งผลให้ La tribu เป็นหนังดูได้เรื่อยๆ ที่ไม่กระทบใจ แต่จัดว่าอยู่ในมาตรฐาน “หนังตลกขนบสเปน” ที่ชมได้เพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อหน่ายแม้แต่น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image