เปิดตัว’มีดกรีดยางไฟฟ้า’เมืองสิบสองปันนา นวัตกรรมยกระดับเกษตรกร ตอบโจทย์ชาวสวนยาง

ประเทศไทยส่งออก “ยางพารา” มากเป็นอันดับ 1 ของโลก จึงไม่แปลกที่ยางพาราจะขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศ

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรชาวสวนยางต้องเผชิญกับปัญหาราคายางผันผวนและตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องไม้เครื่องมือ ที่จะยกระดับการปลูกยางและการกรีดยางให้มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการแปรรูปยางพาราไปสู่ผลิตภัณฑ์กลางน้ำและปลายน้ำ

ซึ่งนวัตกรรมหรือเครื่องมือเหล่านี้ต้องผ่านการคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตสูงที่สุด มีคุณภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันต้องง่ายต่อการใช้งานด้วย แต่การที่เกษตรกรหรือชาวสวนยางจะเข้าถึงนวัตกรรมหรือองค์ความรู้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีการเปิดพื้นที่เป็นสื่อกลางที่รวบรวมทั้งความรู้และนวัตกรรมเข้าไว้ด้วยกัน

Advertisement

จุดนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดบึงกาฬร่วมจัดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ” ต่อเนื่องตลอด 7 ปี

ในงานมหกรรมยางพารา ไม่เพียงมีองค์ความรู้ในรูปแบบนิทรรศการ และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ แล้ว แต่ยังรวบรวมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศมาให้เกษตรกรได้สัมผัสและทดลองใช้อีกด้วย

สำหรับปีนี้มีการเปิดตัว “มีดกรีดยางไฟฟ้า รุ่น WYD001F” เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองและพัฒนา จากสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่มาเปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกในงานวันยางพาราบึงกาฬ

Advertisement

พร้อมคุณสมบัติพิเศษคือ ใช้ระบบอัตโนมัติ มีน้ำหนักเบา พกพาง่าย ใช้งานได้สะดวก สามารถเรียนรู้วิธีการใช้ได้ง่าย โดยผู้ใช้ไม่ต้องเก่งเรื่องเทคนิค หรือมีประสบการณ์ ก็สามารถใช้งานเครื่องมือกรีดยางพาราไฟฟ้านี้ได้

“เติ้นจี้ฮุย” นายกสมาคมยางพาราแห่งสิบสองปันนา ประธานบริษัท เตี๋ยนเหย่ราเป้อ จำกัด บอกว่า มีดกรีดยางไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมใหม่ทำให้ชาวสวนสามารถกรีดยางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รอยกรีดเรียบ เป็นการเปิดกรีดแบบมีมาตรฐาน ทำให้มีน้ำยางออกมามากขึ้นและถนอมต้นยางด้วย ซึ่งเรามีการทดลองแล้วพบว่าได้ผลดีมาก หากมีความชำนาญในการใช้ จะสามารถกรีดยางได้เพิ่มขั้นเกือบเท่าตัว

เติ้นจี้ฮุย

“มีดกรีดยางไฟฟ้ามีการพัฒนามาแล้ว 8 ปี และเพิ่งจะลงตลาดในสิบสองปันนา ส่วนในเมืองไทยอาจจะมีการนำมาวางจำหน่ายในอนาคต ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาและคิดค้นเพื่อให้มีดกรีดยางเหมาะสมกับคนไทยโดยเฉพาะ และอยากให้เป็นมีดกรีดยางแบรนด์ของไทยด้วย”

คณะจากสิบสองปันนายังบุกลุยสวนยางพาราบึงกาฬ เพื่อทดสอบมีดกรีดยางไฟฟ้าด้วยตัวเอง โดยหวังวิเคราะห์ถึงรูปแบบการใช้งานและความต้องการของเกษตรกร ตลอดจนปัญหาเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง

ขณะที่บุกสวนยาง เติ้นจี้ฮุยบอกว่า เห็นสวนยางพาราของประเทศไทยแล้ว ขอใช้คำว่า “อิจฉาเลยครับ”

พร้อมให้เหตุผลว่า บึงกาฬมีทรัพยากรที่สุดยอด มีสวนยางพาราที่ดีและจำนวนเยอะมากเมื่อเทียบกับที่สิบสองปันนา ที่นั่นต้องลงทุนเยอะ และเหนื่อยกว่าที่นี่มากเพราะต้องปลูกบนเขา บนดอยเป็นชั้นๆ ทำให้เหนื่อยในการปลูกและการกรีดยาง

“แต่เท่าที่เห็นเทคนิคของชาวสวนยางไทยเมื่อเทียบกับสิบสองปันนาแล้ว ก็ยังไม่ค่อยดีมากนัก ยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอีก เช่น รอยกรีดยางที่ยังไม่ค่อยเรียบ หรือมาตรฐานในการกรีดยางที่ยังมีความไม่เท่ากันอยู่ บางต้นกรีดสูง บางต้นกรีดต่ำ ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้น้ำยางออกมาน้อย และเป็นการทำลายต้นยาง ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ อย่างการปรับปรุงวิธีกรีดใหม่ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพของยางมากขึ้น

“ราคาของยางพาราขึ้นอยู่กับตลาดโลก ซึ่งเรากำหนดไม่ได้ แต่ปริมาณและประสิทธิภาพในการผลิตนั้นสามารถพัฒนาได้ เช่น การใช้อุปกรณ์ที่ดีขึ้น เพื่อลดต้นทุน นำมาซึ่งผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำงานเท่าเดิม และหากเรานำวัตถุดิบมาแปรรูปด้วย ก็จะสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้นอีก”

ขณะเดียวกัน เติ้นจี้ฮุยยังมุ่งหวังสร้างความร่วมมือทางการค้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยางพาราระหว่างจีนกับไทยด้วย

“รัฐบาลเมืองจีนส่งเสริมให้บริษัทเอกชนแลกเปลี่ยนทรัพยากรและขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งตลาดในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ และมีความต้องการใช้ยางพาราจำนวนมาก ในหนึ่งปี ประเทศจีนมีความต้องการใช้ยางพาราประมาณ 6 ล้านตัน แต่สามารถผลิตได้เองเพียง 8 แสนตัน จึงยังมีความต้องการใช้ยางอีกกว่า 5 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย แต่หลังจากมาบึงกาฬ ก็หวังว่าจะเอายางพาราของที่นี่ไปถึงเมืองสิบสองปันนา เพราะมีผู้ผลิตที่ต้องการใช้ยางอีกมาก การเดินทางมาครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ที่อยากจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในอนาคต” เติ้นจี้ฮุยอธิบาย

และว่า ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นอย่างมาก เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบาย “วันเบลท์วันโรด” มีรถไฟด่วนพิเศษจากเมืองจีน ที่สิบสองปันนาลงมาถึงเมืองไทย นี่จะเป็นการขยายโอกาสอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องยางพารา ที่น่าจะเกิดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดการประชุมสัมมนานักธุรกิจเอกชนจีน โดยบอกว่า รัฐบาลเมืองจีนพร้อมจะสนับสนุนให้ธุรกิจภาคเอกชนได้มีโอกาสขยายตัวมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายหลายอย่างที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาของธุรกิจเอกชน

“อยากให้เกษตรกรเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมยางพาราให้มาก ต้องยืนหยัดต่อสู้ โอกาสและความสำเร็จก็จะเป็นของเรา ตอนนี้ราคายางพาราตกทำให้หลายคนอาจจะเสียความเชื่อมั่น หมดแรง หมดหวัง หรืออาจจะผิดหวังกับยางพารา แต่ถ้าใครสามารถรักษา ปรับปรุง และพัฒนาได้ โอกาสและความสำเร็จจะรอคอยอยู่ข้างหน้า”

เติ้นจี้ฮุยเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยผ่านจังหวัดบึงกาฬครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีเพื่อน ไม่มีผู้นำ และไม่รู้จักที่ทาง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มาเยือนจังหวัดบึงกาฬอย่างเป็นทางการ และได้มาร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬ

“การจัดงานนี้ เป็นเหมือนประตูหน้าต่าง เป็นการสร้างโอกาสที่ทำให้ได้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น รวมถึงเกิดการพูดคุยและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ปีหน้าถ้ามีการจัดงานวันยางพาราอีกก็จะมาแน่นอน และจะชวนเพื่อนที่ทำธุรกิจยางพารามาด้วย หวังว่างานวันยางพาราบึงกาฬจะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ให้ทั่วโลกรู้ว่า ถ้าพูดถึงยางพารา ก็จะนึกถึงจังหวัดบึงกาฬเป็นอันดับต้นๆ”

นอกจากนี้ เติ้นจี้ฮุยยังรู้สึกประทับใจในความเป็นบึงกาฬ เนื่องจากการมาร่วมงานทำให้เขามองเห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ครั้งนี้ผมสัมผัสได้ว่าทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล และท้องถิ่นใส่ใจในอุตสาหกรรมยางพาราและชาวสวนยางเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าซึ้งใจ ที่รัฐบาล สหกรณ์ชาวสวนยาง และทุกฝ่ายมีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่แบบนี้ เพื่อที่จะหาทางช่วยเหลือเกษตรกร ผมคาดหวังว่าในอนาคตจะได้ร่วมมือกับประเทศไทยในอีกหลายด้าน ทั้งการตั้งโรงงานที่จังหวัดบึงกาฬ และเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตที่ได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว และจะเข้ามาร่วมมือกับประเทศไทยต่อไปในอนาคต” เติ้นจี้ฮุยทิ้งท้าย

ขณะที่ “มาดาม ดาวยู่ตัน” เจ้าหญิงสิบสองปันนา ที่ให้เกียรติมาร่วมงานวันยางพาราครั้งนี้ ระบุว่า มณฑลยูนนานเป็นพื้นที่ปลูกยางที่ใหญ่ที่สุดของเมืองจีน นอกจากจะมีการปลูกยางแล้ว ยังมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา และมีการพัฒนาส่วนต่างๆ อย่างครบวงจร

“ในงานวันยางพาราบึงกาฬปีนี้ สิบสองปันนาได้นำมีดกรีดยางไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลิขสิทธิ์ที่คิดค้นโดยคนสิบสองปันนามาจัดแสดงด้วย โดยได้เริ่มใช้ในพื้นที่สิบสองปันนาบ้างแล้ว ส่วนที่เมืองไทยก็เริ่มทดลองใช้ที่สวนยางของพินิจ จารุสมบัติ เพราะเราอยากเอาเทคโนโลยีตรงนี้เข้ามา และอยากปรับปรุงให้เข้ากับการใช้งานของคนไทยให้มากที่สุด”

เจ้าหญิงสิบสองปันนาเผยอีกว่า นวัตกรรมมีดกรีดยางไฟฟ้า ที่จัดแสดงในงานวันยางพาราบึงกาฬ ได้รับผลตอบรับดีมาก คนให้ความสนใจเยอะ

“ตอนแรกตั้งใจว่าจะกลับหลังจากวันพิธีเปิด แต่ปรากฏว่ามีหลายคนสนใจ และบอกว่าอยากให้อยู่ทุกวัน เพราะในแต่ละวันจะมีเกษตรกรชาวสวนยางพาราเข้ามาเป็นจำนวนมาก อยากให้ชาวสวนได้เห็นนวัตกรรมตัวนี้ให้เยอะที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายที่ในบึงกาฬที่อยากจะไป ทั้งสวนยางพารา โรงงานยางพารา และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งพอได้ไปเห็นหลายที่แล้วก็อยากจะร่วมมือกับบึงกาฬในเรื่องอุตสาหกรรมยางพาราให้ก้าวไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังก็อยากจะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ที่บึงกาฬ โดยมีหัวใจคือยางพารา” มาดาม ดาวยู่ตันกล่าว

ขณะที่ “พินิจ จารุสมบัติ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ผู้ผลักดันให้เกิดการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมยางพาราอีกมากมาย

ครั้งนี้ พินิจได้นำมีดกรีดยางไฟฟ้าจากสิบสองปันนาไปทดลองกรีดด้วยตัวเองในสวน ซึ่งหลังทดสอบด้วยตัวเองแล้ว อดีตรองนายกฯเผยว่า ใช้งานง่ายมาก

“มีดกรีดยางไฟฟ้าเป็นผลต่อเนื่องมาจากการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ซึ่งวันนี้ได้ยกระดับการจัดงานมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ เนื้อหา และนวัตกรรม อย่างนวัตกรรมมีดกรีดยางไฟฟ้ารุ่นล่าสุด จากสิบสองปันนา ก็ทำให้สามารถกรีดยางได้เพิ่มมากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง คุณภาพของต้นยางไม่เสื่อม เพราะมีดกรีดยางตัวนี้จะรักษาเนื้อหน้ายาง แต่จะเหมาะกับคนบึงกาฬมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องทดลองใช้สักระยะหนึ่ง”

พินิจระบุอีกว่า การที่ครั้งนี้พานักธุรกิจ และคณะผู้นำด้านยางพาราจากสิบสองปันนามานั้นเพราะมองเห็นว่าประเทศจีนยังมีตลาดอีกเยอะ ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องมีดกรีดยาง แต่เขายังอยากมาซื้อ-ขายยางพารากับเราด้วย

“จุดนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าเราไม่มีงานวันยางพารา คนเหล่านี้ก็ไม่รู้จะเข้ามายังไง และจะเข้ามาหาใคร เพราะไม่มีเวที ไม่มีการแนะนำให้พบกัน นี่เป็นการเริ่มต้นไปสู่ความร่วมมือและการค้าขายในอนาคต” นายพินิจทิ้งท้าย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image