จิต เชี่ยวสกุล นายสนามมวยคนที่ 13 ผู้บริหารรุ่นใหม่แห่งราชดำเนิน

กีฬาที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานานและถือว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติก็คือ “มวยไทย” เป็นกีฬาที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ยังคงมีคนชมคนเชียร์อยู่ อย่างต่อเนื่อง

และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือสนามมวย ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีเวทีมวยที่เรียกได้ว่าเป็นเวทีมาตรฐานอยู่เพียง 2 เวทีเท่านั้น สนามมวยแห่งแรกของประเทศไทยอย่างที่รู้จักกันดีนั่นก็คือ “เวทีมวยราชดำเนิน” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน ที่ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 74 แล้ว

นับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี พ.ศ.2488 ผ่านการมีนายสนามมวยมาแล้วถึง 12 คน จนตอนนี้นายสนามมวยคนล่าสุดคือ “?จิต เชี่ยวสกุล?” ถือว่าเป็นนายสนามมวยคนที่ 13 และยังเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ของครอบครัวนี้ที่เข้ามาดูแลอีกด้วย

ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 2 ของการเข้ามาเป็นนายสนามมวยอย่างเป็นทางการของผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่วัย 39 ปี “มติชน” ถือโอกาสนี้ขอเปิดใจ จับเข่าคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังและเป้าหมายในชีวิต

Advertisement

อยากให้เล่าประวัติก่อนเข้ามาเป็นนายสนามมวยแห่งนี้ได้อย่างไร?

ตั้งแต่เกิดมาเท่าที่จำความได้ก็พอรู้ว่าครอบครัวของตัวเองนั้นเกี่ยวข้องกับวงการมวยไทยอยู่แล้ว เห็นคุณพ่อ “(นายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล)” ทำงานกลางคืน เพราะว่ามวยมันชกกลางคืนตลอด จึงไม่ค่อยได้เจอพ่อเท่าไหร่ แต่ก็รู้ว่าพ่อไปที่สนามมวย

พอโตมาก็เป็นคนที่ชื่นชอบเล่นกีฬา เอาจริงๆ ตอนเด็กไม่เข้าใจนะว่ามวยมันสนุกยังไง เวลามาสนามมวยก็ไม่เข้าใจ จนได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เริ่มได้ดูมวยสากลบ้าง เริ่มเห็นว่ามันสนุก น่าสนใจ ยิ่งดูหนังเรื่องร็อคกี้ ก็ทำให้รู้สึกว่า “เออ มวยมันเจ๋งดีนะ” แล้วในยุคนั้นก็จะมี “ไมค์ ไทสัน” หรือ “เขาทราย แกแล็คซี่” เลยทำให้สนใจมวยมากยิ่งขึ้น จริงๆ สมัยเด็กๆ ผมเคยเป็นผู้เดินนำหน้าขบวนมวยของเขาทรายด้วยนะ แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่ได้มีอะไร

Advertisement

จนกระทั่งเรียนจบ ผมก็ทำงานตามที่ได้เรียนมา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมวยไทย จนพ่อมาเห็นว่าเราเองก็ชื่นชอบกีฬาลองมาทำงานที่นี่ดูไหม เริ่มจากการเป็นผู้พิจารณารายการกับประชุมจัดลำดับ ดูว่าเขาทำงานกันอย่างไร ก็เข้ามาทำเรื่อยๆ จนหน้าที่มันเพิ่มมากขึ้น จึงลาออกจากงานข้างนอก เข้ามาช่วยแบบเต็มตัว อยู่มา 11 ปี เราก็ได้เห็นว่าเวทีมวยราชดำเนินแห่งนี้ขาดอะไร มีอะไรที่สามารถปรับปรุงได้ เลยทำให้เข้ามาอยู่ตรงนี้ อย่างเรื่องสถานที่ มันอยู่มานานมาก เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ควรจะปรับให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ และให้ต่างชาติยอมรับได้

นโยบายในการทำงานของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง?

ตัวผมมีนโยบายชัดเจนตั้งแต่เข้ามาทำงานตรงนี้ คืออยากอนุรักษ์มวยไทย ทำอย่างไรก็ได้ให้คนต่างชาติยอมรับเรามากขึ้น และทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมวยไทยมากขึ้น ไม่ได้มีแต่คนรุ่นเก่าๆ เริ่มตั้งแต่การเปิดโรงเรียนสอนมวย เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มองมวยไทยเป็นการออกกำลังกาย โดยชวนเพื่อนกันมาลงขันทำร่วมกัน เปิดสาขาแรกที่ทองหล่อ มี “เต้” “ภูริต ภิรมย์ภักดี” และเพื่อนอีกหลายๆ คนมาร่วมกัน

ตอนที่ตั้งโรงเรียนสอนมวยก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะกำไรหรือไม่ ธุรกิจจะไปได้ดีหรือไม่ เพราะไม่เคยมีใครเอามวยมาตั้งในที่ของคนรุ่นใหม่แบบนี้ เพราะว่าค่าใช้จ่ายมันแพง แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดี คนแห่กันมาเล่นเป็นจำนวนมาก เป็นการออกกำลังกายในรูปแบบใหม่ เพราะว่าคนมักจะเข้าไม่ถึงค่ายมวยตามตรอกซอกซอย แต่นี่อยู่ในจุดที่เข้าถึงไม่ยาก สะอาด ตลอดเวลาที่ผ่านมาถามว่ากำไรไหมก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก แต่อย่างน้อยก็ได้ขยายจุดยืนของวงการมวยไทยออกไป

อย่างที่รู้กันดีว่าเวทีมวยแห่งนี้อยู่มา 74 ปี มีประวัติยาวนาน การมาเป็นนายสนามมวยแห่งนี้กดดันบ้างไหม?

มันแน่นอน เพราะว่ามันเริ่มมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ของผม “(นายเฉลิม เชี่ยวสกุล)” มาจนถึงคุณพ่อ และตอนนี้สนามแห่งนี้ก็อยู่มา 74 ปีแล้ว มาถึงจุดนี้ผมเห็นปัญหาไหมก็เห็น เห็นว่าแฟนมวยมันลดลงจนน่าตกใจจนถึงจุดที่จะคุ้มจัดหรือไม่คุ้มจัด จะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ดังนั้น เจ๊งหรือรอดมันอยู่ที่รุ่นผม ผมก็คิดว่าไม่ได้สิ มันผ่านมาได้ตั้ง 2 ยุคแล้ว จะมาเจ๊งที่รุ่นนี้ได้ยังไง เป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันให้ผมพอสมควร

ด้วยวิวัฒนาการของโลกมันเปลี่ยนแปลงไป เราจะอยู่ไปแบบไม่ก้าวตามเขาไปก็ไม่ได้ อย่างห้างสรรพสินค้า คนไม่เดินแล้วเพราะตอนนี้มีช้อปปิ้งออนไลน์ หรืออย่างร้านอาหารคนก็ไม่ค่อยไปกิน เด็กเสิร์ฟก็ไม่ค่อยได้ทิป เพราะว่ามีไลน์แมนที่สามารถสั่งอาหารได้

วิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนไป แต่ว่าสนามมวยแห่งนี้ยังขยับไปได้ช้าอยู่ เพราะว่าเราก็อยากจะอนุรักษ์มวยไทยแบบเดิมๆ เอาไว้ด้วย สิ่งที่ขาดอย่างเดียวเลยคือเรื่องของการโปรโมตทางการตลาด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้รู้ว่าเราเป็นแบบดั้งเดิมนะ ขายกันที่ตรงนี้เลย แต่ก็พยายามปรับปรุงให้อำนวยความสะดวกได้มากที่สุด

การตลาดกับการทำพีอาร์มันได้แค่น้ำจิ้มให้คนอยากเข้ามาดู สิ่งที่เราโปรโมตไปว่าเราเป็นวัฒนธรรมนะ ดังนั้นคนหลายคนที่มาที่นี่ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เขามาเพื่อวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องของกีฬาเสียอีก เพราะเขาไม่รู้หรอกว่ามวยไทยมันเล่นอย่างไร รู้แค่ว่ามาเมืองไทยต้องดูมวยไทย เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของที่นี่ ซึ่งนี่แหละคือจุดแข็งที่เราจะนำมาโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์ และเป็นสิ่งที่ผลักดันมา 10 ปีได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ด้วยการผลักดันตรงนี้มันแค่ช่วยวงการมวยไทยกับเวทีราชดำเนินอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งตัวคนเดียวไม่สามารถผลักดันวงการมวยไทยได้ หากว่าทุกคนไม่ช่วยกัน ผมทำได้อย่างเก่งก็แค่เวทีแห่งนี้เท่านั้น

วงการมวยไทยสมัยก่อนกับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน?

เปลี่ยนไปเยอะ คือถามว่าตอนนี้เราอยู่บนวงการพนันไหมก็ไม่อยากพูดแบบนั้น แต่ต้องยอมรับว่าการพนันเป็นสิ่งที่สร้างให้กีฬามีเสน่ห์ขึ้นมา เพราะทุกกีฬามีการพนันทั้งสิ้น แค่คนจะเห็นหรือไม่ มันจะถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่ เท่านั้น

นักมวยไทยสมัยนี้ถูกกดดันจากการพนันเยอะ ทำให้ตัวเองต้องสู้ในแบบของการพนันมากกว่าการเป็นกีฬา ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่สามารถแก้ไขมันด้วยตัวคนเดียวได้ ต้องให้ “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) วงการมวย เข้ามาช่วยกันแก้ ทำอย่างไรให้แม่ไม้มวยไทยกลับมาเป็นมวยนักสู้ จริงอยู่การพนันมันเกิดจากกีฬา แต่ก็ไม่ใช่จะมาบอกให้นักมวยหยุดชกเพราะชนะแล้ว การทำแบบนั้นทำให้นักมวยหมดความเป็นนักกีฬาทันที มันกลายเป็นจุดด้อยของคำว่ากีฬาไป คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาดูก็บอกว่ามันไม่เป็นนักกีฬาเลย

อย่างไรก็ตาม มันเป็นสองแง่สองมุม ถ้าไม่มีพนันเลยก็ไม่ได้ เพราะถือว่าการพนันมันก็เป็นเสน่ห์ของกีฬาอย่างหนึ่ง

ความยากง่ายของการมาจับธุรกิจมวยในประเทศไทยตอนนี้คืออะไร?

ผมมองว่าการควบคุมของ กกท. กับการจัดการแข่งขันมันยังไม่เพียงพอ ตอนนี้เวทีที่เป็นมาตรฐานนั้นมีอยู่ไม่กี่เวที และมีเวทีที่ไม่เป็นมาตรฐานอีกเยอะ สมัยนี้ใครจะจัดก็ทำได้ แค่เดินไปแล้วมีพื้นที่ว่าง ก็มาขอจัดมวยได้ มันเลยทำให้มีเยอะไปหมด ขอแค่มีเงินจ้างนักมวย มีคอนเน็กชั่นดึงสปอนเซอร์ ก็สามารถจัดมวยได้แล้ว โดยไม่แคร์ว่าจะเป็นมวยแบบใด ดังนั้นคิดว่ามันควรจะมีการควบคุมให้มากกว่านี้

มุมมองที่มีต่อสนามมวยแห่งนี้ อยากให้พัฒนาไปในแบบใด?

ผมอยากทำให้เวทีมวยราชดำเนินแห่งนี้ เป็นเหมือนแลนด์มาร์กที่ว่ามาเมืองไทยก็ต้องมาเวทีราชดำเนิน เหมือนที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยววัดพระแก้ว, ไปตลาดน้ำ, ไปกราบไหว้พระพรหม อยากให้คนรู้สึกว่าถ้ามาเมืองไทยก็ต้องดูมวยไทยด้วยเช่นกัน

คิดว่าทำเลที่ตั้งของเวทีมวยราชดำเนินเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่าตัวผมนั้นโชคดีมากที่ได้อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ จริงอยู่ที่มันอาจจะไม่ได้อยู่ในเมือง หรือว่าอยู่ในละแวกโรงแรมที่เดินทางมาสะดวกกว่านี้ แต่มันก็เป็นไปได้ ดังนั้น แค่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ และอาคารแห่งนี้ยังถือว่าเป็นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นสมบัติของประเทศชาติ และอยู่บนถนนของประเทศชาติ มันจึงน่าภูมิใจที่ได้อยู่ตรงนี้ อยู่บนเกาะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเมืองไทยเหมือนกัน

การที่ได้ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ได้นำอะไรมาปรับใช้กับการบริหารสนามแห่งนี้บ้าง?

นำเข้ามาปรับใช้ในเรื่องของสถานที่ การอยู่แบบไทยๆ ที่ผ่านมา ชาวต่างชาติอาจจะรับไม่ได้ เพราะว่าเขาต้องการเรื่องของความสะอาด ซึ่งเราก็ปรับปรุงไปเยอะเหมือนกัน นอกจากนี้ก็มีการปรับมูดแอนด์โทนของเวที แต่ยังคงไว้ซึ่งความขลังและความเก่าแก่ของเวทีราชดำเนินเอาไว้อยู่

มวยสากลถือว่าเป็นธุรกิจทำเงินได้ดีมาก มีวิธีอย่างไรให้มวยไทยเป็นอย่างนั้นได้บ้าง?

สิ่งที่ต้องทำคือต้องให้คนไทยดูมวยไทยเป็นการกีฬาก่อน เพราะถ้าไม่ทำให้เป็นกีฬาคนไทยก็ไม่สนใจ อย่างต่างประเทศเขาดูทั้งเบสบอล, บาสเกตบอล ที่คนดูเยอะก็เพราะว่าเขาตามฮีโร่ของตัวเอง มีทีมโปรด และก็ยังเป็นกีฬาที่สนุก บางครั้งแค่เข้าไปนั่งเฉยๆ ก็สนุกแล้ว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นความบันเทิงที่มาในรูปแบบกีฬา มันจึงเข้าถึงคนดู ทำให้คนหรือเด็กๆ อยากเป็นนักเบสบอล หรือเป็นอย่างไมค์ ไทสัน พร้อมสร้างความฝันให้กับคนรุ่นใหม่ เขายอมซื้อตั๋วกันแพงๆ จนทำให้ในอังกฤษหรือสหรัฐ กลายเป็นสังคมของกีฬาขึ้นมา มีการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ทุ่มอย่างเต็มที่ นักกีฬาเกือบจะดังกว่าดาราด้วยซ้ำ

ถ้าเทียบกับเมืองไทยนักมวยไทยน้อยมากที่จะดังขึ้นมาได้ สมัยนี้เผลอๆ จะมีแค่คนเดียวด้วยซ้ำ ถ้าวงการมวยไทยมีการอัพราคาขึ้นมา ทำให้มีแฟนคลับติดตาม ทำให้สปอนเซอร์เห็นความสำคัญของนักกีฬา มันก็จะขึ้นมาเหมือนต่างประเทศได้ หากมีอย่างไมค์ ไทสัน ขึ้นมาจากความสามารถของนักมวยคนนั้น ไม่ใช่ต่อยๆ แล้วหยุด ชนะแล้วไม่ยอมสู้ต่อ มันก็จะไม่สามารถสร้างแฟนคลับขึ้นมาได้ ส่วนของนักกีฬาก็จะต้องมีแรงจูงใจให้เขา เพราะเขาเองก็ลงทุนเอาตัวเองเข้าแลกเพื่อหวังจะเป็นฮีโร่สักวันเหมือนกัน

แล้วอย่างประเทศไทย นักมวยไทยคนไหนต่อยดีก็โดนจับไปต่อยมวยสากล มันจะเป็นปัญหาไหม?

ผมมองว่ามันไม่ใช่ปัญหานะ เพราะว่าการสร้างนักมวยสากลเขาก็มาดูแววจากนักกีฬามวยไทย คนไหนแววดีก็ให้ลองดูเผื่อว่าจะทำได้ดี เพราะถ้าหากไม่ได้ต่อยมวยไทยมาก่อนก็จะไม่มีโอกาสได้โชว์ฝีมือของตัวเอง มันไม่มีใครที่ปั้นตัวเองขึ้นมาจากมวยสากลเลย นี่มันเป็นระบบชีวิตของคนไทย มันต้องมาจากมวยไทยก่อน ไม่ว่าจะเป็นเขาทราย หรือใครก็ตาม ถ้าหากไปต่อยมวยสากลแล้วไปได้ดี ผมผลักดันเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องไปให้รอดนะ

ใน 1 วัน มี 24 ชั่วโมง แล้วอยู่กับมวยสักกี่ชั่วโมงต่อวัน?

ถ้ามากที่สุดนี่อยู่ในสมองไม่ต่ำกว่าวันละ 14 ชั่วโมง แต่ถ้ามาอยู่สนามจะราวๆ 10 ชั่วโมง แต่มวยมันมีปัญหาที่ต้องแก้ไขตลอดเวลา เพราะเราอยู่ในจุดที่พยายามปรับปรุงมันให้ดีขึ้น ดังนั้น บอกได้เลยว่าอยู่ในสมองเกือบตลอดเวลา

ตอนเข้ามาจับงานใหม่ๆ มีความไม่เชื่อใจจากคนที่อยู่มาก่อนบ้างไหม?

ตอนที่ผมรับตำแหน่งนั้นก็ยังถือว่าเด็ก ตอนนั้นเอาจริงๆ ก็ยังไม่ได้พร้อม ก็เน้นในส่วนของเรื่องการตลาด พอมารับตำแหน่งนายสนามมวย ความรับผิดชอบมันก็มากขึ้น ปัญหาก็เยอะมากจะบริหารอย่างไร ตอนแก้ไขก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ต้องลองผิดลองถูกกันไป คือถ้าผิดเราก็ขออภัย เพราะว่ามันเป็นการลองของเรา ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามันเหนื่อยมากๆ แต่ทุกอย่างมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

ทำอย่างไรให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสนามมวยแห่งนี้จะเป็นธุรกิจที่มั่นคง?

คือเป้าหมายที่ผมวางเอาไว้ มันน่าลงทุนแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปได้ เพราะมันก็อาจจะมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องใบอนุญาต, สัญญาเช่า หรือหลายๆ อย่างมาประกอบกัน

เราอยากทำให้ตรงนี้เป็นสถานที่ที่ครบวงจรให้กับชาวต่างชาติ สมมุติทำให้มันเป็นพลาซ่า เป็นจุดรวมของวัฒนธรรมไทย อยากกินฝอยทองก็มีให้กิน, อยากมาสักไม้ไผ่ที่นี่ก็จะมี หรืออยากนวดแผนไทย หรือฝึกมวยไชยา อยากให้มันมีครบทุกอย่างสำหรับวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับคนไทยให้ มันมารวมกันที่นี่ทั้งหมด

ถ้าทำได้ตรงนี้ก็จะกลายเป็นจุดรวมของชาวต่างชาติ บวกกับมวยอีกอย่าง นั่นคือความฝันของผม ซึ่งอนาคตก็ยังไม่แน่นอน อาจจะมีฝรั่งชอบเข้ามาดูมวยไทย ก็ปรับให้เป็นนั่งเสื่อ มีกับข้าวกินใช้วิธีการจกกิน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นส่วนของการท่องเที่ยวที่อยากจะอนุรักษ์ควบคู่ไปกับมวยที่ทำอย่างเต็มที่

เรื่องของปัญหาคนเข้าสนาม มีวิธีการปรับอย่างไรบ้าง?

อย่างที่บอกว่าวิวัฒนาการมันเปลี่ยนไป ไม่ควรไปทำตัวขวาง ทุกวันนี้เราห้ามไลฟ์สดในสนาม แล้วก็ไล่จับ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่านี่คือวิวัฒนาการของโลก ซึ่งตอนนี้เราก็ยังขวางอยู่ แต่เราก็มีการถ่ายทอดสดแล้ว ถ้าอยากดูนักก็ให้ดูเป็นเรื่องเป็นราว

การจะทำแบบนี้ได้ก็ต้องอยู่ที่เวทีมวยยังขายตั๋วมาดูได้ โปรโมเตอร์ยังมีกำไรที่จะจัดมวยต่อ เพราะถ้าขาดทุนแล้วก็คงไม่มีใครจัดมวย แล้วมันก็จะจบลง การที่เวทีมวยราชดำเนินล้มก็จะกระทบทั้งระบบ ยิ่งถ้าลุมพินีไปอีก มวยไทยก็จบกันพอดี มวยไทยอาชีพไม่เกิด เด็กก็จะไม่ฝึกมวย และถ้ามันล่มก็จะเหลือแค่คำว่ามวยไทยเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐและสถาบันต้องมาช่วยกัน เพราะถ้าให้เราทำฝ่ายเดียวไม่ได้แน่นอน ต้องช่วยกันทุกฝ่าย

คำถามสุดท้ายถ้าหากไม่ได้ทำธุรกิจมวย อยากทำธุรกิจอะไร?

ส่วนตัวมีความฝัน ชอบธุรกิจด้านโรงแรม อยากมีโรงแรมในกรุงเทพฯเป็นของตัวเอง โรงแรมริมทะเล มีเรือไว้พานักท่องเที่่ยวไปดำน้ำ หรือถ้าทำสายการบินได้ก็จะทำ เพราะนี่คือความใฝ่ฝัน ชอบงานบริการ ชอบเห็นความประทับใจเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ที่มา และด้วยความที่ชอบเที่ยว ชอบทำอาหาร ก็อาจจะทำในโรงแรมของตัวเองด้วย ดังนั้น สนามมวยแห่งนี้ก็อาจจะมีขยับเพิ่ม มีโรงแรมให้ครบทุกวงจร จะได้สมบูรณ์.

ประวัติเวทีมวยราชดำเนิน
เวทีมวยราชดำเนิน นับว่าเป็นเวทีมวยมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างขึ้นมาโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขึ้น

เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ.2484 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2488 ก่อนจะเปิดแข่งขันครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 โดยมีนายปราโมทย์ พึงสุนทร เป็นผู้จัดการสนามมวยคนแรก

ช่วงเริ่มต้น เวทีมวยราชดำเนิน ยังไม่มีการมุงหลังคา ก่อนที่นายเฉลิม เชี่ยวสกุล ผู้จัดการสนามมวยจะเล็งเห็นถึงปัญหาและความไม่สะดวก สร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด จนปี พ.ศ.2494 เวทีมวยราชดำเนินจึงเสร็จสมบูรณ์

เวทีราชดำเนินแห่งนี้ถือว่าเป็นเวทีที่สร้างนักมวยไทยระดับโลกมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โผน กิ่งเพชร, ชาติชาย เชี่ยวน้อย, เวนิส บ.ข.ส., พเยาว์ พูนธรัตน์, เขาทราย แกแล็คซี่, รัตนพล ส.วรพิน, ชนะ ป.เปาอินทร์ เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ เวทีมวยราชดำเนินจะมีการชกทุกวันจันทร์, พุธ และพฤหัส เวลา 18.00-21.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 17.00-21.00 น. ยกเว้นวันสำคัญทางศาสนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image