พิชัย รัตตกุล มอง “ประชาธิปัตย์” ในวันแห่งความพ่ายแพ้

นับเป็นเหตุการณ์ที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทย เมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2562 เปิดเผยความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ถึงขนาดไม่ได้เก้าอี้แม้แต่ตัวเดียวในกรุงเทพมหานคร ฐานคะแนนที่เคยครอบครองอย่างยาวนาน ยังไม่นับภูมิภาคอื่นๆ ที่ประชาชนปันใจไปกากบาทให้พรรคอื่น

นำมาซึ่งการประกาศลาออกของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรค ตามด้วยบทวิพากษ์จากคนใน ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง บ้างก็ตัดพ้อว่าประชาชนลงโทษ ไหนจะตั้งคำถามถึง “จุดยืน” ของพรรค ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใดกันแน่ โดยเฉพาะในห้วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาลที่ส่อแววอลหม่านอย่างยิ่ง

สถานการณ์ทั้งหมดนี้ อยู่ในสายตาของ “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อาวุโสในแวดวงการเมือง เคยนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ผ่านเหตุการณ์สำคัญและความผกผันทางการเมืองมานับไม่ถ้วน

ต่อไปนี้ คือความคิด ความเห็นต่อประเด็นหลากหลายในห้วงเวลาระส่ำระสายของพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นหนึ่งในตำนานของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

Advertisement

มองอย่างไรต่อความพ่ายแพ้ถล่มทลายของพรรคประชาธิปัตย์จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด?

ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมากว่า 10 ปีแล้ว จึงไม่ทราบความเป็นไปอย่างลึกซึ้ง ที่ออกมาก็ไม่ใช่ว่าโกรธใคร แต่เพราะไม่พอใจวิธีการทำงานของคุณอภิสิทธิ์ในตอนนั้นที่ใช้คนไม่เป็น แนะนำแล้วแนะนำอีก ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราอายุมากแล้ว ถอนตัวดีกว่า แต่ในครั้งหลังคุณอภิสิทธิ์พยายามทำงานดีขึ้นแยะกว่าแต่ก่อน ผมก็ดีใจ เพราะเขาก็เหมือนหลานชายคนหนึ่ง ผมรักเขามาก ถามว่าระยะหลังทำไม ปชป.ถึงได้คะแนนน้อยเช่นนี้ ผมอยากจะคิดว่าความเป็นเอกภาพของพรรคขาดไป มีความขัดแย้งภายใน จะเห็นได้ว่าการเลือกหัวหน้าพรรคเมื่อเร็วๆ นี้ก็ดี เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า แบ่งเป็นพรรค เป็นพวก เป็นกลุ่ม เป็นก้อนภายในพรรค ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะไปหวังต่อสู้คนอื่นไม่ได้หรอก

คิดว่าอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ฐานเสียงเดิมของ ปชป.อย่างกรุงเทพฯ โดนเจาะถึงขนาดไม่ได้เก้าอี้เลยแม้แต่ตัวเดียว?

Advertisement

ต้องย้อนเล่าว่า ผมเป็น ส.ส.ครั้งแรกปี 2512 กรุงเทพฯ ถือเป็นเขตเดียว ผู้แทน 12 คน ฝั่งธนบุรี ถือเป็นเขตหนึ่ง ผู้แทน 7 คน ในปีนั้น ปชป.ได้ทั้งหมด ต่อมาเราก็ยึดหลักของเราได้เรื่อย แต่เคยพลาดเหมือนกัน ก็มาจากการไม่มีเอกภาพนี่แหละ ผมคิดถึง เป็นห่วงพรรค และห่วงอภิสิทธิ์

มีอดีต ส.ส.กทม. หลายสมัยออกมาตั้งคำถามว่าตัวเองและ ปชป.ทำผิดอะไร จึงถูกลงโทษถึงเพียงนี้?

ผมไม่คิดว่าประชาชนทำโทษ ปชป. แต่คิดว่าประชาชนผิดหวังที่ ปชป. ไม่มีเอกภาพ ประชาชนยังรักประชาธิปัตย์อยู่ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯไม่ลืมว่า ปชป.เป็นพรรคเดียวที่ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยตลอดมา แต่คราวนี้อยากสั่งสอนบ้าง ว่าการที่เธอยึดมั่นหลักปรัชญาเดิมน่ะดีแล้ว แต่การที่แบ่งพรรคแบ่งพวก ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นที่ยอมรับไมได้ ในขณะเดียวกันก็มีพรรคใหม่ๆ ขึ้นมา เราต้องยอมรับ ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เลิศ มีคนรุ่นหนุ่มสาว อย่างพรรคอนาคตใหม่ คนไปดูถูกเขา ผมไม่เคยดูถูกเลย คนเหล่านี้เป็นรุ่นที่มีไฟ มีความคิดอ่านก้าวหน้า เหมือนคนยุค 14 ตุลา ยึดหลักประชาธิปไตย มีอุดมการณ์เหมือน ปชป.เมื่อตอนหนุ่ม

คิดว่าถ้าแก้ปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพคะแนนเสียงของ ปชป. โดยเฉพาะในกรุงเทพฯจะกลับมาได้?

เชื่อว่าคนกรุงเทพฯยังรัก ปชป.อยู่ไม่น้อย ขอให้ ปชป.ทำตัวให้เหมาะสมเหมือนเมื่อก่อนนี้ รักษาคำพูด สัจจะ ซึ่งมีอยู่แล้วนั้นต่อไป แสดงออกถึงความรักประชาธิปไตยที่แท้จริง นั่นแหละคนกรุงเทพฯ จะให้อภัย เชื่อว่าคนกรุงเทพฯไม่โหดร้าย ยังรัก ปชป. เหมือนผมออกจาก ปชป.แล้ว แต่ความรักยังมีอยู่ เลือกตั้งคราวนี้ผมก็ไปลงคะแนนให้ ปชป. แต่ลูกเต้าหลานเหลนจะเลือกใครก็แล้วแต่เขา ไม่บังคับ แต่ผมเองทิ้งไม่ได้

คะแนนเสียงที่ลดลงฮวบฮาบเช่นนี้ จะสะเทือนถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ซึ่งที่ผ่านมา ปชป.วางป้าย “จอง” แทบทุกวาระหรือไม่?

เวลานี้พูดยากเหลือเกิน พูดยากมาก ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า ทำนายไม่ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ดูเหมือน ปชป.ก็พยายามปรับตัว โดยชู “นิวเด็ม” หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่าง ไอติม และหมอเอ้ก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีคนวิจารณ์ว่าเป็นเพราะเล่นเกมที่ตัวเองไม่ถนัด?

คนรุ่นเก่ายังมีดีอยู่อีกแยะ ผมเคยบอกอภิสิทธิ์หลายครั้งว่าอย่าทิ้งคนรุ่นเก่า ดูสิ ทำไมไม่มีคนอย่างธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ไตรรงค์ สุวรรณคีรี หายไปไหน คนเหล่านี้ต้องดึงเขามาช่วย นี่กลายเป็นคนใหม่ใหม่ซึ่งคนไม่รู้จักเลย ไม่มีผลงานอะไรออกมา แม้แต่ กรณ์ จาติกวณิช ก็ถือเป็นคนใหม่ซึ่งยังไม่ได้แสดงผลงานที่แสดงถึงความรักในอุดมการณ์อย่างเหนียวแน่น

การที่คุณอภิสิทธิ์ประกาศไม่ร่วมกับ “บิ๊กตู่” คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อคะแนนเสียงหรือไม่?

ปรัชญาของพรรค ปชป.ที่สร้างขึ้นมานั้น เราไม่เคยเปลี่ยนแปลง คุณอภิสิทธิ์จึงได้พยายามยืนหยัดตลอดเวลาว่าอย่างไรเสียอุดมการณ์ของ ปชป.ในการไม่เห็นด้วยกับการปกครองบ้านเมืองแบบเผด็จการก็ยืนหยัดจนถึงบัดนี้ ซึ่งผมปลื้มใจมาก ถึงแม้เราจะต้องแพ้จากการยืนหยัดนี้ ก็ไม่น่าเสียใจอะไร และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ยังเสนอตัวทันทีในฐานะนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค เขาเป็นตัวอย่างที่ดีในความใจสปอร์ต ลาออกให้เห็นทันที ผมอยากเห็นการเปลี่ยนผ่านในทางที่ดี การที่พรรค ปชป. มีผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ ผมสงสารพรรคมาก อย่างไรเสียก็เป็นพรรคที่สร้างผมขึ้นมา แน่นอน ความเสียใจ ความสลดใจ ย่อมมี แต่ในขณะเดียวกันก็มองเห็นถึงความพยายามของคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งทำเต็มที่ ต้องชมเชยเขา


ห้วงเวลาอย่างนี้ ใครเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป ?

ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญมาก คนที่ผมเห็นว่าสามารถดูแลพึ่งพาได้ในช่วงนี้มีคุณชวน หลีกภัย หรือคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน เมื่อเปลี่ยนผ่านแล้วเลือกตั้งใหม่ ใครจะเป็นหัวหน้าพรรคก็อีกเรื่องหนึ่ง

บทเรียนสำคัญที่สุดของ ปชป.และสิ่งที่ต้องแก้ไขทันทีในวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ?

(หัวเราะ) เท่าที่ผมมองจากข้างนอก สิ่งต้องแก้ไขก่อนคือ 1.เอกภาพภายในพรรค ความขัดแย้ง แยกกันเป็นคนละฝ่าย คนละพรรค คนละพวก ซึ่งไม่ได้มีแค่ 2 พวก แต่มีหลายพวก 2. การพบปะประชาชนระหว่างที่ไม่มีการเลือกตั้ง ปชป.ไม่ได้ไปขลุกกับชาวบ้านโดยเฉพาะในภาคอีสานเหมือนอย่างสมัยผมเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งได้ผู้แทนจากอีสาน 28 คน ใน 101 คน ทำไมผมทำได้ เพราะผมไม่เยี่ยม ไปหา ไม่ใช้เงินสักบาท สมัยก่อนหาเสียงแถวสลัมที่กรุงเทพฯ ตอนเย็นๆ ผู้ชายรวมกลุ่มกันกินแกงส้ม แกงเผ็ด มาขอเหล้าแบนหนึ่ง บุหรี่มวนหนึ่ง ผมยังไม่ให้เลย

วันนี้ ปชป.หมด “บุญเก่า” แล้วหรือไม่? พ้นยุคที่กล่าวกันว่า พรรคนี้เอาเสาไฟฟ้าลง คนก็เลือก?

ปชป.หาเสียงปีแล้วปีเล่า ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเอาความคิดใหม่ๆ ออกมาเลย คนแก่อย่างผม 93 ยังมีความคิดใหม่ๆ นี่มันแบบเก่า ไม่มีอะไรใหม่ๆ เลยแม้กระทั่งนโยบาย เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ขึ้นรถแห่ๆๆ คล้องพวงมาลัย แจกนามบัตรอันนั้นมีบ้างก็ดี ถูกต้อง แต่การปราศรัยน้อยลงไปแยะ

บ้านของเราเคยแข็งแรง แต่อยู่ดีๆ ไปเขย่าให้มันโยก ที่ผ่านมา 70 กว่าปี มันมีประวัติว่า ปชป.ต่อสู้จริงๆ เราสู้กับระบอบเผด็จการอย่างไร ผมไม่อยากให้ ปชป.ท้อถอย อยากให้เดินหน้าต่อไปตามอุดมการณ์ที่เริ่มมา ถ้าเราทำตัวของเราให้ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ชะล่าใจ เชื่อว่าคนจะให้อภัยเพราะความดี

อยากบอกอะไรกับแฟนๆ และอดีตแฟน ปชป. แม้ว่าครั้งนี้เลือกเบอร์อื่นไป?

ผมเห็นใจ เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่เลือก แต่อยากกราบขอโทษแทน ปชป. แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว ขอได้โปรดให้โอกาส ปชป.อีกครั้งหนึ่ง ขอได้โปรดเถิด เพราะ ปชป.อยู่กับท่านมากว่า 70 ปี ไม่เคยหักหลังประชาชนนอกจากทะเลาะกันเอง หวังว่าประชาชนและคนกรุงเทพฯจะอภัยให้

ผมอายุ 93 แล้ว คงไม่โอกาสไปลงคะแนนอีกแล้ว ไม่รู้จะมีเลือกตั้งอีกเมื่อไหร่ นอกจากหนนี้เดดล็อก ตกลงกันไม่ได้ ก็เป็นไปได้ที่จะมีเลือกตั้งใหม่ ผมก็จะไปลงคะแนนอีก และไปช่วยหาเสียงอีก คราวนี้มีเด็กคนหนึ่งลงปากน้ำ ผมบอกจะไปช่วยเดินให้ 2 ชม.กว่า กลับมาเมื่อยแทบตาย ผมยินดีที่จะทำงานหนักเพื่อช่วย ปชป. หวังว่าพี่น้องประชาชนคนกรุงเทพมหานคร แม้กระทั่งทางจังหวัดอื่นๆ ด้วย ปักษ์ใต้ด้วย คงให้โอกาส

จุดยืนในอนาคตที่ ปชป.ควรยึดถือ?

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอุดมการณ์ของ ปชป. มีอย่างเดียวตั้งแต่เริ่ม เมื่อนายควง อภัยวงศ์ ตั้งมา คือ ต่อต้านระบบเผด็จการ นี่คืออุดมการณ์ที่เราทิ้งไมได้ เราสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นโยบายอื่นๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังวุ่นมาก ปชป.ควรวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอย่างไร?

การก่อตั้งรัฐบาลวิกฤต บ้านเมืองมองอนาคตมืดเลย ประชาธิปัตย์เองก็อยู่ในฐานะลำบากเหลือเกิน จะเลือกพรรคตามอุดมการณ์ของตัวเอง คือ พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวเองก็ไม่เอา หันหน้าไปอีกทาง รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ ตัวเองก็เคยบอกว่าไม่ร่วมกับทหาร ถ้ายึดมั่นในหลักที่อภิสิทธิ์หรือกรณ์พูดว่าไม่จับมือกับเพื่อไทยก็ไม่ทีทาง ในขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ก็บอกว่าไม่เข้ากับทหาร แล้ว ปชป.จะวางตัวอย่างไร

ถ้ายึดตามหลักการแล้ว พรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด จะต้องเป็นคนริเริ่มในการจัดตั้งรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ ปชป.ปฏิเสธไม่ได้ ขณะนี้พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.มากที่สุด แต่อภิสิทธิ์บอกยังไงฉันก็ไม่เอา อย่างนั้นก็ตั้งไม่ได้ พรรคพลังประชารัฐคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่าก็จริง แต่ ส.ส.น้อยกว่า เพราะฉะนั้นก็ผิดหลักการ หลักการคือเราจะสนับสนุนพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด

ในเรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยฉลาดมาก เงียบ เหมือนขงเบ้ง ที่อยู่บนเขา ตีขิม ฟังขิม อยู่บนยอดเขารอคนมาหา ผมไม่รู้จักคุณอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นการส่วนตัว แต่พฤติกรรมของเขาเราต้องยกย่องว่าวางตัวถูก ผมเชื่อว่าคุณอนุทินและ ปชป.เป็นคิง เมกเกอร์ คนที่จะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ภูมิใจไทยและ ปชป.

มีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นกรณีตัวอย่างไหม?

เมื่อปี 2529 ปชป.ได้ผู้แทน 101 เสียง ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าพรรค ชาติไทยได้ที่ 2 แค่ 50 กว่าเสียง และยังมีพรรคอื่นๆ อีกหลายพรรคได้ 40 เสียง หัวหน้าพรรค ปชป. ควรต้องถูกเสนอให้เป็นนายกฯ แต่พรรคชาติไทยวิ่งไปจับพรรคเล็กพรรคน้อย รวมแล้วเกิน ปชป. แต่นั่นยังไม่สำคัญ มันมีนายทหารมาขอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้เป็นนายกฯอีกครั้ง สมาชิก ปชป.แท้ๆ เองยังไปสนับสนุนในหลักการที่ไม่เอาสมาชิกมากแล้ว ไปพูดว่าส่วนตัวแล้ว อยากได้ป๋าเปรม คนในพรรค ปชป.เองก็ไม่ต่อสู้ในหลักการนี้ ขนาดหัวหน้าพรรคตัวเอง ยังไม่สนับสนุนเลย ไปสนุบสนุนคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นไม่ดี พล.อ.เปรมดีแน่ ดีมาก เดี๋ยวนี้ผมยังรัก เคารพท่านตลอดเวลา แต่ในหลักการของประชาธิปไตยแล้ว ต้องพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด ผมเลยกลายเป็นรองนายกฯคนที่ 1 พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ ปี 2529-2531 แล้วเลือกตั้งใหม่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พรรคชาติไทยชนะ แต่กลับไปหา พล.อ.เปรมใหม่ ขอมาเป็นนายกฯอีก ท่านบอกพอแล้ว พล.อ.ชาติชายถึงได้เป็นนายกฯ ซึ่งถูกต้องแล้ว

หลังจากรู้ผลปั๊บว่าชาติไทยได้สูงสุด ปชป.ได้ที่ 2 ผมมีจดหมายถึง พล.อ.ชาติชายทันที บอกว่าในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด ท่านต้องยอมรับเป็นนายกฯ ผมส่งเสริมให้ท่านเป็นนายกฯ เพราะผมยึดหลักการประชาธิปไตย

เหตุการณ์เดี๋ยวนี้เหมือนตอนนั้นไม่มีผิด เราจะเอาอย่างไร ถ้าหากถือตามหลักการอุดมการณ์ของ ปชป. จะต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพราะมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด เรื่องเก่าๆ เรื่องคนต่างประเทศ มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยังต้องยึดตามหลักกฎหมายอยู่ คนที่อยู่ต่างประเทศ ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องทำตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่า เพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด คุณจะไปเอาคนอื่นได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็แล้วแต่ทางพรรค

“เราต้องยอมรับ ประชาธิปัตย์ไม่ใช่เลิศ  มีพรรคเกิดใหม่ขึ้นมา
มีคนรุ่นหนุ่มสาวอย่างพรรคอนาคตใหม่  คนไปดูถูกเขา ผมไม่เคยดูถูกเลย
คนเหล่านี้เป็นรุ่นที่มีไฟ คิดอ่านก้าวหน้า ยึดหลักประชาธิปไตย มีอุดมการณ์
เหมือนประชาธิปัตย์เมื่อแรกตั้ง”

ปรากฏการณ์ที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึงคือความนิยมในพรรคอนาคตใหม่ ส่วนตัวมองอย่างไร?

พรรคอนาคตใหม่ตอนนี้คล้าย ปชป.ตอนแรกตั้ง ทั้งอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการ และนโยบาย รู้สึกว่าเหมือนผมตอนหนุ่มๆ หัวหน้าพรรคเป็นเด็กหนุ่ม ทำธุรกิจ บริหารงานเป็น การบริหารงานเป็นเรื่องสำคัญซึ่งอภิสิทธิ์ขาด หัวหน้า อนค. แสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่บริหารงานได้ผล ได้กำไร มีเงินมีทองจากการทำธุรกิจโดยไมได้โกงใคร ผมเน้นคำนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีประสบการณ์ในการวางแผนยุทธศาสตร์

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่คนแห่เลือก อนค.คล้ายยุค “ไทยรักไทย” ที่คนคาดหวังว่าจะเป็นความหวังใหม่ๆของชาติ โดยเทียบเคียงว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจเป็นทักษิณคนต่อไป?

ถ้าพูดอย่างนั้นก็ไปมองคนในแง่ร้ายเกินไป เขายังเป็นเด็กหนุ่ม ยังต้องให้โอกาสเขาทำงาน เราจะไปเอาคนนี้ไปเปรียบเทียบกับคนนั้น ไม่ได้ แต่ผมมองดูบุคลิกของหัวหน้า อนค.แล้ว คิดว่าเขาจะเป็นนัการเมืองที่ดีคนหนึ่งในอนาคต ขอให้รักษาพฤติกรรม รักษาคำพูดต่างๆ ซึ่งไม่เคยด่าคนนั้นคนนี้ พูดแต่นโยบาย ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ต้องการปฏิรูปทหาร ขอให้เขายึดมั่นต่อไปตอนนี้ กกต.ถูกตั้งคำถามหนักมาก ที่ผ่านมาเคยมีกระแสสังคมถล่มทลายอย่างนี้หรือไม่?

(ตอบทันที) ไม่เคย หนนี้เป็นครั้งแรก กกต.เป็นองค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด แสดงออกมาถึงความสามารถในการดำเนินการ ความสามารถยังแย่มาก ชุดนี้ทำงานอ่อนมาก กฎหมายเลือกตั้งก็วุ่นวาย ใบลงคะแนนเลือกตั้งหนนี้ตัวนิดเดียว ผมอายุมากแล้ว จะดูทีต้องดูให้แน่ว่าเบอร์ไม่ผิด ต้องเอาแว่นขยายเข้าไป.

“โนๆๆๆ เขาคุยมา ผมอ่าน แต่ไม่ตอบ”

คือคำถามเมื่อถูกถามว่าคุยเรื่องการบ้านการเมืองใน “ไลน์” ที่เด้งตลอดเวลาขณะให้สัมภาษณ์หรือไม่ ?
แม้อยู่ในวัย 93 ปีแต่ยังอัพเดทข่าวสารอย่างทันท่วงทีโดยมีสมาร์ทโฟนคู่ใจ พร้อมกลุ่มไลน์ที่เจ้าตัวระบุว่า มีเพื่อนอยู่หลายกลุ่ม แต่ไม่ส่งภาพดอกไม้ “สวัสดีวันจันทร์” ทุกวันนี้ดูทีวี และอ่านข่าวออนไลน์จากเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ได้เล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ แต่ไม่ส่งต่อ โดยให้เหตุผลว่า “เดี๋ยวติดตาราง เดี๋ยวนี้มีอะไรแปลกๆ เยอะ (หัวเราะ)”

ปราศรัย 2514

แม้เกาะติดสถานการณ์อันเข้มข้นเผ็ดร้อนอยู่ตลอดเวลา แต่ยืนยันว่า ไม่เครียด ทั้งยังแฮปปี้กับการรับประทานอาหารได้ทุกอย่าง “ยิ่งมันยิ่งอร่อย ไม่คุมอาหาร กินได้หมด แต่ไม่อยากกินมาก ไม่ได้ออกกำลังกายอะไร แค่เดินในบ้านนิดหน่อย ดูต้นไม้ ดูอะไรไป” พูดแล้วชี้ให้ชมไก่แจ้ญี่ปุ่นที่เลี้ยงไว้ พร้อมรอยยิ้มอ่อนโยน

เมื่อถามว่า อะไรคือความสุขของวันนี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเล่าถึงการทำงานในฐานะ “ประธานมูลนิธิภาคโรตารีไทย” ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับกรมชลประทานในการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการก่อสร้างแก้มลิงหนองโนนต่าย จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

และแม้วันนี้ ยังคล่องแคล่ว ไม่มีวี่แววของความอ่อนล้า ทว่า เจ้าตัวเตรียมพร้อมเผชิญหน้าอนาคตอย่างไม่หวาดหวั่น เตรียมจัดทำหนังสืองานศพซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าถึงชีวิต การทำงาน และครอบครัว

ถ่ายกับมารดาที่บ้านตรอกมะขาม ในวัย 3 ขวบ

เปิดใจเล่าว่า หลังสูญเสีย คุณหญิงจรวย รัตตกุล เมื่อ 5 ปีก่อน ทุกวันนี้ยังเดินทางไปยังวัดธาตุทองทุกวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ภรรยาผู้เป็นที่รักเสียชีวิตลง โดยตั้งใจจะฌาปนกิจพร้อมกันเมื่อตนเองเสียชีวิต

แต่งงานที่บ้านสระปทุม 16 กันยายน 2488

“เป็นความรักที่งดงามและยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับชีวิตที่ผ่านมาเกือบศตวรรษของอดีตนักการเมืองคนนี้…พิชัย รัตตกุล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image