แดดเดียว : นายกฯหลังเลือกตั้ง

เห็นอาการทุลักทุเลของการเข็นนายกฯ บิ๊กตู่กลับมาเป็นนายกฯภาคสองแล้วเหนื่อยแทน

ก็โอเคว่า คำตอบสุดท้ายก็ต้องบิ๊กตู่ เพราะกฎหมายดีไซน์มาแบบนั้น แต่ขั้นตอนการปฏิบัติ และกระบวนการผลักดันนั้นสุดหอบหืดจริงๆ

เชื่อว่าระยะนี้ บรรดาเนติบริกรน้อยใหญ่ ผู้ยกร่าง ออกแบบ ดีไซน์กฎกติกา น่าจะนั่งสะอึกนอนสะอึก ท้องผูกไปตามๆ กัน เพราะโดน “พาดพิง” หนักหน่วงมาก

เริ่มจากปฏิวัติ หรือจริงๆ คือรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ตอนนั้นชาวนกหวีดไชโยโห่ฮิ้วกันเป็นอันมาก

Advertisement

เพราะเท่ากับปิดสวิตช์เจ๊ปู หรือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จงเกลียดจงชังกันเหลือเกินไปได้ หลังจากพยายามไล่มาตั้งแต่ปลายปี 2556 ด้วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ยิ่งลักษณ์ถอยกรูดๆ ถอน กม.นิรโทษฯ ก่อนยุบสภา ในเดือน ธ.ค.2556 ให้เลือกตั้งใหม่ 2 ก.พ.2557 กลายเป็นนายกฯรักษาการ แต่ม็อบไม่เลิก จี้เจ๊ปูให้ลาออกจาก “นายกฯรักษาการ” ให้ได้

เมื่อยิ่งลักษณ์ไม่ยอม ม็อบก็ “ยกระดับ” ไปเรื่อยๆ จะให้ประเทศไทยเกิดสุญญากาศ ไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศให้ได้

Advertisement

ตรงนี้ต้องยอมรับเลยว่า กฎหมายไทยเรา ได้บัญญัติไว้อย่างรัดกุม รองรับทุกสถานการณ์เอาไว้ พูดง่ายๆ ว่าจะไม่มีทางเกิด “สุญญากาศ” ขึ้นได้เลย

ต่อให้รัฐบาลรักษาการลาออกหมด ก็ยังมีระบบที่จะเข้ามาแทนที่

ในตอนนั้น คนกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง มี “ลุงกำนัน” เป็นขวัญใจ ไปไหนมาไหนมีติ่งมาต้อนรับกันยิ่งใหญ่ พร้อมกับด่า “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย เละเทะไปหมด

ไฮโซ-ดารา มีส่วนทำให้ม็อบนี้มีสีสัน โดยลงมาสนับสนุนลุงกำนัน ไปร่วมชุมนุมกันสวยๆ จัดกิจกรรมหาทุนกันแบบเท่ๆ ดูมีคลาสสุดสุด

เรียกว่า “อาหารดี-ดนตรีไพเราะ” ของม็อบพันธมิตรเมื่อปี 2550-2551 ชิดซ้ายไปเลย

สุดท้าย ก็ต้องลงเอยด้วย “รัฐประหาร” เมื่อ 22 พ.ค.2557 ตอนนั้น คสช.หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ วางตัวเป็น “กรรมการกลาง”

ทำท่าไม่เข้าใครออกใคร จะเป็นท่านเปามาสร้างความปรองดอง ควบคุมตัวทั้งขั้วเพื่อไทยและขั้ว กปปส.ไปกักไว้

ตอนแรกทำท่าเหมือนกับจะไม่ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่สุดท้ายต้องเลิกหมด แล้วร่างใหม่ตามธรรมเนียม

ยิ่งนานเข้าก็ยิ่งเหมือนคณะรัฐประหารเดิมๆ หนังสือพิมพ์ลงข่าวแกนนำม็อบ ไปพูดในงานเลี้ยงฉลองชัยของม็อบในคลับแห่งหนึ่ง

เลย “โป๊ะแตก” จนได้ว่า ที่แท้ “เขา” คือบิ๊กทหารกับบิ๊กการเมืองคุยกันมาหลายปีแล้ว ว่าจะจัดการเรื่องการเมืองกันยังไง

ดังนั้น เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อุบัติเหตุ ที่อยู่ๆ เกิดขึ้น แต่มีการคบคิดกันมาแล้ว

สุดท้าย กรรมการกลางก็เลยปรับโฉมใหม่ ตัดสินใจใช้โมเดลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคหลั่งกึ่งพุทธกาล คือ “อยู่ยาว”

รวมเวลา 5 ปี ตรงนี้ต้องย้ำว่า 5 ปี ซึ่งระหว่าง 5 ปีที่ว่านี้ มีหลายเรื่องหลายราวเกิดขึ้น

มีการผัดผ่อนโรดแมป เลื่อนเลือกตั้งมา 5-6 หนด้วยกัน

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านสภาลากตั้ง ต้องเททิ้งไป 1 ฉบับ แล้วกลับมาร่างใหม่ ผ่านประชามติ เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำลังใช้อยู่ตอนนี้

ส่วนสภาพการณ์ต่างๆ เป็นยังไง ผลบวกผลลบ เจริญรุ่งเรือง หรือหัวปักดิน ต้องให้นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่ได้ไปสดุดีอำนาจพิเศษ ยังเหลือวิญญาณนักวิชาการ เป็นผู้ทำหน้าที่สรุปไปละกัน

5 ปีที่ว่านี้ ไม่มี ส.ส. ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐบาลมีอำนาจบริหารเต็มที่ จะสร้างอะไร ยกเลิกสิ่งใด แก้ปัญหาอะไร เซ็นแกร็กก็น่าจะจบอย่างฉลุย ไม่มีนักการเมืองมาคอยค้าน ไม่มีมวลชนมาชุมนุมเรียกร้อง

ดังนั้น 5 ปีที่ผ่านมา ควรจะเกิด “คะแนนนิยม” ที่เป็น “ต้นทุน” ให้กับรัฐบาลที่ทำหน้าที่มาตลอด 5 ปี และจะ “ไปต่อ” ได้อย่างไม่ยากเย็น

แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ใช่ เลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 หลายพรรคประกาศไม่หนุนบิ๊กตู่ เพื่อเรียกคะแนนนิยม

บางพรรคซึ่งจริงๆ ใกล้ชิด คสช. ก็ทำคลุมๆ เครือๆ ไม่เอาบิ๊กตู่ตามสมัยนิยมเหมือนกัน

ผลเลือกตั้งออกมา พรรคหนุนบิ๊กตู่ คือพลังประชารัฐ ไม่ได้คะแนนสูงสุด

เพื่อไทยได้มา 136 เสียง ส่วน พปชร. เข้ามา 115 เสียง แล้วลองบวกต่อๆ ไป พรรคที่สนับสนุนบิ๊กตู่ไม่ได้คะแนนมากนัก

เส้นทางสู่สภาของอดีตนายกฯ เริ่มยุ่งยาก แต่ พปชร. หรือพลังประชารัฐไม่ได้สนใจอะไรมาก เดินหน้ารวมเสียงสถานเดียว

ภายในปลายเดือน พ.ค.นี้ พรรค พปชร.คงต้องเร่งดันบิ๊กตู่ ไปนั่งแท่นนายกฯ ไว้ก่อน โดยใช้เสียง ส.ว. 250 คน ช่วยโหวต

พอเป็นนายกฯแล้ว เรื่องยากๆ อาจจะง่ายไปเอง

พรรคที่ท่าทีแข็งๆ อย่าง ปชป. หรือ ภท.คงจะคิดหนัก การรวมเสียงตั้งรัฐบาลอาจง่ายขึ้น

แต่ก็นั่นแหละ ในการเมืองไม่มีอะไรง่ายเกินหรือยากเกิน

เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร เส้นทางอาจจะง่าย แต่การทำงาน การบริหารงาน ไม่ง่ายเลย ดีไม่ดีทุนหายกำไรหด

ส่วนเป็นนายกฯ ในระบบสภา ไม่มีอะไรง่ายสักอย่าง

ยิ่งการบริหารงาน ยิ่งต้องเตรียมตัวเตรียมใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image