เปิดประวัติศาสตร์ ‘รัฐพิธี’ ย้อนอดีต ‘ประชุมสภา’ จาก 2475 ถึงวันนี้

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เอง 33 ครั้ง

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 คือวันแรกของการเรียกประชุมรัฐสภา ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 15 วันหลังประกาศรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงรัฐพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม

นับเป็นอีกหนึ่งห้วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

28 มิ.ย.2475 เปิดประชุมสภาครั้งแรก

ย้อนกลับไปในอดีต การประชุมสภา ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 เวลาราวบ่าย 2 โมงเศษ สภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิก 70 คน ได้เริ่มประชุม ณ ห้องโถงชั้นล่างของ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลือก มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายพลตรี พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภา ได้ขออนุมัติที่ประชุมให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งผู้แทนราษฎรซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

จากนั้นเลือกประธานคณะกรรมการราษฎร หรือ นายกรัฐมนตรี และกรรมการราษฎร หรือ รัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมโหวตให้ มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นั่งเก้าอี้นายกฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรี 14 นาย

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของไทย ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน-1 กันยายน


ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกนี้ ยังมีการพิจารณาและเห็นชอบการแต่งตั้ง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เสนอต่อที่ประชุมว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราวเฉพาะ ถูกสร้างขึ้นด้วยเวลากะทันหันอาจมีข้อบกพร่อง จึงควรตั้งผู้มีความรู้ความชำนาญตรวจแก้ไขเพิ่มเติมให้เรียบร้อยบริบูรณ์ จำนวน 7 คน

ที่ประชุมสภา ตกลงกันด้วยว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์ละ 3 ครั้ง คือ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 16.00 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้ให้ถือว่าเป็นการเปิดเผย ใครถามอะไรให้สมาชิกบอกได้ เว้นแต่สภาจะลงมติว่าเป็นการประชุมลับจึงปกปิด

Advertisement

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา “ประธานคณะกรรมการราษฎร” หรือนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย (ภาพถ่ายคู่คุณหญิงนิตย์ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถ่ายก่อน พ.ศ.2473)
การประชุมสภาในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา ราว พ.ศ.2480


พระราชดำรัสในรัฐพิธี

ในการเปิดประชุมรัฐสภาของไทยนั้น เป็นรัฐพิธีที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธี หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน โดยมีคณะบุคคลเฝ้าฯรับเสด็จ

นักวิชาการสันนิษฐานเบื้องต้นว่า มีที่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศอังกฤษ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเทศต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ในการประชุมสภาครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกระแสรับสั่งเปิดประชุม โดย เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้เชิญพระกระแสรับสั่ง

ความว่า

“วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ”

ต่อมา ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เอง 33 ครั้ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้กระทำพิธีเปิดประชุม 6 ครั้ง และมีจำนวน 4 ครั้ง ที่ผู้แทนพระองค์เป็นผู้ประกอบรัฐพิธีเนื่องจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่สามารถมาได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 (ภาพโดย Xiengyod~commonswiki)
สมาชิกสภาผู้แทนชุดที่ 2 ถ่ายเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2476

พระราชดำรัสพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา สมัยประชุมวิสามัญ มีความว่า

“ท่านทั้งหลายคงจะตระหนักใจอยู่ว่า เหตุการณ์ของโลกกำลังอยู่ในระยะอันจะผันแปรไปสู่ทางร้ายหรือทางดีก็หามีผู้ใดอาจพยากรณ์ได้ไม่ เท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้มีการขัดแย้งกันในทางลัทธิการเมือง แม้ใกล้ประเทศเรานี้เองก็ถึงกับประหัตประหารกันด้วยอาวุธ ด้วยมีความเห็นแตกแยกกัน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความวิตกอยู่บ้างว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนถึงประเทศไทยเพียงใด แต่ข้าพเจ้ามีความพอใจที่เห็นประเทศชาติของเรายังสามารถรักษาความสงบสุขไว้ได้ดี”

พระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เป็นที่ประชุมสภาตั้งแต่ พ.ศ.2475 แม้ต่อมา ย้ายการประชุมไปยังอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เมื่อ พ.ศ.2517 แต่ในการเปิดประชุมครั้งแรก ยังคงมีขึ้น ณ พระที่นั่งองค์นี้ โดยถือเป็นรัฐพิธีสำคัญ

จากพระที่นั่งอนันตสมาคม ถึง ‘รัฐสภา’

สำหรับสถานที่ประชุมสภานั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ใช้ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่กราบบังคมทูลขอ นับแต่นั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา กระทั่ง พ.ศ.2514 มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขึ้นทางทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยใช้เวลาในการก่อสร้างราว 4 ปี

พ.ศ.2517 จึงย้ายการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปยังอาคารรัฐสภาบริเวณถนนอู่ทองใน และได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ด้วยความที่มีห้องประชุมเพียงห้องเดียวจึงสลับกันประชุมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ต่อมา มีการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งล่าสุด “สัปปายะสภาสถาน” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ราชพัสดุถนนทหาร ย่านเกียกกาย เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นในรัฐสภาแห่งใหม่ นับเป็นสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแห่งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ โดยมีห้องประชุมแบ่งเป็น 2 ห้อง คือ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร และห้องประชุมวุฒิสภา แยกจากกันเป็นสัดส่วน

 

สัปปายะสภาสถาน ริมฝั่งเจ้าพระยาในย่านเกียกกาย รัฐสภาใหม่แห่งที่ 3 ของประเทศ (ภาพจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย)


9 ทศวรรษ ‘ชวเลข’ ยืนยงคู่สภา

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องมีการบันทึกถ้อยความ คำกล่าวของบุคคลต่างๆ อย่างถี่ถ้วน นวัตกรรมล้ำหน้าที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อย่าง “‘ชวเลข” ถูกนำมาใช้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนับแต่ครั้งแรก โดยมีการยืมตัว หลวงชวเลขปรีชา และ นายสิงห์ กลางวิสัย เป็นผู้จดรายงานเฉพาะวันประชุมสภา ต่อมาในปี 2476 เมื่อตั้งกรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงเริ่มบรรจุข้าราชการตำแหน่งพนักงานชวเลข จากนั้น ในปี 2517 มีการตั้ง ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด กระทั่งปี 2535 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานรัฐสภาครั้งใหญ่ โดยแยกเป็น 2 สำนักงาน ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของแต่ละสำนักงาน

ต่อมา ในปี 2546 มีการปรับเปลี่ยนฝ่ายดังกล่าวเป็น “สํานักรายงานการประชุมและชวเลข” แบ่งส่วนราชการภายในเป็น 6 กลุ่มงาน นับเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่อยู่ยืนยงตั้งแต่อดีตกาลถึงยุคดิจิทัล

 

บรรยากาศประชุมสภายุคแรกๆ

พัฒนาการจากเมื่อวาน ถึง ‘วันนี้’

จากจุดเริ่มต้นการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 9 ทศวรรษก่อน จนถึงวันนี้ ได้มีพัฒนาการในด้านต่างๆ เรื่อยมาตามยุคสมัย ไม่หยุดนิ่ง สำหรับการเปิดประชุมสภา ในครั้งล่าสุดนี้ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ปกติการประชุมสภา แบ่งตามประเภทของสมาชิกสภา คือ ถ้าเป็นรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีการประชุม ส.ส. และ ส.ว. แต่การประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นมีความต่างออกไป

“ความต่างของการประชุมสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งถ้าเป็นหลักการสมัยก่อน คือ การประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะประชุมระหว่างสมัยประชุมสภาเท่านั้น น่าสังเกตว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้ มาจากรัฐธรรมนูญที่ทำให้ ส.ส.และ ส.ว. ประชุมสภาร่วมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี จึงผลักให้การประชุมร่วมกันของ ส.ส.และ ส.ว. ทำได้เลย หากมองจากกรอบของเวลาที่คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีพูด คือ หลังจากที่มีการเปิดประชุมสภา วันที่ 24 พฤษภาคมแล้ว อยากให้วันรุ่งขึ้นสรรหาประธานทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ในคราวเดียวกัน ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติหลังมีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมแล้ว วันรุ่งขึ้นต้องเริ่มประชุมเลย ซึ่งในครั้งก่อนๆ วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ส.และ ส.ว. เหลื่อมกัน หมายความว่า ถ้า ส.ส.ยุบสภาไปเลือกตั้งใหม่ ประธาน ส.ว.ยังทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาได้ แต่ในครั้งนี้มีความพยายามจะเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. และประธานรัฐสภา จึงต้องเลือกใหม่หมด”

เป็นช่วงเวลาสำคัญอีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติและประชาธิปไตยไทย

 

ประชุมสภายุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ข้อมูลและภาพส่วนหนึ่งจาก

1.สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

2.หนังสือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) โดย ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยกลุ่มรัฐกิจเสรี เมื่อ พ.ศ.2517

3.พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

4.ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

5.สำนักรายงานการประชุมและชวเลข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image