จิปาถะ ส.พลายน้อย : หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (199) ทศรถชาดก สำนวนเบงคาลี

ภรตกุมารไม่มีทางเลือกก็จำต้องเชิญฉลองพระบาทของพระรามและพระลักษมันกับนางสีดากลับกรุงพาราณสีด้วย

สามปีต่อมาพระรามได้เสด็จไปกรุงพาราณสี เมื่อภรต, ลักษมันและสีดาทราบเรื่อง ก็เสด็จไปพร้อมด้วยชาวเมืองพาราณสี ต้อนรับพระราม ณ อุทยานนอกเมือง สรุปว่าได้มีการเฉลิมฉลองพระรามขึ้นเป็นกษัตริย์และยกนางสีดาขึ้นเป็นอัครมเหสี ปรากฏว่าพระรามได้ครองราชย์อยู่นานถึง 1,000 ปี เรื่องทศรถชาดกอย่างย่อมีเพียงเท่านี้ ไม่มีเรื่องหนุมานและวานรเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ในรามายณะของเบงคาลีมีเรื่องพิสดารต่างออกไป ซึ่งจะขอเก็บความมาเล่าดังต่อไปนี้

ครั้งดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่ารฆุ (Raghu) มีโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า อชะ (Aja) ซึ่งได้รับราชสมบัติต่อมาและอชะได้อภิเษกกับเจ้าหญิงอินทุมาตี (Indumati) มีโอรสทรงพระนามว่า ทศรถ (Dasarath) เมื่อทศรถมีพระชนมายุเพียง 1 ปี ทั้งพระบิดาและพระมารดาก็ดับขันธ์ ฤษีวศิษฐ์ได้อุปถัมภ์เลี้ยงดูสั่งสอนศิลปวิทยาให้ จนอายุได้ 5 ปีก็ได้เป็นกษัตริย์ ในโอกาสนั้นปรศุรามได้ถวายศาสตราวุธแก่ท้าวทศรถ แต่ยังไม่มีพระมเหสี ครั้นพระชนมายุได้ 30 พรรษา จึงได้อภิเษกกับเจ้าหญิงเกาดัลยา (Kausalaya) ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์โกศล

เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นประเพณีของกษัตริย์ในชมพูทวีปที่อนุญาตให้พระธิดาเลือกคู่ด้วยตนเองเรียกว่าสวยัมพร (Svayambara) ในภาษาไทยเขียนกันต่างๆ เช่น สยมพร สยุมพรหรือสยัมพรก็มี เป็นพิธีอย่างที่นางรจนาเลือกเจ้าเงาะนั่นเองกล่าวกันว่าเป็นต้นแบบที่เกิดประเพณีหญิงเป็นฝ่ายขอผู้ชายแต่งงานสมัยต่อมา โดยฝ่ายชายไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

Advertisement

ในครั้งนั้นกษัตริย์ภูเขาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าไกเทยะ (kaikeya) มีพระธิดาชื่อ ไทเกยี เมื่อถึงคราวสวยัมพร ก็ประกาสให้เจ้าเมืองต่างๆ ทราบ ราชาทศรถเมื่อได้ทราบข่าวก็เสด็จไปร่วมพิธีด้วย ราชาทศรถเป็นราชารูปงามเมื่อเจ้าหญิงไทเกยีได้เห็นก็พอพระทัยทรงเลือกเป็นพระสวามี แต่วาสนาบารมีของราชาทศรถไม่หมดเพียงเท่านั้น ต่อมาได้เข้าพิธีสวยัมพรกับเจ้าหญิงสุมิตราพระธิดาของกษัตริย์สิงหลพระองค์หนึ่ง

อย่างไรก็ตามแม้จะมีมเหสีถึง 3 พระองค์ และอยู่กันมาหลายปีก็ยังไม่มีโอรสธิดา ตามเรื่องว่ามิใช่จะเป็นเฉพาะมเหสีทั้งสามองค์เท่านั้นก็หาไม่ บรรดานางสนมอีกมากกว่า 350 นาง ก็ไม่มีโอรสธิดาด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นต้นเหตุจึงน่าจะเกิดจากราชาทศรถมากกว่า

ตามเรื่องของ Bengali (ซึ่งผู้รู้กล่าวว่าเจ้าของชื่อออกเสียงว่าบังกะลี่) ที่กล่าวมาจะมีรายละเอียดมากกว่ารามเกียรติ์ของไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image