จิปาถะ ส.พลายน้อย : หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (202) ศาสตร์สัญชีวินีของ‘ไกเกษี’

Athanasia linifolia ส่วนประกอบหนึ่งในสมุนไพร “สัญชีวินี”(ภาพจาก https://www.ispotnature.org/communities/southern-africa/view/observation/649176/athanasia-linifolia)

ในสมัยที่ท้าวทศรถครองกรุงอโยธยาอยู่นั้น มีอสูรตนหนึ่งชื่อสัมพร (Sambara) เป็นอสูรที่หยาบช้า ชอบระรานเทวดาให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ ได้บุกรุกยึดเมืองอมราวดี (Amravati) ของเทวดา ทำให้เทวดาต้องกระจัดกระจายไป ไม่อาจอยู่ในสวรรค์ได้ พระอินทร์ผู้เป็นหัวหน้าเทวดาซึ่งต้องไปเฝ้าพระพรหม (Brahma) เพื่อหาทางแก้ไข พระพรหมตรัสว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผู้ที่จะสังหารสัมพรได้นั้น มีอยู่แต่ท้าวทศรถเท่านั้น พระอินทร์จึงรีบไปยังกรุงอโยธยาทูลขอให้ท้าวทศรถช่วย ท้าวทศรถก็ไม่ขัดข้อง ยกไพร่พลไปยังอมราวดี

ฝ่ายพวกไพร่พลของสัมพรก็เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ สัมพรก็ออกต้านทานด้วยตนเอง เกิดยิงต่อสู้ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก เรียกว่าเลือดท่วมแผ่นดิน กล่าวโดยสรุป ท้าวทศรถซึ่งมีฝีมือในการยิงธนูโดยไม่ต้องเห็นตัว ก็สามารถประหารสัมพรได้สำเร็จและพระองค์ก็ได้รับความบาดเจ็บหลายแห่ง แต่ได้นางไกเกษี ซึ่งมีวิชาสัญชีวินี (Sanjeevani) ช่วยรักษาบาดแผลให้จึงไม่เป็นอันตราย ท้าวทศรถเห็นความดีของนางจึงอนุญาตให้ขอพร (นางไกเกษีรักษาด้วยความเต็มใจ โดยใช้ปากดูดพิษที่แผลจนเลือดเต็มปากเหมือนกินหมาก ปราศจากความรังเกียจ ก็เป็นการสมควรอยู่) นางไกเกษีก็ทูลว่าจะเลือกขอพรต่อภายหลัง

กล่าวถึงชนกราชฤษี (Raja-Rsi) ครองกรุงมิถิลา ไม่มีโอรส วันหนึ่งเสด็จไปไถนา ได้พบไข่ฟองหนึ่งจึงเก็บมากะเทาะเปลือกออกก็พบทาริกาอยู่ภายใน ท้าวชนกราชฤษีดีใจมากอุ้มเอากลับไปเลี้ยงในวังตั้งชื่อให้ว่า “สีดา” เพราะได้จากรอยไถแท้ที่จริง แล้วทารกนั้นคือพระลักษมี (Laksmi) มาเกิด ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับท้าวทศรถทำพิธีขอบุตรมาครบ 1 ปี พระนารายณ์ก็มาปรากฏที่มณฑลพิธี ประทานหม้อน้ำทิพย์แก่ฤษีผู้ทำพิธี ให้นำไปถวายท้าวทศรถ เมื่อท้าวทศรถได้รับน้ำทิพย์แล้วก็เอาไปให้นางเกาศัลยา และนางไกเกษีคนละครึ่ง นางสุมิตราไม่ได้ส่วนแบ่งก็เสียใจ นางเกาศัลยาจึงบอกว่าอย่าเสียใจ พี่รักเธอเหมือนน้อง ฉะนั้น จะแบ่งส่วนของพี่ให้ครึ่งหนึ่ง ลูกของเราจะได้เป็นเพื่อนกัน นางไกเกษีทราบดังนั้นก็แบ่งให้นางสุมิตราบ้าง

กล่าวโดยสรุป เมื่อมเหสีทั้งสามของท้าวทศรถดื่มน้ำอมฤตแล้วตั้งครรภ์ แต่นางเกาศัลยาประสูติโอรสก่อน ทำให้ท้าวทศรถมีความปีติโสมนัสเป็นอันมากที่ได้โอรสเป็นทายาท และตั้งพระทัยจะมอบราชสมบัติให้ “ราม” เป็นกษัตริย์สืบแทนต่อไป

Advertisement

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของเบงคาลี ซึ่งต่างไปจากรามายณะของอินเดียที่ว่าพระอัคนีนำผลไม้ 4 ผลมาประทานพระราชทศรถพร้อมกับตรัสว่า มีความยินดีที่ทศรถทำพิธีบวงสรวงต่อพระองค์ (อัคนี) ด้วยความจงรักภักดี จึงมอบผลไม้ทั้ง 4 ผลนี้แก่ชายาทั้งสาม เมื่อกินแล้วจะเกิดบุตรชายตามจำนวนผลไม้นี้ ตามเรื่องว่า ทางเกาศัลยาและนางไกเกษีคว้าผลไม้ไปคนละผลที่เหลืออีก 2 ผลนั้นนางสุมิตราเอาไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image