จิปาถะ ส.พลายน้อย : หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (203) ต้นกำเนิด‘ราม’

ภาพจาก httpswww.siamganesh.comrama.html

ในรามายณะของอินเดียกล่าวว่า เมื่อมเหสีทั้งสามทองทศรถเสวยผลไม้ทิพย์ของพระอัคนีแล้วก็ตั้งครรภ์ เมื่อถึงกำหนดคลอด นางเกาศัลยาก็ให้กำเนิดราม นางไกเกษีให้กำเนิดภรต ส่วนทางสุมิตราเสวยถึง 2 ผล จึงให้กำเนิดโอรส 2 องค์ ชื่อลักษมัน กับ ศตรุฆน์ สรุปว่าเจ้าชายทั้ง 4 ประสูติพร้อมกัน และโอรสทั้งสามคือ ภรต, ลักษมัน และศตรุฆน์ ต่างก็เคารพราม ยกย่องให้เป็นพี่ใหญ่ เพราะประสูติจากพระอัครมเหสีองค์ใหญ่ มีความยินดีที่รามได้เป็นรัชทายาท

ในหนังสือรามายณะของลังกาได้กล่าวถึงวันเกิดของรามไว้อย่างชัดเจนว่า เกิดเมื่อวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนไจตร (เดือน 5) และยังบอกตำแหน่งของดาวในราศีสำคัญอีกด้วย เช่น อาทิตย์อยู่ราศีเมษ, เสาร์อยู่ราศีตุล, พฤหัสบดีอยู่ที่ราศีกรกฎ พระศุกร์อยู่ที่ราศีมีน และอังคารอยู่ที่ราศีมังกร ผู้ที่เคารพนับถือพระรามจึงนิยมบูชาพระรามในวันนวมี คือวันเกิดของพระรามในวันดังกล่าว

การเกิดของพระรามที่กรุงอโยธยานั้น มีเหตุกระเทือนไปถึงกรุงลงกา ปรากฏว่าราชบัลลังก์ของราพณ์สั่นสะเทือนจนมงกุฎของราพณ์หล่นลงบนพื้น ทำให้ราพณ์ตกใจกลัวด้วยไม่รู้สาเหตุ ได้แต่ร้องบอกอินทรชิตให้นำธนูศรมาให้ จะยิงทำลายพสุธาและวาสุกรีด้วยคิดว่าเป็นต้นหตุ วิภีษน์ (Vibhishana) ต้องช่วยแก้ว่าเหตุที่เกิดนั้นไม่ใช่ความผิดของพสุธาและวาสุกรี แต่เป็นด้วยพระรามมาเกิดต่างหาก เมื่อราพณ์ทราบเช่นนั้นก็เรียกศุกะ (Suka) และ สารัณ (Sarana) ให้มาเฝ้า แล้วสั่งให้ไปสำรวจตามที่ต่างๆ บนพื้นโลก ถ้าพบทารกเกิดใหม่ชื่อรามก็ให้ฆ่าเสีย อย่าให้เติบโตขึ้นมาได้ แต่ทำไม่สำเร็จ

ส่วนในรามเกียรติ์ไทยมีเสนายักษ์แห่งกรุงลงกาชื่อศุกสารณ์ มีจำนวนมากถึง 20 ตน ทศกัณฐ์ใช้ให้ไปดูเหตุการณ์ที่พวกวานรแผลงฤทธิ์ให้พิเภกดู ศุภสารณ์ได้เนรมิตเป็นลิงเข้าไปดู พิเภกรู้ก็บอกพระราม จึงถูกจับเฆี่ยนและสักหน้าพาตระเวนประจานไปรอบกองทัพ แล้วปล่อยให้กลับไปรายงานให้ทศกัณฐ์ทราบเรื่องของเบงคาลีจึงต่างกับรามเกียรติ์ ความต่างกันอีกเรื่องหนึ่งคือกำเนิดของวานร ตามเรื่องของเบงคาลีกล่าวว่า เมื่อพระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว บรรดาทวยเทพทั้งหลายก็มาเกิดเป็นวานร พระพรหมก็ได้มีบัญชาแก่ทวยเทพว่า เมื่อไปพบนางวานรที่ไหนก็ให้สวมกอดนางวานรเหล่านั้น

Advertisement

เมื่อทวยเทพปฏิบัติตามเทวบัญชา ก็ปรากฏผลดังนี้

ด้วยเดชของสุริยพระอาทิตย์ก็เกิดสุกรียะ (Sugriya) ในรามายณะเป็น Su-griva แปลว่า คองาม ในรามเกียรติ์ว่าสุครีพเป็นลูกพระอาทิตย์กับนางกาลอัจนาด้วยเดชขององคต (Angada) เกิดพาลิน (Balin) ไม่มีในรามเกียรติ์

ส่วนตัวอื่นๆ จะได้กล่าวต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image