การต่อสู้ไร้ผู้นำ ‘ฉันจะทำเพื่อฮ่องกง’ เจาะปมม็อบป่วน จากต้านกฎหมาย ถึงข้อเรียกร้องที่ยังไม่สิ้นสุด

นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าการชุมนุมประท้วงที่ ฮ่องกง จะลุกลามไปเรื่อยๆ

จากการชุมนุมบนท้องถนนเริ่มเขยิบพื้นที่ไปยังท่าอากาศยาน ด้วยหวังให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทราบว่าพวกเขาออกมาประท้วงเพราะเหตุใด เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินจำนวนมาก ทำให้ผู้โดยสารจำนวนมหาศาลตกค้างอยู่ด้านใน รวมทั้งชาวไทยอีกหลายร้อยชีวิต

ความห่วงกังวลของทางการไทยทำให้ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมอากาศยานจำนวน 2 ลำ คือเครื่องบินแบบ ซี-130 และเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ-340 พร้อมเจ้าหน้าที่สำหรับอำนวยความสะดวกในการอพยพคนไทยในฮ่องกง โดยเตรียมแผนเส้นทางการบินรองรับการเดินทาง ต่อมาเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงกลับมาให้บริการเที่ยวบินขาเข้าและขาออกอีกครั้ง (สถานะวันที่ 14 ส.ค.2562)

เหตุการณ์นี้ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งออกมาแชร์ประสบการณ์ติดผู้ชุมนุมที่สนามบินฮ่องกงผ่านแฮชแท็ก #ฮ่องกง และ #ฮ่องกงประท้วง ทางทวิตเตอร์ โดยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่งข้อความให้กำลังใจต่อเนื่อง

Advertisement
นาทีผู้ประท้วงพ่นสีลงบนตราสัญลักษณ์ของฮ่องกงที่ติดอยู่ภายในห้องประชุมรัฐสภา ระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่บานปลายหนักเป็นความรุนแรง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.62 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 22 ปี ที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีน (รอยเตอร์)

อย่างไรก็ดี ชนวนเหตุทั้งหมดเริ่มจากการต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ลุกลามไปถึงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อมานานกว่าสองเดือนแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่เองก็ใช้ความพยายามอย่างหนักในการสลายชุมนุม มีทั้งยิง แก๊สน้ำตา และ กระสุนยาง ภายหลังมีผู้ชุมนุมหญิงได้รับบาดเจ็บอย่างหนักบริเวณตาข้างขวา พร้อมอ้างว่าถูกตำรวจยิงกระสุนยางใส่ ต่อมาตำรวจฮ่องกงได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ภาพของหญิงคนเดียวกันได้กลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การประท้วงที่สนามบิน โดยมีผ้าปิดตาและรอยเลือดเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้

ขณะที่ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกง ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาหยุดขายอาวุธให้ฮ่องกง เนื่องจากพบว่าแก๊สน้ำตาที่ตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมนำเข้าจากบริษัทค้าอาวุธของสหรัฐ

Advertisement

ไม่มีใครรู้ว่าการชุมนุมประท้วงครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน เพราะล่าสุด ค่ำคืนของวันที่ 14 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มผู้ประท้วงในถนนบริเวณศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้ประท้วงวางแผนประท้วงเพิ่มเติมในวันที่ 16 ส.ค. ตลอดจนช่วงสุดสัปดาห์นี้ในอีกหลายพื้นที่

กลุ่มผู้ประท้วงขณะถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ระหว่างปะทะกันที่ย่านไท่ไวของฮ่องกง เมื่อวันที่ 10 ส.ค.62 (รอยเตอร์)

ด้านทางการจีนเองได้ออกมาย้ำชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงในฮ่องกงเป็นพฤติกรรมที่ใกล้จะเป็น “การก่อการร้าย” หลังจากเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในสนามบิน เพราะกลุ่มผู้ประท่วงได้ควบคุมตัวชาย 2 ราย ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนรัฐบาลฮ่องกง

ขุดต้นตอคนฮ่องกงลุกฮือประท้วง

สายตาของคนทั้งโลกเฝ้ามองสถานการณ์ประท้วงฮ่องกงอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เช่นเดียวกับ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ และโครงสร้างกฎหมายจีนที่เกี่ยวข้องกับกรณีความไม่สงบในฮ่องกง ในเสวนา ‘ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?’ สะท้อนให้เห็นคำตอบมากมายว่า เพราะเหตุใดพลเมืองฮ่องกงจึงเกิดการประท้วงยิ่งใหญ่เช่นนี้?

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของจีน เปิดประเด็น กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ชนวนเหตุการประท้วงอย่างน่าสนใจว่า แต่เดิม ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การใช้กฎหมายจึงเป็นแบบภายในอังกฤษเอง ทว่าเมื่อคืนฮ่องกงให้จีนแผ่นดินใหญ่แล้วได้มีความพยายามปรับเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายภายในฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ต่อเมื่อมีการทำสนธิสัญญากันเท่านั้น

ภาพจาก รอยเตอร์

ที่สำคัญคือ ฮ่องกงเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน แต่มีระบบกฎหมายอิสระเป็นของตัวเองภายใต้กรอบธรรมนูญการปกครองฮ่องกง ดังนั้น จนกว่าจะมีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน จีนจึงไม่สามารถร้องขอให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปได้ และตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมาได้มีความพยายายามเจรจาทำสนธิสัญญามาตลอด แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบกับจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้เห็นเรื่องนี้สำคัญเท่าใดนัก

“จุดกำเนิดของเรื่องทั้งหมดมาจากวัยรุ่นฮ่องกงไปเที่ยวไต้หวันกับแฟน แล้วถูกล่าวหาว่าฆ่าแฟนที่ไต้หวัน ก่อนจะบินกลับมาฮ่องกง เมื่อความผิดเกิดที่ไต้หวัน ศาลฮ่องกงจึงไม่มีอำนาจพิจารณา และฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวันและจีน ทำให้นักกฎหมายเกิดความสร้างสรรค์ หวังแก้กฎหมายฮ่องกงให้สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกรณีๆ ได้ ดังนั้น หากเกิดคดีขึ้นที่ใด และประเทศนั้นไม่ได้มีสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง แต่ถ้ามีการเรียกร้องให้ส่ง ฮ่องกงก็สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้

“คนฮ่องกงขาดความเชื่อมั่นกับกระบวนยุติธรรมของจีน แม้ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาอยู่ตลอด แต่จะเกิดปัญหาทันทีเมื่อเป็นคดีการเมือง หรือคดีที่พรรคคอมมิวนิสต์มีความต้องการชัดเจน ทั้งนี้ ศาลจีนไม่ได้เป็นอิสระ เพราะอยู่ใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นสังคมฮ่องกงจึงเกิดความกังวลว่าหากใครเป็นศัตรูกับรัฐบาลจีนก็อาจถูกกลไกนี้ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และฮ่องกงจำเป็นต้องส่ง” ดร.อาร์มกล่าว

สำหรับการประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า เป็นเพราะคนฮ่องกง ไม่เห็นด้วย กับกฎหมายนี้ โดยกลุ่มผู้ประท้วงมีทั้งชนชั้นนำ นักธุรกิจ รวมทั้งคนที่ไม่ชอบรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหา ทว่าเรื่องที่น่าตกใจคือ ในวันเดียวกันนั้นรัฐบาลฮ่องกงกลับเดินหน้าพิจารณากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้วันที่ 12 มิ.ย.เกิดการบุกล้อมรัฐสภา กระทั่งวันที่ 15 มิ.ย.รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกการพิจารณากฎหมาย และจนถึงตอนนี้ที่เวลาล่วงเลยมากว่า 2 เดือนก็ยังมีการชุมนุมอยู่

ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งพยายามขัดขวางการเดินทางด้วยรถไฟ ส่งผลให้เที่ยวบินกว่า 100 เที่ยวต้องยกเลิกการเดินทางในวันเดียวกัน (Photo by Anthony WALLACE/AFP)

1 ประเทศ 2 ระบบ เท่ากับ’ความไม่ชัดเจน’
และ’ข้อเรียกร้อง’ที่รัฐบาลไม่(ค่อย)รับ?

ด้วยนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ทำให้เกิด “ความไม่ชัดเจน” มากมาย เช่นในมาตรา 45 และ 68 ของกฎหมายธรรมนูญการปกครองฮ่องกงระบุว่า เป้าหมายคือ Universal Suffrage หรือการให้ ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งทั้งผู้บริหารและสภานิติบัญญัติฮ่องกง

ดร.อาร์มกล่าวว่า ในปี 2014 ซึ่งยังเกิดการประท้วงร่มหรือปฏิวัติร่มก็มาจากการที่รัฐบาลปักกิ่งยึดสัญญาจากปี 2011 ว่าจะให้คนฮ่องกงเลือกตั้งผู้บริหารเขตฮ่องกง เพียงแต่ตัวแคนดิเดตต้องผ่านการสกรีนก่อน ทำให้รัฐบาลปักกิ่งพยายามแก้กฎหมายเลือกตั้ง กระทั่งปี 2017 ก็ยังเป็นการเลือกตั้งแบบเดิม คือเลือกผ่านตัวคณะกรรมการเลือกตั้ง 2,000 คนที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้การประท้วงครั้งนี้มีประเด็น Universal Suffrage และการแก้ไขกระบวนการร่างกฎหมายเลือกตั้งเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ที่คนไม่ให้ความเชื่อมั่นกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะเชื่อว่าตัวผู้บริหารสูงสุดของเขตฮ่องกงอยู่ใต้อิทธิพลปักกิ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นมาคือคนไม่เชื่อว่าการพิจารณาคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเป็นคดีๆ ทั้งศาลฮ่องกงและผู้บริการฮ่องกงจะกล้าปฏิเสธไม่ส่งตัวผู้ร้ายกลับไปปักกิ่ง แม้จะมีความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเห็นชัดเจนว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองก็ตาม ดังนั้น ภายใต้กรอบ 1 ประเทศ 2 ระบบ รวมทั้งคนฮ่องกงยังไมได้เลือกตั้งโดยตรง ทำให้กลไกการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจเกิดการบินเบือนได้”

อย่างไรก็ดี แม้ แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จะออกมากล่าวว่า กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้ตายลงแล้ว พร้อมยอมรับว่าการดำเนินการของรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าวเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทว่าผู้ชุมนุมก็ยังประท้วงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ดร.อาร์มตั้งข้อสังเกตว่า เพราะชาวฮ่องกงและจีนได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ตรงกัน

แคร์รี หล่ำ ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ระบุว่ากฎหมายที่จะเปิดทางให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้ตายลงแล้ว พร้อมยอมรับว่าการดำเนินการของรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าวเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง (AFP)

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อหลัก ประกอบด้วย 1.ถอดถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน 2.ไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งภายหลังมีการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมบางส่วน 3.เลิกเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็นการก่อจลาจล 4.ตั้งกรรมการอิสระสอบสวนการกระทำของตำรวจว่าจัดการกับผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุหรือไม่ และ 5.เรียกร้องให้เริ่มกระบวนการปฏิรูประบบเลือกตั้ง

แต่ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดจะได้รับการตอบสนองเพียงแค่ข้อแรกๆ เท่านั้น

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ภายหลังผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ตาขวาจากการถูกตำรวจใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปราม (รอยเตอร์)

การต่อสู้ที่ไร้ผู้นำ ‘ฉันจะทำเพื่อฮ่องกง’

ประภาภูมิ เอี่ยมสม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ วอยซ์ออนไลน์ เป็นหนึ่งบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ปฏิวัติร่มและการประท้วง ณ ปัจจุบัน

เธอฉายภาพความแตกต่างของทั้งสองเหตุการณ์นี้ว่า การประท้วงครั้งนี้ไม่มีแกนนำ ใครถนัดอะไรก็พูดแบบนั้น และอาศัยว่า ฉันจะทำสิ่งนี้เพื่อฮ่องกง ต่างจากการปฏิวัติร่มเมื่อปี 2014 ที่มีแกนนำคอยควบคุมทิศทางการประท้วง

“รู้สึกว่าการประท้วงครั้งนี้ดูจัดการดีมากๆ เช่น หากเจอแก๊สน้ำตาจะทำอย่างไร ถ้าโดนจับต้องทำอย่างไร ก่อนจะไปทำข่าวที่นั่นเรารู้สึกว่าจริงๆ ต้องมีแกนนำอยู่เบื้องหลังแน่นอน

“แต่เมื่อคุยกับผู้ประท้วงแล้วพบว่าครั้งนี้ไม่มีแกนนำ แต่ชาวฮ่องกงใช้วิธีการหนึ่งคือ เราถนัดอะไรก็พูดกันแบบนั้น เช่น คุณมีความรู้เรื่องกฎหมายก็ไปแจกใบปลิวบอกว่าถ้าโดนจับต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้ามีทุนทรัพย์ก็ซื้ออุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยต่างๆ หรือถ้ามีความรู้ด้านการปฐมพยาบาลก็คอยดูแลผู้ป่วย ดังนั้น การประท้วงครั้งนี้จึงไม่มีแกนนำเลย อาศัยว่าฉันจะทำสิ่งนี้เพื่อฮ่องกง” ประภาภูมิกล่าว

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะยุติการชุมนุมเมื่อไหร่ และสถานการณ์จะพลิกผันไปในทางใดหรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image