สูงวัยอย่างมีคุณภาพด้วย “สมุนไพร” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร “เราอยากกระตุ้นให้ประชาชนขบถ”

สิ่งที่เรียกว่า “สังคมผู้สูงวัย” ดูเหมือนประเทศไทยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้พ้น

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมรับมือแต่เนิ่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

เช่นที่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชน จัดงานด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อ “เฮลท์แคร์ 2016” ภายใต้ธีม “สร้างสุขผู้สูงวัย” นับเป็นงานมหกรรมสุขภาพเพื่อผู้สูงวัยครั้งแรกของไทย

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คือหนึ่งในหน่วยงานด้านสุขภาพที่มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์แผนไทย และการใช้สมุนไพรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ภูมิปัญญาในการใช้สมุนไพรของประเทศไทยได้รับการสืบสาน ส่งต่อ ให้พืชสมุนไพรกลับมาเป็นที่แพร่หลายเหมือนดังแต่ก่อน

Advertisement

และผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในเรื่องนี้เห็นจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ !

“หมอต้อม” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นับเป็นคนแรกๆ ที่ให้ความสนใจในการลงพื้นที่สืบเสาะแสวงหาพืชสมุนไพร ตลอดจนเรียนรู้ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน จนในที่สุดก็พัฒนามาเป็นยาสมุนไพรมากมาย

ก่อนการมาถึงของสิ่งที่เรียกว่า “สังคมผู้สูงวัย” จึงอยากชวน “หมอต้อม” คุยเรื่องบทบาทของสมุนไพรในด้านนี้

Advertisement

มองวาระเรื่องสังคมผู้สูงวัยอย่างไร?

คงเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศต้องตระหนัก เราคิดว่าการทำเรื่องผู้สูงอายุ ไม่ใช่ให้ผู้สูงอายุมางานหรือชมนิทรรศการเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วคือทุกคน เพราะเราทุกคนหนีไม่พ้นการเป็นผู้สูงอายุ และการจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพนั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยนี้

ปัจจุบัน มีตัวเลขเห็นชัดๆ เลยว่า ในปี 2567-2568 มีผู้สูงอายุถึง 14.5 ล้านคน ปริมาณขนาดนี้ถามว่าจะต้องสร้างโรงพยาบาลสักกี่แห่งรองรับถึงจะพอ คือไม่มีทางรองรับได้แน่ๆ วันนี้ เราเป็นสังคมเดี่ยวเต็มรูปแบบ ไม่ใช่สังคมขยายเหมือนแต่ก่อน ความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้น ทุกคนต้องเตรียมตัวว่าทำอย่างไรจะไม่เป็นภาระผู้อื่นเมื่อสูงวัยไปแล้ว เรื่องนี้ต้องมีการเตรียมการ

ถามว่าในการเตรียมการนั้นเราต้องเตรียมอะไรบ้าง ก็มีทั้งหลายแง่หลายมุมในส่วนของการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทยสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้

บทบาทของการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร?

เราคิดไว้ประมาณ 3 มิติ ซึ่งได้กลายมาเป็นความรู้ที่จะให้ในนิทรรศการ และกิจกรรมของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในครั้งนี้ด้วย นั่นคือ 1.ความอายุวัฒนะ สมุนไพรของเราตามตำรับยาโบราณนั้นมีคำนี้อยู่ ซึ่งทางตะวันตกนั้นไม่มี เรามียาในเชิงป้องกัน ส่วนตะวันตกมียาในเชิงรักษา

2.คือการอยู่กับความเสื่อมอย่างไร้ปัญหา ธรรมดาของผู้สูงอายุที่จะมีความเสื่อม แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ลุกลามบานปลาย หรือแทรกซ้อน เพราะผู้สูงอายุนั้นมีความเสื่อมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้ปกติ เช่น อยู่กับเบาหวานโดยที่ตาเราไม่เป็นปัญหา ไตเราไม่เป็นปัญหา สมุนไพรของเราจะไปช่วยเสริมในเรื่องนี้ เพราะบางชนิดก็มีฤทธิ์ไปช่วยป้องกัน โรคเรื้อรังไม่ให้แทรกซ้อนได้

3.คือการติดอาวุธสุขภาพให้ประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนสมัยก่อนนั้น มีโรคหลายโรคที่พวกเขาสามารถดูแลตัวเองได้ ในอนาคตในสังคมของผู้สูงวัยหรือไม่สูงวัยก็แล้วแต่ ควรคิดว่าทำอย่างไรที่จะไม่ให้พวกเขาไปโรงพยาบาล เพราะจะว่าไปโรงพยาบาลนั้นก็เป็นรังของเชื้อโรค ทำอย่างไรที่จะให้คนสามารถเฮลท์แคร์ตัวเองได้

เราต้องเสริมกำลังให้กับประชาชนในการดูแลสุขภาพตัวเอง ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ คนในสังคมไทยจะต้องมีเรื่องนี้ และอาวุธของเขาก็คือสมุนไพร องค์ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทย นำไปปรับใช้ในอาหารการกิน วิถีชีวิต การออกกำลังกาย ให้สมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขา

ตัวอย่างสมุนไพรที่มีสรรพคุณน่าสนใจ?

มีหลายชนิด แต่ที่เป็นไฮไลต์ก็เช่น ป่าเฮ่วหมอง เป็นสมุนไพรป้องกันพวกมะเร็ง ต้นนี้เป็นผักที่บ้านเรามีอยู่ ขณะที่อเมริกามีการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขายแล้ว สมุนไพรตัวนี้มีพื้นฐานที่สำคัญคือเป็นตัวคุ้มกันตั้งแต่เบาหวาน ป้องกันมะเร็งเต้านม ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ ยังรักษาโรคภัยได้หลากหลายทั้งที่เป็นพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง

ต่อมาคือ เนียมหูเสือ เป็นสมุนไพรที่มีฟอร์มสวยมาก สามารถที่นำเป็นไม้ประดับและก็ผักได้ เป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย สรรพคุณเป็นตำรับยา

แก้ไอ จำพวกทำให้ทางเดินหายใจโล่ง เป็นทั้งยาบำรุงเลือดลม บำรุงร่างกาย ขับน้ำนมหลังคลอด แก้ท้องอืด แก้หวัด แก้ไอ แก้คออักเสบ แก้หอบหืด รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ใช้ขยี้ทาเพื่อห้ามเลือด ใช้คั้นน้ำหยอดหูเพื่อรักษาหูน้ำหนวก ใช้ดับกลิ่นปาก รวมทั้งกินเป็นผักสดได้อย่างเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะใช้กินแกล้มลาบทุกชนิด

เพชรสังฆาต ช่วยเรื่องโรคกระดูกพรุน ข้อเสื่อม หมอยาพื้นบ้านยุคอดีตนิยมนำมาใช้รักษากระดูกหัก จากการศึกษายังพบว่าเป็นยาช่วยเพิ่มความแข็งแรงกระดูก เอ็น ข้อต่อ แก้ปวด แก้อักเสบ มีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยทำให้เส้นเลือดแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการทดลองให้ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนกินเพชรสังฆาตวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 3 เดือน พบว่ามีฤทธิ์ต้านการเกิดภาวะกระดูกพรุนด้วย

และกระดูกไก่ดำ เมื่อก่อนนิยมปลูกไว้หน้าบ้านเป็นไม้ประดับ อีกทั้งยังเป็นไม้ที่ปลูกไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เพราะมีความเชื่อกันว่าใครปลูกไว้บ้านเรือนจะแข็งแรง กำจัดเสนียดจัญไร กระดูกไก่ดำมีสรรพคุณช่วยลดอาการข้ออักเสบในคนที่ปวดข้อหรือปวดเมื่อย แก้ช้ำใน แก้ไอ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 รวมถึงยังใช้ได้ดีกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น นำไปอาบบำรุงร่างกาย ทำยาประคบ ยาพอก ยาย่าง น้ำมันนวด เป็นต้น

สมุนไพรทั้ง 4 ชนิดนี้ จะมีแจกฟรีวันละ 100 ต้น ในงาน “เฮลท์แคร์ 2016” และนอกจากนี้ ยังมีการทำอาหารจากสมุนไพรเหล่านี้ให้ชมด้วย

สังคมผู้สูงวัยต้องเตรียมอะไรบ้าง?

เตรียมพร้อมว่าทำอย่างไรเมื่อแก่ตัวไปแล้วไม่เป็นโรคไต ไม่ถูกตัดขาจากเบาหวาน หรืออายุ 70-80 ปีขึ้นไปแล้วคุณยังจำลูกจำหลาน จำหน้าตาของคนใกล้ชิดคุณได้อยู่ เป็นต้น

วันนี้เรานึกถึงตัวเองตอนอายุ 70-80 ปี ได้ไหมว่าจะอยู่อย่างไร ถ้าเราเป็นครอบครัวเดี่ยวจะเป็นอย่างไร?

ภาวะเรื่องสังคมผู้สูงวัยแน่ๆ แต่คุณจะรองรับมันอย่างไร คิดว่าการดูแลตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ให้เด็กอ้วนหรือผอมกว่าเกณฑ์ มีการดูแลสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม ถ้ามีการเตรียมการตรงนี้ ถ้าอนาคตเรามีผู้สูงอายุที่มีคุณภาพก็ไม่ต้องไปกลัวอะไร ดังนั้น ก็ต้องเริ่มต้นดูแลสุขภาพ งดเหล้า งดบุหรี่ ดูแลตัวเองไม่ให้มีสารพิษเข้ามา มีสารสร้างอนุมูลอิสระ ใช้ชีวิตอยู่กับผักอยู่กับหญ้า กับการออกกำลังกาย ถ้าเราสร้างความตระหนักได้ด้วยว่า ยาแต่ละเม็ดนั้นต้องนำเข้านะ ถ้ามีผู้สูงอายุไม่แข็งแรงต้องพึ่งยามากมายขนาดนั้น นึกดูแล้วกันว่ามันจะล่มจมขนาดไหน

การสร้างความตระหนักเรื่องเตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ ไม่หลงระเริงกับสุขภาพที่ยังดีอยู่ คือ ต้องเห็นว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคืออะไร ตับ ไต หัวใจ แขน ขา สมอง ของเราใช่ไหม จะดูแลรักษาอย่างไร ต้องคิดเรื่องนี้

ปัจจุบัน อภัยภูเบศรให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้สูงอายุแค่ไหน?

คือในความเป็นโรงพยาบาล เราก็ดูแลรักษาทุกโรคอยู่แล้ว แต่ว่าล่าสุดมีเตรียมการเรื่องผู้สูงวัยตรงนี้ไว้ด้วย อย่างล่าสุด ก็มีการเซ็นเอ็มโอยูกับศูนย์นวัตกรรมทางชีววิทยา เรื่องการพัฒนาและการดูแลผู้สูงอายุ เรื่องการสร้างเมืองสมุนไพร และก็จะมีนวัตกรรมเกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนต่อไป


เราเตรียมการไว้หลากหลายด้านมาก อย่างแนวทางเรื่องอายุวัฒนะ มีการศึกษาวิจัย อาหารแบบไหนที่กินแล้วช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ ป้องกันการเสื่อมต่างๆ ใช้สมุนไพรอะไรช่วยได้ ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ

แนวทางต่อมาคือเมื่อมีโรคผู้สูงอายุเกิดขึ้น คิดว่าทำอย่างไรไม่ต้องให้เดินทางมาโรงพยาบาล ตอนนี้เราพัฒนาศูนย์ DIS เหมือนเป็นศูนย์เครือข่าย เป็นคอลเซ็นเตอร์ ถ้าคุณมีปัญหาโทรมาได้เลยจะมีคนคอยให้คำปรึกษา ซึ่งในอนาคตเราคิดถึงการที่คนไม่ต้องมาโรงพยาบาลเลย หาสมุนไพรรอบตัวใช้ได้เลย

และอีกแนวทางคือเรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชน อย่างตอนนี้เรามีศูนย์ต่างๆ เกิดขึ้น อย่าง “ศูนย์บางเดชะ” ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องสมุนไพร เป็นแหล่งของการเรียนรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน ที่พัก สถานที่ฝึกอบรม นั่นก็เพื่อเพิ่มศักยภาพประชาชนในการดูแลสุขภาพ ทำอาหารกินเอง ทำน้ำสมุนไพรกินเอง ฯลฯ เป็นต้น

องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรในบ้านเรา?

ที่ผ่านมาองค์ความรู้มันสูญหายไป การเริ่มกลับมาใหม่ตอนนี้มองว่ายังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นของสิ่งที่มีอยู่ และก็มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมาย

งานค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องสมุนไพรต่างๆ ออกมาเป็นหนังสือที่ทำอยู่ตอนนี้ การสืบเสาะหาสมุนไพร บอกสรรพคุณ วิธีใช้ต่างๆ ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนขบถ อยากให้ประชาชนต้มยากินเอง คิดว่าวันหนึ่งต้องเป็นกระแส (ยิ้ม) นอกจากนี้ เราก็อยากได้เสียงสะท้อนจากความรู้ที่เราเผยแพร่ไปด้วยว่าเป็นอย่างไร หมามุ่ยกินแล้วหายสั่น พาร์กินสันเป็นน้อยลงไหม, หญ้ารีแพร์ กินแล้วอาการเยี่ยวเล็ดหายไป เรื่องพวกนี้เราจะรอห้องทดลองคงไม่พอ งานที่ทำอยู่นี้เป็นการคืนพลังอำนาจให้ประชาชน เมื่อไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ได้ก็ให้ประชาชนทำเองเลย อันนี้ก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่ให้ประชาชนดูแลสุขภาพ

กว่าจะได้หนังสือแต่ละเล่มต้องไปสืบค้นหาสมุนไพร ต้องทดลองจนเห็นว่ามีความปลอดภัย และคืนพลังให้ประชาชนกลับไป

สมุนไพรไทยที่ต่างชาติเอาไปพัฒนาจดทะเบียนมีมากมั้ย?

เราไม่รู้ทั้งหมดหรอก เพราะที่ผ่านมากลไกการวิจัยของบ้านเราก็มีปัญหา คือ นักวิชาการบ้านเราได้ตำแหน่งศาสตราจารย์อะไรเยอะแยะมากมายก็ต้องไปจดสิทธิบัตรที่ต่างประเทศ พอเขารู้ก็ใช้พืชสมุนไพรไปสังเคราะห์สารเคมีได้เลย อย่างกัญชา มีสารสังเคราะห์จากกัญชาเป็นต้น หรืออย่างหญ้าดอกขาว เป็นงานวิจัยในบ้านเรา เขาก็ไปจดสิทธิบัตรในด้านของก้นกรองบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ หรือว่าเป็นยาลดความอยากอาหาร

เพราะฉะนั้น การจดสิทธิบัตรพืชบางทีไม่ได้มีเฉพาะของไทย ก็ยากที่จะบอกว่ามาจากเรา

ที่สำคัญนั้นคือ ไม่ได้บอกว่าจดสิทธิบัตรหรือไม่ได้จดอย่างไร แต่บ้านเรามีปัญหาคือว่า เราไม่เคยรู้เลยว่าแผ่นดินเรามีอะไรบ้าง เลยทำให้เราไม่สามารถเอาของพวกนั้นมาเป็นยา มาเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และก็ไม่สามารถพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้เลย และนอกจากไม่รู้ว่ามันคืออะไรแล้ว การวิจัยก็ไร้ระบบด้วย

อภัยภูเบศรจึงต้องทำเรื่องพวกนี้?

นี่คือสิ่งที่อภัยภูเบศรทำมานานมากกว่า 30 ปี คือสิ่งที่ภาคประชาชนทำได้ นั่นคือต้องดูแลตัวเอง เราตามเก็บตัวองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาแล้วคืนกลับไปให้ประชาชน

โลกของเราก็มีองค์ความรู้พวกนี้อยู่แล้วมันก็หายไปในยุคเรานี้แหละ ตอนนี้คนทั่วโลกก็ให้ความสนใจบ้านเราที่ครอบครองภูมิปัญญาเหล่านี้โดยที่เรามีไว้แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เรามีพันธุ์พืชไม่รู้ว่ามีประโยชน์อย่างไรอยู่เยอะ ส่วนหนึ่งเพราะเราขาดเรื่องของการบันทึก แต่ที่สำคัญเราไม่ได้ภูมิใจที่เรามีเท่าไหร่ เราตามก้นฝรั่ง การใช้สมุนไพรพอฝรั่งบอกว่าดีเราก็กลับมาเห่อกันอีกรอบ

การที่จะไม่ให้สมุนไพรหายไปคือการใช้ประโยชน์ นำมาเป็นอาหารเป็นยาจะช่วยอนุรักษ์ไว้ได้

 

_WAN9683 (1)

 

มีอะไรในบูธ “อภัยภูเบศร”

งาน “เฮลท์แคร์ 2016”

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผนึกกำลังเนรมิตงาน “เฮลท์แคร์ 2016” ภายใต้ธีม “สร้างสุขผู้สูงวัย” อย่างยิ่งใหญ่ นอกจากสมุนไพรหายากที่นำมาจัดแสดงกว่า 100 ชนิด เพื่อให้ความรู้กับประชาชนที่เข้าชมงานแล้ว ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร บอกว่ายังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์บอกว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน การสร้างความตระหนัก ทำให้คนสุขภาพดีเป็นภารกิจทั้งส่วนตัวและสังคม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในมิติของความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องที่มีค่ามาก ถามว่าที่มนุษย์เราดิ้นรนทุกอย่างในโลกทุกวันนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อชีวิตมิใช่เหรอ และชีวิตก็คือสุขภาพนี้แหละ เป็นเรื่องที่มีค่า

“ถามว่าทำไมต้องมีการจัดงานอีเวนต์แบบเฮลท์แคร์ ก็เพราะเรื่องชีวิตเรื่องสุขภาพนี้เราต้องอาศัยเครื่องมือที่หลากหลายช่วยกัน การพัฒนาสุขภาพไม่ได้อยู่แค่ที่หมอ เราต้องสร้างกลไกที่เชื่อมโยง สร้างความเชื่อมั่นในการดูแลสุขภาพตนเอง เช่น เมื่อรู้ว่าป่วยแล้วจะมีที่ไหนเป็นช่องทางให้รักษาบ้าง หรือทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคโน้นโรคนี้ ต้องสร้างให้คนเห็นถึงความสำคัญสุขภาพ การจัดกิจกรรมอย่างเฮลท์แคร์ เป็นกุศลในเรื่องของเนื้อหา เป็นความจำเป็นในแง่ของงานที่ต้องเผยแพร่ให้คนได้รับรู้

“ถามว่าแล้วทำไมงานที่มติชนจัดถึงน่าสนใจ เพราะมติชนเป็นหนังสือที่ ถ้ามุมมองของเรามันสอดคล้องในเรื่องสาระ เรื่องวิชาการ เป็นข่าวที่มีสาระมีความหนักในตัวของมันเอง ถ้ามองว่าเป็นเรื่องความเชี่ยวชาญก็ได้ งานเฮลท์แคร์ของมติชนประสบความสำเร็จมากกว่าอันอื่น ยืนระยะมานานกว่าที่อื่น เพราะมติชนมีพันธมิตรที่ดี อย่างปีนี้เป็นครั้งแรกที่อภัยภูเบศรยกสวนสมุนไพรเพื่อผู้สูงวัยมาไว้ จัดแนวใหม่ด้วย คือ แต่ละต้นจะมีข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ให้ ทั้งชื่อ สรรพคุณ วิธีการใช้อย่างละเอียด ให้คนมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นข้อมูลได้เลย ประมาณ 100 กว่าต้น” ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอย่างสาธิตการทำอาหารและยาจาก 4 สมุนไพร รวมทั้งแจกต้นไม้ให้นำกลับไปปลูกเองที่บ้านด้วย

ดังนี้ พฤหัสฯ 16 มิ.ย. แจกเนียมหูเสือ-สาธิตการทำบะช่อเนียมหูเสือ, ศุกร์ 17 มิ.ย. แจกป่าเฮ่วหมอง-สาธิตการทำช็อกโกแลตป่าเฮ่วหมอง, เสาร์ 18 มิ.ย. แจกต้นกระดูกไก่ดำ-สาธิตการทำยาพอกกระดูกไก่ดำ ด้านเวทีกลางจะมีการเสวนา “สมุนไพรชะลอวัยไกลโรค” โดย นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ กับ พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น (แพทย์แผนไทยประยุกต์) และอาทิตย์ 19 มิ.ย. แจกเพชรสังฆาต-สาธิตการทำแยมเพชรสังฆาต

สำหรับสวนสมุนไพรอภัยภูเบศรยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ “บอระเพ็ด…ขม (ข่ม) เบาหวาน-ต้านสมองเสื่อม” ตำรับยาจากบอระเพ็ด ยาอายุวัฒนะ บอระเพ็ดแช่อิ่ม เป็นการเปิดตำรับเก่าแก่ของหมอยาพื้นบ้านที่ใช้บอระเพ็ดเข้าตำรับยารักษาสารพัดโรค และร้านยาไทยต้นแบบ “โพธิ์เงินโอสถ” มาให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพโดยแพทย์แผนไทย ตรวจธาตุเจ้าเรือน และจำหน่ายยาสมุนไพร

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ปิดท้ายว่า สำหรับคนที่เดินชมงานจนเมื่อยขอเชิญใช้บริการ “นวดแผนไทยอภัยภูเบศร” ทั้งนวดเท้า คอ บ่าไหล่ และนวดดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย และอีกมุมที่ไม่น่าพลาดก็คือ “ชาชงบุฟเฟต์” เลือกตักเลือกชิมได้ตามใจ เช่น รสมะขามป้อม อัญชัน ฝาง เกสรบัวหลวง เป็นต้น

ห้ามพลาด 16-19 มิถุนายนนี้ พบกันที่ห้องเพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image