สุจิตต์ วงษ์เทศ : อีอีซี ไม่มีสุนทรภู่ ไม่รับรู้ข้อมูลใหม่

ข้อมูลใหม่ทางวิชาการเรื่องสุนทรภู่ เป็นความรู้ก้าวหน้าที่ต้องร่วมกันแบ่งปันเผยแพร่ให้กว้างขวาง ไม่ใช่ปิดปาก ปิดหูปิดตา ให้ชุมชนอีอีซีงมงายกับความผิดพลาดของระบบการศึกษาไทยจนรู้ไม่เท่าทันโลก (ภาพอนุสาวรีย์สุนทรภู่ บ้านกร่ำ อ.แกลง จ. ระยอง)

รัฐบาลให้ความสำคัญอีอีซี มากกว่าชีวิตประชาชน จึงไม่ได้สร้างสมดุลระหว่าง อีอีซีกับชุมชน” มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อต่างๆ ที่ได้ยินแล้วไม่ประหลาด เพราะไม่ต่างจากการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทุกครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่สมัย “โชติช่วงชัชวาล” ก็เป็นอย่างนี้

อีอีซี [ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ] อยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง ลงทุนนับแสนๆ ล้าน (หรือมากกว่านั้น) เพื่อสร้างสวรรค์วิมานแห่งผลกำไรให้ผู้ลงทุน แต่สหรับชุมชนซึ่งมีคนจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกัน รัฐบาลไม่มีแผนงานโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม จึงไม่พบมิวเซียม, โรงละคร, ฮอลล์ดนตรี, หอศิลป์ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ควรมี แต่ไม่มี และรัฐไม่เคยทำให้มีอย่างจริงจังมั่นคง แม้ในพัทยาที่โชติช่วงชัชวาลมาก่อน (ตั้งแต่หลังสงครามเวียดนาม) ก็ไม่พบสิ่งดีๆ อย่างนี้

มิวเซียมอย่างมาตรฐานสากลไม่มีในโครงการของอีอีซีจึงไม่มีในจังหวัดมีเศรษฐกิจมั่งคั่งและมีนักท่องเที่ยวคับคั่งอย่างชลบุรี, ระยอง ทั้งๆ ควรมีอย่างยิ่ง

Advertisement

สนึกทางมิวเซียมของไทยเกี่ยวข้องกับสำนึกทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งพบว่ามีต้นตอจากการศึกษาทั้งระบบ

สุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” ของไทย ความรู้เก่าว่าเกิดบ้านกร่ำ เมืองแกลง (จ. ระยอง)

แต่หลักฐานพบใหม่ (ราว 30 ปีมาแล้ว) เป็นลายลักษณ์อักษรที่สุนทรภู่เขียนบอกไว้เอง ว่าเกิดวังหลังเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) มีเชื้อสาย “พราหมณ์รามราช” อยู่เมืองเพชร (จ. เพชรบุรี)

Advertisement

เหล่านี้เป็นที่รับรู้ทั่วไปในสถานศึกษาครูบาอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา แม้ไม่เป็นทางการ แต่ไม่มีข้อโต้แย้ง [ยกเว้นไม่กี่คนพวกอนุรักษนิยมสุดโต่ง ไม่รับรู้ความก้าวหน้าวิชาการอะไรทั้งนั้น ไม่เฉพาะเรื่องนี้]

น่าอัศจรรย์ใจที่เอกชนผู้เกี่ยวข้องธุรกิจใช้เทคโนโลยีระดับสูงและมีชีวิตหรูหราเลิศล้ำเป็นส่วนหนึ่งของอีอีซีไม่ยอมรับรู้เรื่องนี้ แล้วมีปัญหากลัวความขัดแย้ง ทั้งๆ ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นความก้าวหน้าทางวิชาความรู้เท่าทันโลก

สิ่งนี้สะท้อนระบบการศึกษาไทยขาดพื้นฐานที่ดีทางมนุษยศาสตร์ (หรือศิลปศาสตร์) ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญอีอีซี มากกว่าชีวิตประชาชน

ข้อมูลใหม่ทางวิชาการไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นสิ่งต้องปรับตัวรับความรู้ก้าวหน้า ที่ทุกภาคส่วนควรสนับสนุนร่วมกันแบ่งปันให้กว้างขวาง ไม่ใช่ปิดปาก ปิดหู ปิดตา ให้ชุมชนอีอีซีงมงายกับความผิดพลาดของระบบการศึกษาไทยจนรู้ไม่เท่าทันโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image