พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ (1) …ภาษีลดความเหลื่อมล้ำ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นึกว่าจะรอด ที่แท้ก็รอด (ฮา)

วันนี้มีเรื่องใกล้ตัวสดๆ ร้อนๆ มาชวนคุย ว่าด้วยรัฐบาล คสช. ทั่นเตรียมจัดเก็บภาษีตัวใหม่สำหรับคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเอง วิธีการและขั้นตอนกว่าจะบังคับใช้ได้จริงน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2560

วินาทีนี้คือช่วงเดือนมิถุนายน 2559 หมายความว่ามีเวลาตั้งรับประมาณครึ่งปี อย่าคิดว่าช้า เพราะเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน นะ จะบอกให้

เรามาทำความรู้จักภาษีตัวใหม่กันดีกว่า ชื่อเต็ม ๆ คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ….Ž เป็นกฎหมายภาษีตัวใหม่ที่ออกมาแล้วจะต้องโละทิ้งกฎหมายภาษีเดิม 2 ฉบับ นั่นคือภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2475 กับภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2508

Advertisement

รู้หรือไม่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีชื่อเล่นกับเขาด้วย เรียกไม่เป็นทางการว่า พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์Ž (Property Tax)

ความจริงภาษีตัวนี้รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยมีการหยิบยกมาหาเสียงตั้งแต่โกฏิปีที่แล้ว (หมายถึงยาวนานมากค่ะ) แต่ไม่เคยเป็นจริงสักที ครั้งนี้ถือว่าคืบหน้าที่สุดแล้ว โดยเป็นมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

มีข้อมูลรู้ไว้ไม่เสียหลาย พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ ออกแบบในหลักการไว้ว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างน้อย 3 จุด 1.ลดความเหลื่อมล้ำ (ทรัพย์สินมูลค่าสูงต้องจ่ายภาษีแพงกว่าทรัพย์สินมูลค่าต่ำ) 2.กระจายการถือครองที่ดิน คงประมาณว่าเพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด และ 3.รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น

เริ่มสงสัยแล้วสินะ ภาษีโรงเรือนฯ กับภาษีบำรุงท้องที่มันไม่ตอบโจทย์ตรงไหน จะว่าไปแล้ว

ข้อเสียอยู่ตรงที่มันเป็นภาษีโบราณล้าสมัยเท่านั้นเอง รัฐบาลทั่นบอกว่าภาษีโรงเรือนฯ เดิมไม่ยุติธรรมค่ะ

เวลาจะบอกก็ไม่อธิบายตรงๆ แต่จะใช้วิธีเล่าเรื่องสมมุติ เศรษฐีกับยาจกมีที่ดินแปลงติดกัน เศรษฐีที่ดินแปลงใหญ่กว่า สร้างบ้านหลังใหญ่กว่า และอยู่อาศัยเอง ก็เลยไม่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือนฯ

ในขณะที่ยาจกที่ดินแปลงเล็กกว่า สร้างบ้านหลังเล็กกว่า ไม่มีจะกินก็เลยปลูกห้องแถวเล็กๆ ให้คนเช่า ยาจกคนดังกล่าวมีรายได้จากค่าเช่า จึงต้องจ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดินปีละ 12.5% ของราคาค่าเช่า

ที่ดินของเศรษฐีกับยาจกแปลงติดกัน ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ตรงที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาลงทุนตัดถนน สร้างไฟฟ้า ประปา สร้างความเจริญผ่านที่ดินทั้งสองแปลง แต่กลายเป็นว่าแปลงหนึ่งถูกบังคับให้จ่ายภาษี อีกแปลงหนึ่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร

พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์Ž ซึ่งเป็นกฎหมายภาษีตัวใหม่ จึงออกแบบมาบังคับให้มีการจ่ายภาษีจากทรัพย์สินทุกแปลง โดยภาษีจะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับมูลค่าของทรัพย์นั่นเอง แถมฝนตกทั่วฟ้าอีกต่างหากเพราะเรียกเก็บจากเจ้าของทรัพย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ใน-อยู่นอกโครงการจัดสรร

อย่างไรก็ตาม ความฝันอันสูงสุดคือบังคับทุกคนที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องจ่าย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงยาจกก็คือยาจก ลำพังหาเช้ากินเที่ยง หาบ่ายกินค่ำยังไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ จะมีปัญญาที่ไหนหาเงินมาจ่ายภาษีอีกล่ะ

ดังนั้น จึงเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีการ ยกเว้นŽ ไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับคนบางกลุ่ม ที่รัฐบาลคัดกรองมาอย่างดีแล้วว่าเป็นผู้ที่รัฐสมควรจะดูแล นอกจากนี้เหตุผลยังน่าจะมาจากการเมืองด้วย เพราะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ ถ้ายังคิดรีดภาษีถอนขนห่านกันอีกคงได้เจอม็อบมนุษย์เงินเดือนกันมั่งล่ะนะ (อันนี้คิดเอาเองในใจค่ะ)

จุดไคลแม็กซ์ของพร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ จึงอยู่ที่การแบ่งกลุ่มเรียกเก็บเป็น 4 ประเภท ชื่อแรกที่ลอยมาคือ ภาคเกษตรกรรมŽ ที่เหลือคือ บ้านพักอาศัย-ภาคการค้า-ที่ดินเปล่าŽ

ฟังอัตราจัดเก็บแล้วอย่าตกใจ รัฐบาลทั่นยกเว้นให้สำหรับทรัพย์สินมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องจ่ายภาษี ใช้สำหรับกรณีภาคเกษตรกรรมและบ้านพักอาศัย ถ้าเกิน 50 ล้านบาท ก็ต้องจ่ายตามระเบียบ เห็นกระทรวงคลังแบข้อมูลว่าบ้านแพงมี 8,000 กว่าหลัง จากภาพรวมบ้านเรือน 23 ล้านหลังทั่วประเทศไทย

ฟังแค่นี้คงจะถอนหายใจโล่งอกกันยกใหญ่ จนลืมไปว่าข้าราชการไทยทั่นช่างคิด อุตส่าห์แอบห้อยติ่งๆ ไว้ด้วยว่า ถ้าเป็น บ้านหลังที่ 2Ž ควักกระเป๋าออกมาจ่ายภาษีซะดีๆ เพราะถือว่าเข้าข่ายมีอันจะกินแล้ว เรตติ้งหรืออัตราจัดเก็บก็สุดแสนจะเอาใจ ต่ำสุดคือบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านเก็บ 0.03% หรือล้านละ 300 บาท กับสูงสุดคือบ้านเกิน 100 ล้าน เก็บ 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท

อีก 2 กลุ่มคือ ที่ดินเปล่าŽ ต้องบอกว่าใกล้ตัวอยู่เหมือนกัน เรตติ้งมีตั้งแต่ปีละ 1-3% ของราคาประเมิน กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภท เชิงพาณิชย์Ž ตีความได้ทั้งศูนย์การค้า

คอมมิวนิตี้มอลล์ โรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานให้เช่า จิปาถะบันเทิง เรตติ้งมีตั้งแต่ 0.3%-1.5%

แอบไปเห็นตัวเลขในจินตนาการ เอ๊ย! ไม่ใช่ ตัวเลขในแผนกระดาษของกระทรวงคลัง

ทั่นตั้งเป้าถ้าบังคับใช้พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ขึ้นมาเมื่อไหร่ จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐปีละ 64,000 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

สรุปตบท้ายด้วยสุภาษิตข้างถนน ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ที่ใดมีภาษีที่นั่นต้องมีคนจ่ายภาษีค่ะ (ฮา)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image