คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : เทคโนโลยีอำนวยชีวิต

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและการงานมากขึ้นทุกขณะ อย่างเทคโนโลยี 5G ที่มีการพูดถึงกันมากช่วงนี้ และน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้เกี่ยวพันแต่ในอุตสาหกรรมต้นทางอย่างสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้น หากเข้าไปเกี่ยวข้องและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การขนส่ง การศึกษา การแพทย์ และอีกมากมาย

ถึงกับมีการพูดกันว่า “5G” (อาจจะ) เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกเกมธุรกิจต่างๆ ได้เลยทีเดียว

แต่กว่าจะถึงวันนั้น หรือเป็นกี่ G ก็แล้วแต่ ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้หนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว อย่างน้อยๆ ก็ในโทรศัพท์มือถือที่เราพกติดตัวแทบเกือบตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ทุกวันนี้ คงแทบไม่มีใครปฏิเสธการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ยิ่งถ้ามีความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ ได้ก็จะยิ่งทำให้เกิดมิติในการนำมาใช้งานได้กว้างขวางขึ้น

Advertisement

ดังเช่นความร่วมมือล่าสุดระหว่างสถานีวิทยุ จส.100 บริษัท โกลบเทค จำกัด และหัวเว่ย ในการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) พัฒนาแพลตฟอร์ม NB-IOT ในประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือในการแบ่งปันความรู้ และทดสอบแอพพลิเคชั่น “ตามรอย” (TAMROI) โดยตั้งเป้าที่จะนำมาให้บริการในการดูแลผู้สูงอายุ, เด็ก, ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการบริหารจัดการของมีค่าสำหรับองค์กร และบุคคลต่างๆ

“หัวเว่ย” ผู้ผลิตอุปกรณ์ และโซลูชั่นด้าน “ไอซีที” ชั้นนำ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ทั้งผลักทั้งดันเทคโนโลยี 5G ทั้งในระดับโลกและในบ้านเราเองจะเป็นผู้สนับสนุนด้านอุปกรณ์ และเทคโนโลยี NB-IOT

เมื่อนำมารวมเข้ากับข้อมูลแผนที่ดิจิทัล

Advertisement

“นอสตร้า” ของบริษัท โกลบเทค และคอลเซ็นเตอร์ของสถานีวิทยุ จส.100

ไม่ว่าจะเป็น “คน หรือสิ่งของ” หากสูญหายก็จะสามารถเข้าถึงตำแหน่งของ “อุปกรณ์” ต่างๆ ได้ทันที ทั้งยังมีการเชื่อมโยงการขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

เนื่องจากทีมงาน และคอลเซ็นเตอร์ สถานีวิทยุ จส.100 มีประสบการณ์ในการประสานงานปัญหาเกี่ยวกับบริการช่วยเหลือกับพันธมิตรด้านการช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ ทั้งสถานีตำรวจ, โรงพยาบาล, มูลนิธิ หน่วยงานราชการ และอาสาสมัครต่างๆ อยู่แล้ว

“โรเบิร์ต ฉี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “หัวเว่ย” ระบุว่า ความร่วมมือในโครงการนี้ถือเป็นผลงานสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของหัวเว่ยกับ จส.100 และนอสตร้า เพื่อนำบริการ IOT มาสู่ประเทศไทย

ไม่เพียงจะสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีในการสร้างระบบนิเวศของ IOT ได้เท่านั้น แต่น่าจะมีส่วนช่วยดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อีกด้วย

กรณีผู้ป่วย “อัลไซเมอร์” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

“รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ” อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว จากในปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น

และจากสถิติในประเทศไทยถือได้ว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมีสัดส่วนมากถึง 10-12% สูงกว่า

ค่าเฉลี่ยในเอเชียที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 6%

ไม่ใช่เท่านั้นยังพบอีกว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีประวัติในการสูญหาย และกว่าที่จะตามตัวเจอต้องใช้เวลา และทำให้ครอบครัวเดือดร้อนใจมาก

ทั้งพบด้วยว่า ถ้าผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายไปนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง มากกว่าครึ่งหนึ่งจะได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตอีกด้วย ดังนั้นการมีเทคโนโลยีใดๆ มาใช้ในการติดตามตัวได้เร็วขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ดี

ไม่เพียงช่วยตัวผู้ป่วยเองแต่ยังคลายความกังวลให้คนในครอบครัวได้มากด้วย

“บุคคลากรทางการแพทย์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นหมอหรือพยาบาลมีจำกัด ขณะที่คนหาย 1 คน ทำให้หลายคนในครอบครัวกลุ้มใจ ทั้งด้วยพบว่าผู้ป่วยที่เคยหายไปเมื่อครอบครัวตามเจอแล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเครียดให้ผู้ป่วยอย่างมาก”

อีกปัญหาที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือดูจากภายนอกจะเหมือนปกติทุกอย่าง เช่น มีเคสหนึ่งเป็นผู้สูงวัยอายุ 80 กว่าปีแต่ยังสามารถขับรถไปทำงานได้เองทุกวันเป็นปกติ จนมาวันหนึ่งออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้าเหมือนทุกครั้งแล้วไม่กลับมา เพราะความทรงจำที่หายไป คือทางกลับบ้าน

ตัวอย่างข้างต้นเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง “รศ.นพ.รัฐพลี” ย้ำว่า ในแต่ละครอบครัวมีคุณพ่อคุณแม่ มีคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายจึงมีโอกาสเกิดเหตุการณ์นี้กับคนใกล้ตัวได้ทั้งนั้น

ด้าน “ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้อยู่แค่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่รวมถึงการทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน ที่เข้ามาในประเทศไทยได้เดินทางอย่างมีความสุข และมั่นใจในความปลอดภัยเพิ่มขึ้น หากสามารถมีบริการที่จะมาช่วยสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้ก็จะมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวได้รับการบริการที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย

คุณหญิงสุวิมล ผึ่งประเสริฐ ผู้อำนวยการ สถานีวิทยุ จส.100 กล่าวว่า หวังว่าแพลตฟอร์ม “ตามรอย” จะให้บริการด้านการดูแลแก่สาธารณะ และลดสถิติการเกิดอุบัติการณ์ 6 อันดับแรกในประเทศไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ/อุบัติเหตุทางรถยนต์, การเจ็บป่วย, คนหาย, สัตว์เลี้ยงหาย, ของมีค่าหาย และนักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างชาติหายได้

แต่ไม่ว่าจะเป็น “คน, สัตว์ หรือ สิ่งของ” ก็ตาม หากมีเทคโนโลยีหรือบริการที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยตามหาจนเจอได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image