ใต้ธงปฏิวัติ เปิดหนังสืองานศพ ‘ธง แจ่มศรี’ ในวันที่คอมมิวนิสต์ยังถูกปลุกผี

14 กรกฎาคม 2562 ร่างของ ธง แจ่มศรี บุคคลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยถูกเผามอดไหม้เหลือเพียงเถ้าธุลี ควันไฟจากปล่องเมรุวัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ล่องลอยในอากาศ รายล้อมด้วย “สหาย” ร่วมอุดมการณ์จากทั่วทุกสารทิศเดินทางเป็นสักขีพยาน

ตุลาคม ปีเดียวกัน “ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ” ปึกกระดาษหนา 496 หน้า ถูกส่งถึงมือผู้ร่วมบริจาคสมทบทุนจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก หรือหนังสืองานศพที่เสร็จสิ้นหลังงานดังกล่าวราว 3 เดือนเศษ

“นักปฏิวัติ ชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ยึดมั่นแนวทางที่ถูกต้องจนสิ้นใจ” คือนิยามของชายผู้นี้ที่ถูกตีพิมพ์ไว้บนสันปก

หน้าแรกมีข้อความพิมพ์ด้วยอักษรตัวใหญ่ “ผมเชื่อมั่นในลัทธิมาร์กซ และวิวัฒนาการของสังคม” ลงท้ายด้วยลายมือ ธ. แจ่มศรี

Advertisement

ในช่วงเวลานี้ที่ไม่น่าเชื่อว่า “คอมมิวนิสต์” ยังคงถูก “ปลุกผี” แม้สงครามเย็นสิ้นสุดลงเนิ่นนานจนถูกบรรจุในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์

หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีเพียงคำไว้อาลัย ทว่าได้รวบรวม “ปากคำ” ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่สำคัญคือ “คำบอกเล่า” จากปาก ธง แจ่มศรี และสหาย ซึ่งเรียบเรียงโดย รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ “อาจารย์ยิ้ม” นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ล่วงลับ และคณะ นำเสนออย่างเข้าใจง่ายในลักษณะงานเขียน “กึ่งวิชาการ”

ขณะอยู่เรือนจำชั่วคราวบางเขน สหายธง (แถวกลางที่ 3 จากขวา) ถ่ายเมื่อ 3 มกราคม 2513


ร้อยเรียงอย่างละเอียดลออ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเยาว์ การเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกจับ ใช้ชีวิตในค่ายที่จำปาศักดิ์-อัตตะปือ การเข้าสู่สถาบันลัทธิมาร์กซ กองทัพปลดแอก ขบวนการนักศึกษา กระทั่งนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค เป็นต้น โดยมีบทสุดท้ายคือ “ใต้ธงปฏิวัติ” ที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อหนังสือ

Advertisement

รศ.ดร.สุธาชัยระบุไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า งานเขียนเรื่องนี้ มิได้ตั้งใจให้เป็นบันทึกของผู้ร่วมเดินทางเท่านั้น แต่ยังหวังผลให้เป็นบันทึกชีวิตและการปฏิวัติที่เป็นจริง เพื่อมุ่งสดุดีการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนไทย อีกทั้งชี้ให้เห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ประชาชนไทยจำนวนมากเป็นนักสู้ที่ไม่ยอมจำนนต่อชั้นปกครองเผด็จการ

ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาเข้มข้นตั้งแต่ “ปฐมบท” จนตัวอักษรสุดท้าย

‘คอมมิวนิสต์’ หลานอดีต ‘ขุนนาง’ เวียดนาม

อย่างที่ทราบกันดีว่า ธง แจ่มศรี เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขนักปฏิวัติชาวเวียดนาม โดยหนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดลึกซึ้งถึงครอบครัวที่หล่อหลอมอุดมการณ์ทางการเมือง เดิมเจ้าตัวไม่ทราบวันเกิดของตนเอง กระทั่งเห็นบันทึกของมารดาแล้วนำไปเทียบเคียงปฏิทินทางสุริยคติ ทำให้รู้ว่าเกิดเมื่อ 17 ธันวาคม 2464 อาศัยอยู่ที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นหมู่บ้าน “เวียดเกียว” คือชาวเวียดนามพลัดถิ่น

“หวอตุง” หรือลูไคหอง คือ ชื่อบิดาของธง ผู้ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็น “ขุนนาง” ในแผ่นดินพระเจ้าตื่อดึก ก่อนกลายเป็นผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หวอตุงได้รับอิทธิพลแนวคิดก้าวหน้า จึงร่วมขบวนการกู้ชาติ “ยวีเติน” เพื่อเรียกร้องเอกราชของเวียดนาม เมื่อความพยายามสร้างความร่วมมือกับจีนก๊กมินตั๋งไม่เป็นผลได้เดินทางเข้าสู่สยาม เปลี่ยนชื่อเป็น “นายเสาร์” แต่งงานกับ “นางยอ” หรือชื่อเดิมว่า “ดั่งกวิ่งแอ็ง” สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนผู้เคยต้องโทษติดคุกถึง 8 ปี

ส่วนนามสกุล “แจ่มศรี” ตั้งขึ้นจากการนำชื่อผู้อาวุโสที่สุดของหมู่บ้าน คือ “แม่แจ่ม” และครูโรงเรียนประชาบาลในหมู่บ้าน คือ “แม่ศรี” มารวมกันในยุคที่มีกฎหมายให้ชาวสยามมีนามสกุลเมื่อครั้งรัชกาลที่ 6

ชีวิตในวัยเด็กถูกส่งไปฝึกอบรมให้เป็น “ยุวชนนักปฏิวัติ” ตั้งแต่ 5 ขวบ เรียกได้ว่ามีชีวิตบนเส้นทางการต่อสู้ตั้งแต่จำความได้ และมีบทบาทอย่างต่อเนื่องสืบมา โดยเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2473 ขณะนั้นเจ้าตัวมีอายุเพียง 11 ขวบ

 

ธง แจ่มศรีในช่วงบั้นปลายชีวิต

 

‘คำต่อคำ’ ถ้อยความจากปาก ‘ครั้งแรก’ ถูกจับในวันที่ยังเป็น ‘เด็กชาย’

ไม่เพียงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ หากแต่ “ใต้ธงปฏิวัติ ธงแจ่มศรี” ยังบันทึกคำบอกเล่าที่กลายเป็นเรื่องราวเปี่ยมสีสัน สะท้อนการต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ แม้ถูกจับนับครั้งไม่ถ้วน และแน่นอนว่า ทุกอย่างในชีวิต ย่อมมี “ครั้งแรก” เสมอ ซึ่ง ธง แจ่มศรี กล่าวถ้อยความแบบคำต่อคำในเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ยังมีคำนำหน้าว่า “เด็กชาย” มีหน้าที่ดูต้นทาง ดังนี้

“สำนักงานพรรคที่ใช้ประชุมที่สะพานเหลือง เป็นบ้านไม้สองชั้น ตัวแทนกรรมกรประชุมกันชั้นบน วันนั้นผมไปส่งจดหมายที่ไปรษณีย์กลาง หลังจากส่งจดหมายแล้วคิดว่าจะไปเล่นที่โรงเรียน แต่ทางฝ่ายคนเฝ้าสำนักบอกว่า ไอ้หนูมาเฝ้าแทนให้หน่อย อั๊วจะออกไปกินข้าว ผมเลยไปดูต้นทางแทน บ้านตรงข้ามเป็นร้านขายกาแฟ สิบตำรวจตรีบุญจิ้นปลอมตัวนั่งกินกาแฟอยู่ นายดาบสงบทำเป็นถอยมาที่หน้าต่าง แล้วทิ้งซองบุหรี่ม้วนเป็นอาณัติสัญญาณ ตำรวจก็บุกเข้ามาจับ คนที่หนีไปได้เป็นคนจีนแคะ เคยเป็นทหาร เขาดูทางหนีทีไล่ พอตำรวจเข้า เขาก็กระโดดหนี แล้วไปซ่อนอยู่ใต้สะพาน”

 

สถานที่ประชุมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ครั้งแรก นำโดยสหายซุง หรือโฮจิมินห์


เปิดเรื่องราว สวัสดิ์ ผิวขาว ‘สหาย’ คนไทย ‘คนแรก’

หนังสือเล่มนี้ ยังให้รายละเอียดถึงบุคคลที่น่าสนใจหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ สวัสดิ์ ผิวขาว ชาวอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คนไทยที่เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์สยามและมีบทบาทอย่างมาก สวัสดิ์เกิดเมื่อ พ.ศ.2451 จบการศึกษาจากโรงเรียนของฝรั่งเศสที่เมืองเวียงจันทน์ มีความรู้ภาษาฝรั่งเศส และเวียดนาม รศ.ดร.สุธาชัย เชื่อว่าบุคคลท่านนี้ได้รับอิทธิพลแนวคิดชาตินิยมเวียดนาม และสังคมนิยมตั้งแต่ยังเรียนที่เวียงจันทน์ จึงเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรคอมมิวนิสต์ในประเทศลาวด้วย ครั้งเดินทางกลับมายังอุดรธานี มีบทบาทในการขยายงานพรรคมาสู่ชาวสยาม กระทั่งถูกเรียกตัวเข้าพระนครในช่วงเวลาเดียวกับ ธง แจ่มศรี โดยสวัสดิ์ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ทำให้ สวัสดิ์ ผิวขาว คือ “สหาย” คนแรกที่เป็น “คนไทย” รับงานด้านการนำสูงสุดโดยทำงานเป็นกรรมกรรถไฟ เพื่อหาโอกาสเคลื่อนไหวในหมู่กรรมกรไทย

สวัสดิ์เคยถูกจับในคราวเดียวกับเด็กชายธงในคราวที่รัฐบาลประโคมข่าวว่าเป็นการจับกุมคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่

 

สวัสดิ์ ผิวขาว หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์สยาม


หนังสือพิมพ์ ‘มหาชน’ ก้าวสำคัญคอมมิวนิสต์สยาม

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ รศ.ดร.สุธาชัยมองว่า เป็นจังหวะก้าวสำคัญอย่างมาก คือการก่อกำเนิดของหนังสือพิมพ์มหาชนซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์จะมี “เอกสารภาษาไทย” อย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านั้น เอกสารศึกษา ใบปลิว และอื่นๆ ส่วนใหญ่จัดทำเป็นภาษาจีน หรือแม้มีภาษาไทยบ้าง ก็ไม่ต่อเนื่อง

จุดประสงค์หลักคือรณรงค์ขับไล่จักรพรรดินิยมญี่ปุ่นและถอนตัวจากสงครามรุกราน และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เอง ที่ ธง แจ่มศรี มีบทบาทตั้งแต่เสนอให้ตั้งชื่อว่า “หนังสือพิมพ์มหาชน” ในการประชุมที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2485

เผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2485 มี จิตร เลขวัต เป็นบรรณาธิการ ร่วมด้วย วิทย์ อุดมประเสริฐ และ ธง แจ่มศรี รับเป็นผู้จัดการ และผู้ดำเนินงานด้านเทคนิค ซึ่งการจัดทำในช่วงแรกธงเป็นทั้งช่างเรียง ช่างพิมพ์ ช่างออกแบบ พิสูจน์อักษร รวมถึงฝ่ายผลิต โดยใช้ประสบการณ์จากโรงพิมพ์ที่ทำงานอยู่

 

หนังสือเล่มนี้รวบรวมภาพถ่ายเก่าที่สำคัญมากมาย เช่น ภาพอ่จู ื้อจือและไช่ฉู่อิ๋น 2 สามีภรรยาเจ้าของร้านชำที่มีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์สยามถูกจับกุม เมื่อ พ.ศ.2473


สู่สถาบัน ‘ลัทธิมาร์กซ’ และปมขัดแย้งทางความคิด

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ถูกเรียบเรียงไว้คือการจับกุมขบวนการนักศึกษาในกรณีสันติภาพ โดยมีผู้ถูกส่งฟ้อง 4 คน เป็นชายทั้งหมด ได้แก่ ปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของ ปรีดี พนมยงค์, อารีย์ อิ่มสมบัติ, สิงห์ชัย บังคดานารา และ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ซึ่งได้ไปร่วมในงานศพของ “ธง” ด้วย

ประเด็นการจับกุมผู้ปฏิบัติงานพรรคในกรณีกบฏสันติภาพนี้ ธง แจ่มศรี มองว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้าง “เปิดเผย” เกินไป ครั้นหลังมีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 คณะกรรมการพรรคมีคำสั่งให้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งเดินทางไปจีน เพื่อศึกษาใน “สถาบันลัทธิมาร์กซ-เลนิน” โดย ธง แจ่มศรี เดินทางไปจีนหลังสิ้นสุดโครงการในลาวใต้ หลักสูตรนี้สอนโดยครูชาวโซเวียต เว้นแต่ที่เกี่ยวกับประวัติพรรคคอมมิวนิสต์จีน บทนิพนธ์เหมา เจ๋อตุง และบทเรียนการปฏิวัติจีน สอนโดยครูชาวจีน ในช่วงเวลานี้เอง เกิดการต่อสู้ในด้านแนวทางภายในพรรคอย่างชัดเจน โดยประเสริฐ ทรัพย์สุนทร คัดค้านแนวทางเน้นเคลื่อนไหวปลุกระดมชาวนาในชนบท เพราะมองว่า “ซ้ายจัด” แต่เสนอรูปแบบการต่อสู้เพื่อปฏิวัติประเทศไทยใน “แนวทางแนวร่วม” ให้พรรคคอมมิวนิสต์สร้างแนวร่วมกับชนชั้นนายทุนเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทางสันติก่อนแล้วค่อยปฏิวัติสู่สังคมนิยม ในขณะที่วิรัช อังคถาวร และเจริญ วรรณงาม ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าไทยปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารที่ลิดรอนสิทธิประชาชน การต่อสู้อย่างสันติจึงเป็นวิธีที่เพ้อฝัน แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในเขตงานพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2522 เป็นต้นมา โดยเกิดการโต้แย้งกันอย่างหนักซึ่งมีรายละเอียดและตัวละครน่าสนใจมากมายปรากฏในช่วงท้ายของหนังสือ

 

ปาล พนมยงค์ อารีย์ อิ่มสมบัติ สิงหชัย บังคดานรา และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เป็นนักศึกษาที่ถูกจับกรณีกบฏสันติภาพ


ความ ‘เสียใจไม่น้อย’ ของธง แจ่มศรี

ตัดฉากมาในบทสุดท้าย รศ.ดร.สุธาชัยระบุถึงความรู้สึกของ ธง แจ่มศรี ว่า “เสียใจไม่น้อย” ที่ขบวนการปฏิวัติของประชาชนมาล่มสลายลงในสมัยที่ตัวเองรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค ทว่าในมุมมองนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ยิ้ม มองว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในขณะนั้นว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลกล่มสลาย

ความตอนหนึ่งว่า

“คุณธงรู้สึกเสียใจไม่น้อยว่า ขบวนการปฏิวัติของประชาชนมาล่มสลายลงในสมัยที่คุณธงรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ในกรณีนี้คงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงขณะนั้นว่าในระยะ พ.ศ.2522 ถึง พ.ศ.2535 เป็นระยะแห่งการล่มสลายของขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก คอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกที่ได้อำนาจรัฐแล้วก็ยังล่มสลายเกือบหมดเมื่อ พ.ศ.2532 และแม้กระทั่งเสาหลักของค่ายคอมมิวนิสต์ เช่น สหภาพโซเวียตก็ยังพังทลายลง เมื่อ พ.ศ.2534 คอมมิวนิสต์อันมั่นคงเช่นแอลบาเนียก็คงอยู่ไม่ได้ ยูโกสลาเวียแตกแยกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย แม้กระทั่งจีนที่ยังอ้างคงตัวว่าเป็นประเทศสังคมนิยม ก็ปฏิรูปประเทศทุกด้านให้เป็นทุนนิยม”

ไม่ใช่เพียงหนังสือที่ระลึกซึ่งครบรสของการต่อสู้ในชั่วชีวิตของคนหนึ่งคน หากยังมีประเด็นที่ยังเป็น “คำถาม” ให้ขบคิด ถกเถียง และบอกเล่าในเรื่องราวที่กลายเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image