เดือนหงายที่ชายโขง : จีนกับลุ่มน้ำโขง ทั้งรักทั้งชังทั้งขาดกันไม่ได้

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) อันประกอบด้วย จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไล่เรียงมาตามลำดับการไหลของสายน้ำโขง อันเป็นแม่น้ำนานาชาติสายยาวที่หล่อเลี้ยงผู้คนมหาศาลตลอดลำน้ำทั่วอนุภูมิภาคนี้มาแต่ครั้งบรรพกาล แต่ด้วยความเป็นต้นน้ำและความเป็นมหาอำนาจ ทำให้จีนมีปากเสียงและอิทธิพลเหนือลำน้ำแห่งนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้

หลานฉางเจียง (Lancangjiang) ชื่อเรียกของแม่น้ำโขงตอนบนในภาษาจีนอันมาจากอาณาจักรล้านช้างที่แผ่อำนาจครอบครองลุ่มแม่น้ำส่วนนี้มาก่อน มีการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเพื่อการชลประทานและผลิตไฟฟ้าให้แก่เมืองต่างๆ ของมณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา

ปัจจุบันมีแล้ว 7 เขื่อนโดยเขื่อนสำคัญได้แก่ เขื่อนม่านหวาน เขื่อนหนั่วจาตู้ เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำและดินตะกอนของแม่น้ำโขงทางตอนล่างลงมาอย่างรุนแรง เช่น เมื่อจีนเปิดเขื่อนระบายน้ำโดยไม่มีการประสานงานก่อน ก็ทำให้พืชผลและบ้านเรือนที่พักตามริมแม่น้ำของไทยและลาวเสียหายฉับพลัน และการกักน้ำในฤดูแล้ง ก็ทำให้ภัยแล้งของบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามประสบภัยแล้งรุนแรงในปีนี้

การควบคุมต้นน้ำของแม่น้ำนั้นเป็นอาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์มาแต่ครั้งโบราณ ทั้งในพงศาวดารจีนและตะวันตก โจโฉคุมน้ำผันท่วมเมืองแห้ฝือจับยอดนักรบอย่างลิโป้ ชาติอาหรับสร้างเขื่อนกั้นผันแม่น้ำจอร์แดนให้ออกจากอิสราเอลเป็นต้นเหตุสงครามหกวันระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ การกุมต้นน้ำนั้นชี้ชะตาการเกษตรอันเป็นต้นธารของอาหารซึ่งเป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐานของประเทศชาติ

Advertisement

แต่ย่างก้าวของจีนในการยึดกุมต้นน้ำนั้นก็ไม่อาจถูกคัดค้านต่างจากการสร้างเขื่อนของ สปป.ลาว ที่ทั้ง NGO และนานาชาติต่างห้ามกันอย่างรุนแรง ทั้งไทย เวียดนาม และกัมพูชา เพราะความเป็นมหาอำนาจและการปิดกั้นการรณรงค์ต่างๆ ในประเทศ ชะตากรรมของผู้อยู่ปลายน้ำโขงจึงขึ้นอยู่กับเสียงกดดันอันแผ่วเบาของชาติปลายน้ำในยามเดือดร้อน และความปรานีของมหาอำนาจต้นน้ำว่าจะยอมปล่อยน้ำมาเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม แม้ชาติปลายน้ำอาจต้องหวานอมขมกลืนกับนโยบายแม่น้ำโขงของจีน แต่ก็ได้รับอานิสงส์ผลประโยชน์จากการควบคุมน้ำบ้าง เช่น อุทกภัยรุนแรงตามลำแม่น้ำโขงลดลงหลังจากมีเขื่อน และหากได้รับการประสานงานอย่างถูกต้อง ก็สามารถคาดเดาการขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลได้ สามารถเพาะปลูกริมน้ำได้ตลอดทั้งปี รวมถึงสะดวกต่อการคมนาคมสัญจรและขนส่งสินค้าตามลำแม่น้ำโขง สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี อีกทั้งเงินลงทุนโดยตรงจากจีนเพื่อชดเชยผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่เมืองหลวงและเขตศูนย์กลางอำนาจได้รับผลกระทบทางตรงจากเขื่อนจีนมีไม่มาก ไทยนั้นมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมียนมาอยู่ที่ลุ่มน้ำอิรวดี เวียดนามอยู่ทางตอนเหนือ ณ กรุงฮานอย ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือลาวและกัมพูชา ซึ่งต่างก็ต้องพึ่งพาอำนาจเศรษฐกิจและการลงทุนจากจีนเป็นหลัก ก็ทำให้เสียงต่อต้านแผ่วเบาลงไปตามลำดับ

Advertisement

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับชาติลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบัน จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งรัก ทั้งชัง และทั้งขาดกันไม่ได้ ต้องจับมือกันไปแบบซ่อนดาบในรอยยิ้ม ซ่อนมีดไว้ข้างหลังพร้อมจะชักมาป้องกันตัวหรือฟาดฟันกันทุกเมื่อหากพลาดพลั้งและเจรจาเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

การวางสมดุลอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชนกับจีน จึงจะกระทบต่อเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงไปพร้อมกันกับดุลอำนาจของทะเลจีนใต้ ในยุคที่ตัดกันไม่ตาย ขายกันไม่ขาดเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image