แท็งก์ความคิด : เสพความสำเร็จ

เมื่อหลายปีก่อนมีผู้อ่านเขียนจดหมายมาสอบถามมติชน

ถามว่า วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตร้า หรือทีพีโอเคยจัดบรรเลงบทเพลง “เดอะ แพลเน็ต” (The Planet) หรือเปล่า

บทเพลงนี้ กุสตาฟ โฮลสท์ (Gustav Holst) คีตกวีชาวอังกฤษ (ค.ศ.1874-1934) เป็นผู้ประพันธ์ในช่วง ค.ศ.1914-1915

คำตอบตอนนั้นคือไม่เคย

Advertisement

สอบถามเหตุผลจากผู้รู้ เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อจำกัดของสถานที่แสดง

เพราะตอนนั้น ทีพีโอใช้หอแสดงดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเล็กไป

แต่ตอนหลัง วงทีพีโอย้ายมาแสดงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว..เรื่องสถานที่จึงไม่ใช่อุปสรรค

Advertisement

เมื่อวันก่อน วงทีพีโอได้บรรจุโปรแกรมการแสดงบทเพลง เดอะแพลเน็ต เข้าไป

ถือเป็นครั้งแรกที่วงทีพีโอนำบทเพลงนี้มาบรรเลง

และด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ผู้อ่านเคยถาม จึงอยากไปฟังเพื่อมารายงานว่า..ฟังแล้วเป็นอย่างไร

คำตอบคือ ฟังแล้ว ฟิน…

บทเพลง เดอะ แพลเน็ต แสดงในช่วงหลังโปรแกรม

ส่วนครึ่งแรก วงทีพีโอนำเสนอบทเพลงใหม่ถอดด้ามของ อาจารย์ณรงค์ ปรางค์เจริญ

ใหม่ถอดด้ามทั้งบทเพลง Wisdom of the Land for Orchestra

และใหม่ถอดด้ามในบทเพลง Luminary Concerto for Piano and Orchestra

บทเพลง Wisdom of the Land for Orchestra อาจารย์ณรงค์ นำเอาคำนำหน้าชื่อ “Mahidol” มาตั้งเป็นชื่อแต่ละท่อน

ตัว M ตั้งชื่อท่อนแรก Mastery การเรียนรู้ ตัว A ตั้งชื่อท่อนที่สอง Altruism ไม่เห็นแก่ตัว

ตัว H ตั้งชื่อท่อนต่อมา Harmony ความสามัคคี ตัว I ตั้งชื่อท่อน Integrity คุณธรรม

ตัว D ตั้งชื่อท่อน Determination ความมุ่งมั่น ตัว O ตั้งชื่อท่อน Originality ความคิดริเริ่ม

และตัว L ตั้งชื่อท่อน Leadership ความเป็นผู้นำ

ในบทเพลงนี้อาจารย์ณรงค์นำเอาหัวใจของเพลงมหาวิทยาลัยมาใช้ด้วย

ท่อนท้าย Leadership นั้นหมายถึงการเป็นผู้นำการศึกษาด้านดนตรีในเมืองไทย

ว้าว …

ส่วนบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต้ อาจารย์ณรงค์แต่งให้กับ เบนเน็ทท์ เลอร์เนอร์ (Bennett Lerner) นักเปียโนระดับเวิลด์คลาส ที่หลงใหลเมืองไทย

เบนเน็ทท์ย้ายตัวเองจากสหรัฐอเมริกามาอยู่ไทยอย่างมีความสุขที่ จ.เชียงใหม่

เขามีลูกศิษย์เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย

อาจารย์ณรงค์ ก็ใช่

รวมทั้ง คริสโตเฟอร์ จันวอง แมคคิแกน (Christopher Janwong McKiggan) เปียโนโซโลที่มาบรรเลงบทเพลงนี้ในวันดังกล่าวก็ด้วย

บทเพลงทั้งสองประพันธ์ขึ้นในรูปแบบร่วมสมัย… มี ดาริอัสซ์ มิคุลสกี้ (Dariusz Mikulski) เป็นวาทยกร

ฟังจบ รู้สึกชอบบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต้

ชอบตั้งแต่เปิดทำนองแรกที่เปียโนโชว์ แล้วก็ชอบอีกในช่วงคาเดนซา

กระทั่งตอนท้ายที่เปียโนตามมาส่ง

หลังจากการแสดงผ่านช่วงแรกไป การแสดงช่วงสองก็เริ่ม

บทเพลง เดอะ แพลเน็ต ของกุสตาฟ โฮลสท์ มาถึงแล้ว

ความจริงแล้วบทเพลงนี้ กุสตาฟ โฮลสท์ ประพันธ์ไว้ 7 ท่อน 7 ดวงดาว

แต่การบรรเลงของทีพีโอครั้งนี้ นำมาเพียง 5 ท่อน

สูจิบัตรบอกว่า กุสตาฟ โฮลสท์ ประพันธ์เพลงชุดนี้ในช่วงที่กำลังศึกษาวิชาโหราศาสตร์

ดังนั้น บทเพลงจึงเอ่ยถึงดวงดาว และเทพเจ้าแห่งดาวดวงไปพร้อมๆ กัน

ดนตรีเอ่ยถึงบุคลิกภาพของดวงดาวสอดคล้องไปกับบุคลิกเทพเจ้า

ท่อนแรก มาร์ส (Mars) ดาวอังคาร เทพแห่งสงคราม

ดนตรีก็ฟังน่าเกรงขาม และติดใจช่วงตอบโต้ระหว่างทูบ้ากับทรัมเป็ตที่ฟังสนุก

พอมาถึงท่อนที่สอง วีนัส (Venus) ดาวศุกร์เทพีงดงามแห่งความสงบ

ฮอร์นนำร่องบรรเลงเดี่ยว ฟังไพเราะ แล้วยังมีช่วงไวโอลินส่งเสียงเปล่งสำเนียงสวยงามโผล่มาให้ได้ยินอีก

ฟังแล้ว สันติสงบ

พอมาถึงท่อน เมอร์คิวรี (Mercury) ดาวพุธ เทพผู้ส่งสาร

ดนตรีก็เปลี่ยนจากสงบเสงี่ยมเป็นแคล่วคล่องว่องไว

ส่วนท่อน ยูเรนัส (Uranus) ดาวแห่งเทพนักมายากล วงทีพีโอบรรเลงด้วยเสียงดังกึกก้อง

แต่ที่ชอบสุดสุดคือท่อนสุดท้าย

จูปิเตอร์ (Jupiter) ..ดาวพฤหัสบดี เทพแห่งความเริงร่า

ท่อนนี้รับเอาจิตวิญญาณจากท้องทุ่งอันกว้างใหญ่เข้ามาได้อย่างเต็มๆ

ฟังแล้วชอบ ฟังแล้วติดใจ

และเมื่อการบรรเลงจบ ผู้ฟังมีความสุข เสียงปรบมือก็กึกก้อง…ยาวนาน

โอ้ ชีวิตจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้

จะมีอะไรดีไปกว่าความสุข ความสุขที่ก่อเกิดขึ้นมาได้หลายรูปแบบ

การร่วมกันเสพความสำเร็จก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่เกิดความสุข

เป็นความสุขที่เห็นความสำเร็จของตัวเอง ดั่งเช่นวาทยกร วงทีพีโอ โซโลอิสต์และอื่นๆ ที่แสดงอยู่บนเวที

เป็นความสุขที่เห็นความสำเร็จของคนที่นำเอาผลงานเราไปใช้

เป็นความสุขของครูที่เห็นความสำเร็จของลูกศิษย์

เป็นความสุขของศิษย์ที่ภูมิใจในความสำเร็จของครู

และความสุขของผู้ฟังที่ได้สัมผัสความสำเร็จของคีตกวีจากบทเพลงที่ได้ยิน

เป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้จากความยินดีในความสำเร็จ

ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของใครก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image