พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ (4) เช็กบิลภาษี ‘แลนด์ลอร์ด’

ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง กับลอร์ด ออฟ เดอะ แลนด์ เหมือนกันป่ะ

ตั้งคำถามให้เวียนหัวเล่นค่ะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง เป็นหนังฝรั่งมีเวทมนตร์มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม ส่วนลอร์ด ออฟ เดอะ แลนด์ เป็นคำประดิษฐ์ เล่นภาษาให้เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง ตั้งใจให้พ้องกับรากศัพท์ของคำว่า “แลนด์ลอร์ด” แปลตรงตัวหมายถึงเจ้าของที่ดินรายใหญ่ หรือเจ้าที่ดิน

คนทั่วไปหากมีที่นาผืนน้อย.. อืมม.. คำว่าที่นาผืนน้อยดูจะสุ่มเสี่ยงต่อการตีความต่างๆ นานา ขอเปลี่ยนเป็นหากมีที่ดินผืนเล็กผืนน้อย อาจจะ 100-200 ตารางวา (ตร.ว.) กติกาต้องเป็นที่ดินเปล่าด้วยนะ หรืออาจจะ 1-2 ไร่ อย่างนี้น่าจะเป็นได้แค่ แลนด์ โอนเนอร์ (Land Owner) หรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามปกติ

แต่ถ้าหากจะเข้าขั้นเป็นแลนด์ลอร์ด คุณสมบัติพื้นฐานต้องมีที่ดินเป็นของตนเองจำนวนมาก เข้าข่ายมีฐานะระดับเศรษฐี ให้นึกภาพกรณีอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยก็ต้องเรียกว่าพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรืออยู่ทางปักษ์ใต้ก็หนีไม่พ้นต้องเรียกว่านายหัว

Advertisement

บางกรณีถ้าหากมีที่ดินไม่มากนักแต่มูลค่าที่ดินสูงปรี๊ด เช่น มีที่ดินสัก 1-2 ไร่ แต่ดันมาอยู่ทำเลทองย่านสีลม สาทร สุขุมวิท ราคา ตร.ว.ละ 1 ล้าน เท่ากับราคาไร่ละ 400 ล้าน แบบนี้ก็พอจะกล้อมแกล้มเข้าข่ายว่าเป็นแลนด์ลอร์ดได้เหมือนกัน

ที่ดินเปล่าแต่เดิมไม่ว่าอยู่บนทำเลสีลมหรืออยู่ติดทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่ต้องทำอะไรเลย กฎหมายบ้านเมืองไม่เคยเข้ามายุ่ง แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปถ้าหากรัฐบาล คสช.เสกให้เมืองไทยสามารถบังคับใช้ภาษีตัวใหม่ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” หรือพร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์

ตอนนี้กำลังตั้งไข่อยู่ค่ะ เพิ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีหรือมติ ครม. เมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 เท้าความให้ฟังอีกสักนิดจะได้รู้ว่ากฎหมายตัวนี้ขลังแค่ไหน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามผลักดันพร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ เท่าที่จำได้ต้องย้อนไปโน่นเลยค่ะ ปี 2537 สมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ถือเป็นครั้งแรกที่นำเสนอหลักการภาษีตัวนี้ขึ้นมา เท่ากับล้มลุกคลุกคลานมา 22 ปีเต็ม

Advertisement

สำหรับซีรีส์พร็อพเพอร์ตี้ แท็กซ์ เรามาถึงตอนจบแล้วนะคะ โดยเมื่อ 3 ตอนที่แล้วได้ชวนคุยไปแล้วถึงหลักการใหญ่ว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการจ่ายภาษี จัดเก็บเฉพาะคนที่ครอบครองทรัพย์สิน (ส่วนใหญ่ก็ที่ดิน+สิ่งปลูกสร้างนั่นแหละ) และออกแบบให้ทุกคนที่มีทรัพย์สินต้องจ่ายภาษีตามมูลค่าทรัพย์

นอกจากนี้ กลุ่มที่รับผลกระทบเราชำแหละไปแล้ว 2 กลุ่มใหญ่ คือ “บ้านพักอาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป” จะถูกจัดเก็บตั้งแต่ล้านละ 300 บาท จนถึงล้านละ 3 พันบาท ขึ้นกับมูลค่าทรัพย์ ฐานใหญ่คือบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท มีภาระภาษีล้านละ 300 บาท/ปี

อีกกลุ่ม “นำที่พักอาศัยมาปล่อยเช่า” กระทรวงการคลังบอกว่าจะต้องจ่ายภาษีเท่ากับห้าง ออฟฟิศบิลดิ้ง โรงงาน โรงแรม ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่าเป็นทรัพย์สินประเภทพาณิชยกรรม เริ่มต้นมูลค่าทรัพย์ไม่เกิน 20 ล้านบาท จ่ายภาษีล้านละ 3 พัน/ปี (สูงสุดมูลค่าทรัพย์เกิน 3,000 ล้านบาท รัฐบาลเก็บล้านละ 1.5 หมื่น/ปี)

หัวข้อชวนคุยวันนี้ดึงเข้ากลุ่มใหญ่ที่รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่ 3 นั่นก็คือ แอ่น แอน แอ๊น ทรัพย์สินประเภท “ที่ดินเปล่า” ภาษาที่ใช้ในร่างกฎหมายเขียนไว้ว่า “ที่รกร้างว่างเปล่า”

อัตราภาษีบอกได้เลยว่าโหดเอาการ ไม่มีมูลค่าทรัพย์ที่จะยกเว้นให้หรือเก็บตั้งแต่บาทแรกเช่นเดียวกันกับบ้านหลังที่ 2 ขอแค่อยู่ในองค์ประกอบของคำว่า “ที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์ตามสภาพ” และ “หรือทิ้งไว้ว่างเปล่า” รัฐบาลทั่นแบ่งเก็บตามการทิ้งร้างของที่ดิน เริ่มจาก

ปีที่ 1-3 เก็บภาษี 1% หรือล้านละ 1 หมื่นบาท

ปีที่ 4-6 ขยับภาษีเป็น 2% หรือล้านละ 2 หมื่นบาท

และปีที่ 7 เป็นต้นไป ถ้ายังไม่กลัวอีกก็เพิ่มอัตราจัดเก็บเป็น 3% หรือล้านละ 3 หมื่นบาท

และอย่าได้คิดเป็นอันขาดเชียวว่าเพดานภาษีจะหยุดที่ 3% เพราะจะออกกฎหมายใหม่ทั้งทียากเย็นแสนเข็ญ ก็เลยตั้งเพดานเก็บภาษีที่ดินเปล่าไว้สูงถึง 5% หรือล้านละ 5 หมื่นบาท

งานนี้หลายคนนึกสมน้ำหน้าเศรษฐีที่เป็นเจ้าที่ดินทั้งหลาย วินาทีนี้คงกำลังหัวปั่นหาทางออกเพื่อจะเลี่ยง เอ้ย! ไม่ใช่ เพื่อจะปรับตัวรับมือกับภาษีที่ดินเปล่า กูรูวงการอสังหาริมทรัพย์บางคนพยากรณ์ไว้ว่า ภาษีที่ดินเปล่าจะทำให้เมืองไทยกลายเป็น “บานานา แลนด์” หรือเมืองสวนกล้วย

เหตุผลเพราะแลนด์ลอร์ดถ้าไม่อับอายใครก็คงจะใช้วิธีปลูกกล้วยขึ้นมาดื้อๆ ซะอย่างนั้น เพื่อจะหลบการจ่ายภาษีประเภทที่ดินเปล่า ที่ต้องจ่ายล้านละ 1-3 หมื่นบาท แต่เลี่ยงไปใช้ฐานภาษีประเภท “เกษตรกรรม” แทน ได้รับยกเว้นสำหรับมูลค่าทรัพย์ 50 ล้านบาทแรก หลังจากนั้นจ่ายเบาๆ ล้านละ 500-1 พันบาท หรือ 0.05-0.1%

แต่ถ้าหนังหน้าบาง (ไม่ได้ว่ากระทบใครนะคะ) ก็ยังมีทางเลือกว่าจะยอมเสียวมากหรือเสียวน้อย

กรณีเสียวน้อย วิธีการยอดนิยมซึ่งไฮโซทำกันตั้งแต่มีกฎหมายภาษีมรดกบังคับใช้ ก็คือการแบ่งโฉนดแปลงใหญ่เหลือแปลงเล็กลง พยายามคำนวณไม่ให้เกิน 50 ล้านบาท แล้วโอนให้ลูกหลานไปซะ ข้อคำนึงคือตัวเองอายุเพิ่งจะ 50-60-70 ปี ถ้ายกทรัพย์สินให้ตอนนี้ลูกหลานที่เคยห้อมล้อมอาจจะหายหน้าหายตาไปเลยก็ได้ อันนี้ไม่ได้พูดเอง แต่มีผู้หลักผู้ใหญ่บ่นให้ฟังหลายท่าน ไม่รู้ว่าเอาความจริงมาพูดเล่นหรือปล่าว (ฮา)

กับกรณีเสียวมาก กอดที่ดินไว้กับตัวตามเดิม ถ้าวาละ 5 แสน ตกไร่ละ 200 ล้าน เสียภาษีปีละ 2 ล้าน ถ้าวาละ 1 ล้าน ไร่ละ 400 ล้าน เสียภาษีปีละ 4 ล้าน

ขนหน้าแข้งไม่ร่วงหรอก แต่รับรองน้ำตาร่วงแหมะ แหมะ ก็แล้วกัน สวัสดีค่ะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image