ครบ “ทศวรรษ” วันนี้ของ “พฤษภาฯ 2553” จตุพร พรหมพันธุ์

10 ปี นับจากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ปี ’53 จนถึงหน้าที่ในการทวงคืนความยุติธรรม ในฐานะประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ร่วม 40 คือจำนวนคดีที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน จากบทบาทกับขบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของการเมืองประเทศไทย

เข้าออกห้องขังมาแล้วถึง 4 ครั้ง ใช้ชีวิตในนั้นนานสุด 1 ปีกับอีก 15 วัน ถึงอย่างนั้นตรวนคดีที่ล่ามขากลับทำให้เขามีจิตเป็นสมาธิ และไม่ผูกความทุกข์ แม้โทษหนักสุดจะถึงขั้น “ประหารชีวิต” ก็ตาม

จากเด็กวัดที่เรียนรู้ว่า จุดสุดท้ายอย่างไรก็ “หนีความตายไม่พ้น” สู่ความปรารถนาสูงสุดของชีวิต คือ การถูกปิดฉากหน้าโรงด้วยถ้อยอธิบายถึงคุณค่าที่มีต่อแผ่นดิน โดยคนธรรมดาที่ชื่อว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์

Advertisement

“ถ้าคิดว่าเราต้องมีชีวิตอย่างกลัวว่าจะต้องเสียชีวิต เราจะไม่กล้าทำอะไรเลย” คือ คติ ที่ถือแทนดาบอยู่ภายในใจของนักต่อสู้ผู้นี้

10 ปีของเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53 และ 28 ปีของพฤษภาทมิฬ มองย้อนกลับไปในฐานะผู้ที่ผ่านทั้ง 2 เหตุการณ์ ได้บทเรียนอะไร สังคมเปลี่ยนไปบ้างแล้ว หรือยังไม่มีอะไรดีขึ้น?

ประเทศลุ่มๆ ดอนๆ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีห้วงเวลาดีๆ และห้วงเวลาแห่งความเลวร้าย มีประชาธิปไตยในบางเวลาและมีเผด็จการจำนวนมากในรอบ 28 ปี

10 ปีมานี้ ผลลัพธ์ในการต่อสู้ของประชาชนไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ ผู้เข่นฆ่ายังไม่เคยถูกลงโทษ ผมเชื่อว่าการออกมาต่อสู้ของประชาชนไม่ได้คาดหวังประโยชน์ส่วนตน เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล นักการเมืองและผู้นำทหารอาจจะสลับเข้ามามีอำนาจ แต่ประชาชนก็ยังอยู่ที่เดิมในฐานะประชาชน เพียงแต่ช่วงระหว่างนั้นจะทุกข์มาก ทุกข์น้อย แต่ยังคงหาความสุขโดยบริบูรณ์ไม่ได้ บทเรียนประเทศไทยยังจะต้องมีข้อสรุปอีกมาก ไม่มีข้อสรุปว่าแต่ละเหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นอีก สู้แล้วจะไม่เจ็บปวดกันอีก แต่เรายังอยู่ด้วยความหวัง เมื่อเราเลือกเส้นทางที่จะต่อสู้ในฐานะประชาชนเพียงแต่เรายังไม่เคยได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แม้แต่ครั้งเดียว เราอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดความต่อเนื่องและมั่นคงทางการเมือง เป็นวงจรอุบาทว์ มีเลือกตั้ง มียึดอำนาจ มีการต่อสู้ของประชาชน บาดเจ็บล้มตาย และมีการเลือกตั้งใหม่ สรุปว่า ทหารกับนักการเมืองสลับกันมีอำนาจ แต่ประชาชนตายอยู่ฝ่ายเดียว มีบทบาทในขณะต่อสู้ แต่ผลลัพธ์ไม่ว่าชนะหรือแพ้ ประชาชนก็ยังเป็นประชาชน กลับไปเป็นชาวไร่ชาวนาเหมือนเดิม ฉะนั้น เราต้องเคารพหัวใจประชาชนว่าเขาสู้โดยที่เขาไม่ได้อะไร แล้วผลลัพธ์ของการต่อสู้นั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ดีคนไทยทั้งประเทศที่ไม่ได้มาต่อสู้ด้วยก็ได้รับอานิสงส์นั้นด้วยเช่นกัน

พื้นฐานผมอยู่ในครอบครัวที่ยากจน จึงเข้าใจความรู้สึกของประชาชน ผู้ทุกข์ยาก แม้มีศักยภาพที่จะอยู่แบบนักการเมือง แต่ไม่เลือกหนทางนั้นเพราะเรามาจากคนที่มีความทุกข์มาก่อน เมื่อเราเกิดมาในครอบครัวที่ไม่แสวงหา จึงพบว่า ยิ่งที่ใดมีความทุกข์ที่นั่นจะเป็นความสุขของเราเสมอ ที่ใดมีความสุขอาจจะเป็นความทุกข์ของเราก็ได้ หลายคนบอกว่ายังไม่เข็ดอีกหรือ โดนทั้ง 2 เหตุการณ์ คดีก็ยาวเหยียดจนเวลานี้ยังไม่จบ เข้าคุกออกคุกมาแล้ว 4 ครั้ง ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ถ้าเอาทุกคดีมาเรียง ผมอายุ 100 ปี ก็ไม่รู้จะได้กลับมาเข้าสู่การเมืองอีกหรือเปล่า (หัวเราะ)


อย่างที่ทราบกันดีว่า นปช.ที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา จำนวนหนึ่งเปลี่ยนแนวคิดไป ล่าสุดก็เกิดวิวาทะ จนคุณพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ อดีตแกนนำ ออกมาโต้กลับแล้วกล่าวในงานรำลึกที่ยูดีดีนิวส์ แคราย ว่า 10 ปีพิสูจน์แล้วว่า “เสื้อแดงไม่มีวันตาย” แต่ นปช.แตกเป็น 4 ซีก มองประเด็นนี้อย่างไร?

ต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้แข็งแรงเหมือนปี”53 แต่วันนี้ผมมีความสุขนะ เข้าใจสถานการณ์ว่าแยกกันไปดีกว่ารวมให้เกิดความกลัวทั้งที่ไม่แข็งแรงจริง ในโลกสื่อสารไร้พรมแดนทุกคนแสดงจุดยืนได้ มารวมกันแล้วได้อะไร ได้ความกลัว เขาก็ลงมือจัดการทั้งที่เรายังไม่แข็งแรงจริง ในวัฒนธรรมภาคใต้ เวลาใครบอกกลัว จะเข้าใจกันว่าหมายถึงจะต้องไปจัดการคนนั้น

ผมจึงนั่งเป็นประธานเหมือนคนรักษาศาลาไม่ให้ร้าง คอยปัดกวาดดูแลศาลาเปล่าให้สะอาดสะอ้านเข้าไว้ ใครผ่านมาก็ไม่มีความกลัว เพราะเวลานี้เรากำลังสู้กับวัฒนธรรมแห่งความกลัว ดังนั้น จะแยกเป็นร้อยซีกก็แยกไปเถิด เพียงแต่ที่ผ่านมาเราได้ร่วมเป็นร่วมตาย ไม่มีวันลืม เราก็ทำหน้าที่กันไป ไม่จำเป็นต้องมากอดคอกันแล้วบอกว่ารักกัน เรารักกันไกลๆ ก็ได้

10 ปีนี้ที่ร่วมต่อสู้ ประชาชนต่างก็รู้เช่นเห็นชาติ ไม่ใช่เวลาแสดง เราต้องพูดความจริง แสดงความน่ากลัวจะมีประโยชน์อะไร ถ้ายังไม่เข้าใจ เอาแค่ความสะใจก็พังพินาศย่อยยับ แพ้อย่างราบคาบ มนุษย์มีบทเรียนไว้เพื่อแก้ไขไม่ได้มีไว้ให้กระทำซ้ำซาก ผมจึงไม่ชวนใครเข้ามารวม ยืนอยู่ตรงนั้นดีแล้ว เจอตามงานได้ตามปกติ ถือว่าเป็นเสรีภาพต่างคนต่างก็เชื่อในเหตุการณ์นั้นๆ แต่หลังจากเหตุการณ์มันเป็นเรื่องอาสาสมัคร ไม่ใช่เรื่องการบังคับบัญชา

สิ่งที่ “เจ็บปวด” ที่สุดในฐานะแกนนำ นปช. ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุใหม่ๆ กับ ณ วันนี้ เมื่อผ่านมา 10 ปี ยังคงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่?

เรามักจะได้ยินคำพูดว่า “ประชาชนตาย ผู้นำรอด” เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ฉะนั้น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีผู้ที่ตายและสูญหายกว่า 80 คน บาดเจ็บกว่า 6,000 เราคือคนที่รอด จึงตัดสินใจนำทัพต่อที่รามฯ เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายประชาชน และเป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์นั้น

ปี”35 กับ ปี”53 เป็นหนังคนละม้วน ปี”53 ผมประกาศนำการต่อสู้หลังจากถูกสลายที่ราชดำเนินในวันที่ 18 แต่ 19 พฤษภาคม 2553 ต้องขึ้นมาประกาศเพื่อยุติการชุมนุม เพราะทนเห็นความตายไม่ได้ ผมรู้ว่าถ้าไม่ยุติการชุมนุมมวลชนชุดสุดท้ายทุกคนพร้อมสละชีพเป็นโล่มนุษย์ให้กับพวกผม จึงขึ้นไปบอกบนเวทีว่า ถ้าความตายนั้นเกิดขึ้นกับผม ผมไม่มีความรู้สึกอะไร แต่เมื่อเป็นความตายของพี่น้อง ผมรับไม่ได้กับความตายที่กำลังเกิดขึ้น จึงจำเป็นจะต้องยุติการชุมนุม อย่างเจ็บปวดที่สุด น้ำตาไหลกันทั้งผู้ที่พูดและประชาชน ถามว่ามีอะไรค้างคาใจ “เราเป็นผู้นำที่รอด แต่ผู้ร่วมชะตากรรมในการต่อสู้ ตาย” นี่เป็นเรื่องที่คาหัวใจ ผมจึงบอกว่า เรามีชีวิตอยู่แม้ว่าความหวังริบหรี่เหลือเกิน ก็อยู่เพื่อจะทวงความยุติธรรมให้กับคนที่ตาย เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เราจะชดใช้ให้กับเขาได้

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ มีเหตุการณ์ที่อยากจะกลับไปเปลี่ยนแปลงการ “ตัดสินใจ” ของตัวเองและแกนนำ นปช.ในช่วงเวลานั้น?

ผมมีความเชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การตัดสินใจก็เป็นภูมิรัฐศาสตร์ อารมณ์ความรู้สึกในสถานการณ์ขณะนั้น เมื่อเวลาผ่านมาอาจจะมีความรู้สึกว่าไม่น่าจะอย่างนั้น แต่เมื่อเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริงเราไม่มีทางเลือก ฟังไม่ได้สักฝ่ายเมื่อเวลาล่วงเลยมาแล้ว เพราะในเวลาที่มีการชุมนุมเป็นเรื่องสร้างความฮึกเหิม แต่ถ้ามาฟังภายหลังอีก 10 ปี หรือหลังจากนั้น ถ้อยคำที่ยอมรับกันได้ก็มองว่าหนักไปหรือเปล่า ทั้งที่เวลานั้นอารมณ์ไม่ได้แรง เพราะภูมิรัฐศาสตร์ ณ ขณะนั้น เราทำให้คนตายฟื้นมาไม่ได้ เราเปลี่ยนสถานการณ์ประวัติศาสตร์ไม่ได้ เปลี่ยนความจริงไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าเปลี่ยนได้ อะไรที่ทำให้คนตาย จะไม่ทำ

“คนเสื้อแดง” ในวันนั้น กับคนเสื้อแดง “ในวันนี้” เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มองเห็นพัฒนาการอย่างไร?

ผมเชื่อว่าคนเสื้อแดงที่ได้ร่วมในการต่อสู้ ไม่มีวันลืม เพราะเราได้ร่วมเป็นร่วมตาย ร่วมชะตากรรมอย่างไม่มีผลประโยชน์เจือปน สิ่งที่ได้ทำในกระบวนการคนเสื้อแดงคือการทำความจริงให้ปรากฏ และปลูกฝังอุดมคติ อุดมการณ์ จะเห็นว่า 6 ศพวัดปทุมวนารามอธิบายได้อย่างชัดเจน ว่าทุกศพที่ตายเขาช่วยกัน ศพที่ 2 ช่วยศพที่ 1 ศพที่ 3 ช่วยศพที่ 2 ศพที่ 4 ช่วยศพที่ 3 ศพที่ 5 ช่วยศพที่ 4 ศพที่ 6 ช่วยศพที่ 5 เป็นความตายที่มีความผูกพันและทุกคนมาถึงจุดที่เขาไม่กลัวตาย การต่อสู้ต้องมีอุดมการณ์ ถ้าไม่มีอุดมการณ์เสียงประทัดนัดเดียวก็ไปแล้ว ดังนั้น เงินไม่ใช่ปัจจัย อุดมคติความรู้สึก ความเชื่อในอุดมการณ์เป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้ แม้เวลาผ่านมา 10 ปี เราอาจจะไม่ได้เจอกัน แต่คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นไม่มีวันลืม ไม่ว่าเขาจะอยู่ในท้องไร่ท้องนา อยู่บนตึก หรืออยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศหรือในโลกนี้ จะเป็นที่ไหนก็ตาม ผมว่าเขายังเหมือนเดิม

คุณกล่าวในงานทำบุญที่วัดนวลจันทร์ว่า “ยิ่งทวงความจริง ยิ่งเจ็บปวด” 10 ปีเสื้อแดงอยู่อย่างเจียมตัว สู้ในกระบวนการไหนไม่ได้ ฟังแล้วดูเป็น 10 ปีที่ทุกข์ทน ไม่มีความหวัง แล้วการก้าวสู่ปีที่ 11-12-13 ฯลฯ จะเป็นอย่างไร คิดว่าจะมีอะไรมาเป็น “จุดเปลี่ยน” ได้บ้าง?

เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าความตายของคนเสื้อแดงเป็นการตายฟรี ที่ผ่านมาความตายที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงเสมือนว่าไม่ใช่คนไทยเสียด้วยซ้ำ ความจริงเราพบมาตลอดทาง แต่เป็นความจริงที่เจ็บปวด ยิ่งพูดความจริงยิ่งเจ็บปวดมากเท่านั้นเพราะเราไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ สิ่งที่ทำได้ทำไปหมดแล้ว

ช่วง 10 ปีมานี้ หรือถ้าจะพูดให้เจาะจงคือราว 6 ปี ดูเหมือนคนเสื้อแดงหรืออย่างน้อยคือฝ่ายที่สนับสนุน ปชต. จะเพิ่มจำนวนประชากรขึ้น คนที่ไม่เคยชอบหรืออาจถึงขั้นจงเกลียดจงชังก็หันมาอยู่ข้างนี้มากขึ้น?

หลังจากมีการยึดอำนาจ ประเทศไทยที่ถูกสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะทำอะไร ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะไม่เห็นด้วย เพราะเราเชื่อคนละอย่าง มองคนละมุม สร้างดาวกันคนละดวง ผมบอกกับคณะหมู่มิตรว่าเหตุการณ์นี้ไม่ต้องไปทำอะไร ให้เวลาทำงาน ถามว่าเวลาทำงานเรื่องอะไร เขาทำ “เรื่องความทุกข์ ความเดือดร้อน” ไม่ว่าคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง เดิมไม่เคยคุยกันแต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้มีการพูดคุยกันมากขึ้นเพราะทุกข์เท่ากัน สมัยก่อนยังไม่เห็น ถ้าซีกนี้ขึ้น อีกฝ่ายก็วิพากษ์ทันที เพราะความรู้สึกเดือดร้อนที่ไม่เสมอกัน จึงไม่เข้าใจ ดังนั้น ความเดือดร้อนเท่ากันเมื่อไหร่ ไม่ใช่เรื่องสีอีกต่อไป

ผมว่าใกล้แล้วล่ะ แต่บางคนอาจจะมีสภาพเหมือนทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ติดอยู่ที่เกาะกวม สงครามโลกเลิกไปแล้ว แต่เขาคิดว่ายังรบกันอยู่นับ 10 ปี มีมนุษย์จำนวนหนึ่งไม่เข้าใจว่าสงครามโลกเลิกไปแล้ว ยังขุดหลุมใช้ชีวิตบนเกาะ ยังหลบศัตรูทั้งที่ไม่มีศัตรูแล้ว เพราะศัตรูที่แท้จริงคือความยากจนและความเดือดร้อน คนเหล่านี้ บางคนอาจจะยอมรับความจริงไม่ได้ ซึ่งสายตาผมที่ยืนอยู่แถวหน้าของกระบวนการนี้เห็นว่าวันนี้ความขัดแย้งไม่ใช่รูปแบบเดิมอีกแล้ว มันเป็นเรื่องระหว่างความเดือดร้อน กับการแก้ไขปัญหาของผู้มีอำนาจ อาจจะมีพวกตกหล่นที่เกาะกวมบ้างก็ไม่เป็นไร เราก็คอยบอกพวกเขาว่า สงครามเลิกแล้วนะ เป็นสงครามใหม่ ไม่ใช่สงครามเก่าอีกต่อไป

ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง “รุ่นพี่” มองเห็นอะไรในปรากฏการณ์ม็อบนักศึกษา จนถึงงานรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองที่ด้วย “อายุ” แล้วพวกเขายังไม่เกิด หรือยังเด็กมาก?

ผมผ่านมาก่อน ผมเป็นนักศึกษาที่มีความฝันเหมือนกับพวกเขา ผมมีฮีโร่ 14 ตุลา 6 ตุลา จนกระทั่งผมมานำในพฤษภา 53 ต้องยอมรับความเป็นจริงว่านักศึกษาที่ชุมนุมแฟลชม็อบกันทั้งประเทศไทยมากกว่านักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา และ พฤษภาทมิฬ ไม่ใช่มากกว่าเล็กน้อย แต่มากกว่าเป็น 10 เท่าตัว นี่เป็นปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย ในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้นำนักศึกษามาก่อน 1.นักการเมืองต้องไม่เข้าไปยุ่งกับเขา ถ้ายังไม่เกิดเหตุปราบปราม เพราะพลังที่มีพลานุภาพมากที่สุดคือ พลังบริสุทธิ์จากนักศึกษา เขาเป็นวัยที่ไม่มีผลประโยชน์ใดเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของชาติบ้านเมืองความเดือดร้อนล้วนๆ และมีอารมณ์ว่า มหาวิทยาลัยสร้างด้วยภาษีอากรของประชาชน เขาต้องตอบแทนบุญคุณประชาชนด้วยการต่อสู้ ปรากฏการณ์นี้เป็นความอัศจรรย์ที่ใครก็ไม่คาดคิดว่าจะมี ใน พ.ศ.2562-2563 ใครประเมินนักศึกษาต่ำ คิดผิด เราผ่านมาก่อน และเห็นช้างเผือกอยู่หลายคน แต่ต้องจัดระยะห่างดีๆ อย่ามีความรู้สึกอินจนกระทั่งเข้าใกล้เขา เข้าใกล้พลังบริสุทธิ์ก็จะเริ่มไม่บริสุทธิ์ และถูกทำลายอย่างง่ายดาย ยิ่งเขาบริสุทธิ์มากเท่าไหร่อำนาจใดก็ทำร้ายเขายากมากเท่านั้น

เคยคิดไหมว่า ทำไมตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คนเสื้อแดงคือฝ่ายที่ถูกสร้างวาทกรรมแง่ลบตลอด แม้จะมีข้อมูลมาแสดง หักล้าง แต่วาทกรรมและภาพจำเหล่านั้นยังคงอยู่ อาทิ เผาบ้านเผาเมือง แม้แต่สื่อมวลชนเอง อย่างกรณีพิธีกรที่สัมภาษณ์ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช?

ต้องยอมรับความจริงว่าทั้งสองคนมีทัศนคติทางการเมืองที่ตรงกันข้าม คนสัมภาษณ์มีความเชื่อทางการเมืองที่ปรากฏชัด ส่วนวาทกรรมที่ถูกสร้าง ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ไม่ได้พึ่งเกิด สมัย 6 ตุลาคม 19 ก็บอกว่านักศึกษาที่ชุมนุมใน ม.ธรรมศาสตร์ เป็นคนญวน กินเนื้อหมา ในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลอดออกแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ก็เช่นเดียวกัน เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรมาหักล้างความตายได้ จึงต้องสร้างวาทกรรมเรื่อง ชายชุดดํา กองกำลังติดอาวุธ เพราะจะได้ถือใบอนุญาตในการฆ่า

เมื่อคณะก้าวหน้าทำแคมเปญ #ตามหาความจริง เราก็รู้ทันทีว่าอย่างไรก็หนีไม่พ้น นปช.ก็ต้องลุกขึ้นมาอธิบาย นิ่งเฉยไม่ได้ ผมจึงพยายามเตือนทุกฝ่ายว่า “เอาแค่พอดีนะ” เรื่องนี้พร้อมจะพิสูจน์ทุกกรณี จัดเวทีตรงไหนก็ได้ เมื่อ #ตามหาความจริง ไปจุด อย่างที่บอกว่าเป็นความจริงที่เจ็บปวด เป็นความจริงที่เราอยู่กันมา 10 กว่าปี แต่ทำอะไรไม่ได้หาความยุติธรรมให้กับคนที่ตายไม่ได้ ความจริงก็ยังเป็นเช่นนั้น ผลลัพธ์ยังไม่เปลี่ยน แต่อย่างน้อยครบรอบ 10 ปีนี้ มีคนพูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุม ปี 53 มากกว่า 9 ปีก่อนหน้านี้

เวลามีคนบอกว่าถึงเวลา “ปรองดอง” ด้วยการร่วมกัน “ลืม” เพื่อไม่ให้สังคมแตกแยก มีประโยคอะไรผุดขึ้นมาในใจบ้าง?

ความจริงแล้วความขัดแย้งในสังคมไทยแต่ละช่วงเวลาไม่มีครั้งไหนที่ฆ่ากันตายมากกว่าครั้งของฝ่ายรัฐบาลไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ 500 บ้าง 800 บ้าง 1,000 บ้าง ทุกปี ในแต่ละยอดดอยก็มีการฝังบรรดานักรบของพรรคคอมมิวนิสต์ ตัวเลขไม่ได้ต่างกัน และเป็นคนไทยทั้งคู่ แต่ครั้งเวียดนามยึดเขมรและลาวได้ ต่อไปหนีไม่พ้นไทย แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไม่ยินยอม ทุกคนก็รักชาติ ท้ายที่สุดมีการพูดคุยเจรจาจนกระทั่งเห็นพ้อง มีการประกาศสำนักนายกฯเพียงฉบับเดียว 66/23 แล้ววางอาวุธแม้ปัญหาจะยังค้างคาอยู่ก็ตาม ต่างคนต่างวาง เลิกแล้วต่อกัน คนรักชาติพิสูจน์กันมาแล้วในกรณีนี้ แต่ปัจจุบันทุกอย่างซ่อนดาบไว้ข้างหลังทั้งสิ้น ตอนแรกพูดว่าสมานฉันท์ กระทั่งใครไม่เชื่อแปลว่า หลอกลวง ปรองดองก็ไม่จริง

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เศรษฐกิจกำลังจะพินาศย่อยยับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ใครปฏิเสธการปรองดองกลายเป็นส่วนเกินของสังคม ไม่รู้จักกาลเทศะ แผนการปรองดองของบ้านเมืองเราไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีผู้มีอำนาจใดอยากให้ประชาชนปรองดองอย่างแท้จริง ทฤษฎีแบ่งแยกและทำลายจึงสำเร็จรูปทุกครั้ง

แต่การทำเรื่องความปรองดองยังมีความจำเป็นอยู่ ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมจะคุย แต่ปัญหาคือ “ต้องพกหัวใจกันมาด้วย” เพราะในช่วง 6-7 ปีมานี้ วงปรองดองจบลงที่ลิ้นชักทุกครั้งมันจึงไปไม่ถึงไหน ความปรองดองคือ เราต้องอยู่กับความแตกต่างให้ได้ ไม่ว่าเราจะเชื่อทางการเมืองอย่างไร อย่าทิ้งจุดยืนเดิม แต่ต้องอยู่ด้วยกันได้ เราจะหนีไปไหนเพราะอยู่ประเทศเดียวกัน ต้องมีจิตใจที่ข้ามพ้นว่าเราแตกต่างกันได้ ไม่จำเป็นต้องกินข้าวเหมือนกันทุกคนทุกมื้อ ปรองดองของผมเชื่อแบบนี้ ความแตกต่างคือสิ่งสวยงาม

ความแตกต่างไม่ใช่ศัตรู แต่คือจุดร่วมที่ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้.

แพ้ทุกเรื่องราว แต่ที่ไม่แพ้คือหัวใจที่ยังดำรงอยู่

“อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่หมดวาระ เขากล่าวอำลาต่อประชาชนอเมริกันว่า เขากำลังจะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อไปรับตำแหน่งที่ใหญ่กว่า นั่นคือประชาชนสหรัฐ ผมก็เหมือนกัน ไม่มีตำแหน่งแห่งหนใดจะใหญ่ไปกว่าตำแหน่งประชาชนแล้ว จบเหมือนกัน รวยก็ตาย จนก็ตาย มีตำแหน่งอะไรก็ตาย เข้าเมรุขนาดเดียวกัน โรงก็ไม่แตกต่างกัน”

คือคำกล่าวหนักแน่นของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บอกว่า ครั้นจะต้องสวมหมวกทรงไหน เป็น ส.ส.หรือแกนนำ นปช. หัวใจคือ ประชาชน มีความสุขที่สุดกับการเป็นประชาชน

“ความพอดี พอเพียงของคน ถ้ารู้จักว่าเราควรจะพออย่างไร ถ้าเราสู้เพื่อคนอื่น สู้เพื่อประเทศชาติ เราจะมีความสุข แต่ถ้าสู้เพื่อตัวเองเมื่อไหร่เราจะมีความทุกข์กับการไม่มีอยู่จริง กับการไปหลงสิ่งที่ต้องการจากผลลัพธ์การต่อสู้นั้นๆ ถึงบอกว่า ไม่ว่าจะสู้ในฐานะอะไร ผมก็เป็นอะไรไม่ได้อยู่ดี เป็นเพียงแค่ประชาชน เป็นกระบอกเสียงที่รอวันล้มละลายเพราะต้องชดใช้จากการเป็นประธาน นปช. ที่แม้ไม่ได้พูดเพื่อให้เกิดการเผาบ้านเผาเมือง แต่ก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่ขณะเกิดเหตุผมไม่ได้เป็นประธาน แต่ก็ต้องยอมรับชะตากรรมนี้ ดังนั้น ต้องแข็งใจ ไม่รู้ว่าจะยังมีชีวิตอยู่อีกกี่วัน แต่เวลาที่เหลืออยู่ เราทำให้ดีที่สุด คิดว่าเป็นวันสุดท้ายเสมอ”

เมื่อถามถึงการทวงคืนความเป็นธรรมในช่วงระหว่างการยึดอำนาจว่าคืบหน้ามากน้อยอย่างไร จตุพรเผยว่า ภายหลังการยึดอำนาจปี”57 มีการดำเนินคดีเพิ่มกับคนในเรื่องราวที่เกี่ยวกับปี”53

“เราต่างก็รู้ว่าฝ่ายผู้ปราบปรามยังไม่เคยหยุด ทั้งที่ต่างก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผมพยายามจะบอกว่า เหตุที่คนเสื้อแดงมีความเติบโตในปี 2553 มีเรื่องเดียวคือ สองมาตรฐาน ยิ่งอยุติธรรมมากเท่าไหร่ เสื้อแดงยิ่งงดงามและเติบโตมากเท่านั้น เราไม่ได้มีศักยภาพให้เสื้อแดงเติบโต แต่ความอยุติธรรมต่างหากเป็นปุ๋ยชั้นเลิศหล่อเลี้ยงให้คนเสื้อแดงเติบโตอย่างทวีคูณ เพียงแต่เราอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะสู้ตามกระบวนการไม่เคยชนะ ทั้งตาย ติดคุก และแพ้ทุกเรื่องราว แต่ที่ยังไม่แพ้คือหัวใจที่ยังดำรงอยู่ เพราะเราต้องการเยียวยาคนที่ตายซึ่งทุกข์กว่าเรา

“ตอนอยู่ข้างนอกผมก็บอกพี่น้องประชาชนเวลามีความทุกข์ว่า ให้ดูคนที่อยู่ในคุกเขาทุกข์กว่าเรา บอกคนที่ติดคุกว่าให้ดูคนที่ตายและได้รับบาดเจ็บ ครอบครัวเขาทุกข์กว่าเรา

มีคนทุกข์กว่าเราเสมอ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image