ที่มา | มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2563, หน้า 13-14 |
---|---|
ผู้เขียน | อธิษฐาน จันทร์กลม-เรื่อง, พัทรยุทธ ฟักผล-ภาพ |
ณ สถานแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเยาวชนผู้กล้า ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ “นิทรรศการแขวน” โดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ถูกนำมาจัดแสดงให้ผู้คนหลากหลายเข้าสืบหาความจริงในอดีต
และนี่คือหนึ่งในกรณีที่ อัครสร โอปิลันธน์ หรือ อั่งอั๊ง นักเรียนรั้วนานาชาติ หญิงสาวในวัย 16 สนใจเดินทางมาหาความหมาย
อั่งอั๊ง หรือ แดงแดง คือ เยาวชนไทยเชื้อสายจีน ที่สนใจการเมืองตั้งแต่ประถม 6 เพราะเห็นปัญหารายรอบตัว จึงเริ่มจากศึกษาการเมืองและสังคมต่างประเทศ จากที่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็หันมาจับแนวสารคดี เมื่อได้ไปเรียนต่างประเทศก็เริ่มหยิบหนังสือแนวปรัชญามาศึกษา ไม่ว่าจะเล่ม Politics ของ อริสโตเติล, Utilitarianism ของ J.S.Mill ไปจนถึง MoralPurism โดย อิมมานูเอิล คานท์
เป็นที่รู้จักเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษ ขณะร่วมชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ทั้งยังเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ เว็บไซต์ Disrupt ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์ม Choose change (เลือกที่จะเปลี่ยน) ผลิตเนื้อหาเพื่อความก้าวหน้าของสังคม ที่เจ้าตัวยืนยันว่า ทุกบทความที่เขียน หนังสือที่อ่าน พอร์ตฟอร์มที่สร้างขึ้น และทุกสิ่งที่โพสต์ลงไปในทวิตเตอร์ มาจากความคิดของตัวเอง ไม่มีต้นแบบในอุดมคติ ด้วยเชื่อว่าบุคคลต้นแบบที่ดีที่สุด คือภาพตัวเองในวันข้างหน้าที่อยากเห็น
อนาคตที่ตัวเองฝันไว้จะเป็นแบบไหน ? สังคมที่อยากอยู่หน้าตาอย่างไร ? ปักหมุดแล้วเดินไปให้ถึง โดยอาศัยการอ่านเป็นสะพาน ใช้ความหลงใหลในเรื่องราวและต้นทุนทางชีวิตที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
รู้สึกว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่ ประสบการณ์ตอนไปเรียนต่างประเทศ ทำให้เห็นอะไรบ้าง ?
เอาจริงๆ มาตระหนักว่าการเมืองคือส่วนหนึ่งของชีวิต ก็ปีที่แล้ว-ต้นปีนี้เอง เห็นถึงความแตกต่างที่เยอะมาก เช่น เวลาไปเรียนต่างประเทศ การเมืองเป็นเรื่องที่คุยได้อย่างเปิดเผย วัยรุ่นสนใจการเมือง การคุยกับครอบครัวเป็นอะไรที่ปกติมาก แต่การเมืองไทยถูกนิยามว่า สกปรก คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวก็จะมีหายตัวไปบ้าง มีกฎหมายมาเกี่ยวข้อง เขียนอย่างไม่ชอบธรรม ทัศนคติในประเทศเราก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เรื่องง่ายๆ อย่างโครงสร้างพื้นฐาน พอเราได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ในแถบยุโรป แถบนอร์ดิก เดนมาร์ก นอร์เวย์ มีเรื่องที่เราอาจจะนึกไม่ถึง เช่น การเก็บขยะ เป็นระเบียบ สะอาดมาก
พอได้ไปเรียนการเมือง ที่สหรัฐอเมริกา หลักสูตร Law, Ethics, and Democracy เกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย อ่านกรณีศึกษา รู้สึกว่าถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม ก็ต้องอยู่ในสังคมที่ทุกคนกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม
ตอนเรียนเล็กเชอร์จะได้เรียนการเมือง กฎหมาย วันละ 3 ชั่วโมง และอาจารย์จะสอนอีกแค่ชั่วโมงเดียว หลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง จะเป็นการเปิดฟลอร์เวทีดีเบต อาจารย์ก็จะค่อยๆ เข้ามาดู นอกจากนั้น ที่เรียนรู้ก็จากความคิดเห็นของเพื่อนๆ จากหลากหลายประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป คือประสบการณ์ที่มีค่ามากเพราะไม่ใช่ประสบการณ์ที่จะได้เห็นในเมืองไทยบ่อยๆ
เพื่อนต่างชาติมีมุมมองต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้าง แล้วมีเพื่อนคนไทยทั่วไปที่เรียนโรงเรียนสามัญบ้างไหม ?
(หัวเราะ) เอาจริงๆ แล้ว หลายคนไม่ค่อยรู้จักประเทศไทย เขาจะมองว่าเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่ทำนากัน บางคนถึงกับมาถามว่า ประเทศยูใช้ช้างในการคมนาคมอย่างเดียวหรือเปล่า เขาไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง เพราะในสายตาชาวต่างชาติ ประเทศไทยยังไม่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ที่ว่าการศึกษาไทยยึดติดกับ “อำนาจนิยม” ในฐานะที่เรียนโรงเรียนนานาชาติมาตลอด สังคมในนั้นเป็นอย่างไร อิสระเสรีแค่ไหน อินไหมกับกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่ต้องมาต่อสู้กับเรื่องพื้นๆ อย่าง กฎระเบียบ เกณฑ์ทหาร ?
อินพอสมควรเลยนะ เรื่องทรงผม เรื่องระเบียบการแต่งตัว โดยส่วนตัวเชื่อว่า “My Body my Choice” ร่างกายของเรา เราก็ควรมีสิทธิตัดสินว่าเราจะทำอะไรกับร่างกาย เส้นผม เรือนร่าง มันกลายเป็นว่า โรงเรียนอยากผลิตเด็กออกมาหน้าตาเหมือนกัน ความรู้เหมือนกัน ผลลัพธ์ทุกอย่างเหมือนกัน ซึ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่ วัยรุ่นทุกคนมีความแตกต่างของตัวเอง พิเศษในแบบของตัวเอง การที่รัฐเข้ามาคุมถึงเรือนร่างของเรา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควร
ที่โรงเรียนก็มีกฎระเบียบผู้หญิงห้ามแต่งชุดนักเรียนข้ามเพศ ตอนนี้เปลี่ยนแล้วว่า ผู้หญิงก็ใส่กางเกงนักเรียนชายได้ แต่ผู้ชายใส่ประโปรงนักเรียนไม่ได้ คือคำถามที่อยากตั้งกลับไปมากถึงการนิยามค่านิยม ความงาม ความถูก-ผิด ถ้าหญิงกับชายเท่าเทียมกันจริง เราจะมีสเตอริโอไทป์แบบนี้อยู่หรือไม่ เรื่องทรงผมก็มีทั่วไป ห้ามย้อมสีผม แต่ไม่ได้มีเรื่องการตัดผมมากมายขนาดนั้น ที่ต่างประเทศไม่มีเรื่องพวกนี้เลย ทุกคนเข้าห้องเรียนแล้วมั่นใจในภาพลักษณ์ของตัวเอง อาจารย์ไม่ได้เจาะจงเรื่องทรงผม หน้าตาของใคร เขาเจาะจงเนื้อหา และความคิดของเด็ก เจาะจงตรงที่ว่าเพื่อนๆ ของเรา ป้อนอะไรเข้ามาในเวทีโต้วาที สนทนาการเมืองการปกครอง จำไม่ได้เลยว่าจะมีวันไหนที่อาจารย์อยู่ดีๆ เดินเข้ามา แล้วบอกว่า ทำผมไม่เรียบร้อย ต้องกลับไปเปลี่ยนชุด ไม่มี 3 ชั่วโมงที่มี เราใช้เวลาไปกับการเรียน การแบ่งความคิด การรับฟังคนอื่น ไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับเสื้อผ้า เรือนร่างเรา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของเรา เรื่องส่วนบุคคล
ถ้าสมมุติว่าตัวเองเรียนมัธยม ที่ ร.ร.ในไทย คิดไหมว่าเราจะเป็นเด็กแบบไหน มีแนวคิดยังอย่างไร หรือมองว่าบริบทโรงเรียนในไทยก็เหมือนกันหมด ?
เคยคิดอยู่บ้าง ความเป็นโรงเรียนไทยก็จะมีความคล้ายคลึงพอสมควร มองจากมุมคนนอก เห็นว่าระบบการศึกษาไทย พยายามผลิตเด็กที่ความคิดเหมือนกัน โดยการสอนเด็กทุกคนเหมือนกัน แม้ว่าเด็กทุกคนจะเก่งในเรื่องที่แตกต่างกัน อะไรทุกๆ อย่างก็ต้องเหมือน มองไปแล้วไม่มีความสร้างสรรค์ หรือสีสันในวัยเรียนเลย
หลังไปต่างประเทศ เห็นว่าประเทศไทยขาดอะไร
สังคมไทยตอนนี้เรายังขาดคนที่กล้าลุกขึ้นมาพูด ตอนที่ได้ไปเรียนต่างประเทศ เพื่อนๆ ทุกคนคือกล้าพูดเรื่องการเมือง ถึงแม้จะไม่ได้ไปเรียนคอร์สเดียวกัน ไม่ได้เรียนกฎหมายการเมือง ที่เรียนหมอก็ตั้งคำถามเรื่องการเมือง เขากล้าพูด กล้าตั้งคำถามกับปัญหาต่างๆ นานาในสังคม ด้วยค่านิยมที่ปลูกฝังมาแล้วว่า ทุกคนต้องหันมาสนใจสิ่งที่อยู่ในบ้านเมืองเรา ทุกคนมีหน้าที่พลเมือง ตระหนักว่าเราเป็นประชาชนของชาตินี้ ก็ต้องสนใจความเป็นอยู่และการเมืองของประเทศที่อยู่ แต่ประเทศไทยเราขาดความรู้สึกนั้น เรายังขาดคนที่กล้าตั้งคำถามอยู่อีกมาก คุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ควรจะคิดถึงแค่เพียงอนาคตของคุณ ในเชิงปัจเจก แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถูกการเมืองกระทบโดยตรง ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทุกคนได้รับผลกระทบจากการเมือง อยู่ที่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะกระทบมากหรือน้อยก็ไม่ควรละทิ้งความเป็นเพื่อนมนุษย์ แม้ส่วนตัวจะไม่กระทบมาก แต่แค่ออกไปเลือกตั้ง ไปกากบาท ชีวิตของคนอีกหลายล้านจะดีขึ้นได้ แล้วทำไมคุณไม่ทำ ความรู้สึกนี้ยังไม่มี
เรามักจะได้ยินคำว่า “สิ่งที่ทำให้เราไม่เท่าเทียม คือต้นทุนที่ไม่เท่ากัน” หรือ “ก็มันเลือกเกิดไม่ได้นี่” เป็นเราจะตอบว่าอะไร ?
มันไม่ผิดที่คนคนหนึ่งจะเกิดมามีต้นทุนชีวิตมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่มันผิดที่หากคนที่มีต้นทุนมากกว่า ไม่มองเห็นต้นทุนที่มีอยู่ แล้วเอาต้นทุนของตนเองมาใช้เพื่อประโยชน์สังคมโดยรวม ใช้เพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง
มันก็ถูก ที่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ต้นทุนในสังคมเป็นสิ่งที่เรามีอยู่ และเลือกไม่ได้ แต่เราเลือกได้ที่จะทำอะไรกับมัน เลือกได้ที่จะปฏิบัติกับทุกคนในสังคม ไม่ว่าเขาจะมีต้นทุนเท่าไหนในสังคม ได้อย่างเท่าเทียมกันในเชิงศักดิ์ศรี แค่คุณเกิดมาเป็นคนก็มีสิทธิแล้ว ไม่ควรมองข้ามสิ่งนั้นไป ด้วยค่านิยม เรื่องเงิน ทอง อำนาจนิยมจอมปลอมที่หลายคนยังยึดถืออยู่
จะมีบางมุมมองในสังคม บอกว่า “ถ้าชังชาติ ก็ออกจากประเทศไทยไปเลย” แล้วก็จะมีคนตอบ “ถ้ามีเงินออกไปแล้ว” ในฐานะที่มีทางเลือกทั้งสอง จะอยู่ก็ได้ จะไปก็สบายๆ มองวิวาทะนี้อย่างไร
ท้ายที่สุดก็อยากอยู่ประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่เกิดมา คำว่าชังชาติมันเป็นวาทกรรมที่เพื่อตีตราเด็กหลายๆ คน หรือคนหลายกลุ่มที่ออกมาวิจารณ์ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ซึ่งอันที่จริงแล้ว หากทั้งสองฝ่ายมารับฟังกันดีๆ จะรู้ว่าไม่มีฝ่ายไหนที่รักชาติน้อยกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายรักชาติเท่ากัน หากว่าเราไม่รักชาติ จะมาวิจารณ์ปัญหาเชิงโครงสร้างทำไม เรามาพูดเพราะอยากเห็นมันดีขึ้น อยากให้คนรุ่นหลังได้เกิดมาในสังคมที่ดีกว่านี้ นี่ไม่ใช่การชังชาติ แต่มันคือการรักชาติด้วยซ้ำ
ผู้ใหญ่เขาจะมองว่า เจนนี้เป็นเจนแห่งความหวัง แล้วเรามีความหวังอะไรกับผู้ใหญ่บ้าง ?
ขอให้มองข้ามความกลัวแล้วก็ออกมาต่อสู้กับพวกเรา เพราะเสียงของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า มีความหมายเท่ากัน มาสู้เพื่อความเท่าเทียมด้วยกัน อยากให้ทุกคนตระหนักได้ว่า การเมืองคือเรื่องของทุกคน และการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณ ซึ่งยากพอสมควรที่จะให้สังคมไทยตระหนักได้ เพราะหลายคนยังเพิกเฉย ไม่ยอมรับฟัง
“ผู้ไม่เคลื่อนไหว ไม่มีทางตระหนักถึงโซ่ตรวนที่พันธนาการ” หลังจากที่ออกมาเคลื่อนไหว รู้สึกถึงโซ่ตรวนนั้นบ้างหรือยัง หวั่นๆ บ้างไหม ?
รู้สึกเลย (หัวเราะ) มีหลายอย่างที่พูดไม่ได้ หลายอย่างที่คำพูดเราถูกบิดเบือน หลายอย่างที่ทำแล้วต้องมาตั้งคำถามเสมอ ว่าเราพูดสิ่งนี้ไปแล้วผลกระทบจะเป็นอย่างไร เช่น เราอยู่โรงเรียน ความปลอดภัยจะเป็นอย่างไร นี่คือโซ่ที่ล่ามไว้ เราเห็นและรู้สึกได้ทันทีในวันที่เราออกมาพูด มันเป็นความกลัว ที่หากสังคมเราเป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นสังคมอำนาจนิยม ก็จะไม่ต้องรู้สึกว่ามีใครจ้องเราอยู่
สังคมแบบไหนที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น อะไรที่ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว และอะไรที่ทำให้สังคมแบบที่หวังเกิดขึ้นจริงไม่ได้ ?
กลับไปที่อำนาจ หลายกลุ่มยึดถืออำนาจไว้มากเกินไป ทั้งที่ท้ายที่สุด อำนาจก็ต้องเป็นของราษฎร อำนาจเป็นของทุกๆ คน เราทุกคนมีสิทธิตัดสินใจว่าประเทศไทยในอนาคตจะหน้าตาเป็นยังไง เพราะเราคือผู้ที่อยู่ในประเทศนี้ การเมืองคือเรื่องของบ้านของเมือง ไม่ใช่เรื่องอำนาจของผู้ใดผู้เดียว สังคมที่อยากเห็นจึงกลับไปที่ความเท่าเทียม
ความเท่าเทียมในเชิงศักดิ์ศรีคือการที่ไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง เวลาใครพูด คุณก็ต้องฟัง ความเท่าเทียมในเชิงศักดิ์ศรี คือไม่ว่าเรามองเห็นใคร คุณค่าต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร เรียนหรือไม่เรียนมาก็ตาม ศาสนา เพศอะไร คนเท่ากับคน ซึ่งตอนนี้สังคมเรายังไม่มี ยังมีการดูถูก จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐาน ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา นี่คือปัญหาที่เราไม่เห็น ปัญหาจึงไม่ถูกแก้
ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีไอเดียปรับหลักสูตร ประวัติศาสตร์การเมืองในชั้นเรียน แนะนำว่าให้ทำเป็นละคร ถ้าทำได้จริง ประวัติศาสตร์เรื่องไหนควรถูกเล่ามากที่สุด ?
ที่อยากให้เอามาทำเป็นละคร คือประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อย ประวัติศาสตร์เราถูกเขียนด้วยมือผู้ชนะ โฟกัสไปที่ผู้ชนะ แต่ไม่เคยโฟกัสที่ผู้พ่ายแพ้ ภาพที่เราได้เห็น สื่อถึงนักเรียนที่ออกมาประท้วง 6 ตุลาคม ถูกตีตราว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ และความเป็นจริงมันคืออะไร อยากให้เล่าประวัติศาสตร์ในมุมมองที่เป็นกลางมากขึ้น ในมุมมองของผู้พ่ายแพ้ เพื่อให้รู้ว่าที่แท้จริงแล้วเหตุผลที่เขาต้องออกมาต่อสู้เป็นเพราะอะไร มันเป็นประวัติศาสตร์ที่อยากจะได้ยินจากคนกลุ่มน้อย ประวัติศาสตร์ที่อยากจะได้ยินจากผู้พ่ายแพ้
อะไรที่จะอุดช่องว่างระหว่างวัย ที่คนรุ่นหนึ่งอาจจะตามความคิดเยาวชนไม่ทัน ?
การพังทลายกำแพงระหว่างสองรุ่น ต้องหันมารับฟัง แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ส.ว.ในสภาที่อายุมากแล้ว ไม่ได้รับฟังคนรุ่นใหม่ ซึ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่จะรับฟังคนรุ่นก่อนด้วย ทุกวันนี้เป็น 2 ฝั่งออกมาพูดๆๆ ไม่มีการรับฟัง จึงไม่มีการประนีประนอม
นี่คือสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงต้องมา คุณไม่สามารถยึดถือค่านิยมที่ล้าหลังได้แล้ว หลายคนเถียงว่าอะไรคือวัฒนธรรมที่ต้องยึดถือ การเข้าวัดวา รำไทย คือวัฒนธรรมที่สวยงาม ที่ไม่ได้กดขี่ใคร
วัฒนธรรมใดที่กดขี่คนกลุ่มหนึ่ง คือวัฒนธรรมที่เราควรเปลี่ยนได้แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ได้ออกมาเพื่อต้องเปลี่ยนเหมือนชาติตะวันตกทั้งหมดจนไม่เหลือความเป็นไทย เราไม่ได้จะมาพังทลายสังคม แค่ต้องเปลี่ยนในสิ่งที่ต้องเปลี่ยน สิ่งที่เราต้องมีอยู่ก็เก็บไว้ นี่คือนิวเจเนอเรชั่น อนาคตของสังคมอยู่กับคนรุ่นนี้ เพราะท้ายที่สุดคือสังคมที่เราจะอยู่เอง
คุณฟอร์ด ทัตเทพ มีไอเดียว่า อายุ 18 ก็ควรจะลงเลือกตั้งได้ เป็นผู้แทนราษฎรได้ คิดเห็นอย่างไร
เห็นด้วย พอได้เจอกับพี่ฟอร์ด กับเยาวชนปลดแอก และอีกหลายๆ กลุ่มแล้ว เห็นด้วยอย่างยิ่ง รู้สึกว่าเรามีวุฒิภาวะมากพอ เห็นได้เลยว่าเด็กหลายคนอายุไม่ถึง 18 ปี เด็ก ม.ต้น ออกมาดูเรื่องการเมือง และบางคนหนูเชื่อว่าอาจจะรู้เรื่องการเมืองดีกว่าผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เคยมาเลือกตั้งด้วยซ้ำ พอเราอายุ 18 โดยรวมแล้วก็ควรมีวุฒิภาวะมากพอที่รู้ว่าเราจะเลือกพรรคไหน เพราะเมื่อคุณอายุ 18 คุณควรตระหนักได้ว่าการเมืองคือเรื่องของคุณ คุณควรรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก คุณควรนิยามได้ว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยนะ แล้วในมุมของคุณ พรรคไหนจะเป็นพรรคที่ทำตามสัญญาของการที่จะทำเพื่อราษฎร คุณควรรู้ได้ถึงแกนนั้น
ในอนาคตคิดบ้างไหมที่จะลงการเมืองเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคม
(หัวเราะ) จริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าจะลงการเมือง คิดแค่ว่าหนูคือคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง แค่นั้น เป็นการสู้เพื่อสิทธิ สู้เพื่อความเท่าเทียม มันคือสิ่งเบสิก เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานมากๆ อย่างการที่หนูจะต่อสู้เพื่อให้เรามีเสรีภาพในการออกเสียง ในอนาคตก็ไม่คิดว่าจะมาเล่นการเมือง ไม่ว่าจะอาชีพไหน เราสามารถส่งเสริมให้สังคมเป็นสังคมที่ดีได้ หากการเมืองดี ถามว่าอนาคตอยากเป็นอะไร เมื่อก่อนก็อาจจะบอก อยากเป็นทนาย พอเรามาสนใจด้านนี้ เห็นระบบตุลาการที่มีความไม่เท่าเทียมพอสมควร ถ้าถามว่าเป็นทนายที่สู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ? ก็คงไม่เห็นว่าเราจะชนะคดีอะไรเลย (หัวเราะ) มันก็ยังงงๆ กับอนาคตตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเราอยากเป็นอะไร ผู้พิพากษา ? ถ้าต้องพิพากษาคดีใหญ่ๆ ถามว่าหนูมีสิทธิที่จะตัดสินตามตำรากฎหมายที่หนูอ่านมา หรือมีสิทธิเคาะตามความถูกต้องหรือเปล่า
คดีที่เราเห็นมา ทำไมนักการเมือง พรรคการเมืองที่เห็นต่างถูกยุบพรรคหมด นี่หรือคือความเท่าเทียม ก็ต้องตั้งคำถาม เพราะความคดโกง ความไม่เท่าเทียม ความไม่เที่ยงธรรม
วันที่ 14 ตุลาคมนี้ จะไปชุมนุมด้วยไหม ?
ไปแน่นอน ไม่พลาดอยู่แล้ว เห็นอยู่ว่าเขาจะค้างคืน แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ ถ้าค้างได้ก็อยากจะค้าง วันที่ 19 คืออยู่ถึงตี 3 จนไม่ไหวก่อนเลยกลับ (หัวเราะ) 14 ตุลาไม่พลาดแน่นอน ล็อกคิว ไม่ว่าจะมีอะไรแคนเซิลหมด เลิกเรียนเสร็จก็คงไปเลย
ถ้าให้เติมคำในช่องว่าง หลังคำว่า “ถ้าการเมืองดี….”ได้แค่หนึ่งประโยค ?
อันนี้คิดหนัก (หัวเราะ) เอาง่ายๆ เลยเนอะ
ถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตคุณจะดีกว่านี้ จบแค่นี้เลย ไม่ต้องไปโยงถึงอะไรที่ลึกล้ำไปกว่านี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับทุกๆ สิ่งอย่าง
ถ้าการเมืองดีคุณภาพชีวิตจะดีกว่านี้
“แค่ติ่งเกาหลี” ที่เป็นห่วงอนาคต
“หลายคนออกมาพูดว่าแบบ เห้ย! ขอบคุณมากที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไลฟ์สไตล์ยูนีคนะครับผม (หัวเราะ) หนูก็แบบว่า เป็นวัยรุ่นธรรมดามากเลย เรียน อ่านหนังสือ ติ่งเกาหลี ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ เวลาเราอาบน้ำก็เปิดพอตคาสต์แคสเรื่องการเมือง”
คือคำกล่าวของ อัครสร โอปิลันธน์ หรือ อั่งอั๊ง เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่บอกว่า ตนเป็นเพียงวัยรุ่นทั่วไป ตื่นหกโมงครึ่งที่เหมือนอยากจะตื่นเจ็ดโมง พยายามไปโรงเรียนให้ทัน เรียนหนังสือ กินข้าวกับเพื่อน เลิกเรียนก็กลับ ทำการบ้าน วันไหนไม่มีงานก็อยู่กับเพื่อนๆ เพื่อนไม่ว่างก็ดู BlackPink ดูหนังเกาหลี (K-drama) แต่อยากจะเชิญชวนทุกคนหันมาสนใจการเมือง ไม่ใช่ในเชิงวิชาการ แต่ในมุมที่ว่า การเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร เพราะนี่คือความรับผิดชอบของพลเมือง
อัครสร เล่าอีกด้วยว่า ถ้าสังคมไทยไม่ติดขัดเรื่องคุณภาพชีวิต และการเมืองดีแล้วด้วยการที่รัฐเข้ามาสนับสนุน ทุกคนคงมีความสุขกับอาชีพ
“เราก็เป็นคนที่มีความสุขกับการทำด้านดนตรี เล่นเป็นงานอดิเรก บอกไปหลายคนอาจจะไม่เชื่อนะว่าอยู่วงร็อก (หัวเราะ) ชื่อวง After Math เหตุผลเพราะว่าทุกคนที่อยู่ในวงไม่ชอบเลข คือเรียนเลขเสร็จปุ๊บก็ต้องมาระบายความเครียด”
“เราอยากเห็นอนาคตของตัวเองที่ดีกว่านี้ มันเริ่มแค่เป็นห่วงอนาคตของตัวเองจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นคำที่ใหญ่มาก เหมือนใครหลายๆ คนที่เริ่มออกมาต่อสู้ ออกมาพูด ก็เพื่ออนาคตของเราเอง ที่อยากเห็นภาพตัวเองอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้
สังคมที่มีความเท่าเทียมกัน ที่ไม่ต้องกลัวที่จะพูด ที่จะตั้งคำถาม สังคมที่มีคนรับฟังเรา สังคมที่ไม่ต้องรู้สึกว่าคุยกับกำแพงอยู่ ซึ่งไม่ใช่คนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่ฝันเห็นสังคมแบบนี้ เลยกลายเป็นว่า โอเค นอกจากที่เราจะสู้เพื่ออนาคตของตัวเองแล้ว สู้เพื่ออนาคตของคนอื่นที่มีความฝันเหมือนเรา” อัครสรกล่าวทิ้งท้าย