บทสัมภาษณ์ : เปิดตำรานิติศาสตร์กับ “รณกรณ์ บุญมี” ในวันที่กฎหมายถูกตั้งคำถาม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จากฝ่ายเห็นต่างว่า “ม็อบแผ่ว” กระทั่งแนวหน้า “ราษฎร” โต้กลับ ว่าด้วยสำนึกในเรื่อง “โควิด-19” ที่ไม่เอื้อให้ลงถนน แต่ก็ไม่อาจ “ทนเฉย” จึงปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ พร้อมเคลื่อนไหวเต็มรูปแบบเมื่อลงถนนไม่ได้ ? ก็ให้ม็อบป้ายประท้วง “เพื่อทวงคืนอนาคต เพื่อปลดแอกไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

หากแต่แหลมคมและสุ่มเสี่ยง เมื่อต้องต่อสู้ทางอุดมการณ์กับผู้มีอำนาจ โดยยืนหยัดด้วยเจตจำนงที่คงไว้ซึ่งบรรทัดฐานอันถูกต้อง เท่าเทียม

เพราะแค่เพียงเปิดศักราช 2564 ได้ไม่ถึงเดือน กลับร้อนแรง สร้างความสั่นสะเทือน นักเคลื่อนไหวได้ของขวัญชิ้นใหญ่ รับหมายคดีอาญาย้อนหลัง บ้างถูกบุกค้นบ้านจากการแขวนป้าย หรือแม้แต่กิจกรรมเขียนป้ายผ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ทำการฉุดกระชากลากตัวไปยังที่คุมขัง อีกทั้งปรากฏการณ์ “ชักธงอันไม่สมควร” เมื่อครั้ง “เดฟ ชยพล” ปล่อยแพะหน้า สภ.คลองหลวง เพื่อประท้วงการออกหมายจับมั่ว

สร้างอาการทางสังคมที่ “ได้แต่คิดแล้วก็สงสัย”

Advertisement

“การใช้อำนาจของรัฐ แม้จะมีอำนาจกระทำการอย่างถูกต้องตามตัวอักษรของกฎหมาย แต่ถ้าเป็นไปโดยเลือกปฏิบัติ คนจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมทันที จะรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง เหมือนเราต่อคิวซื้อของ ถ้ามีคนแซงคิว พอเราแซงคิวบ้าง คนขายบอก ทำไมไม่รู้จักต่อคิว ซึ่งคนขายพูดถูก แต่เรารู้สึกว่า อ้าว! ทำไมเขาทำได้ ? การที่เจ้าพนักงานรัฐเลือกปฏิบัติ คนจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นปฏิปักษ์ และไม่อยากจะให้ความร่วมมือ หรือม็อบจะมีทัศนคติที่ดีต่อกฎหมายได้ ซึ่งน่าจะส่งผลเสียกับกระบวนการทั้งหมด”

คือถ้อยคำจากปาก ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญา ผู้ชำนาญด้านอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ รั้วแม่โดม ที่ตอกย้ำว่า ให้พินิจถึงการใช้กฎหมาย “ถ้าไม่เป็นธรรม ย่อมไม่ดีแน่ แต่ที่ออกมาเคลื่อนไหว ทำผิดไหม คืออีกเรื่องหนึ่ง”

ต่อไปนี้ คือความเห็นบนเส้นแบ่งของ “สิทธิ” และ “หน้าที่” บนวลี “พี่ต้องทำตามคำสั่งนายและกฎหมาย”

Advertisement

การที่คนทำกิจกรรม ณ จุด จุดหนึ่ง พูดเพียงไม่กี่ประโยค แล้วถูกตำรวจทั้งกองร้อยไปรุมล้อมจับ ตามหลักกฎหมายอาญาทำได้หรือไม่ มีข้อไหนบอกไว้ไหม ว่าแบบนี้คือ เกินกว่าเหตุ ?

ไม่มีหรอกครับ กฎหมายบอกแค่กว้างๆ ว่า กรณีไหนทำได้-ไม่ได้ บอกแค่ว่า ห้ามข่มขู่ ทำร้ายร่างกายในการสอบสวน แต่ไม่ได้บอกวิธีการ ว่าจับกุมต้องเอาคนไปห้ามเกินเท่านี้ สามารถเอากำลังไปได้ ซึ่งเป็นแทคติคที่จงใจ พูดง่ายๆ เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู ผลคือ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Chilling Effect ในความหมายลบ กับคนอื่นที่เห็นเหตุการณ์ ถ้าทำเหมือนกัน เขาจะกลัว ทำแค่นี้เอง เอากุ้งไปวาง บอกว่า “จ้า” ในเฟซบุ๊ก นิดๆ หน่อยๆ เรื่องใหญ่ได้ขนาดนี้ เพียงแชร์เฟซบุ๊ก เสี่ยงอนาคต ก็จะไม่กล้าทำ คือมีการเอาจริงเอาจัง เพื่อให้รู้สึกน่ากลัว ตามกฎหมายไม่ผิด แต่เป็นกลยุทธ์ปกติ ของการปฏิบัติงานทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว เราเรียกว่า Deterrence Effect หรือการข่มขู่

ในฐานะนักกฎหมาย เชื่อหรือไม่ ว่าการใช้กฎหมายเพื่อสยบการเคลื่อนไหว จะได้ผลจริง ?

ประวัติศาสตร์กฎหมาย บอกเราว่า มันได้ผล แต่ว่าคนเรา ถ้าจนตรอก หรือรู้สึกว่าเกินจุดจะทนได้ ในช่วงแรกอาจจะกลัว แต่ถ้าต้องถูกบีบให้อยู่ในสภาพแบบนี้ไปนานๆ มี 2 ทาง คือ เป็นลูกแกะที่หวาดกลัวไปเลย กับ สอง คือเป็นสุนัขที่ถูกตีทุกวัน จนลุกขึ้นมากัดเจ้าของ ต่อให้อดทน หรือหวาดกลัวแค่ไหน ถ้าโดนกระทำทุกวันย่อมทนไม่ได้

วิธีการนี้ มีผลระยะสั้น แต่ในระยะยาว คนจะไม่กลัว ซึ่งอาจเผอิญว่าเราอาจอยู่ในช่วงระยะยาวนั้นแล้วก็ได้ เพราะไม่ได้เพิ่งเกิดปรากฏการณ์การกดหัว หรือการใช้อำนาจกับประชาชนแบบนี้ แต่อาจเกิดมานานจนคนเริ่มรู้สึกไม่ทน เพราะตอนนี้เราทนมานานเกินทนแล้ว

ปรากฏการณ์ประชาชนจะใช้กฎหมายฟ้องกลับตำรวจ ในอดีตมีมากน้อยแค่ไหน ?

มีอยู่แล้ว เราเคยมีตำรวจระดับนายพล เป็นคนแรกๆ ในไทย ที่ถูกพิพากษาจำคุก 15 ปี ข้อหาทรมานผู้ต้องหา ประมาณ 4 ปีที่แล้วนี้เอง ที่ จ.ระยอง แต่นานๆ จะเกิดที

ปกติเวลาเราถูกตำรวจข่มขู่ ในกระบวนการยุติธรรม 1.เรากลัว 2.เราไม่มีหลักฐาน 3.เราไม่มีอำนาจที่จะไปต่อสู้ ต้องกล้ามากๆ ที่จะต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจ โดยเฉพาะระดับนายพล การสู้กับคนที่มีอำนาจรัฐ ต่อให้รวย ก็กินต้นทุนและเวลาไปเรื่อยๆ อย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คิดว่าเป็นเรื่องดี ที่เราจะต้องช่วยกัน อย่าให้เขาสู้กันเอง เมื่อก่อนเราพูดถึงกลุ่ม เอ็นจีโอ ซึ่งก็มักจะพูดถึงชาวนา สิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้มีกลุ่มทางกฎหมายเฉพาะ

ต้องบอกว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ให้ทนายความฟรีกับประชาชนทุกคดี ที่มีโทษจำคุก ไม่ว่าจะรวยหรือจน ซึ่งถ้าเป็นประเทศอื่นจะต้องจนและเป็นคนในชาติเท่านั้น แต่ทนายความเหล่านี้ไม่ได้เป็นมืออาชีพที่เก่งกาจ ซึ่งสิ่งที่ศูนย์ทนายฯทำ โฟกัสไปที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิ เขามีความชำนาญเฉพาะทาง ทุ่มเททำงานด้านนี้โดยเฉพาะด้วยประสบการณ์ นี่คือเรื่องที่ใหม่ และดีมากในประเทศไทย ไม่อย่างนั้นจะสู้ได้อย่างไร ของพวกนี้ต้องเก็บประสบการณ์ ไม่ใช่ทนายความที่ไหนก็มาทำคดีได้

เมื่อการชุมนุมเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างสงบได้อย่างไร ?

ความจริง สิทธิที่จะแสดงออก ที่จะชุมนุม คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด “อยู่ได้” ถ้าเราเป็นสังคมเผด็จการ แต่ถ้าเราบอกว่า นี่เป็นสังคมประชาธิปไตย ทำแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน มีสิ่งที่แทรกซ้อน และรัฐก็หยิบยกขึ้นมาอ้าง คือเรื่องโควิด-19 การรวมตัว ชุมนุม ในช่วงโควิด ถึงจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่มีข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้ากระทบต่อระบบสาธารณสุข หรือความมั่นคง ก็สามารถจำกัดสิทธิได้ แต่ต้องไม่เหมือนที่ประเทศไทยทำ ไม่ใช่อยู่ๆ บอก “มีกฎหมายห้ามชุมนุม คุณก็ต้องห้าม” เพราะการใช้กฎหมายปกครอง ต้องอยู่ภายใต้หลัก ความได้สัดส่วน

หมายความว่า ถ้ามีมาตรการอื่นที่สามารถป้องกันโควิด

โดยประชาชนยังสามารถใช้สิทธิได้ ต้องใช้มาตรการนั้น ไม่ใช่ห้ามประชาชนใช้สิทธิ เช่น 1.ชุมนุมได้ แต่ต้องมีมาตรการ ถ้าห้ามเลย แบบนี้จะเป็นการใช้กฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2.ต้องได้สัดส่วนด้วย คุ้มค่าไหมที่จะใช้มาตรการนี้ ต้องถามด้วยว่า สถานการณ์ประเทศเราเป็นแบบไหน หลายประเทศหนักว่าเราอีก แต่เขายังมีวัฒนธรรมเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนยังออกไปชุมนุม แสดงความเห็น ไปเลือกตั้งได้ ถึงไม่เข้าใจ เรากลับใช้มาตรการที่เข้มข้นมาก เหมือนเราสนใจแต่เรื่องสาธารณสุข โดยไม่สนใจความเป็นคน

มองการกลับมาใช้กฎหมาย มาตรา 112 ของรัฐอย่างมากมายในช่วงหลังนี้อย่างไร ?

(ถอนหายใจ) เมื่อก่อนราว 10-15 ปี เข้าใจว่าไม่เยอะแบบนี้ อยู่ๆ ก็มีการใช้ มาตรา 112 ด้วยเหตุผลทางการเมืองค่อนข้างมาก ทุกคนก็คงมีทฤษฎีของตัวเอง ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หากสังเกต เมื่อปีที่แล้วชัดเจนมากว่า มีนโยบายว่าถ้าไม่จำเป็น ให้เลี่ยงไปใช้มาตราอื่นแทน รัฐจึงไม่ค่อยฟ้อง ม.112 แต่เปลี่ยนมาเป็น ม.116 ซึ่งช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมเราเริ่มเห็นการกลับมาเกิดใหม่ของการใช้มาตรา 112 แบบเข้มข้นอีกครั้ง

กฎหมายอาญา คือกฎหมายที่กำหนดแบบแผนประพฤติของประชาชนในสังคม ประชาชนจะต้องรู้ว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ เพื่อที่จะได้กำหนดพฤติกรรมของตัวเอง เป็นตัวกำหนดแบบแผนที่รัฐจะให้ประชาชนเป็น

1 ใน 4 ข้อเรียกร้องพื้นฐาน คือกฎหมายอาญาต้องชัดเจน แน่นอน เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรคือเส้นทางที่เราเดินไม่ได้ เดินไปแล้วติดคุก ปัญหาของการใช้ 112 ในปัจจุบัน คือใช้แบบไม่มีขอบเขต สิ่งที่เราสอนกันในโรงเรียนกฎหมาย ว่า 112 หมายความว่าอย่างไร แต่เวลาที่เกิดการใช้จริง เราจะเห็นการใช้แบบเกินขอบเขตของกฎหมาย แบบที่เราไม่สามารถคาดหมายได้ว่า ทำแบบนี้ได้ หรือไม่ได้

การใช้ 112 ประหลาดด้วยตัวเอง ไม่ใช่ในเรื่องการบังคับใช้ แต่คือการขยายความย้อนไปถึงอดีต ซึ่งนักกฎหมายระดับปรมาจารย์อาญา หรือโรงเรียนกฎหมายทั่วประเทศ เวลาเราสอนเรื่องนี้ เราบอกว่าใช้เฉพาะสมัยปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมถึงอดีต ไม่เช่นนั้นจะวิพากษ์บุคคลในประวัติศาสตร์ไม่ได้ คุณจะอธิบายพระเจ้าตากไม่ได้

พอไม่แน่นอน เราจะไม่รู้ว่า การที่คุณระบายสีอันนี้ พูดประโยคนี้ แชร์ข้อความนี้ ผิด 112 หรือไม่ ต่อให้เรียนกฎหมาย เป็นศาสตราจารย์กฎหมาย ก็ตอบไม่ได้ เพราะโดยทฤษฎีไม่ควรเป็น แต่อาจจะเป็นก็ได้ ผลคือ คนจะไม่กล้าทำอะไร ซึ่งสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ควรจะสนับสนุนให้คนกล้าและทำสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิต และสังคม ตราบใดที่ไม่เป็นความผิด ฉะนั้นเส้นของความผิดจึงต้องชัด ในการทำให้กฎหมายไม่ชัด คนจะไม่กล้า และจะมีปัญหา

อีกมุมหนึ่ง ล่าสุดตำรวจชี้ว่า “เยล” การ์ดปลดแอก จัดฉากอุ้มหาย พร้อมหมายจับ “แจ้งความเท็จ” ด้วย ในฐานะนักกฎหมาย อยากเตือนคนที่คิดจะใช้แผนการนี้อย่างไรบ้าง ?

วันนี้อาวุธที่สำคัญของโลกทุกวันนี้ ไม่ใช่อาวุธสงคราม แบบปืน หรือระเบิดอีกต่อไปแล้ว สิ่งนั้นเอาไว้ขู่กัน แต่อาวุธทุกวันนี้คือ ข้อมูล คือภาพลักษณ์ คือเฟคนิวส์ จึงไม่แปลกที่จะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ถ้าจะเตือนว่าอย่าทำดีไหม ก็คิดว่าคงไม่มีประโยชน์ ประเด็นคือ ฝ่ายผู้เรียกร้องอาจจะต้องขีดเส้น หรือทำเรื่องราวพวกนี้ให้ชัด และแกนนำเอง ก็ต้องไม่ใช้ไว้วิธีการเกมโกง เพราะหากคุณทำขึ้นมา 1 ครั้ง ต่อให้คุณทำดีไปอีก 100 ครั้ง ฝ่ายที่มีอำนาจ ก็จะจิ้มไปที่จุดนี้ทุกครั้ง และสิ่งที่เราทำก็จะไม่ปรากฏ ต้องระวังอย่างมาก ประวัติศาสตร์น่าจะสอนเราอยู่ ขบวนการเรียกร้อง ภาพลักษณ์ผู้นำของกลุ่ม สำคัญมากจริงๆ

การแจ้งข้อหาซ้ำ โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ หรือแจ้งจับในข้อหาที่ขัดแย้งกันเอง จะนำไปสู่อะไร ?

อย่างนี้ก็สบาย เพราะจะทำลายภาพลักษณ์ของผู้บังคับใช้กฎหมายไปเอง ยิ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าถูกใส่ร้าย ประชาชนพร้อมจะมองเรื่องนี้เป็นละคร ถ้าใครใส่ร้าย ใครแต่งเรื่อง คนนั้นก็เป็นตัวร้าย ในเมื่อคุณเป็นตัวร้าย ประชาชนก็ไม่เอาใจช่วย ก็เสียภาพลักษณ์ไปเอง

นายกฯเคยแถลงอย่างภูมิใจ ว่าผลงาน คือการออกกฎหมายไปแล้วมากมายหลายฉบับ ในสากลโลก ตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีการตรากฎหมาย การออกกฎหมายเยอะ นับเป็นผลงานไหม สะท้อนความสำเร็จ รุ่งเรืองของสังคมหรือป่าว ?

ต้องบอกว่า นับนะ เพราะถ้าดูเน็ตฟลิกซ์อยู่ทั้งวัน ก็คงไม่มีกฎหมายออกมา แต่ถามว่า มีผลงานจับต้องได้ไหม สะท้อนคุณภาพของงานไหม ?

สังคมที่มีกฎหมายมาก คือสังคมที่มีความไม่ชัดเจนและยุ่งยาก วุ่นวาย ความจริง รัฐบาล คสช. ตอนเขียนรัฐธรรมนูญ 60 ก็ทำระบบที่บอกว่า กฎหมายต้องมีเฉพาะจำเป็น ในรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ต้องตัดตอนกฎหมายให้เหลือน้อย กฎหมายไหนไม่ใช้ ก็ให้ยกเลิกไป ซึ่งสังคมไม่ได้พัฒนาด้วยการมีกฎหมายเยอะ แต่สังคมจะพัฒนาด้วยการมีกฎหมายที่บังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เฉพาะกระบวนการอาญา ถ้าไปคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ กฎหมายมาก วุ่นวายมาก เพราะนักธุรกิจจะมาลงทุนต้องศึกษากฎหมายหลายฉบับ แต่ละกฎหมายเขียนไม่เหมือนกัน บ้างก็ขัดแย้งกันเอง เขาไม่รู้จะลงทุนได้ไหม

ฉะนั้น กฎหมายที่เยอะเกินไปเรียกว่า มลพิษทางกฎหมาย หรือกฎหมายเฟ้อ

เรามีทั้งกฎสังคม กฎวัฒนธรรม และกฎหมาย แต่ทำไมหลายสิ่งในสังคมกลับดูเสื่อมถอย เกิดอะไรขึ้น คนไทยยังขาดอะไร ?

โห เราขาดเยอะนะ สมัยผมยังเด็ก คุยกันว่า “ประเทศนู้นมีภูเขาไฟ มีแผ่นดินไหว มีพายุเฮอริเคน ประเทศไทยมีดีทุกอย่าง อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ทะเลดี ภูเขาสวย แต่ประเทศไทยไม่พัฒนา เพราะเรามีคนไทย พระเจ้าเห็นเรามีทรัพยากรเยอะแล้ว ก็เลยเอาคนไทยมาวาง ประเทศเลยไม่พัฒนา”

ปัญหาใหญ่ที่สุดของเรา (ถอนหายใจ) มีปัญหาหลายเรื่องมาก ไล่เรียงไป คือ 1.เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมที่พยายามจะผลักดันประเทศ เรามีวัฒนธรรมของการกินดี อยู่สบาย แต่ไม่มีวัฒนธรรมของการพยายามผลักดัน หรือ renovate องค์ความรู้ เทคโนโลยี ทั้งทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่จะผลักออกไป เราอยากจะทำงานให้ได้เงิน แต่ไม่ได้พยายามจะสร้างสรรค์ ถามว่าเป็นความผิดของคนไทยไหม คำตอบคือไม่ เพราะระบบของสังคมเราออกแบบให้เป็นแบบนั้น

ผมเห็นว่าปัญหามาจาก 3 ส่วนคือ 1.ระบบการศึกษาไทยที่ไม่ได้สอนให้คิดวิเคราะห์ แต่สอนให้ตอบตามครู แม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม 2.สื่อสารมวลชนไม่สร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการคิด เช่น ถ้าอยู่อังกฤษหนังสือพิมพ์แจกฟรี เต็มไปด้วยการทำให้คนคิด ให้ตั้งคำถาม ไม่ใช่แบบ…. ข่าวลุงพลยังมีอยู่ได้ยังไงทุกวันนี้ 3.รัฐไม่ได้ออกแบบสังคมให้เน้นการพัฒนา เมื่อทั้ง 3 ส่วน ไม่ช่วย มันก็ห่อเหี่ยว ไม่รู้จะทำยอย่างไร ถามว่า ทำไมเรามีกฎหมายเยอะ มีกฎวัฒนธรรม เราถึงไม่พัฒนา อย่างที่บอก ยิ่งกฎเยอะ อาจจะยิ่งไม่พัฒนาก็ได้ และบางทีกฎวัฒนธรรมของเราก็อาจจะขัดแย้งกับกฎหมายเอง

ในมุมประวัติศาสตร์ เยาวชนเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อหาข้อเท็จจริงในอดีต ในมุมกฎหมาย คิดเห็นว่าควรชำระด้วยไหม ?

สำหรับกฎหมาย ไม่มีประโยชน์ กฎหมายมักไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ สนใจแค่ ตรรกะ ความคิด หรือการพัฒนา ถ้าจะมีอดีต ก็คงเป็นบทเรียน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว กฎหมายไม่ค่อยสนใจ เพราะมี 2 คำ คืออายุความ และนิรโทษกรรม

ถามว่าเหตุการณ์ที่มีการตายจำนวนมาก ต้องเอาขึ้นมาหาความจริงไหม ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว 1.เกินอายุความ 2.มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งในเชิงกฎหมาย ไม่ใช่ในเชิงความทรงจำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือการบังคับให้คนในสังคมลืม

ดังนั้น การชำระประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนสำคัญไหมในทางกฎหมาย สำหรับผมไม่สำคัญเลย เพราะต่อให้รื้อฟื้นจนชัดเจนแล้ว ก็ลงโทษไม่ได้ เกินอายุความ หรือ ถ้าไม่เกินอายุความ ตราบใดที่มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่ ก็ทำอะไรไม่ได้

แต่ถ้าตอบในฐานะคนคนหนึ่งในสังคม มีใครไม่อยากรู้ประวัติศาสตร์ มีใครไม่อยากรู้รากเหง้า ถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ ก็คงไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ไม่รู้ว่าสังคมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร มีใครถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมบ้าง ในฐานะคนคนหนึ่ง ผมคิดว่าเราควรจะต้องชำระประวัติศาสตร์ อาจจะไม่สามารถชำระแล้วเห็นภาพชัด แต่อย่างน้อย สิ่งที่เป็นเฟคนิวส์ สิ่งที่บิดเบือน จะต้องถูกล้างออก เพื่อให้เห็นว่าใครทำอะไร และอย่างน้อย ต่อให้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย เพราะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ก็ควรที่จะมีความรับผิดชอบทางจริยธรรม ทางสังคม มองโลกอย่างมีความรับผิดชอบ ที่จะถูกคนในอนาคตพูดถึง ไม่ใช่ในฐานะฮีโร่ ไม่ใช่ในฐานะวีรบุรุษ แต่ในฐานะคนที่กระทำกับคนด้วยกันอย่างเป็นอาชญากร ด้วยคำพิพากษาทางสังคม

เมื่อเสียงขู่ขวัญ ในนามของความรักชาติ เกิดขึ้นวนเวียนในอดีต หากย้อนมองกรณีด้านอาชญา ในทางการเมือง บทเรียนที่ได้คืออะไร ?

บทเรียนที่ได้จากการนองเลือดในอดีต ไม่จำเป็นต้องด้วยความรัก ผมไม่คิดว่า นองเลือดแล้วจะแก้ปัญหาได้ ช่วงสิงหาคม-ตุลาคม ที่การเมืองตึงเครียดสูง สิ่งที่ผมเขียนในเฟซบุ๊กตลอด คือ รัฐบาลต้องฟังประชาชน มันต้องพูดคุย ต้องเจรจากัน เพราะเราคือคนในชาติด้วยกัน

ผมเห็นว่า ในกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้อง ต่อสู้ มีบางคนเริ่มรู้สึกว่า “เฮ้ย ต้องใช้ความรุนแรงแล้ว คุยกันไม่ได้แล้ว รัฐบาลใช้ความรุนแรง” แต่ผมคิดว่าอย่าไปเชื่อ ว่าเกิดความรุนแรงแล้วจะมีต่างชาติเข้ามาแทรกแซง หรือจะมีวีรบุรุษโผล่ขึ้นมาเคลียร์ปัญหา เพราะประเทศไทยนองเลือดมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร สำหรับคนที่เป็นฝ่ายใช้กำลัง เขาก็คงรู้สึกว่าการนองเลือดได้ประโยชน์มั้ง เพราะไม่เคยมีใครต้องได้รับผลร้ายจากการนองเลือดนั้นเลยในอดีต ฝ่ายรัฐที่ทำก็นิรโทษกรรมกันไปหมด

ต่อให้คุณไม่ต้องติดคุก ต่อให้คุณมีเงินส่งให้ลูกหลาน สี่พันล้าน คำถามคือคุณตายตาหลับ ลูกหลานคุณแฮปปี้ คุณมีความสุข อยู่อย่างสันติจริงๆ ใช่ไหม ที่รูปหน้าคุณจะต้องถูกประจานลงในหนังสือ ในประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้สุดท้ายแล้วต้องจบที่การพูดคุยกันอยู่ดี

สังคมที่อยากเห็นหน้าตาประมาณไหน แล้วเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ?

สังคมที่อยากเห็น ผมคงไม่ได้เห็น แต่ผมอยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่เขาสามารถเติบโตในสิ่งที่อยากเป็นได้ เขาสามารถมีส่วนร่วมในสิ่งที่เขาอยากทำได้ โดยที่ไม่ต้องมากลัวการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เขาไม่จำเป็นจะต้องได้สิทธิพิเศษอะไร แต่เขารู้ขอบเขตของกฎหมายที่ชัดเจน ว่านี่คือเส้นทางที่เขาเดินไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้เราไม่อยู่ในสังคมแบบนั้น

นอกจากสังคมที่มีขอบเขตกฎหมายชัดเจนแล้ว มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช่อยู่กลุ่มหนึ่ง ฝั่งหนึ่ง แล้วกฎหมายใช้อีกแบบ คือ 2 ประเด็นที่ติดใจมาก

นักกฎหมายบางคนถึงกับท้อ ว่าเราจะสอนหนังสือไปทำไม เมื่อกฎหมายที่เราสอน ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นจริงตามตัวอักษร กลับไม่ถูกบังคับใช้ หรือมันถูกบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม

จากลูกหม้อ “ธรรมศาสตร์” สู่ผู้ร่างรายงานต้านทรมาน ถึงยูเอ็น

“ผมรู้สึกว่ากฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ 1.คุยกับประชาชน เข้าใจประชาชน คือประชาชนเจอเเล้วเราแก้ปัญหา ผมว่าเป็นกฎหมายที่ตรงไปตรงมา 2.มันทำให้ผมเข้าใจระบบความคิด หรือปรัชญาของสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรม” มากที่สุด ผมไม่ได้พูดว่ากฎหมายอื่นไม่ดี แต่อาญา ทำให้เราลึกขึ้น ในสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรม”

“ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี” อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เผยถึงเบื้องหลัง ก่อนเข้าสู่แวดวงด้านกฎหมาย จบการศึกษาทุกระดับของธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ ปริญญาตรี โท เอก ทั้งยังครองเกียรตินิยมด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แห่งลอนดอน โดยได้รับทุนจากรัฐบาลอังกฤษ, เป็นเนติบัณฑิตไทย อีกส่วนสำคัญ คือหนึ่งในผู้ร่างรายงาน ที่ไทยต้องเสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ทว่า เมื่อถามพื้นเพเป็นคนที่ไหน ? ผศ.ดร.รณกรณ์ตอบด้วยอารมณ์ขัน “ผมคนทุกที่ (หัวเราะ) อยู่ปริมณฑล นนทบุรี ตั้งแต่ 6 ขวบ แต่ดั้งเดิมอยู่ประจวบคีรีขันธ์”

เจาะลึกลงไปถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้มาเรียนด้านกฎหมาย เป็นเพราะตอนเด็กเห็นความไม่ความยุติธรรมหรืออย่างไร ?

เจ้าตัวลังเล “เอ่อ‚ ตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็น ไม่ใช่เฉพาะตอนเด็ก (หัวเราะ)” ก่อนเสริมว่า เพราะกฎหมาย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เห็นผลชัดเจน

“ถามว่าเราอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าเรามาไกลกว่าเมื่อ 80 ปีที่แล้ว เมื่อ 1-2 ปีนี้เอง เพราะคนรุ่นหลังเริ่มตั้งคำถามกับระบบแบบนี้ เขาเริ่มมีความรู้ เมื่อความรู้เข้าถึงคนมากขึ้น ไม่ต้องถูกเก็บไว้ที่อาจารย์ หรือครู ความรู้อยู่ทุกที่ ทุกคนเป็นคนเขียน ส่งต่อ และเข้าถึงความรู้ได้หมด ทำให้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ ทนไม่ได้กับระบบแบบนี้ ผมจึงมองว่าเรามาไกลกว่าเดิม โดยเฉพาะ 1 ถึง 2 ปีให้หลัง

แต่ไปถึงหลัก “นิติรัฐ นิติธรรม” หรือยัง ยังครับ แต่ผมให้กำลังใจทุกคน รวมถึงตัวเองด้วยว่า เรามีโอกาสที่จะพัฒนา ถ้าเราตั้งใจ ถ้ารัฐบาลวางเข็มให้ชัดเจน และทำอย่างจริงจัง” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา เปล่งวาจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image