ทับหลัง‘หนองหงส์-เขาโล้น’ได้กลับไทย ต้องให้เครดิต‘ภาคประชาชน’

4 มีนาคม 2559 ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ แกนนำภาคประชาชน ทวงคืนสมบัติชาติ สัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ลักลอบขุดปราสาทปลายบัด บุรีรัมย์ 50 ปีก่อน

กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับประเด็น ‘ทวงคืน’ โบราณวัตถุไทยในต่างแดน

เมื่อสื่อต่างชาติพากันรายงานว่า สหรัฐอเมริกาตกลงที่จะคืนทับหลัง 2 ชิ้นให้กับประเทศไทย หลังจากตรวจสอบพบว่าเป็นทับหลังที่ถูกขโมยไป และถูกเก็บไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

นั่นคือ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว

ภาพถ่ายเก่าทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
(ในอดีต ยังเป็นจังหวัดปราจีนบุรี) จากหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี โดย ศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ม.ศิลปากร ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2510

ต้นเดือนเมษายนนี้ กรมศิลปากรจะพิจารณามอบอำนาจให้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส ลงนามในเอกสารข้อตกลงเพื่อรับคืนโบราณวัตถุดังกล่าวจากสหรัฐอเมริกา จากนั้นจะมีการจัดหาบริษัทที่เชี่ยวชาญการขนส่ง โดยจะบรรจุหีบห่อ และส่งกลับสู่ราชอาณาจักรไทยในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ตามด้วยแผนการจัดนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนเข้าชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

Advertisement

กว่าจะได้มาซึ่งโบราณวัตถุดังกล่าว แน่นอนว่าไม่อาจแยกออกจากปฏิบัติการ ‘ทวงคืนพระโพธิสัตว์ประโคนชัย’ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2559 โดยกลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ นำโดย โชติวัฒน์ รุญเจริญ ชายไทย บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหลักในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมแต่อย่างใด โดยมีนักวิชาการคนสำคัญอย่าง ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี คอยขับเคลื่อนจัดหาข้อมูลต่างๆ อย่างลุ่มลึก ยอดชาย อ้ายเจริญ ผู้ค้นคว้าข้อมูลทางออนไลน์จนพบเรื่องราวมากมาย รวมถึง ดำรง ลีลานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ ซึ่งประสานพูดคุยกับนักหนังสือพิมพ์ต่างชาติผู้มีประสบการณ์ในด้านดังกล่าว ไหนจะ ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิชาการ ม.นอร์ทแคโรไลนา ซึ่งร่วมผลักดันอย่างต่อเนื่อง
จากการค้นข้อมูลเกี่ยวกับประติมากรรมโพธิสัตว์ประโคนชัย ซึ่งมาจากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ นำไปสู่การค้นพบโบราณวัตถุไทยชิ้นอื่นๆ จนถึงทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และสระแก้ว ออกมาเคลื่อนไหว หนุนการทวงคืนสมบัติชาติ

โชติวัฒน์ รุญเจริญ กลุ่มสำนึก 300 องค์ และประยงค์ วงศ์ประโคน ชาวบุรีรัมย์ สวมเสื้อสกรีนลาย ‘สำนึก’ โพธิสัตว์ 300 องค์ ร่วมงานเสวนา “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย” โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

นำไปสู่การเรียกร้องให้กรมศิลปากรแอ๊กชั่นโดยอธิบดีขณะนั้นคือ อนันต์ ชูโชติ จนมาถึงปัจจุบันในยุค ประทีป เพ็งตะโก ซึ่งออกมาเปิดเผยเมื่อในเดือนสิงหาคม 2563 ว่า หลังจากกรมศิลปากรได้ประสานงานอย่างเป็นทางการผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations) และส่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เป็นต้น เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในไทย และได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ล่าสุด ได้รับแจ้งข้อมูลว่า ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ และทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยอมรับว่าทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย โดยมีการนำทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไปจัดเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย

ภาพถ่ายทับหลังปราสาทเขาโล้นในเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ชอง มูน ลี สหรัฐ ที่ภาคประชาชนค้นเจอ นำไปสู่การทวงคืน

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ ภาคประชาชนทำงานหนัก ทั้งในด้านข้อมูล การขับเคลื่อน เรียกร้อง ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการโดยตั้ง ‘คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ’ เพื่อทวงคืนโบราณวัตถุของไทยซึ่งมาๆ ไปๆ รวบรวมส่งโพยได้ถึง 133 ชิ้น

ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2559 ‘ชาวเน็ต’ ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ พบว่ามีประติมากรรมสัมฤทธิ์จากปราสาทปลายบัด 2 อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ถูกนำออกขายโดยบริษัทประมูลระดับโลกตั้งแต่ต้นปี 2559 ก่อให้เกิดกระแสการตั้งคำถามถึงจำนวนโบราณวัตถุของไทยที่ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศ โดยนักวิชาการเชื่อว่าเฉพาะจากแหล่งที่ปราสาทปลายบัด มีมากถึง 300 ชิ้น จึงมีการตั้งกลุ่ม “สำนึก 300 องค์” เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการทวงคืนโบราณวัตถุล้ำค่าของไทยจากพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ

พระอวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่ The Metropolitan Museum นิวยอร์ค โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)

ต่อมา ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ นักวิจัยประจำแคโรไลนา เอเชีย เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยภาพโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ และงดงาม อายุราว 1,300 ปี ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน รัฐนิวยอร์ก ในแผ่นป้ายจัดแสดงระบุชัดเจนว่าโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ชิ้นนี้มาจากภาคอีสานของไทย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีโบราณวัตถุไทยอีกหลายชิ้นในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้นักวิชาการไทยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ขอให้เร่งประสานทวงคืนโบราณวัตถุเหล่านี้

ดร. รังสิมา กุลพัฒน์

หลังจากนั้น ยังพบโบราณวัตถุสำคัญเพิ่มอีกหลายชิ้นในพิพิธภัณฑ์ชอง มุน ลี เมืองซานฟรานซิสโก อาทิ เสาประดับกรอบประตูรูปสตรี และม้าหินทราย จากปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ทับหลังปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น ทำให้นักวิชาการจำนวนมากเข้าเป็นแนวร่วม ร่วมกันนำเสนอแนวทางการทวงคืน และ “ทวงถาม” ความคืบหน้าจากภาครัฐตลอดมา อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนาโดยมีนักกฎหมาย นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักโบราณคดี ร่วมถกปัญหาและหาทางออก

ต้นเดือนมีนาคม 2559 หรือราว 2 ปีเศษ นับแต่เกิดประเด็นทวงคืนโพธิสัตว์ประโคนชัย อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น ประกาศตั้งทีมงานเพื่อหาช่องทางในการทวงคืนรูปปั้นพระโพธิสัตว์ รวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆ ที่เป็นของไทยด้วย โดยมอบหมายให้ สหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน พร้อมประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือในการทำหนังสือทวงคืนรวมถึงช่องทางอื่นๆ ด้วย

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ก้าวแรก ‘ภาคประชาชน’ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นฝ่ายค้นหาและเผยแพร่บทความทางวิชาการ ภาพถ่ายเก่า รวมถึงลงพื้นที่ยังหมู่บ้านที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาความจริงในเหตุการณ์ลักลอบขุดเมื่อ พ.ศ.2507 อีกทั้งพยายามติดต่อผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติในขบวนการค้าโบราณวัตถุในอดีตที่ยังมีชีวิตอยู่ แปลบทความภาษาต่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นกรณีศึกษา และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชน สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2560 วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น เห็นชอบให้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุอย่างเป็นระบบ โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เร่งประสานไปยังสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ช่วยตรวจสอบโบราณวัตถุไทยในต่างแดน

ทับหลัง‘หนองหงส์-เขาโล้น’ได้กลับไทย ต้องให้เครดิต‘ภาคประชาชน’
ทับหลังหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์

ต่อมาเดือนมิถุนายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ” เพื่อทวงคืนโบราณวัตถุของไทย 133 ชิ้น โดยกำหนดมาตรการตรวจสอบ ประสานความร่วมมือ ทั้งวิธีการการทูตและกฎหมาย

และเป็นที่ทราบกันมาตั้งแต่ช่วงนั้นแล้วว่า มีแนวโน้มจะได้โบราณวัตถุสำคัญคืน 2 ชิ้นอย่างแน่นอน ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จนเป็นจริงในวันนี้

ยังไม่นับรวมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐ ซึ่งสำนักงานสืบสวนความมั่นคงของสหรัฐ ประสานให้กรมศิลปากรตรวจสอบ โดยได้ข้อสรุปว่าเป็นวัตถุโบราณของไทยถึง 13 รายการ

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสทวงคืนฯ ยังทำให้เกิดการบูรณะปราสาทเขาโล้น โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้รื้อสิ่งแปลกปลอมออกจากพื้นที่ รวมถึงขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมที่ปราสาทปลายบัด อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ อันเป็นต้นทุนทางสังคม ซึ่งทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง และส่งผลต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ คนในท้องถิ่นเกิดสำนึกรัก และหวงแหนมรดกบรรพชน โดยเข้ามามีส่วนในกระบวนการอนุรักษ์และปกป้อง ชาวบ้านเรียนรู้ถึง “สิทธิทางวัฒนธรรม” (Cultural Rights) ของตน ซึ่งปัจจุบันเป็นกระแสที่ทั่วโลกตื่นตัว สะท้อนผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำสติ๊กเกอร์ และสวมเสื้อยืดสกรีนภาพโพธิสัตว์ การติดป้าย “ทวงคืน” หน้าร้านค้า มีการยอมรับ และมองเห็นความผิดพลาดในอดีตของผู้อยู่ในเหตุการณ์ลักลอบขุด ส่วนคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ ส่วนหนึ่งตระหนัก และให้ความสนใจไปชมโบราณวัตถุของไทยที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น

ป้ายทวงคืนสมบัติชาติ และชวนร่วมพิธีบวงสรวงปราสาทหนองหงส์
23 สิงหาคม 2559
การบูรณะปราสาทเขาโล้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งชาวบ้านให้ความสนใจมากหลังมีข่าวทวงคืนทับหลัง

หน่วยงานวัฒนธรรมในภาคอีสานและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ออกมาเผยแพร่ความรู้ และศึกษาเพิ่มเติม ก่อเกิดพลวัตทางสังคมในภาคส่วนต่างๆ มากมาย ช่วยให้คนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักวิจัยในต่างแดน ร่วมแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งผลให้เรื่องราวของศิลปะประโคนชัย รวมถึง “วัฒนธรรมโบราณในลุ่มน้ำมูล” เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเดิมเป็นที่รับรู้ในแวดวงวิชาการเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามคือ ประเด็นทางกฎหมายระหว่างประเทศถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนใหม่จากกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า-ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม (ยูเนสโก 1970) ซึ่งไทยยังไม่ได้ลงนาม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภริยา ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการคนสำคัญในภารกิจทวงคืน ในฐานะผู้แปลเอกสารภาษาอังกฤษ เปิดเผยข้อมูลที่เน้นย้ำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานที่ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญยิ่ง นับแต่การค้นพบภาพในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ จนรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้กรมศิลปากร และในที่สุดรัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทวงคืนโบราณวัตถุ จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา โดยตรง เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ “รับซื้อของโจร” แต่การสืบสวนก็ไม่ง่าย เพราะต้องการหลักฐานประเภทรูปถ่าย ที่ยืนยันว่าโบราณวัตถุเคยอยู่ในประเทศไทยมาก่อนจริง รวมทั้งหลักฐานที่เป็นการวิเคราะห์ว่าหลักฐานชิ้นนั้นๆ เป็นโบราณวัตถุแบบเขมรที่พบในประเทศไทย ไม่ใช่ของกัมพูชา

4 มีนาคม 2559 ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ แกนนำภาคประชาชน
ทวงคืนสมบัติชาติ สัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ลักลอบขุดปราสาทปลายบัด
บุรีรัมย์ 50 ปีก่อน

ทนงศักดิ์ เป็นผู้ไปสืบค้นภาพถ่ายและข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง กระทั่งได้ข้อมูลจากบทความหลายชิ้นของ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่เคยเขียนตีพิมพ์ลงวารสารศิลปากร อีกทั้งรูปถ่ายในคอลเล็กชั่นส่วนตัวของ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ และ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ปูชนียบุคคลยุคบุกเบิกของวงการโบราณคดี โดยเดินทางไปขอค้นภาพจากบุตรชาย คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม โดยตรง

การได้ทับหลังมรดกชาติคืนมาในวันนี้ จึงมีประชาชนอยู่บนไทม์ไลน์อย่างเด่นชัด ไม่ใช่เพียงการมีส่วนร่วม หากแต่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างไม่อาจหาเหตุผลใดมาหักล้าง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image