ก่อนจะสิ้น‘พฤษภา’ หลากปรากฏการณ์ 7 ปีรัฐประหาร วันที่ประชาชน‘ทวงสัญญา’

ก่อนผ่านพ้นพฤษภาคม 2564 มีหลายสิ่งที่ตอกย้ำให้เดือนนี้เป็นที่จดจ้อง จากนานาปรากฏการณ์พาดผ่านหน้าสื่อ โดยเฉพาะวาระการเมืองภาคประชาชน

ไม่ว่าจะ งานรำลึกเหตุการณ์นองเลือด ปี 2535, พฤษภาคม 2553 ของคนเสื้อแดง กระทั่งย้อนผลพวง หลัง 22 พฤษภาคม 2557 และการออกมาต้านรัฐประหารที่ก่อการโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.)

คือเดือนที่แทบไม่มีจังหวะกะพริบตา เมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปจนถึงผู้ใหญ่ในสังคมออกมาขอโทษขอโพย ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งนำพาบ้านเมืองสู่หายนะ

มหา’ลัยต้องรับใช้ประชาชน

Advertisement

ทวนอดีต ย้อน‘ขอโทษ’ร่วมขบวน กปปส.

“เราชาวจุฬาฯที่ออกมาร่วมชุมนุมไม่ได้ใช้ชื่อมหาวิทยาลัย ไม่มีองค์การบริหารหรือสโมสรนิสิตจุฬาฯมาร่วมกับเรา แต่เราคือนิสิตเก่าจุฬาฯที่รักชาติ เราทำแต่กรรมดี เราไม่ได้ทำอะไรผิด ที่จะต้องขอโทษ และไม่ต้องให้ใครมาขอโทษ มาสำนึกผิดอะไรแทนเรา ไม่มีใครมีสิทธิมาขอโทษแทนเรา” คือถ้อยความส่วนหนึ่งจากสเตตัสของอดีตรุ่นพี่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยร่วมขบวน กปปส.

ทำเอา “คณะจุฬาฯ” กลุ่มนิสิตที่เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง รู้สึก “อยากจะล้วงคออ้วก” พร้อมแนะให้เสิร์ชยูทูบว่า ‘จุฬาฯ กปปส.’ จะพบ ชาวอักษรศาสตร์ร่วมใจอ่านแถลงการณ์แปดล้านภาษา เอาธงจุฬาฯไป CU Band ขึ้นโชว์บนเวที

Advertisement

แม้รุ่นน้องจุฬาฯจะมีความเห็นเช่นนี้ แต่ สุเทพ เทือกสุบรรณ หัวขบวน กปปส. ก็ยังแชร์โพสต์ของรุ่นพี่จุฬาฯรายดังกล่าว อันมีถ้อยคำส่วนหนึ่งว่า “ไม่ขอโทษ”

คณะจุฬาฯ จึงฟาดกลับ “สุเทพ” นิ่มๆ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นไงบ้าง…”

คือส่วนหนึ่งของปฐมบท ก่อนอีกหลายมหาวิทยาลัยออกมาเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน

แม้แต่ “ม.เชียงใหม่” ยังไม่พลาด “พรรคอนุรักษนิยมพัฒนา” ชี้ 7 ปี ประชาชนจำนวนมากตาสว่าง จากการเห็นผิดเป็นชอบ จากผลลัพธ์ของการกดขี่ และละโมบโลภมาก พร้อมขอโทษประชาชนไทยที่เคยมีศิษย์เก่าบ่อนทำลายชาติ ใจความตอนหนึ่งว่า

‘รู้สึกละอายเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำของรุ่นพี่ ที่บางคนยังลอยหน้าลอยตา บางคนยังอยู่ดีกินดีมีตำแหน่งบริหารระดับสูงภายในมหาวิทยาลัย ไม่เคยรู้สำนึกและออกมาขอโทษ’

สภาผู้แทนนิสิต “ม.เกษตรศาสตร์” บางเขน ก็ออกถ้อยแถลงการณ์ขอโทษสังคม ที่เคยร่วมเดินขบวน ปราศรัย ส่งผลเสียหายแก่ประเทศนานัปการ นำไปสู่การล้มการเลือกตั้ง และรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ ขัดจุดยืนเคียงข้างประชาชน ตามคติพจน์ที่ว่า “ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์คือภาษีของประชาชน”

ขณะที่ อดีตแนวร่วม KMITL ร่วมใจปฏิรูปประเทศไทย เผยความรู้สึก เศร้า เสียใจ สำนึกผิด ที่เป็นส่วนหนึ่งวิกฤตการณ์การเมืองอันเลวร้าย ไม่มีคำแก้ตัวใด

“ตอนนั้นเราโง่เขลาและถูกหลอก เป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนพวกเราเรื่อยมา ขอให้พี่น้อง KMITL และประชาชนชาวไทยโปรดให้อภัยพวกเราด้วย”

กระนั้น “ปิยรัฐ จงเทพ” หรือโต้โต้ หัวหน้าการ์ดวีโว่ ออกมาย้อนอดีตผ่านโซเชียล เล่าเหตุการณ์ในห้องบรรยายของคณะวิศวะ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าแห่งหนึ่ง

8 มกราคม 2557 มีการปลุกระดมนักศึกษาโดยอาจารย์ท่านหนึ่งให้ทุกคนเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ กปปส.

“สรุปฟังได้ไม่ได้นานก็เลยอดที่จะลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นไม่ได้ จึงโต้แย้งกับอาจารย์คนนั้นอย่างดุเดือด” โตโต้เล่าผ่านตัวอักษรบนแฟนเพจ เพื่อย้ำว่า เตือนแล้วนะ

พร้อมทิ้งท้ายถึงคำขอโทษดังกล่าวว่า จะ “รับฟัง” ส่วนจะให้อภัยหรือไม่ ถามสังคมและผู้สูญเสียจากการกระทำนั้นดู

คาใจ ไร้เงา‘สำนึกพลาด’จากคนแวดวงศิลป์

ตัดภาพมาที่ มหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำของไทย อย่าง ศิลปากร ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน “สโมสร น.ศ.ศิลปากร” ออกแถลงการณ์ขอโทษสังคม ปมมหาวิทยาลัยเคยหนุน กปปส.ในทันที หลังมีการเผยแพร่ภาพบันทึกข้อความ เรื่อง ร่างแถลงการณ์คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และภาพการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมของบุคลากรมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย, ศิลปินแห่งชาติ, อดีตคณบดีคณะมัณฑณศิลป์-คณะจิตรกรรมฯ ไปจนถึงอดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ

พร้อมเรียกร้องให้บุคคลดังกล่าวยอมรับ และจดจำการกระทำ หันมาร่วมกันสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เชิดชูสิทธิ-เสรีภาพอย่างเท่าเทียม

เมื่อตัวแทนจากหลายมหาวิทยาลัยออกมาให้ความเห็นเช่นนั้น นักเขียนรุ่นใหญ่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ก็โพสต์ถามบ้าง ไม่ทราบว่า มี ‘แวดวงกวี-ศิลปิน’ คนไหนแสดงความสำนึก ที่ร่วม ‘เป่านกหวีด’ บ้าง?
ก่อนลั่น

“คนเขียนหนังสือบ้านเรานี่ ทำไมความจำช่างแสนสั้นจิงๆ เบยยย หรือว่าพวกเขาเข้าเส้นเลือดไปหมดแว้วว หรือว่าพวกเขาไม่รู้จริงๆ ว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง/วัฒนธรรม ที่เรียกว่า ‘สารตั้งต้น’ ที่ทำให้บ้านเมืองอับจนในวันนี้

ผมนี่แย่จังเนอะ ทำตัวไม่สมกับเป็นศิลปินแห่งชาติ เรื่องที่ทำก็ไม่เห็นพลาดอะไร ไป ‘สำนึกพลาด’ ทำไม น่าจะอยู่เฉยๆ เงียบๆ ไม่ต้องรู้สึกพลาดอะไรทั้งนั้น ทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ครองอำนาจ 7 ปี ถอยหลัง 70 ปี

“7 ปี รัฐบาลประยุทธ์ กู้ 4.9 ล้านล้านบาท

7 ปี หนี้คนไทย 8.47 ล้านล้านบาท

7 ปี คนจนเพิ่มขึ้น 6.7 ล้านคน

7 ปี ความเหลื่อมล้ำ อันดับ 1 ของโลก

7 ปี ประเทศถอยหลังไป 70 ปี”

คือวลีที่ “กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า” จารึกไว้บนป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ที่ติดข้างขบวนรถกระบะ-มอ’ไซค์ แฉ 7 ปี ที่มีการรัฐประหาร และผลงานที่ผ่านมา แห่ไปรอบกรุงเทพมหานคร

“เราจะทำตามสัญญา” สนั่น พร้อมใบปลิวที่โปรยลงระหว่างทาง

สะท้อนความชอกช้ำของผู้รักประชาธิปไตย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เข้ายึดอำนาจ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จนวนมาครบปีที่ 7

ก่อเกิดเป็นเสียงแซวจากชาวเน็ตผ่านการติดแฮชแท็ก #นานโน๊ะ บนทวิตเตอร์ ยั่วล้อคำกล่าวของ “แนนโน๊ะ” ตัวละครเอกในซีรีส์ “เด็กใหม่” ผู้เปิดโปงคำโกหกและการกระทำอันเลวร้ายของครูและนักเรียนในโรงเรียน ที่เรื่องราวเชื่อมร้อยกับข่าวฉาวคาวเลือดในบ้านเมืองที่เคยขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์มาแล้วในอดีต ซึ่งเปิดตัวเมื่อ “7 พฤษภาคม” วันและเดือน ที่ชวนคิดว่ามีนัยยะอะไรหรือไม่

จากกองเชียร์แน่นในช่วงแรกที่ยึดอำนาจ ล่วงเลยไปอีกนิด เมื่อมีการต่อต้าน ก็เข้าสู่โหมดปรับทัศนคติ

นานเข้ากลายเป็นเสียงก่นด่าและพิธีสาปแช่ง เมื่อปรับความคิดไม่ได้ผล จึงใช้กลของกฎหมายเข้าทำลายความเห็นต่างของประชาชนที่หวังทวงอำนาจกลับคืน

จาก ‘รัก’ เป็น ‘ชัง’ เพราะคำสัญญาที่ให้ไว้ ผ่านมาแล้ว 7 ปี มีอะไรดีขึ้นบ้าง?

นับถอยหลังสู่รัฐล้มเหลว 7 ปี ‘นานโน๊ะ’

เริ่มที่ “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” หรือ iLaw พาย้อนตลอด 7 ปี คสช.ในมุม “กฎหมาย” ที่มีอยู่ถูกนำมาใช้กับผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากผู้ปกครอง จนถูกเรียกขานว่ากลายเป็น “เครื่องมือ” สำหรับ “ปิดปาก”? ฝ่ายตรงข้าม

จากบันทึกพบว่า ยิ่งอยู่นาน ผู้ต้องคดีที่เพิ่มขึ้น จำนวนกฎหมาย ก็กลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นที่เห็นในปัจจุบัน อาทิ

ความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก มาตรา 110 112 116, ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มาตรา 136, ต่อสู้ขัดขวาง มาตรา 138, แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ มาตรา 208, อั้งยี่ มาตรา 209, ซ่องโจร มาตรา 210, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย มาตรา 215, มั่วสุมไม่ยอมเลิก มาตรา 216, วางเพลิงเผาทรัพย์ มาตรา 217, ทำร้ายร่างกาย มาตรา 295, ลักทรัพย์ มาตรา 334, ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ มาตรา 360, บุกรุกสถานที่ราชการ มาตรา 364

พกพาอาวุธ มาตรา 371, ปล่อยข่าวลือ มาตรา 384, กีดขวางทางสาธารณะ มาตรา 385, ทำร้ายผู้อื่น มาตรา 391

ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท

ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท มาตรา 326, หมิ่นประมาทคนตาย มาตรา 327, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา 32, ดูหมิ่นซึ่งหน้า มาตรา 393, ก่อความเดือดร้อนรำคาญ มาตรา 397

ไปจนถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, ข้อหาละเมิดอำนาจศาล มาตรา 31, ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน มาตรา 139, ซ่อนเร้นพยานหลักฐานมาตรา 142, ให้ที่พักพิง มาตรา 189, หลบหนีระหว่างการคุมตัว มาตรา 190

ดูหมิ่นศาล มาตรา 198, ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368

ยังมีความผิดที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุมโควิด-19 ทั้งข้อกำหนด และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ความผิดที่เกี่ยวกับสื่อ

ย้อนไปถึง ประกาศ คสช., ความผิดเกี่ยวกับการไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และข้อหาตามกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่ได้มีเจตนารมณ์ใช้จำกัดการแสดงออก อย่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง

ด้าน ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวชวนประชาชนที่เคยเดินตามนายสุเทพ ภายใต้คำขวัญ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ให้ย้อนพิจารณาว่า นี่หรือคือผลพวงที่ดีจากเหตุการณ์ไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ หรือ?

“มีรองนายกรัฐมนตรีที่มีนาฬิกา 22 เรือน ป.ป.ช.ไม่กล้าแม้แต่เรียกสอบ สุดท้ายบอกยืมเพื่อนมา หากสมมุติว่าเรื่องนี้เกิดกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนที่เรียกร้องให้เกิดรัฐประหารจะแค่ ‘ยิ้มแหะๆ’ แล้วรับได้หรือไม่ ไหนจะประเด็นความสงสัยในองค์กรอิสระ จริยธรรมนักการเมือง

“ถามจริงๆ ว่าท่านที่เหนื่อยในการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถมขวางเลือกตั้ง นาฬิกายืมเพื่อนคือบรรทัดฐานที่ดีขึ้นในการคาดหวังหรือเปล่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องวัคซีน วอล์กอิน และออนไซต์ ทำประชาชนงงทั้งประเทศ ในภูมิภาค ไทยอยู่อันดับ 6 ในการบริหารจัดการวัคซีน แย่กว่ามาเลเซียและกัมพูชาเสียอีก ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ เพราะคนหมดหวัง หมอยังยอมไปเป็นพยาบาล ครูยังยอมไปอบรมเป็นคนดูแลผู้สูงอายุในอเมริกา ปรากฏการณ์นี้ในไทย คือภาพสะท้อนความสิ้นหวังของประเทศ” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าว

ขณะที่ กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า เปิดรายงานสถานะหนี้สาธารณะของ (สบน.) ที่คงค้าง 8,472,186.98 ล้านบาท กล่าวได้ว่า การบริหาร 7 ปี สร้างหนี้คนไทยต่อหัว (GDP) ไปแล้วถึง 54.28%

ก่อนพามองอนาคตหลังรัฐบาลประยุทธ์ 7 ปี ที่ “กู้เงินทะลุฟ้า” 4.7 ล้านล้านบาท เพื่อชดเชยงบฯมหาศาล อันขาดดุลนับแต่หลังรัฐประหารผ่านพ้นแค่ปีแรก

ด้วยเหตุนี้ วลีฮอตจึงสะท้อนชัด “ผนงรจตกม”

ตัดภาพมาที่ “ราษฎร” เมื่อรัฐบาลพลิกวิกฤตเป็นวินาศ ก็ขอนับถอยหลังสู่ ‘รัฐล้มเหลว’

โดยฉายภาพความน่าอัศจรรย์ ที่ทำให้ทุกสิ่งโกลาหล ประชาชนตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เมื่อต้องเผชิญความไม่ปกติ โครงสร้างทางสังคม และการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ซ้ำเติมให้ปัญหาหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก มิหนำซ้ำ ยังคงไร้ความสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐอื่น

“แม้ทุกวันนี้ กลไกรัฐข้าราชการประจำยังคงดำเนินไปได้อยู่ แต่ก็ดูเหมือนเรากำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นรัฐล้มเหลวในอีก 4…3…2…1…”

การเปิดประเทศในระยะเวลาอันใกล้ที่ความหวังนี้ช่างดูริบหรี่ ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพังพินาศ คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงเงินเยียวยา กิจการขนาดเล็กเอื้อมไม่ถึงเงินกู้ที่เหมาะสม

คือผลพวงของเศรษฐกิจที่ “ราษฎร” ชี้ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพังทลาย กลายเป็นติดหล่มความเหลื่อมล้ำรุนแรงจนไม่อาจเดินต่อ

ก่อนจะสายเกินแก้

ชวนรื้อระบอบ ฝากข้อคิด‘ข้าราชการ’

ถึงเวลาที่ภาคประชาสังคมต้องมุ่งจริงจังกับแคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” หวังไล่นายกฯและพวกพ้อง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสิ้น

อย่าง “คณะอุบลปลดแอก” นำแผ่นพับ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ สห.ที่ประจำการบริเวณหน้าค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 22 อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ชวนร่วมแสดงพลังว่า ไม่เอารัฐประหารอีก และ 7 ปี ไม่ทนแล้ว แนบเหตุผลที่ต้องรื้อระบอบประยุทธ์ด้วยคำถาม “7 ปีที่ผ่านมา ระบอบนี้ให้อะไรแก่ประชาชน แก่ข้าราชการทุกท่าน?”

“การรัฐประหารตลอดระยะเวลา 7 ปี ท่านบอกว่าเข้ามารักษาความสงบ แต่วันนี้ท่านกลับทำให้เกิดความแตกแยก เกิดปัญหากับประเทศนี้มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ใช้งบประมาณมาก กู้เพื่อมาบริหารมากกว่ารัฐบาลที่เคยมีมา”

“ท่านข้าราชการทั้งหลาย ท่านรู้เห็น เราคือผู้น้อย นั่นคือนายกรัฐมนตรี ที่มีที่มาไม่ชอบ ทำรัฐประหารเข้ามา คือนายกฯที่สร้างหนี้ตลอด 7 ปี พอเถอะ” ประชาชนชายกล่าว

ด้าน “วุฒิ” เยาวชนชาย กล่าวเตือนใจข้าราชการไว้ว่า “อย่าทำหูทวนลม โปรดรับฟังคนที่จ่ายภาษีและเงินเดือนให้พวกคุณ ว่าเขาสะท้อนอะไร เดือดร้อนอะไร เพราะเมื่อไหร่ที่ประเทศฉิบหาย เมื่อนั้นเงินเดือนคุณไม่ได้แน่นอน เหมือนหลายประเทศที่ล้มละลาย ประชาชนย้ายออกนอกประเทศ แล้วรัฐไม่สามารถหารายได้ เก็บภาษีมาจ่ายให้ราชการได้ จึงมีการค้างชำระเป็นเดือน เป็นปี พวกคุณอยากอยู่แบบนั้นหรือ”

ย้อนไปก่อนหน้ารัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผบ.ทบ. อารมณ์เสีย หงุดหงิด หลังสื่อเสนอข่าวว่า สัญญานายกฯ ไม่ปฏิวัติ

“เขียนอยู่ได้ ไร้สาระสิ้นดี เขียนอยู่ได้ หา? ใครจะปฏิวัติ ใครจะรัฐประหาร

เขียนอยู่ได้ใครสัญญา ไม่สัญญา เขียนทำไม”

หรือนี่คือผู้มาก่อนกาล ที่ประกาศชัดไว้ก่อนหน้าแล้วว่า

“คำสัญญา” ไม่เคยมีอยู่จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image