อาศรมมิวสิก : ดนตรีประกอบแอนิเมชั่น

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับทุนสนับสนุนให้ทำงานจาก “สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดยมีโครงการนำเพลงพื้นบ้านมาสร้างสรรค์และพัฒนามูลค่าใหม่ “เพลงพื้นบ้านและท้องถิ่นไทย บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่น เพื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทย” ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา

เรื่องของการ์ตูนแอนิเมชั่น เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้การ์ตูนที่เข้ามาจะอยู่ในโทรทัศน์ไทยนานแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการซื้อความสำเร็จเข้ามาให้เด็กไทยได้ดูผ่านโทรทัศน์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นหรือการ์ตูนฝรั่ง ต่อมาก็เริ่มมีการ์ตูนไทยเกิดมากขึ้นในระยะช่วง 10 ปีหลัง อาทิ เรื่องก้านกล้วย สุดสาคร ซึ่งก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนไทย การลงทุนสูง ตลาดแคบ ยังต้องพัฒนาศักยภาพและพัฒนาคุณภาพ จึงทำให้ไปได้ไม่ไกล เรื่องของ “การ์ตูน” หมายถึงเรื่องที่ไม่จริงจัง เป็นเรื่องที่ทำกันเล่นๆ เสร็จแล้วก็ทอดทิ้งไป ไม่มีค่า ไม่มีราคา และไม่มีความหมาย เด็กไทยจึงดูการ์ตูนญี่ปุ่นและการ์ตูนฝรั่ง

วิชาการ์ตูนไม่ได้มีสอนในสถาบันการศึกษาไทย ก็มีเพียงคนที่รักและชอบการ์ตูนเท่านั้น ชอบก็เขียน อยากเรียนก็ต้องค้นหาประสบการณ์เอง ต้องค้นหาตัวเอง ตามหาครู หาอาชีพทำโดยที่ยังไม่ชำนาญ หากจะมีใครประกอบอาชีพทำการ์ตูน ปั้นการ์ตูน เขียนการ์ตูน ก็ไม่มีใครจ้างเป็นเรื่องเป็นราวนัก นอกจากจะมีรุ่นครู อาทิ ชัย ราชวัตร อรุณ วัชระสวัสดิ์ ชูชาติ หมื่นอินกุล ประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งมีภารกิจทำหน้าที่เขียนการ์ตูนให้หนังสือพิมพ์ ได้รับค่าจ้างอย่างมืออาชีพ แต่ก็ไม่มีพื้นที่ให้คนอื่นๆ ที่รักชอบการ์ตูนได้มีงานทำ

อาชีพเขียนการ์ตูน สร้างการ์ตูน ปั้นการ์ตูน หรือทำภาพยนตร์การ์ตูน เป็นอาชีพที่ไม่มีใครจ้าง การเกิดเป็นอาชีพการ์ตูนต้องอาศัยผู้จ้างงานให้นักการ์ตูนได้สร้างผลงาน เนื่องจากโครงสร้างของรัฐไทยได้ยึดโอกาส ยึดพื้นที่ ยึดผลประโยชน์ ยึดรายได้ ยึดความคิดสร้างสรรค์ และยึดศิลปวัฒนธรรมรวบไปไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นสำนักงานของรัฐ (กระทรวงวัฒนธรรม) รัฐจึงเป็นผู้เดียวที่มีงบประมาณด้านสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม

Advertisement

เมื่อก่อนยังมีบ้านเศรษฐีในชุมชน มีพื้นที่วัดที่ชาวบ้านสนับสนุน ซึ่งอยู่ในชุมชนนั้นๆ ก็มีศิลปินสามารถที่จะสร้างงานศิลปะได้ ทำให้ชุมชนยังพอมีกำลังใจ มีกำลังทรัพย์ มีงบประมาณที่จะทอดผ้าป่า ทอดกฐินสร้างวัด แล้วงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็ได้เข้าไปอยู่ในวัด สร้างศิลปะหล่อเลี้ยงพื้นที่ในชุมชน ทำให้มีอาชีพช่าง ได้ทำงาน มีผลงานหล่อเลี้ยงศิลปะในชุมชน

วันนี้เศรษฐีในชุมชนน้อยลง เงินของชุมชนถูกส่งเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมส่วนกลางในรูปแบบต่างๆ วัดในชุมชนก็ไม่มีกำลัง เพราะว่าชาวบ้านยากจน ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ไปทำมาหากินที่อื่น ทำให้ชุมชนอ่อนกำลังลง สรุปได้ว่า แหล่งทุนที่จะสนับสนุนให้ศิลปินได้สร้างงานศิลปะมีน้อยลงเต็มที สำหรับบริษัทองค์กรเอกชนที่มอบทุนสนับสนุนงานศิลปวัฒนธรรม ก็เป็นงานที่เอื้อต่อธุรกิจของบริษัทหรือองค์กรเท่านั้น ยิ่งเป็นศิลปินการ์ตูนรุ่นใหม่ด้วยแล้ว ก็หมดหนทางที่จะสร้างงานได้ เพราะไม่มีทุนสนับสนุน ไม่สามารถทำมาหากินเป็นอาชีพได้

มีคนรุ่นใหม่ที่ผู้รักและหลงใหลการ์ตูนก็อยากจะลองวิชา อยากสร้างงานการ์ตูนในรูปใหม่ มูลนิธิได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและรองรับ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ผู้รักและหลงใหลในการ์ตูน ได้มีโอกาสสร้างงาน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างงานการ์ตูนแอนิเมชั่น นำไปสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยในรูปแบบใหม่ขึ้น

Advertisement

การนำเอาวิญญาณเพลงพื้นบ้านจากท้องถิ่นไทยมาเรียบเรียงเสียงใหม่ บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา ใช้ประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่น ซึ่งเป็นโครงการที่เกื้อกูลกัน เจ้าของทุนได้ผลงานที่ต้องการ คนทำงานการ์ตูนได้สร้างการ์ตูนสมใจนึก อย่างน้อยก็เป็นพื้นที่เปิดตัวที่มีทุนสนับสนุนให้ลองวิชา นักดนตรีก็ได้นำเพลงพื้นบ้านมาพัฒนาเล่นกับวงออเคสตราและใช้ประกอบการ์ตูน ต่างก็สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์

เมื่อโรคโควิด-19 ระบาดหนัก ได้ส่งผล กระทบต่อสังคมไทย โดยเฉพาะศิลปะด้านการแสดง พื้นที่ถูกปิดตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา การบันทึกเสียงของวงไทยซิมโฟนีออเคสตราทำยากขึ้น เพราะวงดนตรีมีนักดนตรีเกินกว่าที่รัฐกำหนดให้ (ไม่เกิน 25 คน) การบันทึกเสียงก็ต้องเลื่อนไปเรื่อย รอเวลาที่รัฐจะปลดการควบคุม แต่ก็ยังมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มใหม่ในแต่ละวันสูง (15,942 คน) มีผู้เสียชีวิตในแต่ละวันสูง (257 คน) โดยดูจากตัวเลขของรัฐ (ศบค.) ผู้ติดเชื้อในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2564 ทำให้การบันทึกเสียงและนักดนตรีที่บันทึกเสียงรู้สึกเสียวสันหลังวาบ เพราะกลัวติดโรค

สิ่งที่ต้องดำเนินการใหม่ เรื่องแรกก็ต้องลดจำนวนนักดนตรีให้อยู่ในข้อกำหนดของรัฐ (ไม่เกิน 25 คน) เรื่องที่สอง ต้องบันทึกเสียงเมื่อรัฐเปิดช่อง ทั้งนี้ เพราะว่าได้ทำสัญญาเอาไว้ หากผิดสัญญา นอกจากจะเสียชื่อเสียงแล้ว การทำงานก็จะส่งผลเสียต่อไปในอนาคตด้วย

สถานการณ์บังคับก็ต้องหาวิธีการใหม่ นักดนตรีพื้นบ้านที่อยู่ต่างจังหวัด ที่อยู่ห่างไกล เช่น เมืองน่าน ปัตตานี ร้อยเอ็ด นอกจากจะเดินทางยากแล้ว ต้องฉีดวัคซีน ต้องตรวจเชื้อ มีความกลัวติดเชื้อโรคโควิด กลัวการกักตัวนานและเสียเวลาชีวิต จึงต้องใช้นวัตกรรมใหม่ทดแทน

นวัตกรรมใหม่ของการบันทึกเสียงของวงไทยซิมโฟนีออเคสตราร่วมกับนักดนตรีพื้นบ้าน โดยเดินข้ามข้อจำกัดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับการทำงานครั้งนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการบันทึกเสียง วิธีการก็คือ ส่งเพลงที่ทำเป็นเสียงต้นแบบ (ด้วยเสียงไฟฟ้า) ให้แก่นักดนตรีพื้นบ้านได้ฝึกฟัง แล้วจึงให้นักดนตรีพื้นบ้านฝึกซ้อมและเล่นตามเสียงต้นแบบจนคล่องแคล่ว จึงบันทึกด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ด้วยฝีมือของนักดนตรีจริง จะบันทึกจากที่บ้านหรือบันทึกจากห้องบันทึกเสียงในท้องถิ่นก็ได้ แล้วส่งเสียงที่เล่นเอามาผสมกับเสียงของวงออเคสตรา

แต่ก่อนการบันทึกเสียงจะมีปัญหาเรื่องการตั้งเสียงของเครื่องดนตรีว่าตั้งเสียงไม่เท่ากัน ระหว่างเครื่องดนตรีพื้นบ้านกับเครื่องดนตรีสากล ผู้รู้ทั้งหลายต่างก็นำทฤษฎีดนตรีมาเถียงกัน จนไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ แต่วิธีการใหม่นี้ เป็นการทำงานโดยลัดขั้นตอน คือส่งเพลงให้นักดนตรีพื้นบ้านที่มีความสามารถสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ท่านปรับเสียงเครื่องดนตรีของตัวท่านให้เข้ากับเสียงออเคสตรา (ที่ได้ยิน)

เมื่อเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านตามเสียงที่ได้ยินให้ลงตัว ซึ่งนักดนตรีพื้นบ้านนั้นเก่งและปรับเสียงให้เข้ากันได้ เป็นวิธีที่ทำงานได้ง่ายและจัดการได้สำเร็จ เสียงดนตรีที่ออกมาก็ลงตัวดี เป็นเสียงสะล้อห่อด้วยวงซิมโฟนี หรือเอาวงออเคสตราห่อเสียงแคน การใช้กลองยาว กลองรำมะนาประกอบจังหวะ เป็นการเสนอกลิ่นของท้องถิ่นผ่านเสียงเพลง สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของท้องถิ่นก็คือ “เสียงดนตรี”

สำหรับยุคโควิด ยังมีวิธีการและขั้นตอนในการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีกก็คือ ส่งเสียงที่ทำสำเร็จแล้วไปที่โปรแกรม (E-Mastering) ออนไลน์ เพื่อผสมเสียงให้ใหม่ ซ่อมเสียงที่บอด เพิ่มเสียงที่ไม่เต็มให้สมบูรณ์ เพื่อทำให้เพลงสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทใหม่ในช่วงโควิด ทำให้การบันทึกเสียงพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอีกไกล

เชื่อว่าอีกไม่นาน สิ่งที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ หรือสิ่งที่มนุษย์ต้องทำซ้ำๆ บริษัทที่สร้างโปรแกรม ซึ่งทำธุรกิจเรื่องการบันทึกเสียง จะต้องใช้เสียงของพวกเอไอ (Artificial Intelligence, A.I.) เข้ามาแทนที่ เสียงที่ได้จากเอไอก็อยู่ในรูปมาตรฐาน โดยเอาเสียงของวงดนตรีชั้นนำของโลกมาเป็นตัวต้นแบบ งานพื้นฐานแบบนี้ก็จะไม่เหลือให้มนุษย์ทำอีกต่อไป มนุษย์ก็ต้องหนีไปทำงานที่เรียกว่า “เฉพาะตัว” มนุษย์จึงจะอยู่รอดมีงานทำได้ หลังโควิดเราก็จะพบงานพื้นๆ งานโหลๆ งานที่มนุษย์ขี้เกียจทำซ้ำ มนุษย์ก็จะสร้างหุ่นยนต์มาทำงานให้แทน มนุษย์ในสังคมที่ด้อยพัฒนากว่าก็จะตกงานมากขึ้น ต่อไปนี้เป็นโลกของคนที่มีฝีมือ มนุษย์ที่มีฝีมือก็จะหนีงานพื้นๆ ไปทำงานที่ใช้ฝีมือเป็นพิเศษ เช่น การแสดงดนตรีสดก็ยังต้องใช้นักดนตรีที่มีฝีมือแสดง

สำหรับงานดนตรีประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่นคราวนี้ เน้นไปที่เครื่องสายก่อน ซึ่งสามารถบันทึกเสียงปิดปากเล่นได้ ส่วนนักดนตรีเครื่องเป่ายังอยู่ในภาวะอันตราย เพราะต้องพ่นน้ำลายออกมา นอกจากนี้ยังแบ่งนักดนตรีให้มีกลุ่มขนาดเล็กเพื่อจะได้บันทึกเสียงเป็นส่วนๆ ใช้ห้องบันทึกเสียงที่มูลนิธิ ผสมกับเสียงของนักดนตรีพื้นบ้านสด แล้วค่อยส่งไปทำต้นฉบับกับพวกเอไอ

เพลงพื้นบ้านที่บันทึกประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่น มีอยู่ 5 เพลงด้วยกัน ความยาวเพลงละ 5 นาที ซึ่งเป็นกลิ่นอายของเพลงในท้องถิ่นต่างๆ อาทิ กลิ่นของเพลงภาคเหนือ วิญญาณของเพลงภาคอีสาน หัวใจของเพลงภาคใต้ และรสนิยมของเพลงภาคกลาง เพลงสุดท้ายเป็นการเอาสำเนียงเพลงทั้ง 4 ภาค รวมเข้าด้วยกัน

เพลงประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่นเป็นงานทดลองประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ที่ใช้วิญญาณของเพลงท้องถิ่น เล่นโดยวงออเคสตรา แล้วใช้นักดนตรีชาวบ้านเล่นเพลงของท้องถิ่นเป็นเสียงนำ ประกอบการ์ตูนแอนิเมชั่น สุดท้ายก็ใช้เทคโนโลยีมาทำให้ทันสมัย เป็นดนตรีประดิษฐ์ในยุคโควิด

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image