“ซ้ายใหม่” ในสากล กับภาพยนตร์ไทยสะท้อนสังคม

“ซ้ายใหม่” ในสากล กับภาพยนตร์ไทยสะท้อนสังคม

ซ้ายใหม่” ในสากล กับภาพยนตร์ไทยสะท้อนสังคม

ศิริวุฒิ บุญชื่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

นอกจากจะเป็นการเผยให้เห็นความอำมหิตของรัฐไทยแล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในขณะนั้นด้วย กล่าวคือ ได้ทำให้ภาพยนตร์ไทยแนวสะท้อนสังคมของผู้กำกับกลุ่มที่มีแนวคิดแบบ “ซ้ายใหม่” เริ่มลดจำนวนการสร้าง และหายไปในที่สุด

  • ซ้ายใหม่” เริ่มในอเมริกา

ซ้ายใหม่” คือพลังหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น โดยแรกเริ่มความเคลื่อนไหวนี้ ถือกำเนิดขึ้นที่อเมริกาในทศวรรษ 1960 หนุ่มสาวอเมริกันในขณะนั้นต่างตระหนักว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่ก่อขึ้นโดยคนรุ่นก่อนหน้าทั้งสิ้น ดังบทสัมภาษณ์ของหนุ่มสาวอเมริกันในหนังสือพิมพ์ The New York Times (ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 1965 หน้า 26) ที่ว่า

คนรุ่นนี้ได้พบเจอกับความหน้าซื่อใจคดแบบที่ไม่เคยปรากฏในคนรุ่นอื่น คริสตจักรไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ในโทรทัศน์ก็มีแต่เรื่องโกหก ทั้งสังคมต่างก็เต็มไปด้วยคำลวง ผู้คนต่างถูกปลุกปั่น จริยธรรมที่พ่อแม่สอนสั่งไม่ได้ถูกนำมายึดถือปฏิบัติ เพราะเราต่างได้เห็นกันแล้วว่า พ่อแม่ไม่ได้ประพฤติตัวอย่างที่พวกเขาสอน เราเป็นคนรุ่นแรกที่เติบโตมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องการทำลายล้าง ในสถานการณ์อย่างนี้ คุณต้องก้าวออกไปและก่อตั้งศาสนาของคุณเอง…”

โดยนักข่าวได้ตามสัมภาษณ์วัยรุ่นหนุ่มสาวผู้ออกมาเคลื่อนไหวราว 70 คน แล้วได้ข้อสรุปว่า

Advertisement

พวกเขาเชื่อว่าทางออกเดียวที่จะหลุดพ้นไปจากปัญหาทั้งหลายของชาตินั้น ก็คือการสถาปนา ‘ซ้ายใหม่’ ขึ้น พวกเขาปฏิเสธฮีโร่ซ้ายเก่าทั้งหลายผู้ซึ่งถูกตีตราว่า ‘ทรยศ’ พวกเขาต้องการเขียนปรัชญาของตนเองขึ้น พวกเขาต้องการสร้างพันธมิตรระหว่างชนชาวอเมริกันผิวขาวนับล้าน กับนิโกรทั้งหลายผู้ไร้ซึ่งอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง…”

  • ต้นแบบ “พลังนักศึกษา”

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ตกผลึกเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ซ้ายใหม่” นี้ ต่างก็เป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวที่สั่งสมมาแล้วก่อนหน้า โดยในปี 1955 ที่เมืองมอนท์โกเมอรี สตรีผิวสีชื่อโรซ่า พาร์กส์ ได้ถูกตำรวจจับข้อหาขึ้นรถเมล์แล้วไม่ยอมนั่งด้านหลัง ซึ่งถูกจัดไว้เป็นที่สำหรับคนผิวสีโดยเฉพาะ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ จึงออกมาประท้วงอย่างสันติ แต่ในที่สุดการประท้วงดังกล่าวกลับได้ขยายเป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมกว่า 5 พันคน วีรกรรมของมาร์ติน ลูเธอร์ฯ นี้ ได้กลายเป็นแรงบันบาลใจให้วัยรุ่นหนุ่มสาวออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในปี 1960 ให้แก่พี่น้องชาวผิวสีที่กำลังได้รับการเบียดเบียนอยู่ที่เมืองกรีนส์โบโร โดยต่อมานักศึกษาหนุ่มสาวกลุ่มดังกล่าวได้รวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มที่ชื่อ The Student Nonviolent Coordinating Committee (S.N.C.C.) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่บนชั้นถัดขึ้นไปจากสำนักงานใหญ่ของมาร์ติน ลูเธอร์ฯ ในเมืองแอตแลนตา

S.N.C.C. นี้ ได้กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้เหล่านักศึกษาได้รวมตัวกันขึ้นเป็นขบวนการ และองค์กรต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากภายหลังจากนี้ ยกตัวอย่างเช่น ขบวนการนักศึกษา The Northern Student Movement ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 และขบวนการนักศึกษา Student for a Democratic Society (S.D.S.) ในปี 1962 เป็นต้น ซึ่งขบวนการ S.D.S. นี้ จะได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดโฉมหน้าของพลังนักศึกษาในยุคนี้ผ่านแถลงการณ์ของกลุ่มที่ชื่อ The Port Huron Statement ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าว จะได้ไปปรากฏตัวอยู่ในโลกภาษาไทยภายหลังจากนี้ผ่านการแปลโดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี

Advertisement
  • คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มเรียก “ซ้ายใหม่” ในไทย

ความเคลื่อนไหวของซ้ายใหม่ ได้ขยายตัวจากอเมริกาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยการเคลื่อนไหวของซ้ายใหม่ได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1968 (.. 2511) ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมเรียกร้องของคนหนุ่มสาวจากทั่วโลกได้เกิดขึ้นในปีนี้

ต่อมา เมื่อคึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางกลับจากต่างประเทศ เขาได้นำเข้าคำว่า “ซ้ายใหม่” สู่ประเทศไทยด้วยการเขียนเล่าประสบการณ์การประท้วงของคนหนุ่มสาว ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2513) โดยคึกฤทธิ์มองว่า “ซ้ายใหม่” คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คอยทำลายล้างสถาบันสำคัญๆ ของประเทศ

  • โต้ “คึกฤทธิ์” เรื่อง “ซ้ายใหม่”

คำอธิบายของคึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ถูกโจมตีผ่านข้อถกเถียงจากทั้ง อากร ฮุน ตระกูล, ไมตรี อึ๊งภากรณ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, และสุรพงษ์ ชัยนาม เป็นต้น

สำหรับสุชาติ สวัสดิ์ศรีนั้น เขาได้นำบางส่วนของ The Port Huron Statement ของกลุ่ม S.D.S. ดังที่ได้กล่าวถึงไว้ก่อนหน้า มาถ่ายทอดไว้ในโลกภาษาไทย โดยในงานแปลชิ้นดังกล่าว ได้มีเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า “…ปัญหาที่เรายกขึ้นมาถามก็คือ อะไรเล่าที่เป็นความสำคัญแท้จริง เราสามารถที่จะมีชีวิตที่แตกต่างและดีกว่าได้หรือไม่ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม เราจะทำอย่างไรดี…” ซึ่งข้อความนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของนักศึกษา ผ่านการใช้สรรพนามเรียกแทนตัวเองว่า “เรา” ที่ต้องการจะปฏิวัติ หรือเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งสอดรับกับสรรพนามว่า “เรา” ในแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งที่ สุชาติได้นำมาแปลไว้ด้วยเช่นกันที่ชื่อ “คำอุทธรณ์จากซอร์บอน” ซึ่งเป็นคำประกาศของกลุ่มนักศึกษาฝรั่งเศสผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปี 2511 ความว่า

การปฏิวัติของพวกศักดินาเป็นการปฏิวัติทางศาล การปฏิวัติของพวกกรรมาชีพเป็นทางเศรษฐกิจ การปฏิวัติของพวกเราจะเป็นทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อว่ามนุษย์จะได้กลายเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งจากการแปลแถลงการณ์เหล่านี้ ทำให้สุชาติมีโอกาสได้สัมผัสกับพลังของคนหนุ่มสาวผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม

ด้วยเหตุนี้ คำอธิบายต่อสิ่งที่เรียกว่า “ซ้ายใหม่” ในมุมมองของสุชาตินั้น จึงมีใจกลางอยู่ที่พลังนักศึกษาและการขบถของคนหนุ่มสาว ซึ่งสุชาติจะได้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดคำอธิบายตามกรอบคิดนี้ต่อไป ในขณะเดียวกันข้อสรุปของสุรพงษ์ ชัยนาม ก็ได้สอดรับกับแนวคิดเรื่องพลังนักศึกษาของสุชาติ โดยสุรพงษ์ได้ชี้ให้เห็นว่าตัวการในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของ “ซ้ายเก่า” คือชนชั้นกรรมาชีพ แต่สำหรับ “ซ้ายใหม่” นั้น ตัวการไม่ได้จำกัดอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้รวมถึง ปัญญาชน และนักศึกษาด้วย

  • ผู้กำกับหนังไทย “ซ้ายใหม่”

กลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับความเคลื่อนไหวของพลังหนุ่มสาวจากทั้งในและนอกประเทศ คงได้ตระหนักเช่นกันว่า นอกจากชนชั้นกรรมาชีพ ปัญญาชน และนักศึกษาแล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ก็สามารถร่วมเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยเหตุนี้ เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้ได้สัมผัสกับพลังของซ้ายใหม่มาโดยตรงเมื่อครั้งเรียนการถ่ายภาพยนตร์อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 2511 และ ม.. ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้สัมผัสกับซ้ายใหม่มาโดยตรงเมื่อครั้งเรียนหนังสืออยู่ที่ UCLA ในปี 2504 จึงอาจใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวไปตามแนวทางของซ้ายใหม่ก็เป็นได้

เมื่อครั้งที่ ม.. ชาตรีเฉลิม เรียนปริญญาตรีอยู่ที่ UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2504 นั้น นอกจากจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของซ้ายใหม่ ผ่านความเคลื่อนไหวของกลุ่ม S.N.C.C. กลุ่ม S.D.S. และปราศรัยอันทรงพลัง “I have a dream” ของมาร์ติน ลูเธอร์ฯ ในปี 2506 แล้ว ท่านมุ้ยยังได้มีโอกาสเรียนหนังสือร่วมชั้นกับสุรางค์ เปรมปรีดิ์ และ Roman Polanski ด้วย โดยความเคลื่อนไหวของซ้ายใหม่ในอเมริกาคงได้ส่งอิทธิพลต่อสุรางค์เป็นอย่างมาก ทำให้เมื่อสุรางค์กลับสู่ประเทศไทย สุรางค์ได้ชวนท่านมุ้ยสร้างละครเรื่อง “ผู้หญิงก็มีหัวใจ” เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคให้แก่ผู้หญิง โดยสุรางค์ได้เดินเข้าไปคัดเลือกนักแสดงยังสลัมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จนได้คุณสุระ นานา มาเป็นประเอก ส่วน Roman Polanski นั้น นับได้ว่าเป็นผู้กำกับหนังฮอลลีวู้ดที่ดังที่สุดคนหนึ่งของโลกในขณะนั้น โดย Polanski ก็คงได้รับอิทธิพลจากซ้ายใหม่เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากวีรกรรมที่เมืองคานส์

ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2511 นักศึกษามหาวิทยาลัยปารีส วิทยาเขตนองแตร์ (Nanterre) ได้เริ่มประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัย และเข้ายึดวิทยาเขตหลักอย่างซอร์บอนน์ (Sorbonne) กลางกรุงปารีสเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการหลัก การประท้วงจากปัญหาภายในมหาวิทยาลัยได้ขยายไปสู่เรื่องสงครามในแอลจีเรีย รวมทั้งการบริหารงานของประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaull) ด้วย ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมประท้วงเพิ่มจำนวนสูงมากขึ้น จนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2511 ขบวนการกรรมกรจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงกับขบวนการนักศึกษา

ในขณะที่ปารีสกำลังเกิดการจลาจลอยู่นั้น คานส์ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส กลับเริ่มต้นเทศกาลภาพยนตร์อย่างปกติตามกำหนดในวันที่ 10 พฤษภาคม โดยไม่ได้สนใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปารีสแต่อย่างใด แต่แล้วในวันที่ 18 พฤษภาคม เหล่าผู้กำกับที่ได้ถูกขนานนามว่า “Nouvelle Vague (คลื่นลูกใหม่)” เช่น François Truffaut อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ประจำนิตยาสาร Cahiers du Cinéma, Jean-Luc Godard, Claude Lelouch, Louis Malle, และ Roman Polanski ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกร้องให้ยุติเทศกาลลง เพื่อแสดงออกจุดยืนถึงความเป็นหนึ่งเดียว (Solidarity) ร่วมไปกับการต่อสู้กับคนหนุ่มสาวและกรรมกรในปารีส จนในที่สุด ผู้กำกับกลุ่มนี้ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการพยายามดึงม่านลง เพื่อขัดขวางการฉายภาพยนตร์เรื่อง Peppermint Frappe ของ Carlos Saura จนในวันถัดมา จึงได้มีการประกาศยุติเทศกาลอย่างเป็นทางการ

ซ้ายใหม่สี่ตลบ” ที่ท่านมุ้ยได้สัมผัสเองเมื่อครั้งเรียนหนังสืออยู่ที่อเมริกา ได้สัมผัสผ่านเพื่อนร่วมชั้นอย่างสุรางค์ และ Polanski รวมทั้งได้สัมผัสเองอีกครั้งเมื่อซ้ายใหม่ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในปี 2513 เหล่านี้ คงได้มีส่วนหล่อหลอมให้ท่านมุ้ยเกิดสำนึกร่วมไปกับซ้ายใหม่ จนกลายเป็นสำนึกว่าผู้กำกับภาพยนตร์ก็สามารถร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมกับปัญญาชนและวัยรุ่นหนุ่มสาวได้

  • ศิลปะเพื่อชีวิต

นอกจากแนวคิดซ้ายใหม่จะได้ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยแล้ว ในทศวรรษ 2510 นั้น ยังได้เกิดการรื้อฟื้นแนวคิด “ศิลปะเพื่อชีวิต” จากทศวรรษ 2490 ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งได้เกิดการประดิษฐ์สร้างแนวคิด “หนี้สังคม” ขึ้นด้วย

แนวคิด “ศิลปะเพื่อชีวิต” นั้น เดิมทีได้เป็นกระแสที่เรียกร้องให้ใช้ศิลปะเพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ชนชั้นสูง แต่เมื่อได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็ได้เกิดการพัฒนาข้อเรียกร้องไปสู่บทบาทใหม่ของศิลปะ ที่ต้องทำหน้าที่สะท้อนภาพความเลวร้ายของสังคมออกมาให้เห็นผ่านงานศิลปะด้วย ในขณะเดียวกัน กิจกรรมการออกค่ายพัฒนาชนบท เปิดโอกาสให้ผู้มีวาสนาสูงส่งสโมสรอย่างนิสิตนักศึกษาได้สัมผัสกับความเหลื่อมล้ำที่คนในชนบทต้องประสบแม้จะต้องจ่ายภาษีเทียบเท่ากับคนในเมืองก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จึงได้เกิดสำนึกเรื่อง “หนี้สังคม” ขึ้นในหมู่นักศึกษาผู้ซึ่งภาษีเหล่านั้นได้อำนวยให้เรียนหนังสืออยู่ในเมืองหลวงได้อย่างสุขสบาย โดยนักศึกษาได้เกิดการตระหนักขึ้นว่าตนต้องนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาไปช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย และคนที่อยู่ยังชายขอบของสังคม เพื่อเป็นการปลดหนี้

ด้วยเหตุนี้ “ซ้ายใหม่” จึงได้ผลักดันให้ผู้กำกับภาพยนตร์ออกมาแสดงบทบาทร่วมไปกับวัยรุ่นหนุ่มสาว ในขณะที่ “ศิลปะเพื่อชีวิต” นั้น เสนอแนะให้ผู้กำกับถ่ายทอดภาพความเลวร้ายของสังคมผ่านภาพยนตร์ ส่วน “หนี้สังคม” ก็ได้กำหนดให้การนำเสนอภาพความเลวร้ายของสังคมผ่านภาพยนตร์ดังกล่าว จะต้องเป็นความเลวร้ายที่คนตัวเล็กตัวน้อย และคนชายขอบต้องประสบพบเจอ

นี่จึงกลายเป็นที่มาของภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคมที่เน้นถ่ายทอดเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยและคนชายขอบ ซึ่งท่านมุ้ยได้ยืนยันถึงแนวทางดังกล่าวนี้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2517 ว่า

ถ้าผมมีอิสระจากการเงินและการเซ็นเซอร์ ผมคงจะสร้างหนังเรื่องที่เกี่ยวกับคนตัวเล็กๆ ในสถานการณ์เล็กๆ แต่ความหมายที่ครอบคลุมถึงสังคมที่เราอยู่โดยตรงไม่ใช่หรือ ที่สังคมเราประกอบด้วยคนตัวเล็กๆ พ่อค้า แม่ค้า กรรมกร นักศึกษา แม่บ้าน ซึ่งพบปัญหาเล็กๆ เช่น ไม่มีเงินซื้อข้าวสำหรับอาหารมื้อเย็น แต่ปัญหาเหล่านี้ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจของชาติโดยตรง ตัวอย่างหนังที่ผมสร้างก็คือเขาชื่อกานต์ ซึ่งเป็นเรื่องของหมอชนบทเล็กๆ คนหนึ่งที่ชื่อกานต์ กับข้อขัดแย้งต่อสังคมที่อยู่ หรือเรื่องเทพธิดาโรงแรม ซึ่งเป็นเรื่องของโสเภณีคนหนึ่ง ไม่ดีที่สุดและไม่เลวที่สุด กับการต่อสู้ของหล่อนเพื่อที่จะได้รับความเป็นมนุษย์ ซึ่งควรจะเป็นของหล่อนโดยสมบูรณ์ หรือภาพยนตร์เรื่องต่อไปที่ผมกำลังจะสร้างก็คือความรักครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกสภาพแวดล้อมบีบคั้นจนหล่อนต้องฆ่าตัวตายในที่สุด หนังประเภทนี้เป็นหนังที่ผมคิดว่ามีส่วนที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงสังคมที่เราอยู่มากขึ้น

เมื่อท่านมุ้ยนำ “เขาชื่อกานต์” ออกฉายในปี 2516 นักศึกษาและปัญญาชนจึงได้เริ่มหันกลับมาดูหนังไทยอีกครั้ง หลังจากที่ทนความน้ำเน่าของหนัง 16 .. ไม่ได้ จนต้องหันไปดูหนังฝรั่งแทน

อย่างไรก็ตาม ตลาดของหนังสะท้อนสังคมยังคงจำกัด เพราะรายได้หลักในอุตสาหกรรมหนังนั้น ยังคงมาจากตลาดภูธรที่นิยมหนัง 16 .. อยู่ดังเดิม แต่เมื่อ บริษัทไฟว์สตาร์ที่มีนโยบายให้ทุนสร้างหนัง 100% ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2516 บวกกับรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ขึ้นภาษีหนังต่างประเทศจากเมตรละ 2.20 บาท เป็น 30 บาท ทำให้หลัง 6 ตุลา ไม่มีหนังฝรั่งเข้าฉาย หนังไทยจึงถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก จากปีละ 50 กว่าเรื่อง ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 200 เรื่องต่อปี ซึ่งหนังสะท้อนสังคมก็ปรากฏจำนวนมากขึ้นตามด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ชีวิตบัดซบ” (2520) ของเพิ่มพล เชยอรุณ “เทพธิดาบาร์ 21” (2521) ของยุทธนา มุกดาสนิท “ครูบ้านนอก” (2521) ของสุรสีห์ ผาธรรม “น้ำค้างหยดเดียว” (2521) ของสุชาติ วุฒิชัย “ประชาชนนอก” (2524) ของมานพ อุดมเดช และ “ลูกอีสาน” (2525) ของวิจิตร คุณาวุฒิ เป็นต้น

แต่แล้วเพราะ 6 ตุลา ได้ทำให้นักศึกษาและปัญญาชน ซึ่งเป็นฐานคนดูหลักของหนังนี้ต้องเข้าป่าและหมดศรัทธาต่อแนวคิดซ้ายใหม่ เมื่อไร้คนดู หนังแนวนี้จึงทยอยเลิกสร้าง เหลือไว้แต่งานสร้างของท่านมุ้ยเท่านั้นที่ยังคงสร้างหนังสะท้อนสังคมอยู่จนถึงปี 2539 ก่อนจะเปลี่ยนไปสร้างสุริโยไทในปี 2544 ในที่สุด

(บนและล่าง) เทพธิดาโรงแรม และ ทองพูน โคกโพ โดย ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

(ซ้ายและขวา) เทพธิดาโรงแรม และ ทองพูน โคกโพ โดย ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

(บน) ชีวิตบัดซบ โดย เพิ่มพล เชยอรุณ (ล่าง) ครูบ้านนอก โดย สุรสีห์ ผาธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image