อาศรมมิวสิก : ไวโอลินคอนแชร์โตและโซนาตาของเบโธเฟน โดย ‘อิซาเบลล์ เฟาซ์ท’ อีกหนึ่งการตีความดนตรีเบโธเฟนอันสำคัญแห่งยุคหลังศตวรรษที่ 21

อาศรมมิวสิก : ไวโอลินคอนแชร์โตและโซนาตาของเบโธเฟน โดย ‘อิซาเบลล์ เฟาซ์ท’ อีกหนึ่งการตีความดนตรีเบโธเฟนอันสำคัญแห่งยุคหลังศตวรรษที่ 21

อาศรมมิวสิก : ไวโอลินคอนแชร์โตและโซนาตาของเบโธเฟน โดย ‘อิซาเบลล์ เฟาซ์ท’ อีกหนึ่งการตีความดนตรีเบโธเฟนอันสำคัญแห่งยุคหลังศตวรรษที่ 21

ผลงานดนตรีหรือศิลปะที่ดี คือผลงานที่มีการเปิดพื้นที่ช่องว่างทางความคิดที่กว้างขวางมาก มันคือช่องว่างทางความคิด,จินตนาการที่เปิดไว้ให้ทั้งศิลปินและผู้ชม,ผู้ฟังได้ใช้ในการตีความ,เพ่งมองมันด้วยมุมมองใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้จบสิ้น ซึ่งถ้าหากจะกล่าวในทางดนตรีแล้ว ผลงานดนตรีของเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) ดูจะมีลักษณะการเปิดช่องว่างไว้สำหรับศิลปินและผู้ฟังอย่างสูง มีคุณค่า ความหมายที่ต้องตรงกับความเป็นมนุษย์ทุกยุคสมัย จนก้าวผ่านข้ามมิติแห่งการเวลา จนกล่าวได้ไม่ผิดเลยว่าดนตรีของเบโธเฟนหลุดพ้นจากคำว่า “ทันสมัย” หรือ “ล้าสมัย” ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ผู้เขียนได้เลือกหยิบยกงานบันทึกเสียงไวโอลินคอนแชร์โตและโซนาตาของเบโธเฟน ที่บันทึกเสียงไว้หลังศตวรรษที่ 21 ที่นำเสนอมุมมองและวิธีคิดต่อดนตรีของเบโธเฟนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในอีกแบบฉบับหนึ่ง ซึ่งหลังศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาเรายังคงได้พบเห็นการตีความผลงานดนตรีของเบโธเฟน โดยศิลปินหน้าเก่า-หน้าใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ที่ต่างก็ได้ประกาศแนวคิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไปตามวิสัยทัศน์ทางดนตรีแห่งตน

ผลงานบันทึกเสียงที่ผู้เขียนขอนำเสนอต่อท่านผู้อ่านในครั้งนี้ เป็นผลงานที่บันทึกไว้เมื่อ 15 ปีก่อนที่ถือได้ว่าเป็นมุมมองดนตรีของเบโธเฟนหลังศตวรรษที่ 21 ที่แปลกและน่าสนใจมากอีกครั้งหนึ่ง เป็นผลงานจากค่ายบันทึกเสียงดนตรีคลาสสิกในระดับปานกลางไม่ใช่ค่ายใหญ่โต แต่ก็มิใช่ค่ายเล็กๆ ในระดับกลุ่มอิสระนั่นก็คือค่าย “harmonia mundi” ซึ่งหากใครที่ได้ติดตามผลงานบันทึกเสียงดนตรีของค่ายนี้ก็จะทราบดีว่าเป็นค่ายที่เน้นการบรรเลงดนตรีคลาสสิกในลักษณะ “ทางเลือก” (Alternative) ที่เน้นการบรรเลงในลักษณะดนตรีย้อนยุค (Authentic Performance) ซึ่งมุ่งใช้การบรรเลงตามสกอร์ดนตรีดั้งเดิมตามเจตนารมณ์เดิมที่ผู้ประพันธ์ตั้งใจไว้ หรือไม่ก็จะเน้นการบรรเลงโดยศิลปินที่มีมุมมองทางดนตรีที่แปลกใหม่นำเสนอแง่มุมแห่งการตีความที่แปลกแหวกแนวไม่ซ้ำกับแนวทางเดิมๆ ที่บันทึกเสียงกันไว้เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว เธอคือ “อิซาเบลล์ เฟาซ์ท” (Isabelle Faust) เธอเป็นศิลปินเดี่ยวไวโอลินหญิงชาวเยอรมันที่มีผลงานบันทึกเสียงกับค่ายบันทึกเสียงนี้ไม่น้อย ครอบคลุมผลงานดนตรีคลาสสิกทุกยุคสมัย ผลงานของเธอทุกชิ้นมักนำเสนอมุมมองทางดนตรีที่คัดสรรแล้วว่าจะได้นำเสนอความเป็นพิเศษใหม่ๆ แห่งการตีความโดยแท้จริง และในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

อาศรมมิวสิก : ไวโอลินคอนแชร์โตและโซนาตาของเบโธเฟน โดย ‘อิซาเบลล์ เฟาซ์ท’ อีกหนึ่งการตีความดนตรีเบโธเฟนอันสำคัญแห่งยุคหลังศตวรรษที่ 21

Advertisement

เธอเป็นแก่นแกนนำในการบันทึกเสียงครั้งนี้นำเสนอผลงานชิ้นเอกสำหรับบรรเลงเดี่ยวไวโอลินสองชิ้นของเบโธเฟน ที่เธอคัดสรรแล้วว่ามันคือตัวแทนทางความคิดดนตรีของเบโธเฟนอันสำคัญที่มีต่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ แนวคิดในการนำเสนอที่ตรงกันข้ามกันอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือไวโอลินคอนแชร์โตที่ใช้เครื่องดนตรีไวโอลินเดี่ยวประชันกับวงออเคสตราทั้งวง แต่กลับมีภาพรวมและทิศทางแห่งความคิดไปในเชิงการสนทนา,การผสมผสานความกลมกลืนและกลมกล่อมระหว่างแนวเดี่ยวไวโอลินกับวงออเคสตราทั้งวง มีลักษณะทางดนตรีซิมโฟนี (Symphonic Idea) ที่เป็นเอกภาพมากกว่าการโอ้อวดเทคนิคที่น่าตื่นตาตื่นใจแบบแนวคิดบทเพลงคอนแชร์โตในยุคสมัยเดียวกัน แต่ในทางตรงกันข้ามบทเพลง “โซนาตา” สำหรับเพียงแค่ไวโอลินและเปียโนนี่สิ เบโธเฟนกลับแสดงความหลากหลายทางศิลปะดนตรีเอาไว้ได้อย่างหลากหลายจนเหลือเชื่อทั้งการอวดความยากเชิงเทคนิคของเครื่องดนตรีทั้งสองชนิด,สีสันอันหลากหลายเจิดจ้าทางดนตรี แนวคิด,ชั้นเชิงอันแพรวพราวถูกบรรจุไว้อย่างครบครันในโซนาตาหมายเลข 9 บทนี้ที่มีฉายาว่า “Kreutzer Sonata” (ครอยท์เซอร์ โซนาตา) เมื่อพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ภายนอกหรือจำนวนผู้บรรเลง กับความหลากหลายเจิดจ้าทางสีสันนี่จึงเป็นการแสดงความย้อนแย้งอันสำคัญในแนวคิดการนำเสนอทางดนตรีของเบโธเฟนที่น่าสนใจมากทีเดียว อิซาเบลล์ เฟาซ์ท เธอเลือกศิลปินผู้ร่วมงานในครั้งนี้อย่างพิถีพิถันในทางแนวคิดศิลปะโดยไม่มุ่งเน้นความเป็นดาราหรือแนวคิดเชิงการตลาดใดๆ ทั้งวงออเคสตรา,วาทยกรและศิลปินเดี่ยวเปียโน

ในบทเพลงคอนแชร์โตแทนที่จะเลือกใช้วงออเคสตราที่มีอยู่ในตลาดหลักอันดาษดื่น เธอกลับเลือกใช้วงออเคสตราและวาทยกรที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก (ทางการตลาด) แต่มีคุณภาพและแนวคิดทางดนตรีที่ไปด้วยกันได้อย่างวง “The Prague Philharmonia” ที่เพิ่งจะก่อตั้งวงได้ไม่นานนักกับวาทยกรผู้ก่อตั้งวงดนตรีนี้มากับมือตัวเอง อย่าง “ยีฉริ เบโลลาเว็ค” (Jiri Belolavek) สำหรับในบทเพลงโซนาตามีศิลปินเดี่ยวเปียโนรัสเซียหนุ่มใหญ่มือฉกาจอย่าง “อเล็กซานเดอร์ เมลนิคอฟ” (Alexander Melnikov) มาเป็นคู่หูในการร่วมตีความ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเบโธเฟนมีแนวคิดต่อไวโอลินคอนแชร์โตของเขาไปในเชิงความกลมกลืนและกลมกล่อมมากกว่าที่จะเน้นการนำเสนอการอวดความยากทางเทคนิคหรือสีสันอันเจิดจ้า แบบแนวคิดเพลงคอนแชร์โตที่เราคุ้นเคยกันโดยทั่วไป การบรรเลงในครั้งนี้มองดูว่าไม่ได้มีความจงใจใดๆ ที่จะพยายามนำเราย้อนยุคกลับไปสู่เสียงดนตรีในศตวรรษที่ 18 อย่างถูกต้องตรงตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการนำเสนอรูปแบบคอนแชร์โตบทนี้ในมุมมองของศิลปินเอง วงออเคสตราที่ใช้ผู้บรรเลงไม่มากแบบในยุคปลายศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นวงลักษณะ “กึ่งเชมเบอร์” ที่ให้เนื้อเสียงบางเบาลงไป ฟังดูมีความคล่องตัวว่องไวตอบสนองกับแนวการบรรเลงเดี่ยวไวโอลินได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ลักษณะแนวการบรรเลงของวงจึงไม่หนักแน่นจนฟังดูห้วนแบบแฟชั่นการบันทึกเสียงบทเพลงนี้เมื่อ 50-60 ปีก่อน ที่ผู้เขียนและผู้ฟังจำนวนมากคุ้นเคย

Advertisement

แนวการบรรเลงเดี่ยวไวโอลินของอิซาเบลล์ เฟาซ์ท เป็นไปในเชิงคลาสสิกแบบแนวคิดสำนักเยอรมันที่ไม่นิยมการแสดงออกทางอารมณ์อย่างฟูมฟาย (และตัวบทเพลงก็มิได้เปิดช่องไว้มากนัก) การตีความของเธอราวกับจะบ่งบอกกับเราถึงวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของเบโธเฟนในบทเพลงนี้ ที่เน้นความกลมกลืน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวงออเคสตรา เป็นการบรรเลงที่โน้มเอียงไปในแนวคิดเชิงวัตถุวิสัย (Objective) ที่ยังคงรักษาความละเมียดละไมของดนตรีไว้ได้อย่างไม่แห้งกร้านจนเกินไป ในช่วงการบรรเลงเดี่ยวอวดฝีมือที่เรียกว่า “Cadenza” (วงดนตรีหยุดบรรเลง) อิซาเบลล์ เฟาซ์ท ลบเหลี่ยม ลบคมของแนวคิด “คาเด็นซา” เดิมที่มักใช้อวดฝีมือแบบสุดโต่ง แต่เธอทำให้มันกลายเป็น “ศิลปะ” กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวบทเพลงอย่างมีเอกภาพ ในท่อนช้าทั้งเธอ,วงดนตรีและวาทยกรนำเสนอลักษณะ “Slow March” เล็กๆ ของแนวทำนองหลักเอาไว้ประดุจ ท่อนช้าอันครุ่นคิดในซิมโฟนี “เอรอยกา” (Slow March แบบเดียวกัน) ที่เบโธเฟนเขียนขึ้นไม่กี่ปีก่อนนั้น ลักษณะการแสดงแบบ “ไวโอลินร้องเพลง” (Cantabile) มาปรากฏขึ้นในช่วงแนวทำนองที่สองของท่อนช้านี้เอง ท่อนสุดท้ายในลักษณะดนตรีที่เรียกว่า “รอนโด” (Rondo) นั้นการใช้วงขนาดย่อม อีกทั้งการควบคุมวงของวาทยกรนาม “ยีฉริ เบโลลาเวค” ทำให้การนำเสนอแนวทำนองรอนโดของเบโธเฟน ไม่หนัก,ห้วน หรือในบางคราที่ออกจะหยาบเกินไปแบบที่เราอาจพบเจอในบางการตีความ (ด้วยความคึกคะนองและเข้าใจเอาว่าเบโธเฟนเป็นคนหยาบคายดนตรีของเขาจึงต้องตวาดดุดัน) แนวทำนองรอง (B) ในท่อนรอนโดยิ่งเผยให้เห็นการหลอมรวม,ลักษณะความเป็นเอกภาพ และลักษณะเนื้อหาดนตรีแบบซิมโฟนิกในท่อนนี้ได้ชัดเจนขึ้น เป็นท่อนรอนโดแห่งจากลา ที่ไม่ลิงโลดคึกคะนอง แต่สูงด้วยรสนิยมและลักษณะปรัชญาการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะที่มีการตกลงกันทางความคิดและเดินไปในทิศทางเดียวกันอย่างอุดมคติแห่งภราดรภาพ

อาศรมมิวสิก : ไวโอลินคอนแชร์โตและโซนาตาของเบโธเฟน โดย ‘อิซาเบลล์ เฟาซ์ท’ อีกหนึ่งการตีความดนตรีเบโธเฟนอันสำคัญแห่งยุคหลังศตวรรษที่ 21

ครั้นมาถึงบทเพลง “Kreutzer Sonata” ที่ บันทึกเสียงคู่กันมาในครั้งนี้ อิซาเบลล์ เฟาสต์ เลือกศิลปินเดี่ยวเปียโนหนุ่มใหญ่ชาวรัสเซียนาม “อเล็กซานเดอร์ เมลนิคอฟ” มาเป็น “คู่หูทางความคิด” แน่นอนเธอเลือกไม่ผิดคน เราต้องไม่ลืมว่าบทเพลงนี้เมื่อเปรียบเทียบกับคอนแชร์โตในบทเพลงแรกแล้ว มันเกิดลักษณะ “ย้อนแย้ง” ในแนวคิดไม่น้อย ความยุ่งยากทั้งเทคนิคการบรรเลง,และลักษณะแนวคิดเชิงศิลปะละคร (แบบที่เรียกว่า “Drama”) มีอยู่เต็มเปี่ยมในบทเพลงโซนาตาสำหรับเครื่องดนตรีเพียงสองชิ้นนี้ ที่ในบทเพลงคอนแชร์โตกลับไม่บรรจุไว้มากมายเท่านี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใด “ครอยท์เซอร์โซนาตา” บทนี้จึงเต็มไปด้วยพลังแห่งการขับเคลื่อนทางอารมณ์จนทำให้นักเขียนวรรณกรรมชั้นนำของโลกชาวรัสเซียแห่งศตวรรษที่ 19 อย่าง “ลีโอ ตอลสตอย” (Leo Tolstoy) ถึงกับต้องเดินออกไปสะอื้นร่ำไห้เมื่อครั้งได้ฟังบทเพลงนี้เป็นครั้งแรกในการแสดงดนตรีเชมเบอร์มิวสิกที่บ้านของเขาเองในปี ค.ศ.1887 อีกทั้งยังนำแรงบันดาลใจอันทรงพลังนี้ไปเขียนเป็นวรรณกรรมบทละครชิ้นเอกและไม่ลังเลใจที่จะใช้ชื่อวรรณกรรมบทละครนี้ว่า “Kreutzer Sonata” ผู้เขียนเองเมื่อได้ฟังการตีความของคู่หูคู่คิดทางดนตรี “เฟาซ์ท-เมลนิคอฟ” นี้แล้ว จึงได้เข้าใจลักษณะเชิงการละครและพลังขับเคลื่อนทางอารมณ์อันสร้างตำนานอันลือลั่นสนั่นโลกนี้ได้เป็นอย่างดี

ทั้งคู่มีลักษณะที่ทัดเทียมกันทั้งในชั้นเชิงเทคนิคฝีมือและชั้นเชิงทางความคิด คู่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะรับมือกับสกอร์เพลงเล็กๆ ทางกายภาพแต่ทว่าทั้งกว้างขวางและล้ำลึกทางดนตรีชิ้นนี้ ใครที่ยังหลงยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ ที่คาดว่าศิลปินจากสำนักรัสเซียจะเต็มไปด้วยเทคนิคที่แพรวพราวหากแต่เย็นชาและแข็งกระด้างทางดนตรี จะต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อได้ฟังการบรรเลงเปียโนของเมลนิคอฟในครั้งนี้ เขาก้าวพ้นจากคำว่า “สำนักรัสเซีย” (แบบที่ใครบางคนอาจทึกทักเอา) มาไกลโพ้น เขาเป็นศิลปินแห่งสากลโลกที่เข้าใจลักษณะศิลปะสากลของมนุษยชาติได้อย่างแตกฉานปรุโปร่ง แนวทำนองรอง(2nd Subject)ในท่อนแรกที่โดยทั่วไปจะเป็นลักษณะเพลงร้องอันอ่อนหวานแต่ในที่นี้เบโธเฟนกลับสร้างมันให้ฟังดูลึกลับแยบยล และทั้งคู่ก็เผยลักษณะที่ว่านี้ได้แจ่มชัด ในท่อนช้านั้นเบโธเฟนไม่แสดงความอ่อนหวานของดนตรีแต่กลับแสดงศิลปะแห่งการผันแปรทางความคิดดนตรี (Variations) มันเป็นท่อนที่สูงด้วยลักษณะอันลึกลับเชิงละครอย่างแท้จริงโดยเฉพาะในจังหวะช้าที่แสนจะครุ่นคิด ท่อนสุดท้ายที่รุนแรงราวกับพายุแห่งพลังอารมณ์ทั้งรุนแรงยากเย็นล้ำลึกและลึกซึ้งทุกองค์ประกอบแห่งอารมณ์เหตุใดจึงได้ประดังประเดเข้ามารวมกันได้ทั้งหมดในท่อนสุดท้ายนี้ได้หนอ (ในตำนานบอกเล่าว่าท่อนนี้เองที่ทำให้ ลีโอ ตอลสตอยต้องลุกออกไปร่ำไห้!) การตีความของคู่หู “เฟาซ์ท-เมลนิคอฟ” ราวกับจะนำเราย้อนไปในอดีตเพื่อเผยให้เห็นว่า ตำนาน “Kreutzer Sonata” ที่ดลบันดาลใจให้กลายเป็นวรรณกรรมบทละครระดับโลกนั้นถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เริ่มแรกนั้นผู้เขียนเองลังเลใจอยู่นานที่จะเขียนถึงการบันทึกเสียงของแผ่นเสียงนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าในยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสารที่ล้นโลกอยู่ในทุกวันนี้ การหยิบยกเอาซีดีแผ่นเดียวขึ้นมาเขียนมันอาจจะน่าดูแคลนเกินไป หากแต่เมื่อมาทบทวนถึงสาระและพลังทางความคิดดนตรีแล้ว มันย่อมให้เนื้อหาแก่นสารทางความคิดได้มากและกว้างไกลอยู่ในตัว เสียดายอยู่บ้างที่ ศิลปินทั้งทีมนี้มิได้ออกมาประกาศแนวคิด,กระบวนการหรือผลจากการศึกษาวิจัย,เตรียมการใดๆ ที่พวกเขาได้ตระเตรียมล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีก่อนลงมือสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็นั่นแหละในโลกแห่งศิลปะหรือดนตรีแล้ว การปล่อยให้ผลงานอธิบายคุณค่า,เนื้อหาด้วยตัวของมันเองย่อมมีคุณค่าและท้าทายกว่าคำพูด,คำอธิบายเป็นไหนๆ ถึงได้มีคำกล่าวทางดนตรีที่น่าสนใจว่า “หากเราสามารถอธิบายถึงดนตรีด้วยคำพูดได้ทั้งหมดแล้ว เราก็คงไม่มีความจำเป็นต้องมาบรรเลงดนตรีกันอีกต่อไป” ศิลปินชุดนี้ตอกย้ำแนวคิดนี้ให้มีความหนักแน่นขึ้นไปอีกโดยผ่านเสียงดนตรีในผลงานบันทึกเสียงชุดนี้

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image