24-7/1 ทุนนิยมการเมือง เรื่องในใจ ‘ภู กระดาษ’ รอบสุดท้ายซีไรต์ จากปลายปากกานักเขียนอีสานรุ่นใหม่

24-7/1 นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ปีล่าสุดนี้ ถือเป็นหนังสือที่ทรงพลังที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาของนักเขียนอีสานรุ่นใหม่เจ้าของนามปากกาว่า “ภู กระดาษ” หนังสือเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวความเป็นศูนย์กลางของประเทศ สังคม การเมือง ปูมหลังทางประวัติศาสตร์ และส่วนสำคัญที่สุดคือ “ทุนนิยม” ที่ครอบงำการเมืองเบื้องหลัง

ภู กระดาษ ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นตัวตนของครอบครัวสังคมไทยมาได้อย่างดุดัน เจนจัด และฉายภาพซ้ำให้เราเห็นถึงจุดแตกหักที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งชุดความคิดที่คุณจะไม่มีวันหันกลับไปมองสภาพสังคมแบบเดิมได้อีกเลย

•พลังของการเขียนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมได้ดีเท่าในอดีต (ช่วงยุค 2500 จนถึงตุลาฯ) ไหม?

ได้ดีหรือไม่ดีเท่า วัดยากเหมือนกันนะ จริงอยู่ว่าสังคมไทยในทุกด้านไม่ต่างจากสังคมยุค 2500 แต่อย่างใด โดยเฉพาะระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ ทว่าปัจจุบัน ตัวขับเคลื่อนสังคม เครื่องมือขับเคลื่อนสังคม สั่งสมความคิดให้คนมีหลากหลายตัวมากขึ้น แม้จะไม่ค่อยจะไปไหน ไม่มีแรงมากพอที่จะขับเคลื่อนใน
ระยะนี้-ระยะสั้นก็ตาม แต่ก็มีเครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีตเยอะเลย และหากจะกล่าวเฉพาะทางเดียวคือการเขียน ผมว่ามันต้องมาคู่กับการอ่าน ขาดอันใดอันหนึ่งก็ไร้ประโยชน์ หรือการเขียนและการอ่านและการคิดอย่างเป็นระบบและการนำไปปฏิบัติหรือต่อยอดนั้นสำคัญมากในการขับเคลื่อนสังคม

Advertisement

•วรรณกรรมควรมีบทบาทหน้าที่แห่งหนไหนในสังคม?

หากพูดถึงโลกยุคปัจจุบันและในอนาคตแล้ว สำหรับผม วรรณกรรมควรเป็นส่วนหนึ่งหรือเสี้ยวหนึ่งของเครื่องมืออันหลากหลายที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมครับ ให้ความรื่นรมย์ ความบันเทิง แสดงทักษะ ละเล่นทางปัญญาไปด้วย และสร้างความสะทกสะท้อนใจ ปลุกเร้า ก่อร่างสร้างความคิดหรือสั่นสะเทือนจนเกิดจุดหักเห เกิดความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมกันด้วย

•ทุนนิยม เผด็จการ และประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้หากเล่าเป็นตัวอักษรผ่านวรรณกรรม คิดว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมได้มากแค่ไหน?

Advertisement

จริงๆ สิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เราเห็น เราเจอ และรู้ๆ กันอยู่แล้ว การเล่าผ่านวรรณกรรมเป็นเพียงการรวบรวม ปะติดปะต่อให้เห็นภาพที่กระจัดกระจายนั้นชัดขึ้น สมบูรณ์ขึ้น และเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้นเท่านั้น สร้างดราม่าเพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย จริงๆ ดราม่าแทบจะไม่จำเป็น ชีวิตจริงยิ่งกว่าละครอีก (หัวเราะ) สร้างจินตนาการเพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย และการอ่านคือการนั่งพินิจพิเคราะห์ จดจ่อ เพื่อประมวลผลออกมา ทั้งความรู้และความรู้สึก ความรู้สึกอย่างมีสตินั้นสำคัญมากๆ เช่น ความสะทกสะท้อนใจกับตัวละครจนไปสู่การเห็นอกเห็นใจคนอื่น ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเรื่องที่เล่าและคนอ่านหากจะให้เกิดแรงกระเพื่อม

•ทำไมจึงเลือกสื่อประเด็นเรื่องทุนนิยมในเล่ม?

แม้ว่าทุนนิยมจะมีหลายเฉด ทว่า ทุนนิยมแบบสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แบบประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้บางส่วน คือตัวแสดงหลักของโลกและเป็นสิ่งที่กำลังคุกคามคนแทบทั้งโลกอยู่ในตอนนี้ แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่โปรทุนนิยมเองก็ยังตระหนักว่ามีปัญหา ต้องหาทางแก้ไข อย่างง่ายที่สุดคือยิ่งทุนนิยมก้าวหน้า ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำสูง ยิ่งทำให้เกิดการผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน หรือไม่เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ทั้งที่หัวใจอันหนึ่งของทุนนิยมคือการแข่งขันตามกลไกตลาดก็ตาม และแม้บางคนว่าแบบนี้-การผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน ไม่ใช่ทุนนิยม แต่ผมอยากแย้งเล็กน้อยว่าไม่ใช่ได้ยังไง ก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามันเติบโตมาในระบบทุนนิยมชัดๆ มีประเทศไหนบ้างที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน และที่สำคัญในตอนนี้ก็คือทุนนิยมจัดการการเมือง ไม่ใช่การเมืองจัดการทุนนิยมแต่อย่างใด ไม่ว่าในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ หรือในประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทย นายทุนเป็นเจ้านายของนักการเมือง เป็นเจ้าของทุกอย่างไปแล้วในตอนนี้ ถ้าชอบดูหนัง ผมแนะนำเรื่อง Don’t look up และ Saving Capitalism

สิ่งที่ผมย้ำเสมอว่าพวกเราเกิดทีหลัง ได้เห็น ได้มีประสบการณ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ฉะนั้นพวกเราจึงมีแต้มต่อมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้าในการออกแบบระบบเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทุกคน การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนะ คนละอย่างกัน แต่ถ้าหากพวกเราเต็มไปด้วยอคติและฉันทาคติจนหูอื้อตามัว และไร้ซึ่งสติปัญญา พวกเราก็ย่ำเท้าตามรอยคนรุ่นก่อนต่อไปครับ จมอยู่กับความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ความรุนแรงทุกระดับ ปากกัดตีนถีบและขาดความมั่นคงในชีวิตเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ละกัน พวกเราต้องคิด รู้สึก และปฏิบัติให้ได้ดีกว่าคนรุ่นก่อนครับ

•การแบ่งองก์ต่างๆ ในเล่ม สะท้อนอะไรบ้าง?

ตอบอย่างสั้นที่สุดน่าจะเป็นสำนึกและความคิดของคนในแต่ละยุคสมัยภายใต้สภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

•คิดว่าเป็นปัญหาแค่ไหนกับความหนาของหนังสือ?

เป็นปัญหามาก และยิ่งส่วนแรกของเรื่อง อืดอาด ยืดยาด
วกไปวนมาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนวางหนังสือได้ง่ายๆ แต่ถ้าจะเป็นการโฆษณา โดยการประมวลผลจากคนที่อ่านจบแล้วเล่าหรือรีวิว ต้องขออนุญาตบอกว่ารบกวนกัดฟันให้ผ่านส่วนแรกไปให้ได้ครับ ส่วนอื่นๆ หรือส่วนถัดไปจะเป็นอีกแบบแล้ว แม้ความหนาจะเป็นปัญหา ในเล่มนี้ ผมก็ได้เลือกจนจบไปแล้ว หากจะไม่หนา คงขอเป็น
ครั้งหน้าหรือเล่มหน้าละกันครับ ถ้ามีโอกาส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามันหนาจนเป็นปัญหาต่อผู้อ่าน ผมคิดว่าผู้อ่านมีสิทธิที่จะอ่านแบบสั้นๆ ได้อยู่ครับ มีหลายวิธีเลย

•จากตัวละครเอกในเรื่องที่มีความคิดเด่นชัดอยู่แล้ว แล้วภู กระดาษล่ะ มองผ่านตาตัวเองถึงสังคมอย่างไร?

สิ้นหวัง เป็นสังคมแห่งความสิ้นหวังครับ แต่เมื่อต้องอยู่ ต้องมีชีวิตอยู่ ทางเลือกอาจมีไม่มากนัก ทว่าหนึ่งทางที่ต้องเลือกคือพวกเราต้องร่วมมือกันทำให้มีความหวัง สร้างสังคมที่มีความหวัง

•หากจะเล่าเรื่องทุนนิยมจากคนที่อยู่กับมันจริงๆ ด้วยฐานะของชนชั้นกลาง หรือแรงงาน กับคนที่เล่าเรื่องทุนนิยมผ่านแว่นตาของชนชั้นสูง คุณคิดว่าแตกต่างกันแค่ไหน?

แตกต่างอยู่ครับ แต่จะมากจะน้อยเป็นคำถามที่ยากเกินสติปัญญาผมอยู่ แต่กระนั้นควรเล่าจากหลายๆ มุม เท่าที่ผู้เล่าจะสามารถได้ครับ เพื่อให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่านได้พิจารณาเองได้ ได้นำไปเชื่อมต่อกับประสบการณ์ส่วนตัวของใครของมัน

•Hate speech ภายในเล่มมีเพียบ ทำไมถึงสื่อสารออกมาในรูปแบบนั้น?

อันนี้ไม่น่ามีนะ ไม่ต้องถึงนิยาม hate speech/free speech แบบสหรัฐ แค่แบบเยอรมนีหรือฝรั่งเศส ผมคิดว่าไม่ได้เป็นหรือไม่ได้มี hate speech นะ ผมคิดว่า hate speech ต้องพิจารณาพร้อมกับ free speech และวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ครับ

•ฉากเซ็กซ์เรียกได้ว่าดุเดือดที่สุดในรอบหลายปีของวรรณกรรม มันสะท้อนอะไรบ้าง?

พูดอย่างสั้น เซ็กซ์คือเรื่องปกติ ธรรมดาสามัญ ไม่ต่างจากการกิน นอน ขับถ่าย หรือหายใจ และในอีกทางหนึ่งการสร้างอำนาจและความมั่งคั่งของคนบางกลุ่มก็ด้วยเลือดและน้ำอสุจิครับ พูดในทางหนึ่ง เซ็กซ์เป็นปกติ ธรรมดาสามัญ แต่ถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้าม เรื่องเร้นลับ เรื่องเสื่อมเสีย ในทำนองเดียวกันเซ็กซ์คือความรื่นรมย์ ปลดปล่อย ทว่ามันก็สร้างอำนาจ สร้างกรงขังขึ้นมาด้วย

•ดูเหมือนจะเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้วสำหรับวรรณกรรมที่สะท้อนความเป็นชายขอบของภู กระดาษ อยากไปเขียนงานแนวอื่นบ้างไหม?

ก็อยากเขียนแนวอื่นอยู่ครับ แต่ตอนนี้คงเขียนแบบนี้ไปก่อน เพราะผมไม่คิดว่านี่คือการเขียนเพื่อสะท้อนความเป็นชายขอบ คำถามคือใคร อะไรรึที่เป็นศูนย์กลาง แล้วหากผมไม่นับอันนั้นเป็นศูนย์กลาง ผมก็ไม่กังวลว่าจะเป็นชายขอบหรืออะไร และที่สำคัญคือ ก็แล้วแต่คนอ่านจะพิจารณาเลย ส่วนตัวผม ผมก็คิดอีกแบบ งานเขียนนอกจากจะสะท้อนอะไรต่างๆ แล้ว ผมคิดว่ามันต้องเป็นห้องทดลอง ห้องจำลองทางความคิดเพื่อหาทางออกสำหรับอะไรบางอย่างด้วย

จริงอยู่ว่าผู้อ่านสามารถอ่านแล้วตกตะกอนความคิดได้เอง หาทางออกได้เอง มีความสามารถมากมายกันอยู่แล้ว ทว่าการเขียน งานเขียน ควรเป็นการตอบโต้ ถกเถียงกันไปมาระหว่างผู้อ่านกับผู้เขียนด้วย ผู้เขียนเสนอแบบนี้ ผู้อ่านไม่ชอบข้อเสนอนี้ ก็โต้แย้งออกมา จะทำให้เกิดความคิด ความเห็น หรือแนวทางต่างๆ แนวทางใหม่ๆ แตกแขนงออกไปได้ พูดอย่างสั้นผมไม่ต้องการให้เป็นเพียงความรื่นรมย์ ความโลดโผนทางเทคนิค โฆษณาชวนเชื่อ หรือรายงานข่าว แต่เป็นพื้นที่สำหรับจะเชื่อ ไม่เชื่อ แล้วถกเถียงกันเพื่อหาทางออกในแบบต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียง ครุ่นคิด ออกแบบทางออกของเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม

•งานเขียนเล่มนี้ถือว่าเป็นที่สุดที่เคยทำมาไหม?

ในด้านความหนาคือที่สุดละ หนากว่าทุกเล่ม ส่วนอื่นๆ ผมคิดว่าเป็นไปตามช่วงวัย ประสบการณ์ และสติปัญญา ณ ขณะนั้น ไม่มีอะไรที่สุดกว่าอะไร จะมีก็แต่จะพัฒนา ปรับปรุงต่อไปอย่างไรครับ

•ต้องการสื่อสารอะไรกับผู้อ่าน?

พวกเราต้องรู้สึกได้แล้วล่ะว่าเดือดร้อนจริงๆ เดือดร้อนอย่างสาหัสแล้วในสังคมแบบนี้ ในปัจจุบันพวกเรายังมีทางเลือกอื่นๆ อีก มีความเป็นไปได้อื่นๆ อีก ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือไม่ใช่ว่าถ้าไม่เอา A ก็ต้องเอา B แต่พวกเราสามารถเอาทั้ง A และ B หรือเอาทั้ง A B C D E F… ก็ได้

•มองอนาคตวงการวรรณกรรมต่อจากนี้อย่างไร?

ผมขออนุญาตพูดกว้างๆ และสั้นๆ แบบนี้แล้วกัน ด้วยคำถามนี้เกินความสามารถและสติปัญญาของผมอยู่มาก คือหนึ่ง ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตก็เป็นแบบนั้น อีกหนึ่ง ปัจจุบันเป็นแบบนี้ อนาคตต้องเปลี่ยน และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เหมือนกับทุกๆ อย่าง จะช้าจะไว ค่อยว่ากันอีกที

•แล้วภู กระดาษ ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าล่ะ?

ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีสมองที่ปลอดโปร่ง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นครับ (หัวเราะ)

หลังจากนี้เราไม่อาจรู้ได้ว่าวรรณกรรมขับเคลื่อนสังคมได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากจะวัดคุณภาพปลายปากกาของนักเขียนรุ่นใหม่อย่าง ภู กระดาษ คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพลังของคนรุ่นใหม่ยังคงมีอยู่ทุกแวดวง และรอวันที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตข้างหน้า

วันจันทร์ แก้วคำผาสาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image