เบื้องลึกแต่ไม่ลับ สั่งจับตา ‘สาธิตฯธรรมศาสตร์’ ความหลากหลายที่รัฐ (อำนาจนิยม) ไม่เข้าใจ

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาสั่งตรวจสอบหลักสูตร เมื่อ 4 ก.พ. ก่อนให้สัมภาษณ์เมื่อ 7 ก.พ. ว่าทำไปเพราะ ‘เห็นในข่าว แต่ไม่ได้บังคับ’

เบื้องลึกแต่ไม่ลับ สั่งจับตา ‘สาธิตฯธรรมศาสตร์’ ความหลากหลายที่รัฐ (อำนาจนิยม) ไม่เข้าใจ

สืบค้นกันแทบตาย ว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีประเทศไทยสั่งจับตาหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าอาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เปิดเว็บไซต์ https://satit.tu.ac.th/ ของโรงเรียน พลิกดูจนทั่วก็ยังหาไม่เจอว่าตรงไหนควรคู่ความ ‘ห่วงใย’ ถึงขนาดสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปพิจารณา

สุดท้าย กลายเป็นประเด็นเข้าข่ายเรื่องไม่ (ค่อย) เป็นเรื่อง แต่กลับเป็นเรื่อง ว่าที่แท้ (คาดว่า) มาจากการที่ผู้บริหารโรงเรียนเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล มาให้คำแนะนำด้านการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เห็นจะมีอะไรชวนกังขาเมื่อตำแหน่งแห่งที่ทางวิชาการของบุคคลท่านนี้เป็นถึง ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ประเทศโลกที่ 1 ไหนจะผลงานมากมายซึ่งเป็นที่ยอมรับในโลกสากล

ทว่า ที่นี่ประเทศไทย! ‘ภาพจำ’ บางประการของ ‘ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย’ ดูเหมือนจะกลายเป็น
สิ่งที่ต้อง ‘เฝ้าระวัง’ ไปเสียอย่างนั้น

Advertisement

6 กุมภาพันธ์ วันอาทิตย์ 9 โมงเช้า สาธิตฯธรรมศาสตร์ เผยแพร่แถลงการณ์ ‘ต่อสาธารณชน’ มีเนื้อหาโดยสรุป ชี้แจงประเด็นต่างๆ 3 ข้อหลัก มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง โดยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาอาชีพเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก ที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน

2.โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร และนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนฐานความรู้ที่ทันสมัย เหมาะสมกับพัฒนาการ นอกจากสาระวิชาหลัก ยังจัดให้มีการสอนในวิชาต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) ฯลฯ

Advertisement

3.โรงเรียนมีเป้าหมายบ่มเพาะเยาวชนให้มีจิตสำนึก เป็นพลเมืองเข้มแข็ง เป็นพลเมืองโลกที่ยึดโยงกับบริบทสังคมไทย รู้จักคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ

ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นสำคัญอยู่ในตอนท้ายของแถลงการณ์ซึ่งระบุว่า

โรงเรียนตระหนักดีว่า การบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดมากมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป

เย็นวันเดียวกัน ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยว่า เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และสั่งการให้ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เร่งไปตรวจสอบว่ามีการ
บิดเบือนเนื้อหาจริงหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นั่งหัวโต๊ะแนะแนวการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ตามคำเชิญของสาธิตฯ มธ. ปรากฏภาพเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของโรงเรียนเมื่อ 24 ม.ค. กระทั่งถูกถล่มจากผู้เห็นต่างทางการเมือง ก่อนบิ๊กตู่สั่งจับตา

สอนเด็กอย่ายึดติด เรียนรู้ ‘สำนักคิด’
หลากหลาย ไม่ใช่ล้างสมอง

“ได้ยินข่าวแล้วรู้สึกตกใจและเสียใจเล็กน้อย หลังจากเกิดเรื่อง นักเรียนก็เครียด ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็เครียด แต่ในภาพรวมทุกคนให้กำลังใจโรงเรียน และทุกคนเตือนสติกันว่าอย่าไปตอบโต้ด้วยอารมณ์ หากมีอะไรที่ชี้แจงอธิบายได้ก็ทำ ทั้งนี้ พร้อมที่จะให้นายกฯ รัฐมนตรีว่าการ อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ เพราะโรงเรียนไม่มีอะไรที่เป็นความลับ ยินดีชี้แจงทุกเรื่อง”

คือความในใจของ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อสถานการณ์ดังกล่าว

ส่วนสาเหตุที่เป็นประเด็นขึ้นมา รศ.ดร.อนุชาติ คาดว่ามาจากการที่โรงเรียนเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล มาเสนอกรอบเนื้อหา และแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เขียนตำรามากมาย และการเรียนประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเด็กอาจจะรู้สึกเบื่อ ต้องท่องจำ เพราะมีเนื้อหาจำนวนมาก จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์แล้วสนุก และเรียนประวัติศาสตร์แล้วรักที่จะเรียน เรียนแล้วได้ความคิดที่ดี คิดวิเคราะห์ได้ รักที่จะไปอ่านหนังสือ และไปค้นคว้าต่อ จึงเป็นโจทย์ที่ให้ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัยเข้ามาช่วยคิด เพราะโรงเรียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และอยากจะได้มุมมองวิธีคิดใหม่ๆ

ยืนยันว่าโรงเรียนไม่ได้บิดเบือนประวัติศาสตร์ใดๆ ในการเรียน โรงเรียนใช้ตำราของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่โรงเรียนเน้นการเรียนการสอนที่มากไปกว่านั้น คือการเรียนการสอนของโรงเรียนจะให้นักเรียนอ่านหนังสือจำนวนมาก นักเรียนสามารถเลือกอ่านตำรา และเอกสารอื่นๆ ได้ โรงเรียนไม่ยึดติดการเรียนการสอนเฉพาะสำนักคิดใดสำนักคิดหนึ่ง เด็กต้องเรียนทุกสำนักคิดที่หลากหลาย สิ่งนี้เป็นหลักการจัดการเรียนการสอนที่สำคัญเพื่อจะสร้างเด็กให้มีวุฒิภาวะ

“สิ่งที่อาจารย์ธงชัยแนะนำมีคุณค่าหลายเรื่อง เราค้นพบว่าเด็กทั่วโลกที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนต่างๆ มีอาการไม่ต่างจากเด็กบ้านเรา ทุกคนเบื่อ เพราะเนื้อหาสาระมีจำนวนมาก ท่องเนื้อหาไม่ไหว ทั้งนี้ ยังค้นพบว่าการเรียนประวัติศาสตร์ต้องมีรากฐานการเรียนภาษา ต้องเรียนวรรณกรรม ต้องมีภาษาศิลป์ที่แข็งแรง การเรียนเรื่องเหล่านี้จะทำให้เมื่อเด็กไปศึกษาวิชาที่มีเนื้อหาจำนวนมากอย่างวิชาประวัติศาสตร์ จะทำให้ไปไกลและจับประเด็นได้ ซึ่งอาจารย์ธงชัยเน้นย้ำอย่างมากว่าโรงเรียนไม่ควรทิ้งเนื้อหาประวัติศาสตร์สำนักใดสำนักหนึ่ง ตำราของ สพฐ.มีประโยชน์ มีคุณค่า

ดังนั้น อย่าทิ้ง ต้องให้เด็กเรียนทุกสำนัก โดยมีจุดมุ่งหมายในการสอน คือทำอย่างไรให้เด็กเกิดความใคร่รู้ แต่เมื่อมีภาพข่าวเผยแพร่ไป กลายเป็นว่าโรงเรียนนำอาจารย์ธงชัยมาล้างสมองเด็ก ซึ่งเราอดเสียใจไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำกับสิ่งที่ข่าวออกไป เป็นคนละเรื่อง” รศ.ดร.อนุชาติกล่าว

สาธิตฯมธ.ยืนยัน เชิญผู้มีความรู้หลากสาขา ไม่เกี่ยวแนวคิดทางการเมือง ล่าสุด ศรีนวล ขำอาจ รับเชิญในตอน ขานไขลำตัด ครั้งที่ 1 กับแม่ศรีนวล ศิลปินแห่งชาติ โดยโพสต์ภาพผ่านเพจ ‘ลำตัดหวังเต๊ะ-เเม่ศรีนวล’ พร้อมข้อความ ‘มาที่นี่รู้สึกดี ไม่รู้สึกกดดันหรือเป็นกังวล เด็กแต่ละคนสบาย ๆ ครูบาอาจารย์ก็สบายๆ เหมือนรู้จักกันมานาน เหมือนได้มาเจอยาย…” เมื่อ 4 ก.พ.

เปล่าเชิญแค่ ‘ธงชัย’ ลำตัดก็มี ปราชญ์ชาวบ้านก็มา

ไม่เกี่ยว ‘วิธีคิดทางการเมือง’

จากประเด็นการเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย มาให้คอมเมนต์ จนถูกขีดเส้นใต้ให้จับตา รศ.ดร.อนุชาติ บอกว่า นักวิชาการที่โรงเรียนเชิญมานั้น เป็นการให้ความรู้แลกเปลี่ยนความคิดในการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับวิธีคิดทางการเมืองของตัวบุคคล เพราะโดยปรัชญาของโรงเรียนสาธิต มธ.คือร่วมสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งการพูดคุยกับนักเรียนพบว่านักเรียนเคารพความแตกต่างหลากหลาย ไม่ตัดสินคนด้วยวิธีคิดทางการเมือง และไม่ตัดสินคนจากความเชื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ที่จะแยกสถาบันการศึกษาและการเมืองให้ออกจากกัน

“ที่ผ่านมาโรงเรียนได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์พิเศษจากภายนอก ปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมแลกเปลี่ยนวิธีคิดและการจัดการเรียนการสอน อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาโรงเรียนเชิญ คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงลำตัด มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิด ให้ความรู้เรื่องเพลงลำตัดและศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางโรงเรียนทำเป็นปกติอยู่แล้ว และด้วยความที่เป็นโรงเรียนสาธิตจะต้องพัฒนาวิชาการ และการพัฒนานวัตกรรมจัดการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ทำวิจัย จัดอบรมสัมมนาให้กับบุคลากรมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยในห้องเรียน วิจัยในประเด็น และหัวข้อต่างๆ ซึ่งจะเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้เป็นช่วงๆ” รศ.ดร.อนุชาติอธิบาย

ท่องจำ ทำตามสั่ง การศึกษาแบบ ‘อำนาจนิยม’ ทำ ‘บิ๊กตู่’ ไม่เก็ต!

อีกประเด็นน่าสนใจในกรณีนี้ คือการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี จุดประเด็นนี้ขึ้นมา งานนี้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ รั้วธรรมศาสตร์ จัดหนักด้วยการตั้งคำถามว่า

“ไม่ทราบไปฟังมาจากไหน?” จึงมากล่าวหาสาธิต มธ.ว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์

พร้อมจี้ใจดำไปยังปัญหาหลักของการศึกษาไทยว่า เป็นการ ‘เอาแต่สอนให้ท่องจำและทำตามอาจารย์สั่ง’ พูดง่ายๆ คือ เป็นการศึกษาแบบ ‘อำนาจนิยม’ ซึ่งนอกจากจะไม่อาจทำให้ประเทศไทยเกิดกำลังทางความคิด และสติปัญญา ไม่อาจพาประเทศไทยไปไหนได้ แล้วก็ยังเป็นการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยเพราะเป็นการศึกษาแบบสอนให้คนเชื่อฟังผู้มีอำนาจ แม้ว่าอำนาจนั้นจะได้มาโดยมิชอบ การปฏิวัติรัฐประหารถึงยังไม่หมดไป และประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเสียที

ผศ.ดร.ปริญญา ย้ำว่า โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ “สาธิต” การศึกษาแบบให้นักเรียน “คิด” และมีวินัยแบบ “รับผิดชอบ” ทั้งต่อตนเอง ต่อคนอื่น และต่อส่วนรวม

“…เป็นการศึกษาเพื่อสร้างสติปัญญา ไม่ได้สอนให้ทำตามสั่ง จึงย่อม แตกต่างไปจากการศึกษาแบบที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยได้รับการศึกษามา เราจึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมท่านนายกรัฐมนตรีจึงไม่เข้าใจ
แต่ที่ไม่เข้าใจเลยคือ ที่ท่านนายกรัฐมนตรี ไม่ทราบไปฟังมาจากไหน หรือไปอ่านเฟซบุ๊กใครมา มากล่าวหาว่าโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์บิดเบือนประวัติศาสตร์ และสถาบันฯ ทั้งๆ ที่เขาแค่สอนให้คิด ให้ตั้งคำถาม และให้มีวินัยแบบคิดเอง และรับผิดชอบต่อส่วนรวม ท่านยังไม่ได้ตรวจสอบอะไรเลยก็พูดผิดๆ ไปแล้ว เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีอย่างยิ่งต่อเยาวชน จะว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่ได้ เพราะท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรีนะครับ

หน่วยงานที่ท่านสั่งให้จับตา ก็คงลำบากใจ เพราะรู้ว่าเรื่องจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูด ทั้งหมดนี้ ผมกล่าวในนามอาจารย์ธรรมศาสตร์คนหนึ่ง เพราะไม่ได้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ก็ขอให้หน่วยงานที่จะมาจับตาก็ช่วยจับตา และกลับไปบอกท่านนายกว่าท่านพูดผิด และโปรดตรวจสอบข้อมูลก่อนจะพูดอะไรนะครับ” ผศ.ดร.ปริญญาฟาดอย่างสุภาพผ่านแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กตั้งแต่วันที่นายกฯเผยต่อสื่อ

กิจกรรมหลากหลายของสาธิต มธ. ที่เน้นให้ ‘คิดเป็น’ ไม่ใช่แค่ท่องจำ และทำตามครูสั่ง

เฉดไหนไม่เกี่ยว ความมุ่งมั่นเดียวคือคุณภาพ ‘พลเมืองโลก’

ในช่วงเวลาเดียวกัน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่คอการเมืองอาจคุ้นตาในฐานะ ‘นายประกัน’ นักโทษทางความคิดในม็อบคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยืนยันอีกเสียงว่า ทั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคนที่มีอุดมการณ์ความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายแทบจะทุกเฉดสี แต่ไม่ว่าจะเฉดสีใด หรือแสดงออกในพื้นที่ส่วนตัวอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นเสมอคือ การสร้างให้นักเรียนและนักศึกษาเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ พร้อมๆ กับการมีจิตสำนึกที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของสังคมและบริบทเฉพาะที่พวกเขาดำรงชีวิต

“ถ้าใครมีโอกาสได้มาสังเกตการณ์ชั้นเรียน ไม่ว่าจะในระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท ก็จะรู้ว่า ครูอาจารย์ทุกคนพยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เป็นมิตร เปิดกว้าง และปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาฝึกฝนความสามารถในการคิดวิเคราะห์บนหลักการและเหตุผลได้ด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกัน เราก็พยายามส่งเสริมให้พวกเขาพัฒนาคุณภาพความเป็นมนุษย์ในการรับรู้ทุกข์สุขของผู้อื่นอยู่เสมอ

คณะและโรงเรียน ถูกสร้างขึ้นด้วยเป้าหมายของการสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน เราเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนในยุคนี้ไม่ใช่คนที่จะยอมให้ใครมาจูงจมูกหรือหลอกลวงได้ง่ายๆ เพราะพวกเขามีทางเลือกของการค้นหาข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตัวเองมากมาย หน้าที่ของครูอาจารย์จึงเป็นดั่งเพื่อนร่วมการเรียนรู้ที่คอยตั้งคำถาม และชวนให้พวกเขาคิดต่อทั้งในระดับกว้างและระดับลึก

เราเชื่อมั่นในฐานะคนทำงานด้านการศึกษาว่า ประเทศชาติจะก้าวพ้นจากวิกฤตและพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ก็ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ และหน้าที่ของพวกเราในฐานะครูอาจารย์ก็คือ การส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตเต็มศักยภาพ เป็นมนุษย์ที่รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม รู้จักรับผิดชอบ และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อให้การมีชีวิตอยู่ของพวกเขาแต่ละคนมีคุณค่าและมีความหมายโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับหรือกำหนดให้เป็นไปตามที่ต้องการ” คือข้อคิดข้อเขียนของ ผศ.ดร.อดิศร ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งค่าสาธารณะ

การศึกษาสร้างสรรค์เกิดได้ ‘ถ้ารัฐไม่แทรกแซง’

ปิดท้ายด้วยความเห็นจากนอกรั้วแม่โดม ผายมือไปยังสำนักสามย่าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ออกมาชำแหละกายวิภาคการศึกษาไทยอย่างน่าสนใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

สำหรับกรณีนี้ ผศ.อรรถพล มีคอมเมนต์ว่า วิชาเลือกหลากหลายทั้งที่โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอื่นๆ การจัดโปรแกรมเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่หลากหลาย ทั้งที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และโรงเรียนเอกชนอย่างกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นต้น คือหลักฐานยืนยันว่า ความหลากหลายและการออกแบบทางการศึกษาที่สร้างสรรค์ ทันสมัย น่าสนใจ เกิดได้ในทุกพื้นที่ที่อำนาจรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง กะเกณฑ์ กำกับ ควบคุม

“ขอเพียงให้โรงเรียนได้มีอิสระทางวิชาการ (ไม่ใช่แค่ในฐานะนิติบุคคล) เป็น ร.ร.ที่ไม่ดึงครูไปทำแต่งานโรงเรียน จนไม่ได้โฟกัสไปที่งานสอน ครูเราทำได้ โรงเรียนบ้านเราทำได้ ครูในโรงเรียนที่ว่ามาข้างต้นจำนวนไม่น้อยก็จบมาจากสถาบันเดียวกับครูที่สอนตามโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่เป็นเมนสตรีม ตอนร่ำเรียนมาก็ไม่ได้ต่างกันมากๆ แต่ทำไมพอไปถึงหน้างาน ได้แสดงศักยภาพต่างกันมากๆ

นั่นยิ่งแสดงว่าเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องไอเดีย หรือความสามารถในการออกแบบหลักสูตร รายวิชา กิจกรรม แต่มีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระทางวิชาการ การควบคุม แทรกแซง กำกับติดตาม และการออกแบบภาระงานที่ทำให้ครูมัวสาละวนกับงานโรงเรียน (School Work) ซึ่งควรมีครูธุรการหรือพนักงานธุรการเต็มเวลา รวมทั้งสารพัดโครงการที่ต้นสังกัด กระทรวงอื่นๆ เและหน่วยงานภายนอกมะรุมมะตุ้มรุมรัก (แต่กลายเป็นทำร้าย) โรงเรียน วิเคราะห์และ identify โจทย์ผิด ต่อให้หา solution ไปอีก 100 แนวปฏิบัติ ก็ยังกอบกู้แก้ไขได้ยาก เพราะสาเหตุแท้จริงแห่งปัญหาไม่ถูกจัดการ” ผศ.ดร.อรรถพลโพสต์

นี่คืออีกเหตุการณ์ที่สะท้อนแนวคิดบางประการของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยุคที่โลกก้าวไปข้างหน้าแต่การศึกษาไทยยังคอยแต่จะถูกฉุดรั้งด้วยเหตุผลไม่เข้าท่าเข้าทางอย่างเหลือเชื่อ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image