‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ชื่อศักดิ์สิทธิ์ของบางกอก ตั้งให้สอดคล้อง ‘พระแก้วมรกต’

‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ชื่อศักดิ์สิทธิ์ของบางกอก ตั้งให้สอดคล้อง ‘พระแก้วมรกต’
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (ภาพจากวารสารวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์อย่างมิได้นัดหมายในวันมาฆบูชา เมื่อมีข่าวกรณีมติ ครม.ประกาศชื่อ กทม. เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) ตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ กระทั่ง ราชบัณฑิตฯ ต้องชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจกลางดึก หลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ยังสามารถใช้ได้ทั้ง 2 ชื่อเช่นเดิม

ทำเอาความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมืองแห่งมหานครกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง จาก ‘บางกอก’ ที่ชาวตะวันตกใช้ว่า Banckocq และ BANKOC ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา สู่ Krung Thep ในวันนี้

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ภาพถ่ายจากเครื่องบิน โดย Peter Williams Hunt เมื่อ พ.ศ.2489

รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว เคยนำเสนอประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ในหลากแง่มุมหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งในตอนที่ออนแอร์ล่าสุดที่มีชื่อว่า ‘การเมืองเรื่องพระแก้วมรกต พระพุทธรูปฝีมือช่างลาวโยนก ไม่อินเดีย’ ก็ยังมีความเกี่ยวข้องชนิดที่ต้องขีดเส้นใต้ เพราะนาม กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยาบรมราชธานี ที่สถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ตั้งขึ้นเพื่อให้ ‘ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’

กล่าวคือ บางกอก เป็นชื่อท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียกขาน

Advertisement

กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เป็นนามศักดิ์สิทธิ์แบบอุดมคติที่สืบมาจากกรุงศรีอยุธยา

กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เป็นนามศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐ์สร้อยคำขึ้นให้สอดคล้องต้องกับพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

“…ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร แลสมโภชพระอารามกับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเป็นกำหนด จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริสำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้…”

Advertisement

คือข้อความจาก ‘ตำนานพระแก้วมรกต’ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็นพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พิมพ์ในหนังสือ ตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร (พ.ศ.2504) กล่าวถึงพระราชพิธีตอนสถาปนานามพระนครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถาน กรมศิลปากร ‘รุ่นพี่คณะโบราณคดี’ ของ ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ หยิบยกมาไว้ใน ‘คำนำเสนอ’ ของหนังสือ พระแก้วมรกต ที่เพิ่งจัดพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดย สำนักพิมพ์มติชนเช่นเดิม

ตัดภาพมายังรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว อดีต 2 กุมารสยาม เปิดประเด็นบอกเล่าเรื่องราวของ พระแก้วมรกต ณ ท่าน้ำวัดแดงธรรมชาติ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ที่หลายคนอาจสงสัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปสำคัญของประเทศอย่างไร?

(จากซ้าย) เอกภัทร์ เชิดธรรมธร, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศทอด น่องท่องบางธรณีที่ศาลาท่าน้ำวัดแดงธรรมชาติ

แน่นอนว่า ถ้าไม่มีแผนที่ประกอบคำอธิบาย ไม่ใช่รายการของขรรค์ชัย-สุจิตต์ ซึ่งให้ความสำคัญกับโลเกชั่น ภูมิศาสตร์ แม่น้ำ ลำคลอง ฯลฯ เป็นอย่างยิ่ง

“เรานั่งอยู่ที่วัดแดงธรรมชาติ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างใหญ่ไพศาล ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ สนามบินน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำขบวนเรือมารับพระแก้วมรกต ปรากฏในหมายรับสั่งโดยเรียกว่า บางธรณี

หลวงพ่อพระบางธรณี อัญเชิญจากวัดบางธรณี (ร้าง) ในกระทรวงพาณิชย์มาประดิษฐานที่วัดตำหนักใต้

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมกันชี้แจงถึงความเป็นมาเป็นไปว่าทำไมจึงเลือกปักหมุดที่นี่ นั่นคือ บางธรณีในอดีต หรือสนามบินน้ำในวันนี้ ก่อนชี้พิกัดแบบชัดๆ ถึงบางธรณีใน ‘หมายรับสั่ง’ ยุคพระเจ้าตาก

“จุดตรงข้ามวัดแดงธรรมชาติ คือที่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ เหนือกระทรวงพาณิชย์ขึ้นไปเป็นที่ตั้งของวัดตำหนักใต้ โดยเชื่อว่า สร้างขึ้นหลังจากพระเจ้าตากมารับพระแก้วมรกตแล้วสร้างตำหนักตรงนั้น ระหว่างวัดตำหนักใต้กับกระทรวงพาณิชย์ มีคลองสายหนึ่ง ชื่อ คลองบางธรณี สมัยพระเจ้าตาก เรียกย่านบางธรณี มีวัดบางธรณี ตำแหน่งนี้อยู่ในหมายรับสั่ง ว่าทรงจัดขบวนเรือจากกรุงธนบุรีมารับพระแก้วมรกต 246 ลำ ยังไม่นับเรือราษฎร ตำรวจ มหาดเล็ก เชื่อว่ารวมแล้วเป็นพันลำ มีการสมโภชยิ่งใหญ่ โดยเอาเรือสำปั้นบรรทุกโขนของหลวงรักษาสมบัติ มีงิ้วของพระยาราชาเศรษฐี มีละครไทย ละครเขมร 1 ลำ ปี่กลองจีน 1 ลำ ญวนหก 1 ลำ หุ่นลาวลงเรือกอและ 1 ลำ ชวา 1 ลำ มโหรีไทย มโหรีฝรั่ง ฯลฯ”

2 วิทยากรอาวุโสพรรณนาจากเอกสารโบราณอย่างเห็นภาพ

ถามว่า ทำไมพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องเสด็จออกมารับพระแก้วมรกตด้วยพระองค์เอง ณ จุดนี้ ไม่ใช่จุดอื่น

แม่น้ำเจ้าพระยาอันกว้างใหญ่หน้าวัดแดงธรรมชาติ นนทบุรี ย่าน ‘บางธรณี’ ในอดีตซึ่งพระเจ้าตากเสด็จพร้อมขบวนเรือมารับพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์

“เชื่อว่าส่วนหนึ่งเพราะเป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยากว้างขวาง และชื่อบางธรณีน่าจะมีความสำคัญ แต่ยังหาคำอธิบายที่ถูกใจไม่พบ คำถามที่ยังตอบไม่ได้คือทำไมเรียกบางธรณี ฟังแล้วชื่อทันสมัยเหลือเกิน ไม่ใช่ชื่อใหม่ ต้องเป็นชื่อที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า เพราะสมัยพระเจ้าตากเรียกบางธรณีแล้ว สิ่งเดียวที่ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องคือ แม่พระธรณีบีบมวยผมซึ่งในโบสถ์เก่าวัดชมพูเวก นนทบุรี มีจิตรกรรมฝาผนังภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมที่งามที่สุด สมัยพระเจ้าตาก ต้องเป็นวัดสำคัญมาก เพราะปกติแล้ววัดทั่วไปไม่มีจิตรกรรม แต่นี่เป็นจิตรกรรมฝีมือชั้นยอด ไม่ใช่ธรรมดา

บริเวณวัดคงเป็นชุมชนมอญมาแต่ครั้งกรุงเก่าและเป็นที่รับรู้กว้างขวางเกี่ยวกับแม่พระธรณี ขอชวนให้มาช่วยกันคิดว่าเป็นไปได้ไหมว่าชื่อบางธรณีเกี่ยวกับแม่พระธรณีบีบมวยผมซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำ” สุจิตต์ ฝากไว้ให้แฟนๆ รายการช่วยกันขบคิด

จิตรกรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผมในอุโบสถวัดชมภูเวก

จากนั้นเชื่อมโยงต่อไปว่า แม่พระธรณีบีบมวยผมเกี่ยวข้องกับน้ำ กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พญามารวัสดีและกองทัพมารเข้ารบกวน พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาอ้าง ‘ธรณี’ เป็นพยาน จากนั้นมีเสียงดังกัมปนาท แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น แม่พระธรณีปรากฏกายเป็นพยานเอก แสดงการบิดน้ำจากมวยผมเพื่อแสดงให้เห็นถึงกุศลที่พระพุทธองค์กระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ จนน้ำที่กรวดลงบนพื้นแล้วแม่ธรณีรับไว้นั้นมากมายมหาศาล พัดเอาเหล่าพญามารกระจัดกระจายหายไป

ในขณะที่พระแก้วมรกตในตำนานก็ระบุว่าพบเมื่อฟ้าผ่า กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ คือ น้ำ เช่นกัน ประกอบกับการสื่อสัญลักษณ์บุญบารมีของพระเจ้าตากว่าจะทรงนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์สู่แผ่นดินนั่นเอง ดังนั้น นี่คือการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา

“ศาสนาในโลก ล้วนมีการเมืองมาข้องเกี่ยวทั้งสิ้น ตั้งแต่ศาสนาผี จนถึงพราหมณ์ รวมถึงพุทธ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งทรงใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมือง พระแก้วมรกตถูกสถาปนาให้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารไม่ขาดแคลน ดังนั้น พระราชาทั้งหลายพยายามอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตัวเองเพื่อบำรุงอาณาประชาราษฎร์” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ วิเคราะห์ ก่อนเจาะถึงตำนาน เส้นทางและศิลปกรรมโดยยืนยันว่าไม่ใช่ฝีมือช่างอินเดียอย่างแน่นอน

“ตำนานที่ทั้งพูดและพิมพ์กันมา บอกว่าพระแก้วมรกตสร้างโดยพระอินทร์ พระนาคเสนเถระในอินเดียต้องการสร้างพระพุทธรูป พระอินทร์จึงไปหาแก้วมาให้และสร้างขึ้นมา ปรากฏในภาพพระบฏวัดหงส์รัตนาราม บอกว่า สร้างที่อินเดียเสร็จ ก็ไปลังกา จากลังกาไปนครธม อโยธยา แล้วไปกำแพงเพชร นี่คือเรื่องในตำนาน จุดที่ 4 ไปเชียงราย ลำปาง และเชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ธนบุรีแล้วเข้ากรุงเทพฯ นี่คือเส้นทางตามตำนาน

แต่อินเดียไม่มีพระแก้วมรกต รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า พระแก้วมรกตเป็นฝีมือช่างลาว ไม่ใช่อินเดีย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่าฝีมือช่างที่พบในจังหวัดพะเยาเป็นฝีมือแบบเดียวกับที่สร้างพระแก้วมรกต”

ในตอนท้าย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการเอ่ยคำถามสำคัญที่หลายคนคงอยากรู้เช่นกัน ว่าเหตุใดพระแก้วมรกตจึงได้รับความศรัทธาสูงมาก แม้ไม่ใช่พระแก้วเพียงองค์เดียวของประเทศ

ก่อนได้คำตอบว่า มีเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน ข้อแรกคือ เพราะสร้างจากหินสีเขียว แกะเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีบุบสลาย ต่างจากพระแก้วองค์อื่น เช่น พระแก้วขาว สร้างจากหินสีขาว ข้อต่อมา คือ ตำนานพระแก้วมรกต ซึ่งยิ่งสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เพิ่มมากขึ้น

“เส้นทางต่างๆ ส่งผลให้เกิดความเชื่อว่า ผี รักษาพระแก้วมรกต เริ่มจากการพบขณะฝนตก ฟ้าผ่า เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งการอัญเชิญจากเชียงรายไปลำปาง มีคำบอกเล่าว่า ไปโดยหลังช้าง ตอนแรกจะอัญเชิญไปเชียงใหม่ แต่ช้างไม่ยอมไป ช้างจะไปลำปาง ซึ่งจริงๆ คือเรื่องการเมือง” สุจิตต์ เล่า ก่อนยิ้มอ่อนพร้อมทิ้งท้ายเบาๆ แต่เนื้อความหนักแน่นว่า

ในนิทานมีการเมืองซ่อนอยู่

——

ล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์
เส้นทาง ‘พระแก้วมรกต’ ก่อนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

พระแก้วมรกตเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ลังกาใหม่’ หมายพุทธศาสนาสืบตรงจากอินเดีย ขณะที่ พระพุทธสิหิงค์ คือสัญลักษณ์ของ ‘ลังกาเก่า’ หมายถึงพุทธศาสนาสืบจากลังกา เป็นฝีมือช่างเชียงราย-พะเยา ในช่วงราว พ.ศ.1900 พบครั้งแรกเมื่อเจดีย์ที่เมืองเชียงรายถูกฟ้าผ่า

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพุทธศักราช 1979 ปี คริสต์ศักราช 1436 ปี พระแก้วมรกตองค์นี้อยู่ในพระสถูปใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย

ครั้งนั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงแล้ว ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั้งองค์ ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปวัดแห่งหนึ่ง”

ครั้นต่อมา พระเจ้าสามฝั่งแกน แห่งเชียงใหม่ อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงรายไปเชียงใหม่โดยหลังช้างแต่ไม่สำเร็จ เพราะ “ช้าง” วิ่งตื่นไปทางเมืองลำปาง จึงต้องพักประดิษฐานไว้ที่เมืองลำปาง

กระทั่งรัชกาลพระเจ้าติโลกราช อัญเชิญจากเมืองลำปางไปเชียงใหม่อีกครั้ง ประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง นานถึง 85 ปี

จากนั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งล้านช้าง เมื่อครองนครเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปยังหลวงพระบางหลายพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2095 หนึ่งในนั้นคือ พระแก้วมรกต ซึ่งต่อมามีการอัญเชิญไปยังเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ.2107 แล้วประดิษฐานอยู่นานถึง 215 ปี

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา) ตีได้เมืองเวียงจันทน์ เชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2322

พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตาก เสด็จมารับ ณ ‘บางธรณี’ มีการสมโภชตั้งแต่ท่าเจ้าสนุก, สามโคก, บางธรณี จนถึงวัดอรุณราชวรารามและวัดโพธิ์ ริม 2 ฝั่งเจ้าพระยา โดยประดิษฐานไว้ชั่วคราวในโรงพระแก้วมรกต ที่วัดอรุณราชวราราม

ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงเทพฯ แล้วสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานใน พ.ศ.2327 สืบมาถึงปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image