‘ผมว่าคนไทยยังดูละครไทย’ ความในใจ กังฟู นิติวัฒน์ กลางสมรภูมิคอมเมนต์ที่‘สั่งคัต’ไม่ได้

“ก็เป็นแรงผลักดันที่อยากให้ทำงานดีๆ ออกมา นี่พูดจริงๆ เลยนะ ไม่ได้พูดเอาหล่อ”

ไม่ใช่บทพูดของพระเอกในละครไทยเรื่องใด ทว่า คือคำในใจของ ‘กังฟู’ นิติวัฒน์ ชลวณิชสิริ ผู้กำกับละครไทยตัวจริงเมื่อถูกยิงคำถามถึงประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ ‘คนไทยไม่ดูละครไทย’ที่ลุกพรึบหลังนักแสดงชื่อดัง ต่อ ธนภพ กล่าวประเด็นดังกล่าวในรายการ The Driver เผยแพร่ในยูทูบ เนื่องด้วยมีเนื้อหาที่ชาวเน็ตมองว่าเป็นการ ‘โทษคนดู’ ว่าไม่สนับสนุนทั้งที่คนทำ ‘แ-่งเก่งหมด แล้วเก่งจริงด้วย’

ประโยคที่ว่า ‘ในฐานะนักแสดงเจ็บใจนะ ผมจี๊ดทุกครั้งเวลาที่ใครก็ตามที่บอกว่า ฉันไม่ดูละครไทย ฉันไม่ดูหนังไทย คือบางครั้งแค่เป็นคำถามเล็กๆ ว่า เราผิดอะไร’ ของพระเอกหนุ่มนำไปสู่การร่วมกันหาคำตอบของคำถามนี้อย่างกว้างขวาง หากตัดประเด็นเรื่องสำนวนภาษาที่วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน คัดสาระสำคัญจากอักษรที่ถูกพิมพ์ผ่านคีย์บอร์ด สุ้มเสียงมากมายคาใจถึง ‘บทโทรทัศน์’ หรือบทละคร จนถึงบทภาพยนตร์ว่าคุณภาพไม่เพียงพอ

ไหนจะฉากแนวตบตี เนื้อหาแนวยื้อแย่งสามี มุกตลกไม่มีสาระ จนถึงผีที่โผล่มาแบบไม่ค่อยสมเหตุสมผล ฯลฯ

Advertisement

แม่ผัว ลูกสะใภ้ รัก ตลก ผี

ทั้งหมดนี้ ล้วนเคยผ่านมือ กังฟู มาแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะผู้กำกับละครจอแก้ว และผู้กำกับภาพยนตร์จอเงิน

อาทิ ‘กะปิ ลิงจ๋อไม่หลอกจ้าว’ ที่มีลิงเป็นตัวเอก โดยมี หม่ำ จ๊กมก เทพ โพธิ์งาม และตุ๊กกี้ ชิงร้อยเป็นนักแสดงสมทบชวนหัวเราะท้องแข็งกันทั้งโรงเมื่อปี 2553

Advertisement

หนึ่งในผู้กำกับ ‘ตีสาม Aftershock’ หนังผี 3 เรื่อง โดย 3 ผู้กำกับชวนสยองปนฮาเมื่อปี 2561

ผันตัวมากำกับละครเรื่องแรก ‘ผู้กองยอดรัก’ เวอร์ชั่น เต๋อ-มาร์กี้ ทางช่อง 3 หลังรัฐประหารโดยทหารในนาม คสช.ไปหมาดๆ เมื่อปี 2558

จนมาถึงละครเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเริ่มถ่ายทำอย่าง ‘นางนาค สะใภ้พระโขนง’ ที่ไหว้ศาลย่านาค ณ วัดมหาบุศย์ เอาฤกษ์เอาชัยก่อนเปิดกล้องเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งผู้กำกับการันตีความ ‘ครบรส’

“ถามถูกคน เพราะเป็นผู้กำกับละครที่คลิเช่สุดสุด”

กังฟู กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนยืนยันว่าไม่น้อยใจในกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำ แม้คนทำละครแนวที่ถูกตั้งคำถามกระทั่งค่อนแคะเสนอมาว่าเป็นเหตุผลที่ ‘ไม่ดู’

“ไม่น้อยใจ แต่บางทีก็สะเทือนใจนะว่าโดนเพ่งเล็งแล้ว เอาอีกแล้ว แค่รู้สึกว่า เราก็พยายามทำเต็มที่ในสิ่งที่ทำ คนบอกว่าเรื่องนี้ดีอย่างนี้ เรื่องนั้นดีอย่างนี้ ผมก็คิดว่า เดี๋ยวคอยดูนะ เราจะทำงานที่ดี ที่คนชอบให้ได้ มีคนดู มีคนด่า ดีกว่าไม่มีคนสนใจ”

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมละครไทยต้องมีฉากวิวาทกรี๊ดกร๊าดจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ ผู้กำกับท่านนี้ให้คำตอบว่า

“ทำไมต้องมีฉากตบตี ทำไมต้องมีฉากอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ต้องบอกว่ามันคือความบันเทิง จริงๆ ก็พยายามเลี่ยงให้มากที่สุด แต่บางอย่างต้องมี เพื่อให้เรื่องมันสนุก ตอนผมทำหนัง ก็เป็นแนวตลก ทำให้คนไทยดูง่าย ย่อยง่ายสุด ผมเรียนจบภาพยนตร์มาชอบงานศิลปะ ชอบหนังแบบพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ แต่ละครที่สนุกก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนดูมีความสุข โดยสอดแทรกภาษาภาพยนตร์ลงไปในนั้นบ้าง”

ก่อนจะนั่งเก้าอี้ผู้กำกับ เคยนั่งหน้าจอรอดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณที่กลายเป็นส่วนสำคัญในความทรงจำวัยเยาว์ อย่าง ‘ขวานฟ้าหน้าดำ’ ก่อนเป็นวัยรุ่นยุค พริกขี้หนูกับหมูแฮม ทางช่องน้อยสี ก่อนมีช่องทางหลากหลายให้เสพความบันเทิงดังเช่นทุกวันนี้

“ดูแล้วอินไปกับโลกในจินตนาการ เป็นตัวเทียบกับตัวเองตอนเด็ก สนุกไปกับการผจญภัยของเขา พอเป็นวัยรุ่นขึ้นมาหน่อยก็ดูพริกขี้หนูกับหมูแฮม พี่ก้อง สหรัถ กับพี่หมิว ลลิตา”

แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปสู่ยุคไหนๆ หนึ่งประโยคจากผู้กำกับคนนี้ที่กล่าวถึงตัวเองอย่างเรียบง่ายว่า

“เป็นคนอยากทำให้คนมีความสุข” ก็สะท้อนสิ่งสำคัญก่อนจะไปถึงบทสนทนาในบรรทัดถัดไป

⦁สาเหตุที่คนไทยไม่ดูละครไทย มีคนบอก สาเหตุหลักไม่ใช่โปรดักชัน แต่คือบท ส่วนตัวมองอย่างไร?
จริงๆ ผมว่าคนไทยยังดูละครไทยอยู่นะ คนต่างจังหวัด ช่อง 3 ช่อง 7 เขายังดูอยู่ สำหรับกระแสในโซเชียล คิดว่าเป็นความเห็นของคนเมืองที่ดูเน็ตฟลิกซ์ หรือช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แต่ผมยังเชื่อเสมอว่า ยังไงคนไทยก็ยังดูละครไทยอยู่ แต่อาจเป็นรุ่นคุณพ่อคุณแม่คุณตาคุณยาย วัยรุ่นก็ยังดูอยู่บ้าง

⦁คิดว่ากระแสนี้มาจากมุมมองชนชั้นกลางในเมืองหรือคนรุ่นใหม่มากกว่า?
ใช่ๆ แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังดูละครไทยนะ แต่คำว่าละครไทยที่เขาเข้าใจมันคืออะไร บางทีเขาอาจรู้สึกว่าซีรีส์ที่ดูคือซีรีส์ แต่จริงๆ แล้วทั้งละครและซีรีส์ก็คือละคร เลยไม่รู้ว่าละครของเขาหมายถึงอะไร

⦁การเข้ามาของเน็ตฟลิกซ์ หรือซีรีส์เกาหลีที่เข้ามาก่อนหน้า นำไปสู่การลดความนิยมของละครไทยในกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง หรือกลุ่มคนดูเป็นคนละกลุ่มกันอยู่แล้ว?
จริงๆ แล้วซีรีส์เกาหลีที่เข้ามา เป็นสิ่งที่ดี ทำให้คนทำละครพยายามสร้างผลงานของตัวเองให้ดีที่สุด เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เราพัฒนาตัวเองเพื่อคนดู คนทำก็พยายามทำให้ได้เหมือนที่เกาหลีทำ มีการพูดคุยเสมอในที่ประชุมว่าอยากทำให้ดีเหมือนที่คนไทยคาดหวัง เหมือนที่ชนชั้นกลาง หรือคนในเมืองอยากดู เราแคร์ความรู้สึกของเขา

⦁แล้วอุปสรรคของความพยายามคืออะไร โดยภาพรวมจึงถูกมองว่ายังไปไม่ถึง?
คงเป็นเรื่องของงบประมาณ ทางผู้สร้างก็พยายามทำเต็มที่แต่ต้องยอมรับก่อนว่าตลาดบ้านเรากำลังขยายกลุ่มออกไปในเอเชียมากขึ้น ถ้าออกไปแบบเวิลด์ไวด์ได้จริงๆ คนจีนดู คนเกาหลีชอบ ทุนที่สร้างมันก็จะเยอะขึ้น เพราะเมื่อทำแล้วไม่ขาดทุน ทำแล้วขายได้ ผู้ลงทุนก็จะให้งบในการผลิตมากขึ้น ทุนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คุณภาพในการสร้างออกมาดี ซึ่งจากทุนที่ได้และการสร้างผลงานออกมาในทุกวันนี้ก็ถือว่าทำได้เต็มที่แล้ว ถ้าเราสามารถนำละครไปขายต่อเหมือนที่เกาหลีทำได้ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนกล้ามากขึ้น

•คนดูจำนวนมากคอมเมนต์ว่าควรพัฒนาบทให้สมจริง มีมิติชั้นเชิง ตัวละครไม่แบนราบ เช่น เนื้อหาที่เกี่ยวกับอาชีพ ต้องลึกซึ้ง ในขณะที่ละครไทยไม่สมจริง?
ผมว่าบทเราดีนะ คนเขียนบทก็เขียนมาโอเค เท่าที่อ่านบทละครแต่ละเรื่องมา ค่อนข้างเขียนได้ดี บทละครไทยสู้บทละครที่อื่นๆ ได้เยอะเลย แต่บางทีต้องรีบถ่าย รีบเปิดกล้อง และอีกหลายปัจจัย บางทีบทกับการสร้างก็มีเหตุหลายอย่างที่ทำให้พอออกมาเป็นละครแล้วคนดูอาจมองว่า อาชีพนั้นไม่ได้เป็นอย่างนี้ ซึ่งถ้าอยากทำให้สมจริงตามที่อาชีพนั้นเป็นจริงๆ มันจะไปอยู่กับสารคดีเกินไปหรือเปล่า ถ้าจะทำเพื่อเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สร้างความบันเทิง เพื่อความสนุก ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้เข้าใจในวิชาชีพที่สอดแทรกเข้าไป อาจจะมีที่ไม่ถูกใจอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา การทำละคร ทำซีรีส์ การทำหนัง หรืออะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรากำลังทำในสิ่งที่ทำให้คนดูมีความสุขกับงานของเรา ถ้าทำเรื่องหมอ ก็อยากทำเรื่องหมอที่สนุกที่สุด แต่อาจมีสิ่งที่ไม่ถูกใจคนดูแต่ละกลุ่ม ในขณะที่บางกลุ่มอาจบอกว่า ดูแล้วก็สนุกดีนะ

•สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการทำละครไทย 1 เรื่อง ให้ความสำคัญกับส่วนไหนมากที่สุด เปอร์เซ็นต์ในการให้ความสำคัญ ใครตัดสิน?
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโปรดิวเซอร์ แต่ที่ได้ยินมา กรณีภาพยนตร์ หลายที่ให้ความสำคัญกับบทมาก มีค่าตอบแทนให้คนเขียนบทอย่างสมเหตุสมผล ที่ผมเจอมา ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับบท แต่มีผู้ที่เข้ามาอยู่ในตลาดใหม่ๆ อาจไม่เข้าใจก็มี เด็กรุ่นใหม่อาจคิดว่า ค่าตอบแทนควรเป็นเท่านั้นหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันไป อาจมีคำถามว่า แล้ว ‘ค่ากลาง’ คือยังไง เลยมีการรวมกลุ่มเรียกร้อง

•ในฐานะคนทำงานกดดันไหม เวลาเกิดประเด็นในลักษณะนี้?
ตอนนี้ทำเรื่องนางนาค สะใภ้พระโขนง ช่องเวิร์คพอยท์ ซึ่งเพิ่งกลับมาทำละครอีกครั้ง พอมีกระแสอย่างนี้เกิดขึ้น ก็ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องไม่ทำให้คนดูผิดหวัง ไม่ให้เขามาว่าเราได้ ที่ผ่านมาก็มีความระมัดระวังอยู่แล้ว แต่พอมีประเด็นขึ้นมาว่าคนไทยไม่ดูละครไทย ก็ยิ่งต้องทำให้คนอยากดู ยิ่งเป็นละครพีเรียด เรื่องแม่นาคซึ่งคนทำมาเยอะ เราก็ยิ่งต้องพยายามมากขึ้น ทำให้ดีขึ้น

•ว่ากันว่า ที่ผ่านมาคนไทยชอบดูละครหรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่รู้ตอนจบอยู่แล้ว เหมือนเป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมา เวอร์ชั่นรีเมกเยอะมาก แต่ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางความคิดหลายด้าน จะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ละครรีเมกไปถึงจุดที่มีคุณภาพมากขึ้น?
การก้าวกระโดดอาจจะยาก อย่างตัวผมเองเคยทำละครเรื่องผู้กองยอดรัก ซึ่งเกี่ยวกับระบบทหาร แล้วตอนนั้นเพิ่งเกิดรัฐประหารใหม่ๆ (หัวเราะ) แต่ละครเรื่องนี้ประเด็นหลักคือความรักระหว่างพลทหารและลูกสาวนายทหาร เลยมองความสำคัญจุดนี้มากกว่า ว่านี่คือเรื่องความรัก แต่เป็นความรักที่ดันไปเกิดในค่ายทหาร นี่คือละครเรื่องแรกที่ทำ ตอนนั้นก็คิดหนัก

คิดว่าละครแนวนี้ต้องมี ให้อาม่า คุณพ่อ คุณแม่ ได้ดู แต่ยุคใหม่ ทำซีรีส์มาจากต่างดาว มีพลังจิต เขาก็มีเส้นทางของเขา เลยรู้สึกว่าอาจควบคู่กันไปได้

ซีรีส์เกาหลีก็ไม่ใช่ดีทุกเรื่อง มีทั้งดีและไม่ดี ปะปนกันไป เรื่องที่ดีก็ดังมากๆ แต่เรื่องที่ไม่ได้รับความนิยมก็มี มันก็เหมือนกับละครไทย ที่มีทั้งดีและไม่ดี เรื่องที่ดี ก็ไปต่อได้ เรื่องที่ไม่ดี คนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เห็นสนุกเลย

จริงๆ แล้วอย่าง โฮมทาวน์ ชะชาช่า ที่คนชอบกันเยอะๆ ผมว่าก็มีความเป็นละครไทยเยอะนะ

•เส้นแบ่งระหว่าง ละครที่ดี กับละครที่สนุก นิยามแตกต่างไหม บางเรื่องอาจไม่ดีในแง่คุณภาพเพื่อสังคม แต่สนุก เช่น ละครตบตีที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนดูเยอะ?
ใช่ๆ ละครที่สนุกต้องมี คนนั่งกินข้าวกันในครอบครัว พ่อแม่ลูกเปิดทีวีดู อย่างตอนทำผู้กองยอดรัก ผมดีใจมากที่มีคนส่งข้อความมาขอบคุณที่ทำละครเรื่องนี้ ละครดีๆ ปัจจุบันก็มีเยอะ อย่างของไทยพีบีเอส เรื่องจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี คนก็ชื่นชมมาก

•จะหาจุดกึ่งกลาง สร้างความสมดุลระหว่างความสนุกถูกจริตคนไทย กับละครคุณภาพเพื่อสังคมคุณภาพอย่างไร แบบที่ไม่ต้องกลายเป็นละครคุณธรรม?
สำหรับผมเอง บางฉากที่รุนแรงเกินไป ผมไม่ทำ เราควรเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นอันดับแรก ฉากตบตีทำร้ายกัน ถ้าทำก็ต้องให้เห็นว่าเกิดผลกระทบอะไรตามมากับตัวละครแบบนี้ มันสำคัญมากไหมที่ต้องมีฉากนี้ คนทำก็ต้องพิจารณาดูร้านอาหารมีทั้งร้านอร่อยและไม่อร่อย ร้านไม่อร่อยบางทีคนเยอะ เพราะราคาโอเค กินเพื่ออิ่ม ร้านอร่อยก็มีคนเข้า เพราะถึงราคาแพง แต่มีคุณภาพ ละครก็เหมือนกัน อยู่ที่คนดูว่าชอบที่จะเข้าร้านแบบไหน แต่เราก็พยายามทำให้ดี พยายามเอาของออร์แกนิค วัตถุดิบคุณภาพมาใส่สอดแทรก

•กรณีเกาหลีใต้รัฐบาลสนับสนุน แล้วรัฐบาลไทยที่กล่าวถึงซอฟต์เพาเวอร์บ่อยครั้ง ผลักดันมากน้อยแค่ไหน ส่วนผู้ผลิตติดเพดานอะไรหรือไม่ จึงทำให้ซอฟต์เพาเวอร์ไทยยังไม่เปรี้ยง?
ก็คงเป็นอีกอย่างที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลืออยู่มั้ง (หัวเราะ) ส่วนตัวอยากให้ซอฟต์เพาเวอร์ของเราแข็งแรง ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเหมือนหมู่บ้านที่ช่วยแก้ไขปัญหากันเอง เหมือนหมู่บ้านนั้นมีวิธีการอย่างนี้ หมู่บ้านนี้มีวิธีการอย่างนั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่จังหวัดเรียกมาคุยน่าจะดีขึ้น ที่ผ่านมาทราบว่าภาครัฐก็มีการพูดคุยว่าจะทำอย่างไรให้ซอฟต์เพาเวอร์ของเรามีพลัง ผมก็เห็นด้วยมากๆ และยังหวังให้รัฐบาลช่วยจริงๆ ผมได้ยินจากเพื่อนว่ามีการเรียกไปคุยกัน หลายคนก็มีโอกาสได้ไปคุยผ่านโปรแกรมซูมกับรัฐบาล แต่ไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้หรือไม่ คนทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์กันหมด อย่างผมเองก็ฟรีแลนซ์ อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลโปรเจ็กต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร หรือภาพยนตร์ หรืองานสื่ออีกหลายอย่างที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ หนังไทยหลายเรื่อง คนก็ดูกัน รายได้ถล่มทลาย ละคร คนก็ดู แต่ทำไมคนทำยังต้องพยายามอยู่ ถ้ารัฐบาลช่วยได้จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ

•ถ้าให้พูดอย่างเป็นรูปธรรม 1 2 3 4 อยากให้รัฐบาลช่วยอะไรบ้าง?
งบประมาณในแต่ละโปรเจ็กต์ที่เขามี ถ้ามีเงินช่วยสนับสนุนไปถึงช่องจะดีมาก เพราะรัฐก็มีการเปิดให้เขียนไปขอทุน บางโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว และมีศักยภาพที่จะไปต่อได้ ผมว่าถ้ารัฐบาลมีบุคลากรหรือแผนกที่ดูแลตรงนี้และพร้อมที่จะเข้าไปคุย ไปช่วย ไปสนับสนุนคงจะดีกว่า อย่างน้อยจะได้ไม่รู้สึกว่าเดินอย่างโดดเดี่ยว ตอนนี้ทุกคนเหมือนร้านใครร้านมัน เรายังต้องช่วยเหลือกันเองอยู่ เอาง่ายๆ เรื่องการขอโลเกชั่นถ่ายทำ ถ้าจะใช้สถานที่ราชการ การทำเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก กว่าจะได้ถ่ายทำ บางทีขอไม่ได้ ก็ต้องช่วยกันหาสถานที่ใหม่

•พอขึ้นชื่อว่ารัฐ ห่วงไหมว่าจะถูกควบคุมเนื้อหา แตะบางประเด็นไม่ได้ กลายเป็นละครในทุ่งลาเวนเดอร์?
ถ้ารัฐบาลมาช่วยจริงๆ เราก็พอรู้ว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง คงทำเรื่องของมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เพื่อให้เข้าใจชีวิต คงไม่ได้ทำแบบละครคุณธรรม ทำออกมาเดี๋ยวก็โดนด่าอยู่ดี (หัวเราะ) จริงๆ พวกละครย้อนยุคก็ยังทำได้ ถ้ารัฐช่วย หรือว่าช่วยแล้วแต่ผมไม่รู้ก็ไม่แน่ใจ แต่ผลงานที่ช่วยเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน ไม่ค่อยได้เห็น ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็มีเจตนาดีที่จะทำออกมาให้คนไทยดูอยู่แล้ว ทุกครั้งที่คุยกับผู้ดูแลช่อง หรืออย่างเมื่อวานนั่งเช็กเทปกัน ทุกคนก็มีเจตนาอยากทำให้ดี เราตั้งใจทำขนาดนี้แต่เหมือนทำกันเอง จะหาใครมาช่วยได้ไหม

•อยู่ในวงการมานาน มองพัฒนาการของละครไทยอย่างไรบ้าง สุดท้ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันไหม?
ก็ต้องเดินไปพร้อมๆ กัน ทั้งคนทำและคนดู ฟีดแบ๊กจากคนดูสำคัญเสมอ เราได้ยินประเด็นนี้มาพักหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ เสียงสะท้อนของคนดู เป็นสิ่งที่ดีเสมอ ทุกครั้งที่ทำงาน จะบอกทีมงานเสมอว่า ปัจจุบันนี้คงไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วมั้ง ที่ทำละครออนแอร์แล้วจบไปเลย แต่มีทั้งในยูทูบ และสื่ออื่นที่ดูแล้วกด pause (หยุดชั่วคราว) ได้ เวลาทำอะไรก็ตาม ควรคิดถึงเรื่องพวกนี้ด้วย ผมทำละครย้อนยุคอยู่ ปลั๊กไฟโผล่มา ก็ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องคุณภาพอย่างหนึ่งที่ต้องรอบคอบ

ไหว้ศาลย่านาค เปิดกล้องละคร ‘แม่นาค สะใภ้พระโขนง’

•นางนาคที่กำลังกำกับอยู่ แย้มนิดได้ไหม ว่าความเด็ดของเวอร์ชั่นนี้อยู่ตรงไหนในการรีเมกรอบที่นับไม่ถ้วน?
เป็นละครที่ครบรสตามสูตรโดยเล่าในอีกมุมมองหนึ่งที่ตีความว่าจริงๆ แล้วตัวละครนางนาคที่คนร่ำลือว่าเป็นผีดุร้ายนั้น จริงหรือเปล่า ความดุร้ายนี้ มาจากอะไรกันแน่ ในเรื่องนี้มีตัวละครที่เป็นแม่ผัว คือเป็นเรื่องของแม่ผัวลูกสะใภ้ ก็เข้าสู่ครรลองที่ถามมาแล้วว่าจะขยับไปมากกว่านี้ได้ไหม (หัวเราะ) เราเอามาตีความในมุมมองของลูกสะใภ้ที่เข้ามาอยู่ในพระโขนง ไม่ถูกกัน เห็นต่างกัน จนวันหนึ่งนางนาคตายทั้งกลมกลายเป็นผีที่อาจจะไม่ได้อยากทำร้ายใครก็ได้ มันเกิดอะไรขึ้น หรือจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ทำร้ายใครเลย จริงๆ แล้วคนหรือผีที่น่ากลัวกว่ากัน

นางนาค คือน้องมายด์ อาทิตยา ตรีบุดารักษ์ วงโฟร์อีฟ ส่วนพี่มาก คือ น้องเก้า จิรายุ ละอองมณี เราเพิ่งถ่ายทำไป 2-3 คิว กลางปีคงปิดกล้อง ปลายปีคงได้ดูกัน ซึ่งเวอร์ชั่นนี้จะมีความร่วมสมัยโดยยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างเดิมของเรื่องและความสนุกที่ชาวบ้านชอบ มันมีการบาลานซ์กันอยู่ ให้ดูสนุกในยุคนี้ด้วย

•มองว่าคุณค่าของงานมีความเท่าเทียมกันระหว่างละครโทรทัศน์แนวคอมเมอร์เชียลกับภาพยนตร์สายรางวัลอันเป็นงานศิลปะที่อาจดูไม่ง่าย?
รางวัลของผมคือการที่คนทำงานนอกบ้านเหนื่อยๆ ได้หลุดออกไปอีกโลกหนึ่งในช่วงเวลาที่ดูละคร หลุดไปอยู่ในโลกสมมุติที่มีความสุขสักแป๊บหนึ่งแล้วค่อยกลับมาเผชิญชีวิตจริง
ผมโฟกัสที่ความรู้สึกของคนดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image