สมเด็จโต วัดระฆัง สร้างหลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม เครือญาติชุมชนลาวพวน เชียงขวาง

สมเด็จโต วัดระฆัง

สร้างหลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม

เครือญาติชุมชนลาวพวน เชียงขวาง

ปรับปรุงบางตอนจากหนังสือ Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก

Advertisement

Edward Van Roy เขียน

ยุกติ มุกดาวิจิตร แปล

Advertisement

Siamese Melting Pot ก่อร่างเป็นบางกอก

Edward Van Roy เขียน

ยุกติ มุกดาวิจิตร แปล

สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2565

ราคา 480 บาท

ด้วยการปกครองเมืองขึ้นของสยามที่เข้มงวดขึ้น พระเจ้านันทเสนทรงฟื้นฟูเวียงจันทน์ขึ้นอีกครั้งในปี ค.. 1786 และ 1794 (.. 2329 และ 2337) ด้วยการไปรุกรานเชียงขวางเมืองหลวงของรัฐพวนผู้พยศในดินแดนที่สูงของลาวตะวันออกเฉียงเหนือ เชลยชาวลาวพวนจำนวนมากมายถูกกวาดต้อนมาบรรณาการถวายแด่รัชกาลที่ 1 และตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างกระจัดกระจายในแผ่นดิน

  • บ้านลาวพวน ที่บางขุนพรหม

กลุ่มเชลยศึกผู้มีทักษะทางงานไม้จำนวนหนึ่งได้ถูกส่งไปยังบางกอกราวปี ค.. 1789 (.. 2332) และตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านเหนือลำน้ำนอกกำแพงพระนคร บริเวณตรงข้ามกับบางยี่ขัน ในบริเวณซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าบ้านลาวพวน (หรือบางขุนพรหม) ณ ที่นั้นพวกเขาถูกมอบหมายให้ทำเรือพาย ซึ่งเป็นเรือยาวสร้างจากการขูดเนื้อไม้ออกจากไม้ต้นใหญ่ทั้งต้น กลายมาเป็นงานฝีมือบนพาหนะทางน้ำ เรือเหล่านี้ถือเป็นญาติผู้น้อยของเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยในปัจจุบัน

ที่ปากคลองซึ่งไหลผ่านชุมชนนั้น พวกเขาได้ขุด “คุ้ง” เพื่อใช้ผูกเรือและกลับเรือ (คุ้งเรือนี้ในปัจจุบันถูกกลบฝังไว้ใต้ผืนดินที่เชื่อมกับธนาคารแห่งประเทศไทย)

ส่วนเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นอุปราชแห่งเวียงจันทน์และเป็นสมาชิกอาวุโสของชนชั้นนำลาวในบางกอก เป็นผู้ได้รับหน้าที่อุปถัมภ์บ้านลาวพวน ชุมชนนี้ภายหลังชื่อว่าบ้านบางขุนพรหม ซึ่งอาจมาจากชื่อขุนพรหมรักษา (สารท) ผู้ซึ่งเป็นทหารมอญของทั้งอุปราชในรัชกาลที่ 1 รวมถึงของผู้คนในบริเวณนั้น การอุปถัมภ์ของท่านต่อผู้คนที่นั่นได้รับการจดจำมาอย่างยาวนาน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นดังที่มีการสันนิษฐานกันว่าชื่อนี้มาจากเจ้าพรหมวงศ์ผู้เป็นพระอนุชาของเจ้านันทเสนและเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งเป็นผู้อาศัยในพื้นที่นี้หากแต่ไม่มีการทิ้งร่องรอยอื่นใดเอาไว้

ในบรรดาวัดที่แสดงถึงถิ่นดั้งเดิมของชุมชนลาวพวน รวมทั้งวัดวรามะตาราม (บูรณะและได้ชื่อใหม่ว่า วัดใหม่อมตรส) วัดวรนุช (ปัจจุบันคือวัดเอี่ยมวรนุช) และวัดอินทาราม (ปัจจุบันคือวัดอินทรวิหารที่รู้จักกันทั่วไปว่าวัดอินทร์) ซึ่งเดิมทีถูกสร้างโดยนิคมชาวจีนในสมัยอยุธยา ราวปี ค.. 1752 (.. 2295) ในชื่อว่าวัดไร่พริกและในภายหลังถูกทิ้งร้างจากการล่มสลายของอยุธยา

เชลยศึกลาวพวนได้ฟื้นฟูวัดปรักหักพังนี้เพื่อใช้งานในกลุ่มตน โดยเจ้าอินทวงศ์ในฐานะผู้ปกครองดูแลชุมชนลาวพวน ในช่วงที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชแห่งลาวและอาศัยอยู่ที่บางยี่ขัน ได้มอบเงินสนับสนุนเพื่อการบูรณะฟื้นฟูวัด แล้วแต่งตั้งพระครูด้านกรรมฐานผู้มีชื่อเสียงของลาวขึ้นเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เมื่อเจ้าอินทวงศ์ทรงไปดำรงตำแหน่งผู้ปกครองเวียงจันทน์ วัดนี้ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดอินทารามเพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ การเพิ่มคำท้ายชื่ออย่างยกย่องว่า “อาราม” สะท้อนให้เห็นถึงการได้รับอุปถัมภ์จากเจ้านายลาวของวัดนี้ เช่นเดียวกับการที่รัชกาลที่ 2 เมื่อปี ค.. 1817 (.. 2360) ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมวัดอินทร์เข้าเป็น 1 ใน 33 พระอารามหลวงของบางกอก ที่จะได้รับเทียนและแท่นเทียนเป็นเครื่องบูชา ก็เป็นเครื่องยืนยันแน่ชัดถึงความอุปถัมภ์ของสยามต่อวัดนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการกบฏลาวในปี ค.. 1827-1828 (.. 2370-2371) ตามมาด้วยการสิ้นสุดไปของพระบรมราชูปถัมภ์ วัดนี้จึงเข้าสู่ภาวะยากลำบาก

  • หลวงพ่อโต วัดอินทร์

ในอีกด้านหนึ่ง วัดอินทร์และชุมชนลาวรายรอบได้พบกับผู้อุปถัมภ์รายใหม่แทนที่พระบรมราชูปถัมภ์ในอดีต คือพระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงและเปี่ยมด้วยบารมีนามว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ปี พ.. 2330-2414) ท่านและมารดาเป็นผู้อาศัยยุคแรกๆ ของชุมชนชาวลาวพวน หรืออาจเป็นชาวพวนด้วยซ้ำ

ในช่วงวัยเด็ก ท่านศึกษาเล่าเรียนที่วัดอินทร์ในฐานะศิษย์ของเจ้าอาวาสองค์แรก

ต่อมาจึงเข้ารับการอุปสมบทและศึกษากรรมฐานขั้นสูงกับพระเถระรูปอื่น ด้วยศักยภาพเหล่านั้นทำให้ในท้ายที่สุดท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบางกอก ตั้งอยู่ใจกลางกรุงธนบุรีตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง

แม้ว่าท่านจะประสบความสำเร็จในสมณศักดิ์ ทว่าท่านก็ยังคงการติดต่อกับบางขุนพรหมและวัดอินทร์จนตลอดสิ้นอายุขัย โดยในปี ค.. 1867 (.. 2410) เมื่ออายุราว 80 พรรษา ท่านตัดสินใจสร้างอนุสรณ์สถานรำลึกถึงรากเหง้าของท่านด้วยการสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ในวัดอินทร์ (สูง 32 เมตร แล้วเสร็จในปี พ.. 2469) พร้อมภาพจิตรกรรมฝาผนังบนระเบียงรายรอบเล่าเรื่องราวประวัติของท่านเอง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับประชาชนทั่วไป และศาลเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บิดามารดาท่าน การอุปถัมภ์ของท่านต่อวัดนี้ก็ยังเป็นที่จดจำจนปัจจุบัน แม้ความทรงจำเกี่ยวกับบรรพบุรุษลาวพวนของผู้คนได้เจือจางไปหมดแล้ว

อีกวัดหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับชุมชนลาวพวนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) คือวัดสารพัดช่าง หลังจากที่จำปาศักดิ์ (ลาวตอนใต้) ถูกไทยยึดครองในปี ค.. 1827 (.. 2370) เจ้าผู้ครองนครคือเจ้าโย่ พระโอรสผู้ภักดีต่อพระราชบิดา ซึ่งคือเจ้าอนุวงศ์ผู้เป็นกบฏ ได้ถูกถอดจากบัลลังก์ แล้วเจ้าครองนครพระองค์ใหม่ที่ได้รับความไว้วางใจจากบางกอกมากกว่า ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาแทน “เจ้าโย่ ครอบครัวของพระองค์ และช่างทองรวมถึงช่างเหล็กของพระองค์ ล้วนถูกนำตัวไปบางกอก”

เจ้าโย่และครอบครัวถูกย้ายไปที่อื่น แต่เชลยช่างของพระองค์ได้ถูกจัดถิ่นฐานให้ตั้งบ้านเรือนบริเวณบางขุนพรหมเพื่อรับใช้ราชสำนัก ณ ที่แห่งนั้นพวกเขาสร้างวัดสารพัดช่างซึ่งได้ส่งเสริมชุมชนลาวจำปาศักดิ์สืบต่อมาอีก 5 ทศวรรษ กระทั่งตกต่ำลงและถูกทิ้งร้างไปในช่วงรัชกาลที่ 5 จนเมื่อเข้าคริสต์ทศวรรษที่ 1900 (พุทธทศวรรษที่ 2440) ที่ตั้งวัดถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง แล้วถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวัง (วังบางขุนพรหม) ของกรมพระนครสวรรค์ (บริพัตร) พระโอรสองค์โตของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนไม่เหลือร่องรอยการมีอยู่ของวัดอีกเลย

พื้นที่ริมน้ำทอดยาวจากวังบางขุนพรหมของกรมพระนครสวรรค์ทางเหนือของลำน้ำ ล่องไปจนถึงปากคลองผดุงกรุงเกษม ค่อยๆ กลายมามีลักษณะแบบพระราชวังมากขึ้น ในปี ค.. 1895 (.. 2438)

วังเทเวศร์ซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ (กิติยากร) ถูกสร้างขึ้นบริเวณปากคลอง และในปี ค.. 1918 (.. 2461) วังเทวะเวสม์ ซึ่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (เทวัญอุไทยวงศ์) ถูกตั้งขึ้นระหว่างวังเทเวศร์กับวังบางขุนพรหม ได้เปลี่ยนแปลงให้พื้นที่ริมน้ำจากเดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนสามัญชนชาวลาว กลายเป็นถิ่นพำนักของเจ้านายไทยที่เป็นที่รู้จักกันว่าเทเวศร์

  • ถนนสามเสน ผ่ากลางชุมชนลาวพวน

ในปี ค.. 1898 (.. 2441) บางขุนพรหมถูกแบ่งออกด้วยการก่อสร้างเส้นทางสัญจรใหม่ นั่นคือถนนสามเสน ที่ทอดยาวจากกำแพงพระนครไปทางเหนือ

ถนนสามเสนนั้นเมื่อแรกเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกวางให้เป็นทางสัญจรของเจ้านายจากพระบรมมหาราชวังไปยังอำเภอสวนดุสิต ที่ซึ่งมีกลุ่มพระราชวังใหม่กำลังจะถูกสร้างขึ้น ไม่นานนักแผนการนั้นได้ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยการก่อสร้างถนนราชดำเนินซึ่งอลังการกว่ากันมากนัก ทว่าถนนสามเสนก็ยังคงเป็นเส้นทางที่สำคัญ เนื่องจากได้เปิดทางพาหนะสัญจรแก่ชานเมืองบางกอกฝั่งเหนือ ในฐานะที่เป็นถนนเส้นตรงกว้าง และลาดพื้นผิวอย่างดี

ด้วยความประสงค์เดิมที่จะให้เป็นเส้นทางของเจ้านาย สามเสนจึงจำเป็นต้องตัดผ่านพื้นที่วัดเอี่ยมวรนุชเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การสร้างถนน และนั่นจึงทำให้ศูนย์กลางของชุมชนต้องโยกย้ายไปยังวัดอินทร์ ซึ่งเดิมทีตั้งอยู่บนชายขอบของชุมชนในฐานะที่สงบห่างไกลจากสังคม

  • วังบางขุนพรหม

แผนการสร้างวังบางขุนพรหมเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแผนก่อสร้างถนนสามเสน

แผนผังของวังบางขุนพรหมซึ่งถูกวางไว้ตรงข้ามกับวัดอินทร์ จำเป็นต้องอาศัยการเวนคืนพื้นที่ของวัด 2 ส่วน นั่นคือบริเวณรกร้างของวัดสารพัดช่างและพื้นที่ที่ตัดออกมาจากด้านหลังของวัดอินทร์เพื่อการก่อสร้างถนนสามเสน

แต่ทว่าตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ในกฎหมายมักระบุไว้ถึงข้อกำหนดสำหรับที่ดินศักดิ์สิทธิ์ของวัด เกิดการต่อรองนานหลายปีระหว่างกรมพระคลังกับกิจการของสงฆ์ จนถึงจุดที่ต้องมีการแก้ไข กระทั่งในปี ค.. 1904 (.. 2447) ได้เกิดข้อตกลงกันว่า ที่ดินของกรมพระคลัง 80 เอเคอร์ (ประมาณ 202 ไร่ผู้แปล) ที่มีนบุรี อำเภอทางตะวันออกเฉียงเหนือของบางกอกซึ่งมีหมู่บ้านชาวลาวอยู่จำนวนมาก (และที่มากยิ่งกว่าคือชาวมุสลิม) จะยกให้วัดอินทร์เพื่อแลกกับที่ดินบริเวณวัดสารพัดช่าง

นอกจากนั้น จวบจนถึงปี ค.. 1914 (.. 2457) จึงได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนหนึ่งของวัดอินทร์บริเวณถนนสามเสนฝั่งตะวันตกเพื่อแลกกับเงินจำนวน 9,500 บาท โครงการของราชสำนักดังกล่าวและโครงการสืบเนื่องต่างประสบผลสำเร็จในการขจัดชุมชนชาวลาวออกไปจากพื้นที่ริมแม่น้ำ ในส่วนของเจ้านายริมลำน้ำ

ในปี ค.. 1933 (.. 2476) หรือ 1 ปีหลังจากการปฏิวัติของคณะราษฎร วังบางขุนพรหมได้ถูกแปลงเป็นกองบัญชาการกองทัพบก และจากนั้นในปี ค.. 1946 (.. 2489) ได้กลายเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งยังคงครอบครองที่ดินอยู่จนปัจจุบัน จากการรุกคืบเข้ามายังพื้นที่เทเวศร์ริมน้ำ ชุมชนชาวลาวพวนถูกบีบให้ขยับเข้าไปในแผ่นดินไกลจากริมน้ำมากขึ้น นับเป็นกระบวนของการย้ายถิ่นที่นำไปสู่การตกต่ำลงของชุมชนสืบมา

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ชื่อวัดอินทารามถูกเปลี่ยนเป็นวัดอินทรวิหาร เพื่อขจัดความสับสนกับวัดมอญชื่อเดียวกัน อันเป็นวัดซึ่งเป็นที่เคารพยิ่งแห่งธนบุรี คือวัดอินทารามที่ตั้งอยู่บริเวณคลองบางกอกใหญ่ เมื่อเปลี่ยนชื่อแล้วสายสัมพันธ์ระหว่างวัดอินทร์กับพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์ก็ถดถอยลง แล้วสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างวัดนี้กับการอุปถัมภ์โดยราชสำนักไทย (รวมทั้งคำเติมว่าอาราม) จึงถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้สำคัญนักกับคนในท้องถิ่น เนื่องจากวัดนี้ยังคงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในนามวัดบางขุนพรหมใน ซึ่งแตกต่างจากวัดบางขุนพรหมนอกหรือวัดใหม่อมตรส กระทั่งไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ที่ได้กลับมาเรียกวัดนี้ว่าวัดอินทร์กันโดยทั่วไปอีก

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร (ภาพถ่ายทางอากาศ โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันท์ เมื่อ พ.. 2489 จาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพฯ (ภาพจาก Facebook เพจ : วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง)

ชุมชนปัจจุบันรอบวัดอินทร์ บางขุนพรหม (ถ่ายจากบันไดขึ้นองค์พระหลวงพ่อโต เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2565)

———————————

ก่อร่างเป็นบางกอก

ไม่ใช่หนังสือวิชาการที่ไร้รส”

ปรับปรุงบางตอนจากคำนำผู้แปล โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ก่อร่างเป็นบางกอก ไม่ใช่หนังสือวิชาการที่ไร้รส ไม่ว่าจะด้วยสำนวนการพรรณนาความ หรือภาษาที่ใช้สร้างข้อถกเถียงทางวิชาการ แวน รอย ได้ทำให้งานเขียนทางวิชาการมีรสทางวรรณศิลป์ไปพร้อมๆ กับการให้ข้อมูลและกรอบความคิดที่ลึกซึ้งกว้างไกล

มากยิ่งกว่านั้น ด้วยการค้นคว้าอย่างละเอียดยิบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และอาศัยข้อมูลทั้งจากเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง และข้อมูลจากพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การสัมภาษณ์ และการทำแผนที่ภูมิทัศน์ชาติพันธุ์ (ethnoscape) ทำให้บางกอก สยาม ผู้คน และสถานที่ต่างๆ ที่ถูกเอ่ยถึงมีชีวิตชีวาสอดสัมพันธ์กัน

นอกเหนือจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบ้านเมืองและการคลายข้อกังขาต่อสถานที่ ชื่อบ้าน ชื่อแยก ชื่อถนน ชื่อคน ฯลฯ แล้ว หนังสือยังยั่วยวนชวนให้ผู้อ่านกระหายใคร่อยากไปเดินลัดเลาะเสาะหาชีวิต กลิ่น รส และสายสัมพันธ์ที่ซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบของมหานครที่เราอาจหลงลืมหรือผ่านไปมาอย่างดูไร้ความหมายกันให้มากยิ่งขึ้น

ผมจะไม่เล่าถึงข้อค้นพบหลักของหนังสือเล่มนี้ เพราะอยากให้ผู้อ่านได้ติดตามในรายละเอียดด้วยตนเอง หากแต่อยากเล่าสักเล็กน้อยว่าก่อร่างเป็นบางกอก ได้ทำให้ความรับรู้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ที่ผมเติบโตมาตลอด 50 ปีเศษเปลี่ยนไปมากทีเดียวใน 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก ผมเคยงุนงงว่าทำไมกรุงเทพฯ จึงดูสับสนอลหม่าน ไร้ระเบียบ และเต็มไปด้วยความแตกกระจาย หากแต่ที่จริงมันมีระเบียบบางอย่างกำกับการก่อตัวของมันอยู่ พร้อมๆ กันนั้นในระบบระเบียบที่กำกับฉากหน้าของความอลหม่านนี้ ผมได้เข้าใจมากขึ้นว่า อะไรหรือใครกันแน่ที่ทำให้เมืองที่เมื่อแรกเริ่มกำเนิดมาจากแหล่งอ้างอิงทางจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ กลับกลายเป็นดินแดนแห่งโลกิยะสาธารณ์เยี่ยงทุกวันนี้ได้ ในทางกลับกัน ผมก็ยังสงสัยว่าพลังที่ดึงดันจะให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมหานครแห่งนี้คงอยู่ ด้วยการรื้อฟื้นพื้นที่พิเศษบางแห่งในศักราชปัจจุบันนั้น จะสามารถต้านทานพลังที่ทะลุทะลวงพื้นที่ของมหานครแห่งนี้มาตลอดเกินกว่า 100 ปีที่ผ่านมาได้สักแค่ไหนกันเชียว

ประการที่สอง เดิมทีผมเข้าใจว่ากรุงเทพฯ ช่างแตกต่างจากเมืองใหญ่หลายแห่งในโลก ที่ช่างดูไร้ซึ่งความเป็นพหุสังคม ดังที่จะเห็นได้ในเมืองอย่างนิวยอร์ก ชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่กัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซีย และโห่ยอานในเวียดนามภาคกลาง แต่ก่อร่างเป็นบางกอก ทำให้พหุสังคมบางกอกปรากฏแจ่มชัดขึ้นมาจนผมรู้สึกได้ว่า เมื่อสัก 100 ปีที่แล้วนั้น ผู้คนในบางกอกคงพูดกันหลายภาษา พวกเขาคงได้พบพานความแตกต่างจนเป็นปกติวิสัยและพวกเขาน่าจะคุ้นเคยกับผู้คนที่แตกต่างกันจนไม่ได้ถือสาว่าทำไมเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หรือญาติๆ พวกเขาเอง จะแตกต่างจากพวกเขาอย่างยิ่งทั้งในทางนิสัยใจคอ บุคลิก ความเชื่อ ไปจนถึงอาหารการกิน

หนังสือนี้จะช่วยตอบคำถามว่า ผ่านไปราวเพียง 100 ปี ทำไมประชากรกรุงเทพฯ จึงดูราวกับไร้ความแตกต่างกันได้มากถึงเพียงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image