เพราะโซเชียลไม่ได้เรียลทุกสิ่ง พรรษรัตน์ พลสุวรรณา ถึงเวลา ‘ปิดแท็บชีวิต’

ในยุคสมัย ที่ใครๆ ก็มีอวัยวะ 33 ชิ้น

คุ้นชินกับชีวิตติด “มือถือ” พร้อมจะเชื่อทุกข่าวสารที่สาดผ่านหน้าฟีด

บ้างก็เกาะกระแสสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ สร้างรายได้ที่น่าทึ่งด้วยอุปกรณ์แค่เครื่องเดียว

แต่สำหรับใครหลายคน “หัวใจ” กลับห่อเหี่ยวเพียงดูภาพๆ หนึ่ง

Advertisement

รู้สึกประหม่า เพราะหาหมอกูเกิล “ปวดหัวมาก เป็นอะไร”? ได้คำตอบ “โรคมะเร็ง”

หรือแม้แต่ไปรักษาไม่ทัน เพราะหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโควิด ที่ส่งต่อกันมา

“อันตราย” หรือ “มีคุณ” มหาศาล เมื่อยังมีข่าวขับรถชนเพราะคนขับดูมือถือ

Advertisement

“อัลกอริทึม” เลือกสรรสื่อที่น่าจะชอบ หลอกล่อให้เหลือบมองจอตลอดเวลา

ดึงเข็มนาฬิกา “สมดุลชีวิต” ให้ติดอยู่ในโลกจำลองที่หล่อหลอมสมองจนเชื่อตามว่า “เป็นจริง”

“เวลาซื้อโทรทัศน์ ก็จะมีคู่มือการใช้งาน ปุ่มตรงนี้เอาไว้ทำอะไร เราไม่ควรจะทำอะไรกับโทรทัศน์เครื่องนี้ แต่ว่าเทคโนโลยีหรือโซเชียล เกิดขึ้นมา เราใช้มันโดยไม่รู้ว่าสิ่งนี้ดีไหม ทำไปแล้วจะส่งผลอะไร?”

พรรษรัตน์ พลสุวรรณา หรือ “ปอม” นักแปลอิสระ เล่าถึงผลงานแปลล่าสุด “My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล” หนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์ Broccoli เครือสำนักพิมพ์มติชน ที่ผู้เขียนอย่าง “Tanya Goodin” ยกให้เป็น คู่มือในการใช้โซเชียล

“พรรษรัตน์” คือศิษย์เก่า สายศิลป์ฯ โรงเรียนสายน้ำผึ้งฯ จบเอกภาษาสเปน จากรั้วอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลงใหลในภาษาและสนใจจิตวิทยาความเป็นมนุษย์

เจ้าตัวยอมรับว่าไม่ได้คิดจะเป็นนักแปลตั้งแต่ต้น แค่ตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือและได้รับโอกาสหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอักษร งานแรกเป็นบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์เพิร์ล ทำนิยายหลายแนว ทั้งสืบสวน โรแมนติก วรรณกรรมเยาวชน ฯลฯ ก่อนค่อยๆ ต่อยอดมาเป็น “นักแปล”

ผลงานที่ผ่านมา อาทิ แปลนิยายกับทางสำนักพิมพ์อมรินทร์ 1 เล่ม “ความรักครั้งที่จำไม่ได้ : Forgotten” และแปลหนังสือแนวจิตวิทยา อย่าง “จิตวิทยาครอบครัว Family Psychology”

“ที่ผ่านมาจะแปล บทพากย์ พวกละครทีวี หนัง การ์ตูนเยอะ หนังสือยังไม่ค่อยได้แปลเท่าไหร่ เป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะก่อนหน้านี้รับงานเป็นฟรีแลนซ์” พรรษรัตน์เล่าเส้นทางชีวิต ก่อนลงลึกถึงงานชิ้นนี้ ที่เข้ามาเปลี่ยนบางมุมมองของเธอในวัย 36

ใช้เวลาแปลเพียง 1 เดือน ก็สำเร็จเป็นผลงานคุณภาพในมือผู้อ่านวันนี้ การันตีด้วยการติด 10 อันดับขายดีประจำบูธสำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50

•อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเกี่ยวกับเรื่อง โซเชียลมีเดีย?

เคยเรียนด้านจิตวิทยามาบ้าง รู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ จิตวิทยาที่เรียนมาเกี่ยวกับการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ของแต่ละช่วงวัย หรือจิตวิทยาพัฒนาการ ทำไมเด็กเขาถึงทำพฤติกรรมอย่างนี้ ไปจนถึงคนแก่ ทำให้เข้าใจในแต่ละช่วงวัยว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งปัจจัยแต่ละอย่างทำให้คนแต่ละช่วงวัยทำพฤติกรรมแบบนั้น กับโซเชียลมีเดียก็เหมือนกัน เป็นการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์

•จุดเริ่มต้นของการแปล My Brain Has Too Many Tabs Open

ทางสำนักพิมพ์แจ้งเข้ามาว่า มีหนังสือเล่มนี้เข้ามานะ สนใจแปลไหม เราสนใจก็เลยทำแบบทดสอบไป เขาบอกว่า ผ่านนะ ก็ได้รับโอกาสแปลกับทาง Broccoli เป็นครั้งแรก ตอนที่เขาส่งบททดสอบมาให้ มีโอกาสได้อ่านเนื้อหาตรงนั้น เรารู้สึกว่าน่าสนใจ ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เหมาะกับยุคสมัย เพราะทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีอยู่รอบตัว มีโซเชียลเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นเรื่องใหม่นะสำหรับหนังสือเล่มนี้ เป็นแง่มุมที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไหร่

•ชื่อภาษาไทย ‘ปิดแท็บชีวิต แค่ปิดโซเชียล’ ตั้งเองไหม จำง่ายมาก?

สำนักพิมพ์ Broccoli ตั้งให้ ตอนที่สำนักพิมพ์ส่งมาบอกว่าชื่อไทยจะใช้ชื่อนี้นะ ปิดแท็บชีวิต แค่ปิดโซเชียล เราก็ยังบอกเลยว่า หูย! ตั้งชื่อดีมาก ชอบ

•เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ พูดถึงอะไร?

พูดถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในโลกโซเชียล บอกวิธีว่าเราจะทำอย่างไรที่จะสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต และการโซเชียล ไปด้วย ทุกอย่างเราใช้เทคโนโลยี แต่บางทีมันเยอะเกินไป ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เตือนสติ ให้เราฉุกคิด

จะเล่าถึงแง่มุมต่างๆ ในการใช้โซเชียล ในฐานะผู้แปล อ่านไปแต่ละบทก็รู้สึกว่า เราเคยทำอันนี้ อันนั้น คนรอบตัวเคยทำ หรือเห็นคนในโซเชียลทำ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ปรากฏขึ้นอยู่จริง ดังนั้น ทุกบทในเล่มนี้ มีตัวอย่างที่เราเห็นชัด กรณีที่ใกล้ตัว เช่น เรื่องของพ่อแม่ที่ดูมือถือ จนละเลยลูก, พ่อ-แม่ที่แชร์รูป แชร์คลิปลูก โดยไม่ได้ทันคิดว่าละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกหรือไม่ หรือว่าเราไปกินข้าวกับเพื่อน นัดกันหลายๆ คน แล้วทุกคนก็ไม่ได้คุยกัน แต่ไถโทรศัพท์ หรือเรื่องของการส่งอีเมล์ ส่งไลน์นอกเวลางาน รบกวนเวลาส่วนตัวของเรา ทำให้เกิดความเครียด พูดไปแล้วเชื่อว่าทุกคนต่างเคยเจอเรื่องแบบนี้อย่างแน่นอน

หนังสือเล่มนี้ดีตรงที่เนื้อหาทันสมัย พูดถึงเหตการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย เราต้องเวิร์กฟรอมโฮม เรียนออนไลน์ ต่อให้เราไปไหนไม่ได้ เทคโนโลยีก็มาช่วยให้เราได้ทำงาน หรือเรียน แน่นอนว่ามีประโยชน์ แต่อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่ดี พอทำงานหรือเรียนที่บ้าน “ไม่มีเส้นแบ่ง” เส้นเบลอจนทำให้คนแยกไม่ได้ รู้สึกว่าชีวิตเขาเครียด เหมือนต้องทำงานตลอดเวลา

•กลายเป็นว่า ทุกวันนี้เราทำงานผ่านแพลตฟอร์มตลอดเวลา?

เรื่องการทำงานผ่านแพลตฟอร์ม อยู่ที่เราจะหาสมดุลอย่างไร ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันว่า ส่งงานนอกเวลางาน มันรบกวน มีกรอบเวลาเท่านี้ ถ้าด่วนจริงส่งมาได้ แต่ไม่ใช่ตลอดเวลา เพราะคนที่ส่งบางทีไม่รู้ตัวว่ากำลังรบกวนเวลาคนอื่น คิดแค่ว่า ส่งไปก่อน เดี๋ยวว่างแล้วค่อยมาอ่าน แต่คนที่ได้รับ แค่มีไลน์เข้ามาก็เครียดแล้ว

ถ้าอย่างไทย ทุกอย่างอยู่ในไลน์หมด ลองเปลี่ยนไปใช้แอพพ์อื่น ที่แยกประเภท แอพพ์นี้ใช้กับการทำงาน การเรียน การคุยกับเพื่อน มันมีแอพพ์ที่แยกเฉพาะ หรือถ้าเรารู้สึกไม่โอเค ลองถอยออกมามอง ว่าเราทำอะไรกับมันได้บ้าง

•เทียบพฤติกรรมการใช้โซเชียลของบ้านเรา กับชาวตะวันตก แตกต่างกันไหม?

เนื้อหาในเล่มนี้ทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นคนตะวันตก หรือตะวันออก เพราะพฤติกรรมแบบนี้เป็นสากล เราสามารถเทียบกับตัวเอง เทียบกับคนที่เห็นในโซเชียลได้หมด แต่อาจจะมีตัวอย่างบางประเด็นที่ไทยไม่มี เช่น วัยรุ่นออสเตรเลีย พ่อ-แม่ลงรูปตอนเด็ก โตมาเขาไม่ชอบ ขอให้ลบ พ่อแม่ไม่ลบ พอเขาบรรลุนิติภาวะ ทำนิติกรรมได้ เขาไปฟ้องศาล พ่อแม่อาจจะคิดว่าลงรูปเพราะลูกน่ารัก ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ตัวลูกไม่พอใจ คือเรื่องที่ในไทยยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้

อีกเรื่องที่หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่าง คือเรื่อง กฎหมายและสิทธิ ที่ฝรั่งเศส กับไอร์แลนด์ เขาจะมีกฎหมายที่ไม่ให้นายจ้างส่งอีเมล์รบกวนหลังเวลาเลิกงาน พนักงานมีสิทธิไม่ดูอีเมล์ได้ ซึ่งตรงนี้บ้านเรายังคลุมเครืออยู่ ยังมีการตามงานหลังเวลาเลิกงาน ซึ่งถ้าไทยมีน่าจะดีเหมือนกัน

•ไทยมีกรณีที่ถูกพูดถึง ‘นางแบบสาว’ พยายามโพสต์ภาพไม่ให้เห็นหน้าลูก?

เรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้โซเชียลเหมือนกัน และพูดถึงไว้ในหนังสือด้วย กระแสการลงรูปลูก ก็มีแต่คนไทยทั้งนั้นที่เข้าไปคอมเมนต์ มันต้องมีการสร้างความเข้าใจขึ้นมา ว่าทำแบบนี้ จะเกิดผลกระทบอะไรในอนาคต ดีหรือไม่?

•การส่งต่อข้อความทางไลน์ เฟคนิวส์ ฝรั่งมีเหมือนเราไหม?

มีๆ เขาก็มีเหมือนกัน เรื่องข่าวปลอมที่ส่งกันมาตามโซเชียล เราควรหยุดคิด ว่าควรจะเชื่อทุกอย่างที่ผ่านตาไหม เพราะโซเชียลพยายามเอาอะไรที่อยากจะเชื่อ อยากอ่าน อยากฟังขึ้นมาให้เห็น แล้วมันเชื่อได้จริงหรือเปล่า ผู้ใหญ่ควรอ่านมาก หรืออย่างเล่นมือถือตอนนั่งกับเพื่อน
เราอาจไม่ได้คิดอะไร แต่เพื่อนเขาคิดว่า ‘เรามาด้วยกัน’ หนังสือเล่มนี้จะทำให้ฉุกคิดอะไรได้หลายอย่าง

•โซเชียลมีเดีย ยังสำคัญและจำเป็นสำหรับตัวเองอยู่?

ออกจากบ้าน ลืมกระเป๋าสตางค์ได้ แต่ลืมมือถือไม่ได้ คือประโยคที่พูดกับเพื่อนตลอด ทุกอย่างอยู่ในนี้ จ่ายเงินก็ใช้มือถือ ดูปฏิทิน ดูนัด ดูเวลา ดูแผนที่ มีบทบาทเยอะกับเราจริงๆ ต่อให้เราไม่เล่นเฟซบุ๊ก เราก็ยังต้องใช้สมาร์ทโฟนอยู่ แต่หลังอ่านเล่มนี้ เจอจุดหนึ่งที่ทำเหมือนหนังสือบอก คือ เดินไปเล่นมือถือไป

•บทไหนในเล่มนี้ ที่โดนใจตัวเองเป็นการส่วนตัว เพราะอะไร?

โดนทุกบท บทละนิด บทละหน่อย เออ! อันนี้เราทำเหมือนกันนะ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง บางอันก็ไปโดนคนที่รู้จัก เขาเคยมาพูดเรื่องนี้กับเราว่าเราทำอย่างนี้ เชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตทุกวันนี้จะต้องได้เจออย่างแน่นอน

ปกติไม่ได้เป็นคนติดโซเชียลขนาดนั้น เราก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ว่างแล้วก็ไถฟีด ดูนู่นนี่ แต่มันจะมีช่วงหนึ่งที่เราเริ่มรู้สึกว่า มันเยอะเกินไปแล้ว เหมือนข้อมูลอะไรต่างๆ เข้ามาเยอะเกิน เราดูแล้วเครียด รู้สึกไม่ดีเวลากดเข้าไปดู มันไม่สนุก มีความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นกับตัวเรา ก็เลยถอยออกมา พักหลังมานี้คือไม่ค่อยได้ดูโซเชียลเท่าไหร่แล้ว ไม่ได้โพสต์ไม่ได้อะไร แต่ก็ยังตามอยู่ห่างๆ เอาไว้ดูข่าว

•พอลดเวลาจากโซเชียลแล้ว มีเวลาเหลือไปทำอะไรบ้าง?

ไปออกกำลังกายมากขึ้นนะ จะถามว่าเราออกห่างจากโซเชียลขนาดนั้นไหม เอาจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่า เหมือนเราหายจากโซเชียลอันหนึ่ง แล้วย้ายไปอยู่อีกอันหนึ่งมากกว่า (หัวเราะ) เราอาจจะไม่ได้โพสต์ ไม่ได้ไถฟีดของอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วโซเชียลก็มีหลายอย่าง บางคนอาจจะนึกถึงแค่พวก Facebook, Instagram แต่ก็มีอย่างอื่นอีกที่เป็นออนไลน์ เช่น YouTube, Netflix เราก็ไปอยู่กับอะไรแบบนี้ ซึ่งไม่ได้ต่างกัน (หัวเราะ)

ชีวิตเต็มไปด้วยเทคโนโลยี เราอยู่กับดิจิทัล อยู่กับออนไลน์ แต่ตอนนี้ก็พยายามไปออกกำลังกายมากขึ้น ต้องจัดสมดุลชีวิตกันไป

•กับผลตอบรับหนังสือ ติดอันดับ TOP 10 ตลอด เกินคาดไหม?

ดีใจมาก ตั้งแต่ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนแปล ก็รู้สึกว่าเราอยากให้ทุกคนได้อ่านบ้าง เราไม่ได้ขายของ ไม่ได้คิดว่ายอดจะต้องทะลุเป้า แบบว่าขายดีมาก เราแค่อยากให้ความรู้อะไรต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ เข้าถึงคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อที่จะได้มีความรู้ความเข้าใจ ได้ฉุกคิดถึงพฤติกรรมการออนไลน์ของตัวเอง บางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวจริงๆ ว่าสิ่งที่เราทำไปตอนนี้มันจะสร้างผลกระทบอะไร เพราะเรายังไม่เห็นภาพ แต่หนังสือเล่มนี้จะมาช่วยบอก

ไม่ใช่ในโทนสั่งสอน ว่าคุณต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้น แต่เป็นการเล่าเรื่องให้เราได้กลับมาย้อนมองตัวเอง ว่าเราทำสิ่งนี้หรือเปล่า มันฉายภาพปัจจุบัน

•คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่คนซื้อ เพราะโควิดทำให้คนอยาก ‘ลด ละ เลิก’ เพื่อรักษาสมดุลชีวิต?

จุดแรก จากฟีดแบ๊กของนักอ่านที่มาขอลายเซ็น เขาอ่านตัวอย่างกันไปนิดนึง แล้วรู้สึกว่าประโยคนี้โดนมาก มันใช่ ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกแรกของเราเหมือนกันนะ ตอนที่อ่าน เออมันโดน มันใช่ มันคือสิ่งนี้ที่เราทำ

เป็นไปได้ที่คนที่รู้สึกว่า อยากจะสร้างสมดุลชีวิตให้กลับมาบ้าง ในช่วงเวิร์กฟรอมโฮม เรียนออนไลน์ที่บ้าน เราจะต้องพึ่งพาสื่อออนไลน์ จนคนรู้สึกว่ามันมากเกินอยากรู้วิธีจัดการ

•มีพฤติกรรมอะไร ที่คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน หลังจากได้แปลหนังสือเล่มนี้?

เรื่องหนึ่งที่คนน่าจะมองข้าม คิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรมาก คือการเดินไปดูมือถือไป เชื่อว่าหลายๆ คนทำแบบไม่รู้ตัวด้วย ดูๆ แล้วมันก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไร แต่ส่วนตัวเคยดูมือถือ กำลังแชตอยู่และลงบันได ก็ตกบันไดเพราะเรามองไม่เห็น นึกว่าสุดแล้ว แต่จริงๆ มันยังมีก้าวเหลืออยู่ เราก็ตกบันไดข้อเท้าแพลง เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายปีแล้ว ตอนนั้นเราก็ยังคิดเลยว่า อยู่ในจุดที่อันตรายเองเพราะกำลังเดินบันได เราผิด แต่ก็ไม่ได้นึกถึงว่า การเดินทางราบแล้วเล่นมือถือไปด้วย จริงๆ ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้หยิบยกสถิติให้ดูด้วยว่า ต่อให้เราอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย อย่างเช่นบ้านของเราเอง ที่ๆ เรารู้สึกว่าคุ้นเคยกับทุกซอกทุกมุมอยู่แล้ว ก็เป็นอันตรายได้เหมือนกัน ถ้าเราเดินไปเล่นมือถือไป

ตอนนี้ก็เลยพยายามที่จะเตือนสติตัวเอง ว่าถ้าเราเดินอยู่จะไม่ดูมือถือ จะพยายามหยุดก่อน ดูว่าเราไม่ได้ขวางทางใคร ไม่ได้เป็นอันตรายกับตัวเองหรือกับคนอื่น ก็ค่อยหยิบขึ้นมาดู โอเค ดูเสร็จก็เก็บ แล้วเดินต่อ

•จุดไหนที่เราควรต้องพัก ปิดแท็บชีวิตตัวเอง?

น่าจะเป็นจุดที่เรารู้สึกว่ามันมากเกินไป การที่เราใช้โซเชียลแล้วทำให้เรารู้สึกเหนื่อย เครียด คิดลบอะไรบางอย่างกับตัวเอง ซึ่งบางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวว่ามันมาจากโซเชียล แต่อยากให้ลองสังเกตตัวเอง สังเกตอารมณ์ ว่าเกิดความรู้สึกใดๆ ในด้านลบหลังจากการใช้โซเชียลหรือไม่? อย่างเช่น เรากลัวเสียงไลน์ เพราะโดนตามงานไม่เป็นเวลา ซึ่งก็มีคนมาพูดกับเราว่าเคยโดน (หัวเราะ) ได้ยินบ่อยจากหลายๆ คน ว่าเขากลัว ผวา ไม่อยากจับโทรศัพท์เลย หรือว่าดูฟีด เห็นรูปคนอื่นไปเที่ยว ชีวิตดี กินอาหารดี ประสบความสำเร็จ ตัดภาพมาที่ตัวเอง เราก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าเราไม่เห็นเป็นเหมือนเขา ต้องคอยสังเกตความรู้สึกตัวเอง

สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ ถ้าเราใช้มันเป็น แต่เมื่อไหร่ที่ปล่อยให้มันมามีอิทธิพลกับตัวเรามากจนเกินไป ก็ต้องเริ่มถอยออกมา คิดว่าจุดนี้ที่เราควรจะปิดแท็บชีวิตตัวเอง

มีหลากหลายประเด็นมากมายที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ อย่างซึมเศร้า ก็มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมออนไลน์ด้วย เช่น คอมเมนต์ในด้านลบ การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แบบที่เราเห็นในโลกออนไลน์

ปิดพักไป ไม่ต้องเห็นชั่วคราว ในเมืองนอกมีหลายคนกลับไปใช้มือถือแบบปุ่มกด โทรเข้า-ออก ส่ง หรือข้อความได้อย่างเดียว เพราะรู้สึกว่ามันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นกับเขา เขาไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำไมเขาไม่ประสบความสำเร็จบ้าง ทำไมเขาไม่หุ่นดี ไม่หน้าตาดี ไม่มีเงินเหมือนคนอื่นบ้าง ก็เลยตัดตรงนี้ไปเลย ซึ่งถ้าเรารู้สึกว่าเราทำได้ ไม่สุดโต่งเกินไปกับชีวิตเรา ใช้มือถือปุ่มกดก็ได้ ถามว่ามันลำบากชีวิตเราไหม ก็ไม่ได้ลำบากขนาดนั้น อาจจะไม่ได้สะดวกสบายเท่าการใช้สมาร์ทโฟน 1 เครื่องเราพกไปได้ทุกที่ ทำได้ทุกอย่าง อาจจะต้องพกของเยอะขึ้นอีกนิด หรือไม่ได้รู้ทันเหตุการณ์ทุกเรื่อง ทุกวินาที เพราะไม่ได้คอยอัพเดตออนไลน์ แต่ถ้ามันทำให้เรามีความสุขขึ้นก็น่าลอง

หาสมดุลให้กับตัวเองว่าเราทำแบบไหนแล้วรู้สึกว่า โอเค รับได้ ไม่ฝืนตัวเองเกินไป จนกลายเป็นว่าเรามาเครียดเพิ่มอีกเรื่อง ไม่ต้องถึงกับหักดิบก็ได้ ลองลดๆ ดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image