The Act of Killing เพื่อความเข้าใจในอาชญากร

เป็นสารคดีเรื่องถัดภายใต้การนำเข้าของ Documentary Club สำหรับ The Act of Killing (2012) สารคดีสำรวจเหตุการณ์กวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ที่นำไปสู่การสังหารหมู่จนมีคนล้มตายสูงถึง 2 ล้านคน โดยที่มือสังหารในวันก่อนนั้น กลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่ยังอยู่ดีมีความสุขจนทุกวันนี้

โจชัว ออพเพนไฮเมอร์-ผู้กำกับ อาจไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แต่เพียงถ่ายเดียว แต่ยังสำรวจจิตใจและความคิดของเหล่าอาชญากรเมื่อ 40 ปีที่แล้วอย่างละเอียดลออ ด้วยการให้พวกเขาเหล่านั้นแสดงภาพยนตร์ถึงเหตุการณ์นองเลือดที่เคยเกิดขึ้นแล้วนำเสนอผ่านสารคดีเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับการเผยกิจวัตรประจำวันของอดีตมือสังหาร ที่กลายเป็นพ่อคน หรือมีหลานให้ต้องเลี้ยง

ใช่-สารคดีเรื่องนี้จึงเป็นการสะท้อนเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนั้นผ่านสายตาของมือสังหารผู้ยังอยู่ดีมีความสุขนั่นเอง

หนังไม่ละเลยบริบททางสังคมหรือการเมือง ออพเพนไฮเมอร์แนบมันมากับเรื่องราวอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะประเทศอย่างอเมริกาซึ่งแน่นอนว่าสำหรับโลกการเมืองแล้ว เป็นปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

aok4

อเมริกาปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ทั้งในเรื่องใหญ่และเรื่องยิบย่อย การเมือง, บริบทการฟาดฟันกันของโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ และภาพยนตร์ เป็นเรื่องอิหลักอิเหลื่อของคนดูที่พบว่าอันวาร์ คองโก-หัวหน้ามือสังหารได้แรงบันดาลใจในวิธีฆ่าคนมาจากภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ซึ่งแน่นอนว่ามันพ่วงมากับนิยามและภาพลักษณ์ของความเป็นฮีโร่ ดังนั้นในทุกครั้งที่อันวาร์เข้าฉากโดยสวมบทเป็นผู้ล่า เขาจะมีท่าทีและแอ็คชั่นบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ อย่างน้อยเท่าที่รู้สึกได้คือความรู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่และกำลังแสดงผ่านกล้องอยู่-ติดก็แต่สิ่งที่เขาแสดงนั้นล้วนเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงมาก่อนทั้งสิ้น

ขณะที่มือสังหารอีกคนอย่างเฮอร์แมน ก็น่าแปลกที่ตัวสารคดีเองนำเสนอเขาในรูปแบบของความตลกหรือเซอะซะกว่าอันวาร์ เขาปรากฏตัวบนจอหนังในสภาพพิลึกพิลั่นไปเสียเกือบทุกฉาก อย่างไรก็ดี การมีอยู่ของเขา คือการสะท้อนให้เห็นถึงสายป่านของกระบวนการการเมืองในอินโดนีเซียเอง ที่มีทั้งนักการเมือง, นายทุน, กองกำลังและขบวนการใต้ดิน ผนึกแนบแน่นรวมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างยากจะแยกออก

Advertisement

สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมมากๆ คือผู้กำกับสามารถดึงเอากระบวนการคิดของเหล่าอาชญากรออกมาได้อย่างหมดจด ‘ภาพยนตร์’ ที่พวกเขาแสดงกันเองจึงเป็นภาพสะท้อนถึงการถูกกล่อมเกลาโดยรัฐ และก็ด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้อีกนั่นเองที่จะเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาคนรุ่นต่อๆ ไปที่ได้ดูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหนืออื่นใด มันเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงความคิดที่เขามีต่อคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงความคิดที่เขามีต่อตัวเองและสิ่งที่เคยกระทำ

และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ออพเพนไฮเมอร์ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนในใจได้อย่างน่าชื่นชม-ความเห็นใจในเหยื่อนั้นมีอยู่แล้ว แต่ความอยากเข้าใจในตัวผู้กระทำนั้นก็มีอยู่มากเช่นกัน

นี่เองอาจเป็นความดีงามของสารคดีเรื่องนี้

maxresdefault

ดู The Act of Killing : ฆาตกรรมจำแลง ได้ในวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.พ. ที่ SFW CentralWorld – วันธรรมดา 19:30 น., เสาร์-อาทิตย์ 15:00 น., SFX Maya Chiangmai – 19:00 น. และวันเสาร์ 13 ก.พ. เวลา 15:00 ที่ SFW CentralWorld

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image