กรีด 7 แผลคู่ขนานการศึกษาเรื่อง ‘ชาติ’ บทวิพากษ์ ‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ หนังสือสายประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในทศวรรษ

กรีด 7 แผลคู่ขนานการศึกษาเรื่อง ‘ชาติ’ บทวิพากษ์ ‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ หนังสือสายประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในทศวรรษ

หนังสือ “เขียนจีนให้เป็นไทย” ของ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ นับเป็นหนังสือสายประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หนังสือได้พาเราไปสำรวจโลกวิชาการภายใต้บริบทการเมืองในช่วงสงครามเย็นว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ส่งผลต่อการตีความและเขียนงานวิชาการอย่างไร ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และจีน ได้เข้ามายื้อแย่งการสถาปนาความคิดและมีส่วนกำหนดทิศทางของงานวิชาการเช่นไร รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน ที่เปลี่ยนไป (ภายใต้เงาความสัมพันธ์ทางการทูตของสหรัฐและจีน) ส่งผลต่อข้อเสนอทางวิชาการในเรื่องคนจีนและคนไทยเพียงใด หนังสือเล่มนี้จึงนับเป็นหนังสือเล่มที่ 2 ต่อจาก “เขียนชนบทให้เป็นชาติฯ” ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ที่เชิญชวนให้เราหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ของวงวิชาการว่ามิได้มีความบริสุทธิ์และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ (อ่าน การเมืองเรื่อง “ชนบท” ของคนไม่โรแมนติก รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ)

วงวิชาการไทยที่ถูก ‘แช่แข็ง’ ในยุคสงครามเย็น

หนังสือเล่มนี้มีจุดสนใจไปที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการสถาปนาความรู้เรื่องคนจีนในสังคมไทย แต่เราอาจแบ่งเนื้อหาในเล่มได้ออกเป็น 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ 1.ประวัติศาสตร์วงวิชาการไทย และ 2.ปัญหาอัตลักษณ์ (ชาติ) ของคนจีน

สำหรับระดับแรกนั้น สิทธิเทพได้ให้ภาพการก่อตัวขึ้นของวงวิชาการไทยสมัยใหม่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ ในช่วงสงครามเย็นได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ในช่วงของการชื่นชมและยึดการศึกษาของนักวิชาการสหรัฐ เป็นฐานในการวิเคราะห์ที่สำคัญ จนถึงช่วง 14 ตุลาฯ ที่เกิดข้อวิพากษ์ว่าวงวิชาการไทยตกเป็น “อาณานิคมทางปัญญา” ของสหรัฐ และเรียกร้องให้นักวิชาการไทยผลิตงานของตัวเอง (ซึ่งสิทธิเทพเรียกว่า “ชาตินิยมวิชาการ”)

Advertisement

ปัญหาประการแรกที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาจากสาขาวิชาการประวัติศาสตร์ คือการที่จำเป็นต้องกำหนดช่วงเวลาในการศึกษาที่แน่นอน ทำให้ประวัติศาสตร์วงวิชาการไทยในช่วงสงครามเย็นถูกแช่แข็งและดึงออกมาจากอดีตและอนาคตของมัน สิทธิเทพเรียกบุคคลที่ผลิตความรู้เรื่องคนจีนก่อนยุคสงครามเย็นว่า คือ “ปัญญาชนราชการ” ที่รวมชนชั้นสูงและข้าราชการของไทยในฐานะที่ไม่ใช่นักวิชาการอาชีพว่ามิได้ผลิตความรู้อย่างเป็นระบบ แต่ส่วนตัวมองว่ามักมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองปัญหาทางการเมืองมากกว่า เช่น “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เพื่อตอบโต้กระแสชาตินิยมจีน หรือการอ้างว่าบริเวณตอนใต้ของจีนเป็นคนไทยของหลวงวิจิตรวาทการ เพื่ออ้างสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าวในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม

มุมมองเช่นนี้เป็นการกลับหัวกลับหางปัญหาทางการเมืองและองค์ความรู้ซึ่งจะส่งต่อการตีความการนิยามความเป็นไทย-จีนในยุคสงครามเย็นอันเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ความเข้าใจเรื่อง “ชาติ” (nation) โดยทั่วไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีลักษณะเป็นนิรันตรนิยม (perennialism) มองว่าชาติกำเนิดมาอย่างยาวนาน โดยที่ยังไม่ปรากฏแนวคิดชาติแบบสมัยใหม่นิยม (modernism) ที่มองว่าชาติเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาสมัยใหม่และเป็นสิ่งประกอบสร้าง

ข้อเขียนของปัญญาชนราชการจึงกระทำไปด้วยความเชื่อโดยสุจริตว่าชาติไทยนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานและแน่แท้ เพียงแต่ว่าจุดกำเนิด หรืออดีตของชาติไทยเป็นอย่างไร คือ ปัญหาที่พวกเขาต้องการคำตอบเพื่อให้ดำรงตนอยู่ได้ในสังคมระหว่างประเทศสมัยใหม่ที่แบ่งรัฐออกเป็นชาติต่างๆ (international) เรื่องราวในท้องถิ่น ตำนานจารึก แนวคิดทฤษฎีที่แพร่หลายในขณะนั้นจึงถูกนำมาปรับใช้โดยเร็วเพื่อให้ชาติไทยมีสถานะที่เท่าเทียมกับตะวันตกให้เร็วที่สุด การสร้างประวัติศาสตร์ชาติให้ยิ่งใหญ่และยาวนานในช่วงเวลานี้ จึงเป็นพันธกิจที่สำคัญของปัญญาชนไทย มิใช่เป็นการสร้างขึ้นเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงเพื่อโจมตีชาวจีน หรืออ้างสิทธิเหนือดินแดน เพียงแต่ว่าผลของมันอาจเข้าทาง หรือกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการทางการเมืองบางอย่างมากกว่า ข้อเสนอที่ว่าการเขียนถึงชาติแบบหนึ่งๆ เช่น ยิวแห่งบูรพาทิศ ไม่ว่าจะเพื่อสร้างความเป็นอื่นให้คนจีน หรือเพื่อแกล้งวิจารณ์เพื่อสร้างความเป็นเรา ต่างก็เป็นการตีความโดยใช้ “ผล” ของเหตุการณ์ ย้อนกลับไปให้ความหมายของ “เหตุ” ใหม่ทั้งสิ้น และเป็นการพยายามหาความสมเหตุสมผลของการกระทำต่างๆ ให้มีเจตนาแอบแฝง (agenda) อยู่เสมอ ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของตัวการ (agency) ทางประวัติศาสตร์เลยก็ได้

จุดยืนการศึกษา ‘ชาติและอัตลักษณ์’ (ไม่มี) สารัตถะเพื่อวิพากษ์

ปัญหาประการที่ 2 คือ จุดยืนในการศึกษาของผู้เขียนในเรื่อง ชาติและอัตลักษณ์ (ทั้งชาติและชาติพันธุ์) กล่าวคือ ผู้เขียนยังใช้จุดตั้งต้นในการศึกษาว่า ชาติและอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่มีสารัตถะ (essence) เพื่อทำงานวิพากษ์ว่าแท้จริงแล้ว ชาติและอัตลักษณ์เป็นสิ่งไม่มีสารัตถะและลื่นไหล

การวิพากษ์ว่าชาติเป็นสิ่งประกอบสร้างในวงวิชาการไทยเริ่มมาอย่างน้อยตั้งแต่บทความ “ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา” (Studies of the Thai State: The State of Thai Studies) ของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ใน ค.ศ.1979 หรือกว่า 4 ทศวรรษมาแล้วก่อนที่หนังสือเล่มจะตีพิมพ์ ทำให้แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นงานที่โดดเด่นในการศึกษาแนวคิดชาตินิยมในงานวิชาการช่วงสงครามเย็น แต่กลับติดอยู่ในโลกทัศน์ (paradigm) เรื่องชาติที่ถูกผลิตขึ้นในยุคสงครามเย็นเสียเอง กล่าวคือ ยังใช้มุมมองต่อชาติเสมือนว่ามันจริงแท้เพียงเพื่อจะบอกว่ามันประกอบสร้างขึ้น แต่ไม่ยอมใช้มุมมองที่ว่าชาติเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างเป็นฐานในการวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของมันในช่วงเวลาหนึ่งๆ ว่ามันดำรงอยู่เพื่ออะไร และต่อเนื่องจากปัญหาประการแรก เมื่อขอบเขตของหนังสือเล่มนี้สิ้นสุดลงในยุคสงครามเย็น ตัวมันเองกลับไปสร้างภาพลวงตา (illusion) ราวกับว่า คนส่วนมากในประเทศไทยในปัจจุบัน หรืองานวิชาการกระแสหลักยังคงผลิตงานที่ยืนยันว่าชาติไทยเป็นสิ่งจริงแท้ มั่นคง และยาวนาน ทั้งๆ ที่งานในช่วง 2 ทศวรรษหลังมา แทบจะไม่มีงานวิชาการชิ้นใดยึดถือ หรือมีมุมมองต่อชาติเช่นนั้นอีกแล้ว

(อ่าน ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ย่อไทม์ไลน์ ‘ปลดแอกชาติ’ ด้วยเรื่องจริงที่เป็นยิ่งกว่านิยาย)

‘จีน-ไทย’ ที่ไม่ระบุนิยาม ยากเข้าใจ
การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

สิ่งนี้นำมาสู่ปัญหาประการที่ 3 คือ หนังสือเล่มนี้ไม่มีการนิยาม หรือระบุว่า คำว่า “ไทย” และ “จีน” ที่ปรากฏ หมายถึง ชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรม แน่นอน ส่วนตัวเข้าใจว่าเนื่องจาก ผู้เขียนต้องการศึกษาความลื่นไหล หรือความไม่แน่นอนของสองคำนี้ แต่การไม่นิยามเลย ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของของสองคำนี้ เช่น การที่ประเทศจีนมองชาติจีนเป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ไทยในช่วงเวลาดังกล่าว มองชาติไทยเป็นเรื่องของเชื้อชาติ การเอาคำว่า “ไทย” และ “จีน” มาวางอยู่ในฐานะเท่าเทียม หรือนำมาเป็นคู่เปรียบเทียบกันโดยตรง จึงไม่เท่ากันตั้งแต่แรก กล่าวคือ ชาติไทยสามารถอ้างความเป็นไทยต่อกลุ่มคนที่เชื่อว่ามีเชื้อชาติไทย (ทางชีววิทยา) แต่ชาติจีนกลับสามารถอ้างทุกคนที่รับเอาวัฒนธรรมจีนมาปฏิบัติ (คนจีนในไทยและที่ต่างๆ ทั่วโลก) การเปลี่ยนจีนให้เป็นไทยจึงอาจต้องทำการกลืนกลาย (assimilate) โดยลบความเป็นจีนออก หรือทำให้ลืมเชื้อชาติของตัวเองไป แต่คนไทยกลับสามารถเป็นจีนได้โดยรับวัฒนธรรมจีนผ่านการปฏิบัติตามประเพณีในช่วงเทศกาลของจีนต่างๆ คำว่า จีน และไทย จึงมีค่าไม่เท่ากัน และต้องการนิยามที่ชัดเจนก่อนการศึกษา

ปมร้อยรัด ‘อัตวิสัย’ ใครคือไทย ใครคือจีน ?

ปัญหาประการที่ 4 ดังที่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอไว้ว่า แม้แต่ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ (G.William Skinner) ผู้ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ของหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครคือไทย และใครคือจีน และเป็นเรื่องอัตวิสัยของผู้วิจัยคนนั้นๆ เอง ปัญหานี้ร้อยรัดมาตั้งแต่ปัญหาประการที่ 1-3 คือแทนที่จะยืนบนฐานว่าไทยและจีนไม่มีจริง ผู้เขียนกลับยืนอยู่บนด้านกลับของสกินเนอร์เสียเอง เพื่อวิพากษ์สกินเนอร์และนักวิชาการยุคสงครามเย็นที่สร้างให้สิ่งนี้เป็นวาทกรรม (discourse) เพราะหากใช้ความเข้าใจว่าไทยและจีนไม่มีจริง หรือเป็นวาทกรรมตั้งแต่ต้น เราจะพบว่ากระบวนการสร้างความเป็นไทยและจีน ตั้งแต่ยุคปัญญาชนราชการจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งคือผู้เขียนเอง) กล่าวคือ คนจีนในไทยไม่เคยดำรงอยู่มาตั้งแต่ต้น เพราะความเป็นจีนก็เป็นสิ่งประกอบสร้าง ปัญหาการกลืนกลาย หรือบูรณาการ (integrate) จึงเป็นปัญหาที่ไม่เคยมีอยู่จริง แม้แต่ตัวปัญหาเองก็เป็นสิ่งประกอบสร้าง

‘ความเป็นอื่น’ คือหัวใจของชาติตั้งแต่ต้น ไม่ใช่กลับกัน

ปัญหาทั้ง 4 ประการ เกิดจากฐานคิดที่ว่าชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีสารัตถะเลย ซึ่งหากผลักดันข้อเสนอไปจนสุดทางแล้วจะพบปัญหาประการที่ 5 คือ การศึกษาที่ทำมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ตั้งแต่ต้น เพราะทุกอย่างล้วนแต่ประกอบสร้างและไม่จริง

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวแล้วศึกษาพบว่าชาติ (nation) เป็นสิ่งที่มีสารัตถะ เพียงแต่สารัตถะของมัน คือ สิ่งที่ทุกคนเห็นว่าคือข้อเสียนั้น คือ “ความเป็นอื่น” (otherness) รากเหง้าทางศาสนาของชาตินั้นสามารถสืบย้อนไปได้ถึงความเป็นยิว (Jewness) ที่ส่งผ่านทางศาสนาคริสต์ และการล่าอาณานิคมภายใต้หน้ากากแห่งความเป็นทางโลก (secularness) การเป็นศาสนาเอกเทวนิยม (monotheism) ทำให้เกิดการสร้างพวกเราให้แก่ผู้นับถือพระเจ้าที่ถูกต้อง (truth) และสร้างความเป็นอื่นให้แก่ทุกคนที่ไม่ได้นับถือพระเจ้าองค์เดียวกับพวกเรา หรือนับถือพระเจ้าปลอม (false) ยิวจึงเป็นต้นแบบดั้งเดิมของชาติ (proto-nation) ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม ตลอดจนการถกเถียงทางทฤษฎีชาติทั้งหมดนั้นก็มียิวเป็นตัวอย่างที่สำคัญของความเป็นชาติ (nationhood) ที่แยกขาดจากรัฐได้

ความเป็นอื่นจึงเป็นสารัตถะที่สำคัญของชาติมาตั้งแต่ต้นไม่ใช่กลับกัน กล่าวคือ ความเป็นอื่นไม่ใช่ผลของการไม่อาจนิยาม (define) หรือหาอัตลักษณ์ (identity) ของชาติได้ (จึงได้แต่กีดกัน (exclude) ไม่ว่าจะด้วยเขตแดนหรือเรื่องเล่าว่าใครไม่ใช่พวกเรา) แต่ความเป็นอื่นคือหัวใจของชาติตั้งแต่ต้น การมีศัตรูร่วมกัน การบอกว่าอะไรไม่ใช่ การบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ผิด (false) การดูถูกชาติอื่น คือหัวใจของชาติตั้งแต่แรกแล้ว ชาติจึงเป็นกระบวนการเชิงลบเพื่อขีดเส้นแบ่งและกีดกันผู้คนมากกว่ารวมเข้าหรือกลืนกลาย เพราะคนที่เหลืออยู่จากกระบวนการกีดกันนั้นแหละ คือ พวกเราโดยไม่จำเป็นต้องนิยาม หาอัตลักษณ์ หรือสารัตถะของชาตินั้นๆ การพยายามหาอัตลักษณ์ของชาติ กระทั่งการวิพากษ์มันจึงเป็นการตั้งคำถามที่ผิด

หากมองในแง่นี้ประวัติศาสตร์อัลไต-น่านเจ้า เรื่องราวของพระเจ้าตากสิน หรือเรื่องราวของคนจีนในเมืองไทยที่ถูกปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดจึงเป็นเรื่องปกติของประวัติศาสตร์ชาติ (nation history) และไม่ใช่เรื่องของ “ข้อเท็จจริง” (fact) แต่เป็นเรื่องของ “ความจริง” (truth) ที่ถูกสถาปนาขึ้นให้กลายเป็นวาทกรรม (discourse) โดยมิได้สนว่ามันถูกต้องหรือไม่ตั้งแต่แรก

รัฐ-เลือดเนื้อ-ชาติ(เชื้อ)ไทย เรื่องราว สาระ (อีก)
ปัญหาของการ ‘ไม่นิยาม’

ปัญหาประการที่ 6 คือ เมื่อชาติเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างและเป็นวาทกรรม ความเป็นชาติในแต่ละช่วงเวลามีเนื้อหาสาระอย่างไร กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เพียงการระบุว่าเป็นชาติแบบเชื้อชาติไทย หรือชาติแบบราชาชาตินิยม แต่ชาติทั้งสองแบบดังกล่าวถูกให้นิยามและเรื่องราวว่าอย่างไร

สำหรับชาติแบบเชื้อชาติไทยในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้คำว่าเชื้อชาติไทยจะดูสื่อความหมายถึง เชื้อชาติที่บริสุทธิ์ (pure race) และมีความหมายเชิงชีววิทยา (biology) แต่แท้จริงแล้ว ชาติแบบเชื้อชาติไทยระบุว่า ทุกคนภายใน “รัฐ” ล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยด้วยกัน (ไม่ใช่เชื้อชาติจริงๆ) ในรัฐนิยมฉบับที่ 3: เรื่อง “การเรียกชื่อชาวไทย” ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้เรียกทุกคนในประเทศว่า “คนไทย” แม้มีเชื้อสายอื่นก็ให้ถือว่ามีสัญชาติไทยมิให้แบ่งแยก ให้เรียกว่า “ไทย” โดยรวมเพื่อขจัดความแตกต่างเพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของประเทศและความกลมเกลียวสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไทยทั่วทุกภาคของประเทศ ชาติแบบเชื้อชาติไทยเองแท้จริงก็มิได้มีเนื้อหาสาระที่แตกต่างไปจากราชาชาตินิยม เพียงแต่เปลี่ยนจาก “ราชา” ให้กลายเป็น “เชื้อชาติ” แทน แต่ทั้งสองคำยังคงความหมายว่า “รัฐ”

กระทั่งงานเขียนของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มักถูกระบุว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดของนักประวัติศาสตร์เอง เพราะเนื้อหาสาระและเป้าประสงค์ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพนิยาม “ชาติไทย” เอาไว้นั้น คือ การทำให้ทุกคนเป็นคนไทยโดยไม่มีการแบ่งแยกสยาม ลาว หรือมลายู อีก กล่าวคือ ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนภายใน “รัฐ” เดียวกัน โดยไม่แบ่งแยก ภายใต้ชื่อว่า “ไทย” เท่านั้น ไม่มีการพยายามกลืนกลายกระทั่งการบูรณาการชาติ (สำนึก) สิ่งนี้เกิดจากปัญหาในภาพรวมของการศึกษาเรื่องชาติไทย คือ การไม่นิยามว่า รัฐ ชาติ หรือรัฐชาติ มีนิยามอย่างไร

(อ่าน คุยเรื่อง (ชัง) ชาติ เมื่อประวัติศาสตร์วนลูป กับ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ‘สยามไม่เคยเสียดินแดนมลายู?’)

‘ศัพท์เฉพาะ’ ทำสับสน
เมื่อยกระดับวิเคราะห์ทางทฤษฎี

สำหรับปัญหาประการสุดท้ายคือ หนังสือเล่มนี้มีการสร้างศัพท์เฉพาะ (jargon) ทางวิชาการหลายคำ ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่าหากอ่านอย่างผิวเผินดูเหมือนจะสร้างแนวคิด (concept) ที่ใช้ในการอธิบายได้ชัดเจนขึ้น แต่เมื่อยกระดับเพื่อนำมาวิเคราะห์ในทางทฤษฎีแล้ว ศัพท์เฉพาะเหล่านี้กลับสร้างความสับสนว่าหมายถึงสิ่งใดกันแน่ เช่น “ปัญญาชนข้าราชการ” ทำไมจึงไม่สามารถเรียกว่า “ข้าราชการ” ได้ การนำคำว่า “ปัญญาชน” มาขยายซึ่งไม่แน่ใจว่าช่วยทำให้เราสามารถระบุกลุ่มคนได้ดีขึ้นจากการเรียกว่าข้าราชการเฉยๆ เพราะถึงที่สุดก็จำเป็นต้องระบุชื่อปัญญาชนข้าราชการคนต่างๆ ที่อ้างถึงอยู่ดี หรือคำว่า “ชาตินิยมวิชาการ” ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าต่างจากการบอกว่านักวิชาการใช้แนวคิดชาตินิยม หรือเขียนงานแบบชาตินิยมอย่างไร

ท้ายที่สุด ข้อวิจารณ์เกือบทั้งหมดข้างต้น เป็นข้อวิจารณ์ต่อการศึกษาเรื่องชาติในวงวิชาการไทยที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นเพียงแค่การวิจารณ์เฉพาะหนังสือ “เขียนจีนให้เป็นไทย” เท่านั้น และดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า

หนังสือเล่มนี้ก็ยังถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีและมีความสนใจอย่างยิ่งในรอบทศวรรษ จึงมีคุณค่าต่อวงวิชาการอย่างสูงและเปิดพื้นที่การศึกษาใหม่ๆ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของวงวิชาการ มุมมองประเทศไทยในฐานะส่วนหนึ่งของโลก (ยุคสงครามเย็น) ไม่ใช่เพียงสนใจสงครามเย็นที่เกิดภายในประเทศเท่านั้น (การปราบปรามคอมมิวนิสต์) และที่สำคัญคือการนำเสนออิทธิพลจากการเมืองระหว่างประเทศที่พยายามเข้ามาแทรกแซงและสถาปนาองค์ความรู้ที่ผู้เขียนนำเสนอภายใต้คำว่า “การทูตวิชาการ”

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง  เขียนจีนให้เป็นไทย ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือ การทูตวิชาการไทย-จีน

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image