ขรรค์ชัย-สุจิตต์ สะกิด ผู้ว่าฯ คนใหม่ ‘อยากได้พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ’

“กรุงเทพฯ ต้องมีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ”

คำกล่าวในช่วงท้ายรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘คนกรุงเทพฯ ร้อยพ่อพันแม่ ถูกบังคับเป็นไทย’ เมื่อ เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี ถาม สุจิตต์ วงษ์เทศ วิทยากรอาวุโส ถึงประเด็นที่อยากฝากถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ โดยในขณะถ่ายทำ ยังไม่ทราบว่ามติมหาชนคนกรุงเทพฯ จะเทให้ใคร?

ตัดฉากมาในวันนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี วิ่งมาราธอนลงพื้นที่ 2 ปีจนคว้าชัย เป็นผู้ว่าฯกทม.จากการเลือกตั้งคนแรกหลังรัฐประหาร

จากซ้าย สุจิตต์ วงษ์เทศ, ธัชชัย ยอดพิชัย และเอกภัทร์ เชิดธรรมธร

สุจิตต์ เจ้าของผลงาน ‘กรุงเทพฯ มาจากไหน ?’ พ็อคเกตบุ๊กอ่านง่ายสไตล์คอลัมนิสต์ไม่ติดกระดุมบน เดินทางมายัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ริมฝั่งเจ้าพระยาเพียงลำพัง เนื่องด้วย ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) วิทยากรคู่ ขอยื่นใบ ‘ลาป่วย’ ชั่วคราว ทว่า ส่งใจมาทอดน่องมองกรุงเทพฯ-กรุงธนฯ บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์อันเปี่ยมสีสันยิ่ง

Advertisement

เปิดรายการ ณ ท่าน้ำของวัดโดยมีฉากหลังคือฝั่งกรุงเทพฯ พร้อมเล่าเรื่องราวที่อดีต 2 กุมารสยาม ย้ำว่า ควรมีในพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ นั่นคือ ‘ผู้คน’ อันหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างบางกอก

ขุดคลองลัดบางกอก

เกิดเมืองธนบุรี สืบกรุงเทพฯ สู่ Bangkok

Advertisement

ก่อนอื่น เริ่มต้นที่การโชว์ภาพขาวดำเมื่อราว 100 ปีก่อน เผยให้เห็น ‘เรือนแพ’ ริมฝั่งน้ำอันเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบางกอกก่อนมีการการจราจรทางบกคับคั่งอย่างในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเล่าเกร็ดเรื่อง ‘เกาะ’ หน้าวัดอรุณฯ โดยผายมือไปยัง ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ธัชชัย เล่าว่า จากภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฝีมือ หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) ปรากฏภาพเกาะขนาดเล็ก มีศาลาปลูกไว้ระหว่างต้นอินทผาลัมกับต้นไผ่ คาดว่าเกาะนี้หายไปสมัยรัชกาลที่ 5

สุจิตต์ เสริมว่า เกาะลักษณะนี้คงเคยมีตลอดสายน้ำเจ้าพระยา ทว่า ไม่ได้บันทึกไว้ พร้อมแนะว่าทางวัดควรขยายภาพนำมาโชว์ให้ผู้ที่มาเยี่ยมวัดได้ชม เพราะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของภูมิประเทศในอดีตได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางคลื่นกระฉอกแรงมากจนหลายครั้งทำคอลัมนิสต์ดังเปียกปอน เจ้าตัวยังยืนเด่นโดยท้าทาย บรรยายความเป็นมาของกรุงเทพฯ ย้อนกลับไปเมื่อครั้งคลองบางกอกใหญ่-คลองบางกอกน้อย เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายดั้งเดิม ต่อมา ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ในราว พ.ศ.2085 สมเด็จพระไชยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบริเวณ ‘บางมะกอก’ ตรงคอคอดของแม่น้ำสายเดิมให้ทะลุถึงกัน เพื่อย่นระยะเวลาเดินเรือเข้า-ออก อยุธยากับอ่าวไทย หลังจากนั้นกระแสน้ำไหลตรงเหนือใต้ ทะลวงให้คลองลัดขยายกลายเป็นแม่น้ำใหญ่สืบจนทุกวันนี้

ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าลดขนาดลงกลายเป็นคลอง บริเวณที่ขุดคลองลัด เกิดชุมชนใหม่กลายเป็นเมืองบางกอก โดยกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่เติบโตอย่างมากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ ‘การค้าเฟื่องฟู’

“บางมะกอก ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกคงเป็นชุมชนริมคลองเล็กๆ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดอรุณฯ หรือชื่อเดิมคือวัดมะกอก กับท่าเตียน นานเข้าบางมะกอก กร่อนเหลือว่าบางกอก ที่มาของ Bangkok Thailand” สุจิตต์เล่า ก่อนชวนฟังเพลง ‘บางกอก’ ที่เคยแต่งไว้เมื่อ พ.ศ.2548 โดยล่าสุดมอบหมาย  นพพร เพริศแพร้ว และผองเพื่อนนักดนตรีปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยกว่าเดิม

เนื้อหาบอกเล่าความเป็นมาของกรุงเทพฯ ภายใน 2 นาที 11 วินาที

ความตอนหนึ่งว่า

‘มะกอกลูกดกตกคลองสองฝั่ง ชุมชนชื่อดังบางมะกอกแต่นั้นมา

บางมะกอก มีวัดมะกอกตั้งแต่ยุคอยุธยา เนิ่นนานกาลเวลา เรียกบางกอกรู้กันดี

ขุดคลองลัดบางกอก เกิดเมืองธนบุรี สืบกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ เรียก Bangkok Thailand’

‘ร้อยพ่อพันแม่’ สร้างเมืองเทวดา จาก ‘โหรงเหรง’ ถึงมหานคร

จากนั้น มาถึงประเด็น ‘ความเป็นกรุงเทพฯ’ เริ่มต้นตั้งแต่ชื่อซึ่งหากให้สรุปโดยง่าย หมายถึง ‘เมืองเทวดา’ จำลองจากชื่อศักดิ์สิทธิ์ของกรุงศรีอยุธยาโดยตรง นั่นคือ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าชาวบ้านในยุคนั้นไม่ได้รู้จักหรือเรียกขานอย่างกว้างขวาง หากแต่ยังเรียก ‘บางกอก’ เช่นเดิม

“กรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากคนหลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่ คนกรุงเทพฯคือคนที่อยู่บางกอกมาแต่เดิม ผสมผสานกับกลุ่มที่มาเพิ่มเติม โดยอพยพหนีมาจากอยุธยาบ้าง จากที่อื่นๆ บ้าง นอกจากนั้นก็มีคนนานาชาติพันธุ์

พอสถาปนากรุงเทพฯแล้ว คนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่เดิมคือฝั่งธนบุรี ลึกเข้าไปในคลอง ฝั่งกรุงเทพฯ หรือพระนคร คนยังน้อย เข้าใจว่ามีเฉพาะริมแม่น้ำ ถ้าพ้นออกไป ไม่มีคน เป็นไร่นา ป่าที่รกร้าง”

ถามว่า ชาติพันธุ์หลากหลายที่ว่านี้ มีใครบ้าง?

สุจิตต์ บอกว่า มากมายเหลือเกิน แต่น่าเสียดายที่การศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘ประวัติศาสตร์สังคม’ จึงไม่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชน

“ถ้าดูหลักฐานแบบไม่ต้องค้นคว้าเลย คือ วัด มัสยิด ศาลเจ้า โบสถ์คริสต์ นี่คือศูนย์กลางชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงวัด เรามักมองด้านเดียวคือพระพุทธรูปกับพระสงฆ์ แต่ลืมชุมชน ทั้งที่ชื่อวัด ชื่อศาสนสถานบอกถึงชุมชน เช่น วัดตองปุ สะท้อนถึงชุมชนมอญ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงคราม”

จากนั้น สุจิตต์ ลงลึกถึงจำนวนคนในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯตามที่ปรากฏในเอกสารยุครัชกาลที่ 4 ของสังฆราช ปาลเลอกัวซ์

“ปาลเลอกัวซ์จดไว้ว่า สยามทั้งประเทศมีคน 6 ล้าน ในกรุงเทพฯ มี 4 แสน บ้านเมืองโหรงเหรง หลายคนคงหงุดหงิดถ้าจะบอกว่ากลุ่มชนในที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของกรุงเทพฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ จาม ประวัติศาสตร์ไทยทุกวันนี้ก็ยังเหยียด ชาวจาม ใช้ภาษามลายู มีหลักแหล่งในเวียดนามกลาง ชำนาญการเดินเรือ เดินทางไกลไปทั่วจนถึงอินเดีย เลียบชายฝั่งในอ่าวไทยก่อนมีคนไทย ย้ำ! ก่อนมีคนที่เรียกตัวเองว่าคนไทย”

สำหรับหลักฐานการมีอยู่ของชาวมลายู ในเอกสารของปาลเลอกัวซ์ระบุว่าตกราว 15,000 คน

ภาพถ่ายเก่า ‘คนกรุงเทพ’ เผยให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ บรรพชนและผู้ร่วมสร้างบางกอกตัวจริง (จากหนังสือ กรุงเทพมาจากไหน ? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน, 2548)

เมื่อ กทม.ไล่คนสร้างกรุงเทพฯ ความไม่เป็นธรรมที่ต้องประท้วง

สุจิตต์ ยังเล่าถึงชาวมุสลิมที่ประวัติศาสตร์ไทยกล่าวถึงบทบาทการร่วมสร้างกรุงเทพฯ นั่นคือ ‘แขกบ้านครัว’ ซึ่งถูกเกณฑ์มาขุดคลองมหานครในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมา เกิดการไล่ที่เพื่อสร้างทางด่วน แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจนต้องยกเลิก

“ครั้งหนึ่ง ผมทำข่าวอยู่ กทม.จะไล่มุสลิมบ้านครัวออกไปที่อื่นเพื่อทำทางด่วน ทั้งที่เขามีส่วนสร้างกรุงเทพฯ คนประท้วงมากมายถึงความไม่เป็นธรรม จน กทม.ต้องยอมถอย นี่คือกรณีตัวอย่าง”

สำหรับชาติพันธุ์ดึกดำบรรพ์ในสุวรรณภูมิอย่าง ‘มอญ’ ซึ่งอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์มาเนิ่นนานอย่างน้อย 3 พันปี ก็เป็นหนึ่งในประชากรกรุงเทพฯ โดยถูกบันทึกไว้ว่าทั้งสยามมี 4 หมื่นคน ในกรุงเทพฯ มี 15,000 คน

ส่วนกะเหรี่ยง ชอง 50,000 พม่า 3,000

“มอญคือประชากรที่มากอย่างเหลือเชื่อของกรุงเทพฯ มีวัดลิงขบ หรือวัดบวรมงคลซึ่งเป็นวัดมอญ วัดใหม่ยายมอญ บ้านข้าวเม่าย่านพรานนก มีคลองมอญ วัดมอญ คำว่าบางยี่เรือก็อาจมาจากภาษามอญ วัดอินทาราม วัดราชคฤห์ ไปถึงวัดหัวกระบือ วัดบางกระดี่ บางขุนเทียน ส่วนฝั่งกรุงเทพฯ วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส วัดสามพระยา วัดทองเพลง วัดบางขุนพรหม สี่กั๊กพระยาศรี ก็ชุมชนมอญ ถนนตะนาวสุดสายนั่นก็ด้วย” สุจิตต์ ผู้มีสาย ‘เจ๊กปนลาว’ อรรถาธิบาย

มาถึง เขมร ซึ่งไม่กล่าวถึงไม่ได้ หลักฐานชี้ว่า ทั่วสยามมีถึง 500,000 ราย ส่วนในกรุงเทพฯ มีราว 10,000 คน

“สมัยธนบุรี เขมรอพยพจากอยุธยาตอนกรุงแตกมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านกลางนา ถนนพระอาทิตย์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ย้ายไปอยู่แถววัดสระเกศ รวมกับเขมรบ้านครัวที่ถูกเกณฑ์มาขุดคลองมหานาค ทำให้แถบคูเมืองตะวันออกเป็นย่านเขมรทั้งแถบ ตั้งแต่นางเลิ้ง หลานหลวง ถึงวรจักร วัดพระพิเรนทร์”

สนามหลวงของปวงชน ครั้ง ‘ลาว’ จับกบทุ่งพระเมรุ

ขยับอีกนิด มาถึง ‘ลาว’ ซึ่งสุจิตต์มองว่า ‘กลายตนเป็นคนไทย’ หมดแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ลาวในสยามตามบันทึกสมัยรัชกาลที่ 4 มีถึง 1 ล้านคน ในกรุงเทพฯ มี 25,000 คน

“วัดลาวในกรุงเทพฯ เต็มไหมด บางยี่ขันมีวังเจ้าอนุวงศ์ฯ วัดดาวดึงส์ ข้ามสะพานพระราม 8 ไปฝั่งพระนครลงบางขุนพรหม ก็ลาว”

สุจิตต์ ยังกล่าวถึงเพลง ‘ลาวแพน’ ซึ่งบรรยายความทุกข์ยากของชาวลาวจากเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่กรุงเทพฯ อดอยากจนต้องไปจับกบ ‘ทุ่งพระเมรุ’ กินกันตาย ดังความตอนหนึ่งว่า

‘ผ้าทอก็บ่มีนุ่ง ผ้าทุ่งก็บ่มีห่ม คาดแต่เตี่ยวเกลียวกลม หนาวลมก็นี้เหลือแสน …ถือข้องส่องคบ จับกบทุ่งพระเมรุ เปื้อนเลนเปื้อนตม เหม็นขมเหม็นคาว จับทั้งอ่างท้องขึง จับทั้งอึ่งท้องเขียว จับทั้งเปี้ยวทั้งปู จับทั้งหนูท้องขาว จับเอามาให้สิ้นมาต้มกินกับเหล้า…’

“ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวงในครั้งนั้นเป็นสถานที่ส่วนหนึ่งของประชาชน เป็นพื้นที่ของราษฎร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินไปจับกบกินยามยาก”

กรุงเทพฯต้องมี ‘พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ’

จากนั้น เล่าถึงชุมชนชาวจีนสมัยอยุธยา ณ ‘บางจีน’ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ก่อนย้ายไปอยู่สำเพ็งเมื่อสร้างกรุงเทพฯ เอกสารของปาลเลอกัวซ์บอกว่าคนจีนในสยามมี 1.5 ล้านคน ในกรุงเทพฯ มี 2 แสน

ส่วน ‘ญวน’ จากเมืองฮาเตียน อยู่แถบหน้าวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ตั้งหลักแหล่งค้าขายกับคนจีน

เขยิบไปที่ ‘ฝรั่ง’ ซึ่งชนชาติแรกที่เข้ามาในสยามคือ ‘โปรตุเกส’ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มสำคัญที่ตั้งหลักในกรุงเทพฯ

“วัดซางตาครูส เป็นพยานยืนยัน ถนนเจริญกรุง เป็นย่านฝรั่ง เลียบเจ้าพระยาลงมาด้วยเหตุผลทางการค้า ปากคลองผดุงกรุงเกษม เจ๊ก แขก ฝรั่ง เรียงราย นี่คือย่านการค้าที่แท้จริงซึ่งสร้างความเจริญตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์”

ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ สุจิตต์ ขอย้ำอีกทีว่า กรุงเทพฯ ต้องมีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ (อ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ : มิวเซียมกรุงเทพฯ ของ “คนเท่ากัน” รู้เขา-รู้เรา-รู้เท่าทันโลก)

“กรุงเทพฯ จึงต้องมีพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯเพื่อบอกเล่าสิ่งเหล่านี้ ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์จำเป็นมาก และขายได้ถ้าจัดดีๆ แบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ให้มีสังคมและมนุษย์ ให้การศึกษาแทนที่จะไปนั่งในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์อย่างเดียว ให้มาพิพิธภัณฑ์ชั่วโมงเดียวจบ รู้เรื่องแล้ว สร้างกิจกรรมแบบมิวเซียมสยามเป็นตัวอย่าง ลองคิดดูก็แล้วกัน” สุจิตต์กล่าว ก่อนย้อนขุดอดีตถึงเมื่อครั้งเคย ‘ถูกหลอก’ จากพรรคการเมืองหนึ่ง

“มีพรรคการเมืองหนึ่งหลอกให้ผมไปทำมิวเซียม ทำพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มี”

แย้มให้อยากรู้หูผึ่ง แล้วจากไป ไม่เฉลยชื่อพรรคและรายละเอียด

ก่อนทิ้งท้ายถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯ โดยย้ำว่า ครีเอทีฟไอเดียเกิดจากความต่างและ

ความหลากหลายที่คล้ายคลึงกันนั้นคือพลังอย่างแท้จริง

ชมคลิปรายการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image