จาก ‘อาคารแปลกประหลาด’ สู่ตึก (เล่า) ประวัติศาสตร์สังคมไทย ในนาม ‘มิวเซียมสยาม’

จาก ‘อาคารแปลกประหลาด’ สู่ตึก (เล่า) ประวัติศาสตร์สังคมไทย ในนาม ‘มิวเซียมสยาม’

ถือเป็นกิจกรรมที่คึกคักอย่างยิ่งในพระนคร เมื่อ ‘พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้’ หรือคุ้นเคยกันในชื่อ ‘มิวเซียมสยาม’ จัดกิจกรรม ‘Saturday Happening เสาร์สนามไชย’ ในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี (อาคาร) กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ทุกวันเสาร์ต้นเดือน ตั้งแต่มิถุนายน-พฤศจิกายนนี้ โดยถือเป็นหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย

ภาพถ่ายเก่าอาคารกระทรวงพาณิชย์ที่เพิ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2465

กิจกรรมไฮไลต์ช่วงเช้า มีการเสวนาในหัวข้อ “ก้าวไปหน้า เจริญตามกัน: สังคมสยามยุคสร้างตึกเรา” โดย ศรัณย์ ทองปาน จากกองบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี ซึ่งจะร่วมถ่ายทอดประวัติศาสตร์สังคมของตึก ตั้งแต่ก่อนจนกระทั่งสร้างเสร็จ ผ่านมุมมองนักเขียน ผู้รวบรวมหลักฐาน มาประมวลผลบอกเล่าแด่สาธารณชน

“ตึกหลังนี้กำเนิดขึ้นมาในฐานะสำนักงาน หรือออฟฟิศของกระทรวงพาณิชย์ แล้วใช้ในราชการเกือบ 80 ปี ก่อนจะเปลี่ยนการใช้งานเป็นมิวเซียมสยาม เมื่อไม่ถึง 20 ปีมานี้ ประวัติของตึกนี้จึงเกี่ยวพันกับกระทรวงพาณิชย์อย่างแยกไม่ออก” ศรัณย์ อธิบายไว้ในช่วงเริ่มต้น ก่อนพาผู้ฟังทุกคนเข้าสู่เนื้อหาหลักที่เข้มข้น

กำเนิด‘กรมสถิติพยากรณ์’ในพระคลังมหาสมบัติ

Advertisement
จุดลงทะเบียนภายในงาน

ศรัณย์ เล่าย้อนจุดเริ่มต้นของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 ว่า ในการประชุมเสนาบดีสภา เมื่อพูดถึงการวางนโยบายการคลัง ส่งเสริมการหารายได้ ก็มีประเด็นไปที่กรมหมื่นจันทบุรี ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ว่าจะทำอย่างไร ท่านตอบที่ประชุมว่า ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะตอนนี้ไม่มีสถิติ ตัวเลข ข้อมูลอะไรเลย จะคิดวางแผนอะไรก็ยังทำไม่ได้ ข้อสรุปของที่ประชุมเสนาบดีสภาวันนั้น บอกว่าควรจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานด้านสถิติ (statistic) ขึ้น

“เมื่อถึงปี 2456 มีหนังสือกราบบังคมทูลของเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือกรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ กล่าวถึงการจัดตั้งหน่วยงานด้านสถิติขึ้น มีการติดต่อไปยังอียิปต์เพื่อขอยืมตัวผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญด้านการเก็บและจัดระเบียบข้อมูลทางสถิติมาเป็นคนลงมือ เวลานั้นอียิปต์เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ เจ้าหน้าที่ที่เราขอยืมตัวมา จึงเป็นคนอังกฤษ

แบบจำลองตึกกระทรวงพาณิชย์

“ถัดมา มีนาคม 2457 มีการออกประกาศตั้งกรมสถิติพยากรณ์ขึ้นในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2458 เป็นต้นไป จึงมีหน่วยงานใหม่ขึ้นมาในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ คือกรมสถิติพยากรณ์ ถัดมาในเดือนกันยายน มีประกาศเพิ่มนามเป็น
กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์”

ศรัณย์อธิบายต่อว่า กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ทำงานด้านเก็บสถิติ การสหกรณ์และส่งเสริมพาณิชย์ งานที่ได้รับความสำคัญมากในยุคบุกเบิกคือด้านการสหกรณ์ เดือนพฤศจิกายน มีการประชุมเทศาภิบาลที่กรุงเทพฯ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึงถือโอกาสเชิญสมุหเทศาภิบาลมาประชุมหารือราชการที่กระทรวงพระคลัง โดยมีประเด็นหลักอยู่ที่งานของกรมพาณิชย์ฯ

จากนั้น เล่าถึงสิ่งที่ทำในงานประชุมครั้งนั้นว่า อย่างหนึ่งคือปรารภเรื่องแนวคิดการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อระดมทุนให้กับชุมชนและชาวนา อีกอย่างคือการแจกสิ่งที่จดหมายเหตุเรียกว่า ปัญหาสำรับหนึ่ง ให้สมุหเทศาภิบาลแจกต่อไปยังเจ้าเมืองต่างๆ ให้ตอบเข้ามา น่าจะเป็นการแจกแบบสอบถามทั่วราชอาณาจักรครั้งแรก เพื่อประเมินสภาพเศรษฐกิจทั่วไปของแต่ละหัวเมืองว่าเป็นอย่างไร แล้วจะตั้งสหกรณ์ขึ้นที่ไหน ซึ่งถือว่าเป็นความล้ำยุคมาก

เมื่อวาน กระทรวงพาณิชย์ วันนี้ ‘มิวเซียมสยาม’

ฮือฮา! ไม่รับ ‘เด็กฝากเด็กท่าน’

เปิดสอบชิงตำแหน่งราชการ

‘อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ได้รับอนุญาตเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ ให้จัดการสอบวิชาผู้สมัครเข้ารับราชการในกรมพาณิชย์แลสถิติพยากรณ์ ดังต่อไปนี้ กำหนดวันสอบวิชาคือวันที่ 24 ถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2459 ตำแหน่งสอบวิชาคือโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตำบลประทุมวัน’

เป็นข้อความของ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ปลายเดือนมีนาคม 2458

ศรัณย์อธิบายว่า การสอบเข้ารับราชการของกระทรวงพาณิชย์เป็นเรื่องแปลกใหม่มากสำหรับราชการในเวลานั้น โดยเฉพาะข้าราชการชั้นสัญญาบัตรซึ่งจะมีโอกาสไต่เต้าขึ้นไปในราชการเป็นลำดับ เพราะก่อนหน้านั้นการคัดเลือกราชการ หลักเกณฑ์สำคัญที่เราใช้มาแต่โบราณคือชาติวุฒิ คุณเป็นลูกใคร หัวนอนปลายเท้าเป็นยังไง แต่สิ่งที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ทำ คือสปิริตการเกิดขึ้นของหน่วยงานใหม่ วิถีใหม่ โลกแบบใหม่

“เมื่อประกาศผล คนที่สอบไล่ได้ 5 คน มีคุณสมบัติร่วมกันคือเป็นคนหนุ่ม ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 20 ต้นๆ ทุกคนมีความรู้ภาษาอังกฤษดี เช่น เคยเป็นนักเรียนล่ามของกระทรวงต่างประเทศ เรียนจบจากโรงเรียนฝรั่ง หรือบางคนเคยไปเรียนต่อในปีนัง อาจเป็นเพราะทักษะด้านภาษาอังกฤษมีความจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นของกรมใหม่” ศรัณย์เล่า

โดดเด่นด้วยผลงานหลากหลาย

มี ‘มิวเซียมพาณิชย์’ ด้วย

ศรัณย์ ทองปาน เล่าเรื่องราว ‘สังคมสยามยุคสร้างตึกเรา’

ศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า ในเดือนธันวาคม 2459 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดพิมพ์ Statistical Year Book of the Kingdom of Siam ปี 2459 ออกมาได้ สมุดสถิติพยากรณ์แห่งราชอาณาจักรสยามนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เคยกระจัดกระจายอยู่กับแต่ละหน่วยงานราชการเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของกรมพาณิชย์ฯ ซึ่งสามารถผลักดันสมุดเล่มนี้ออกมาได้ และออกต่อเนื่องอีกหลายสิบปี กลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการศึกษาสภาวะเศรษฐกิจในอดีต

“ในฉบับแรกยังมีหัวข้อไม่มากนัก ฉบับต่อๆ ไปก็จะมีหัวข้อมากขึ้นอีก ตัวเลขสถิติที่เขาสนใจคือ อุตุนิยมวิทยา, ประชากร, การคลัง, การค้าต่างประเทศ, ไปรษณีย์ โทรเลขและโทรศัพท์, รถไฟหลวง, การศึกษา, ศาลยุติธรรม, การเกษตร, ฝิ่น, เหมืองแร่ และมาตราชั่งตวงวัด”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเล่าถึงงานของกระทรวงพาณิชย์อีกว่า มีการจัดตั้งมิวเซียมพาณิชย์ขึ้น รวบรวมเก็บตัวอย่างสินค้าต่างๆ ทั้งในรูปแบบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เช่น ท่อนไม้ กะลามะพร้าว เครื่องปั้นดินเผาและอื่นๆ เพื่อจะเป็นตัวอย่างว่า สยามผลิตอะไรได้บ้าง มีสินค้าชนิดไหนพร้อมนำเสนอกับโลก โดยในระยะแรกไปเช่าที่ของเยอรมันคลับ หรือ The Deutscher Klub ที่ถนนสุรวงศ์ ทำเป็นมิวเซียมพาณิชย์ หรือ Economic Museum

นำชมโครงสร้างห้องใต้หลังคา

นอกจากนี้ มีการตั้งแผนกรุกขชาติขึ้น ขอบเขตของงานคือสำรวจพันธุ์ไม้ทั่วราชอาณาจักรว่าสามารถแปรรูปสินค้าอะไรจากต้นไม้เหล่านั้น หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอะไรได้บ้าง ผู้บังคับบัญชาคนแรกคือนายแพทย์ เอ. เอฟ. ยี. คาร์ หรือหมอคาร์ แพทย์ชาวไอริช ซึ่งสำเร็จการศึกษาทั้งวิชาแพทย์และพฤกษศาสตร์

“หมอคาร์ได้เข้ามาทำงานด้านการสำรวจพันธุ์ไม้ ได้สำรวจป่าเกือบทั้งประเทศ แล้วส่งตัวอย่างของพืชพันธุ์ในไทยไปทำพฤกษานุกรมวิธานในอังกฤษ และตัวอย่างที่หมอคาร์ส่งไปยังเป็นคลังความรู้ต้นไม้ไทยที่สมบูรณ์ที่สุดอันหนึ่งในโลก เราจะเห็นความล้ำยุค แหวกแนว ของการเกิดขึ้นของกรมพาณิชย์ฯ ว่าเขาสนใจหลากหลายขนาดไหน”

อีกผลงานสร้างชื่อให้กรมพาณิชย์ฯ คือ ‘ศาลาแยกธาตุ’ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นหน่วยงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่การตรวจความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินที่เอามาใช้ทำเหรียญกษาปณ์ โอนย้ายเมื่อตั้งกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตั้งตัวเป็นแล็บกลาง หน่วยงานกลางของรัฐบาลในการทำงานวิเคราะห์ด้านเคมีร่วมกับตำรวจ อัยการ คือการวิเคราะห์หายาพิษในคดีฆาตกรรมต่างๆ, วิเคราะห์ส่วนประกอบเคมี และงานอนุรักษ์โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์

จัดบรรเลงดนตรีสด

ไร้เอกสารให้ตรวจสอบ

หนังสือพิมพ์ลงวิจารณ์ งบล้ำศึกษาธิการ 3 เท่า

ศรัณย์ เผยว่า หนังสือพิมพ์ฉบับ 19 มิถุนายน 2465 หรือ 100 ปีมาแล้ว มีข่าวเปิดกระทรวงใหม่ การส่งมอบตึกให้กับทางกระทรวงพาณิชย์ ฉะนั้นเดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่ครบรอบ 100 ปีของตึกเสร็จจริงๆ นอกจากนี้ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ร่วมยุคยังให้ข้อมูลบางอย่างซึ่งไม่พบในเอกสาร คือตึกนี้ราคาเท่าไหร่ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทย 21 กันยายน พ.ศ.2465 กล่าววิพากษ์วิจารณ์การใช้เงินของรัฐบาล ว่า

‘สร้างกระทรวงพาณิชย์ ประมาณ 400,000 บาท เช่นนี้… กิจการไม่ได้เจริญด้วยอยู่ตึกหรืออยู่เรือนไม้ การงานจะเจริญด้วยกิจการแลบุคคลที่กระทำต่างหาก แลแม้จะปลูกสร้างที่ไม่ประณีตนักก็จะได้การงานเท่ากัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สร้างได้โดยราคา 100,000 บาท อยู่ได้ทั้งกระทรวง แต่กระทรวงพาณิชย์มีราคาเกินกว่ากระทรวงศึกษาธิการตั้ง 3 เท่า’

“ตึกกระทรวงพาณิชย์ สร้างเสร็จในปี 2465 ใช้งบประมาณไปประมาณ 400,000 บาท แล้วราคานี้มันเยอะแค่ไหน ปีนั้น ทองคำราคาบาทละ 22.50 บาท จะซื้อทองได้ 17,777.77 บาท ถ้าเทียบเป็นทองบาทละ 30,000 ในปัจจุบัน ยังไม่คิดเงินเฟ้อจะเท่ากับ 550 ล้านบาท และยังใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการระดับอธิบดีในปี 2465 ซึ่งมีเงินเดือนละ 800 บาท ได้ 41 ปี” นอกจากนี้ ศรัณย์ บอกด้วยว่า อาคารแห่งนี้มีความแปลกประหลาดหลายประการ

“กระทรวงพาณิชย์เป็นอาคารที่แปลกประหลาดมาก เพราะในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แทบไม่ปรากฏเอกสารหนังสือโต้ตอบทางราชการที่เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในการก่อสร้างอาคารเลย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งงบประมาณ ประกวดราคา สัญญาก่อสร้าง วางศิลาฤกษ์ ขั้นตอนการทำงาน รายละเอียดเรื่องคนงาน วัสดุก่อสร้าง หรือการเบิกจ่าย แม้กระทั่งชื่อสถาปนิก”

แผ่นโลหะกลมรูปคาดิวซุสสัญลักษณ์ของเทพแห่งการค้าขาย

เครื่องวัดชั่งตวง สัญลักษณ์กระทรวง

ยุค ‘ราชการสมัยใหม่’

ศรัณย์ ไล่เรียงเรื่องราวจนถึง เดือนสิงหาคม ปี 2463 ว่า มีประกาศพระบรมราชโองการตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ขึ้น ยกฐานะของกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการ เรียกว่าสภาเผยแผ่พาณิชย์ ซึ่งว่าโดยความคิดอาจเทียบเคียงได้กับสภาพัฒน์ในยุคหลัง ตอนนี้จาก กรมสถิติพยากรณ์ มาสู่กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ก็ยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงพาณิชย์

จากนั้น ปัญหาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทันทีว่า ข้าราชการของกระทรวงนี้ จะใช้รูปอะไรเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวง เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึงปรึกษากับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านทรงเสนอแนะให้ใช้รูปเครื่องวัดชั่งตวงอันเป็นหลักของการค้าขาย คือ ลูกตุ้ม ไม้วัด และทะนานตวงข้าว

“ตราของกระทรวงพาณิชย์ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของราชการสมัยใหม่ซึ่งไม่ได้อ้างอิงต้นธารอำนาจมาจากปรัมปรา คติเหนือธรรมชาติอีกต่อไป แต่อำนาจมาจากหน้าที่ ซึ่งวางอยู่บนหลักการ อันได้แก่ ความเที่ยงตรงเป็นมาตรฐาน เป็นวิทยาศาสตร์ โปร่งใส วัดชั่งตวงตรวจสอบได้ เราก็จะเห็นว่าตราของกระทรวงพาณิชย์มันต่างออกไปจากตราของกระทรวงอื่นๆ ในโลกยุคเดียวกัน”

ศรัณย์ทิ้งท้ายว่า ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงในระดับชนชั้นสูง แต่น่าจะเป็นความรู้สึกร่วมกันของสังคม ว่ากรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งเมืองไทยทั้งหมดว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของความเปลี่ยนแปลงก้าวทันนานาอารยประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image