เปิดแฟ้ม ปัดฝุ่น ‘กรุงเทพศึกษา’ ก่อนยุคผู้ว่าฯ ชื่อชัชชาติ 16 ปีแห่งความหลัง ปูทาง ‘กรุงเทพมิวเซียม’

เสมือนถูกทิ้งให้อกหัก ค้างๆ คาๆ ในหัวใจมานานอย่างน้อย 16 ปี ราวกับบทเพลงดัง 16 ปีแห่งความหลังทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น

เอกสารกรุงเทพศึกษา ชิ้นแรก เมื่อ พ.ศ.2549

สำหรับการก่อร่างสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ’ ซึ่งเคยมีการ ‘กรุยทาง’ อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเป็นเอกสารข้อมูลความรู้ภายใต้โครงการ ‘กรุงเทพฯศึกษา’ ใน พ.ศ.2549 ด้วยความคาดหวังของนักคิด นักเขียน นักวิชาการหลายต่อหลายราย ไม่ใช่แค่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คอลัมนิสต์ไม่ชอบติดกระดุมบนท่านนี้คือผู้หยิบโทรโข่งส่งเสียงผ่านข้อเขียนมากมายในการผลักดันประเด็นดังกล่าวมาเนิ่นนาน

หาใช่เพียงการออกมานำเสนอไอเดียล่าสุดในยุค ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำลังเดินหน้าย้ายศาลาว่าการ กทม.จากเสาชิงช้าไปยังดินแดงยกแผง แล้วจะรีโนเวตศาลาว่าการฯเสาชิงช้าให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์เมือง’ โดยไม่กี่วันที่ผ่านมาสุจิตต์ ชี้เป้าในด้านเนื้อหาว่า ควรเริ่มต้นด้วยคำถาม ‘กรุงเทพฯมาจากไหน?’ และ ‘คนกรุงเทพฯคือใคร?’

ที่สำคัญ ต้อง ‘แหกคอก นอกกรอบ’ ไม่อย่างนั้น ไม่มีคนดู อย่าใช้เขตจังหวัดตีกรอบ แต่ต้องใช้ ‘ความเป็นกรุงเทพฯ’

Advertisement
ภาพลายเส้นประกอบวอล์กกิ้งทัวร์ 16 ปีก่อน ย่านผ่านฟ้า-ประตูผี

นอกจากนี้ ไม่ควรคิดเพียงการจัดแสดงในตัวอาคารศาลาว่าการฯเดิม แต่ต้องคิดภาพรวมทั้งย่าน ซึ่งสามารถใช้เป็นเส้นทาง ‘วอล์กกิ้งทัวร์’ โดยมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ซึ่งถือว่าตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ และศูนย์กลางของประชาชนตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

“ศูนย์กลางของรัฐอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามฯ และสนามหลวง ส่วนวัดสุทัศนเทพวรารามฯ และย่านเสาชิงช้าคือศูนย์กลางของเมือง” สุจิตต์อธิบาย พร้อมแตะเบรก ไม่ควรใช้คำ ‘พิพิธภัณฑ์เมือง’ ควรใช้คำว่า ‘มิวเซียม’ ทับศัพท์ Museum ซึ่งให้บรรยากาศของความเป็น ‘สากล’ บนแนวคิด ‘คนเท่ากัน’ ให้เป็น ‘กรุงเทพมิวเซียม’

พูดง่ายๆ ว่า ต้องทำให้แตกต่างจาก ‘ภาพจำ’ ของคำว่า ‘แห่งชาติ’ ในนิยามของชาติที่ไม่สอดคล้องสังคมโลก

Advertisement

ตัดภาพไปที่ ชัชชาติ ก็ประกาศ ‘น้อมรับ’ แนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่ต้อง ‘มีชีวิต’ ไม่ได้อยู่แค่ในตึก

“เดี๋ยวต้องไปคุยกับท่านหน่อย ก็ต้องน้อมรับว่าท่านเป็นกูรูด้านประวัติศาสตร์ ด้านชุมชน ที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต คงไม่ได้อยู่แค่ในตึกอย่างเดียว มันควรจะกินขอบเขตครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ขอบคุณท่านอาจารย์สุจิตต์ที่กรุณาให้ความเห็น เดี๋ยวจะแวะไปกราบท่านแล้วจะได้คุยรายละเอียดกัน” ผู้ว่าฯฉายาแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ตอบขณะลงพื้นที่แก้ปัญหาอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคชัชชาติ ดังที่เกริ่นมาข้างต้นว่า เคยมีโครงการ ‘กรุงเทพฯศึกษา’ ซึ่งเจ้าของโปรเจ็กต์หาใช่ใครอื่น หากแต่เป็น ‘กรุงเทพมหานคร’ ยุค อภิรักษ์ โกษะโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ

จัดทำและเผยแพร่ เอกสารวิชาการ อย่างน้อย 3 ครั้ง ในนาม สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

โดยใช้ข้อมูลอ้างอิงสนับสนุนจาก โครงการสถาบันสุวรรณภูมิ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปรากฏชื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการกรุงเทพฯศึกษา กรุงเทพมหานคร 22 ราย ประกอบด้วยรองผู้ว่าฯในยุคนั้น เป็นที่ปรึกษา พร้อมด้วยนักวิชาการชื่อดังมากมาย ชวนให้วาดหวังถึงอนาคตของกรุงเทพฯ ที่ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ ในทางตรงข้าม คือการนำเรื่องราวของวันวานมาสร้างพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ทว่า สุดท้าย เงียบหายไปอย่างน่าเสียดาย หลงเหลือพ็อคเก็ตบุ๊ก แผ่นพับ แผนที่ เอกสารวิชาการไว้เป็นร่องรอยหลักฐานการเคยมีอยู่ของโครงการดังกล่าว

ว่าแล้ว มาลองเปิดทีละหน้า หมุนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน พินิจเอกสารภายใต้โครงการดังกล่าว

เปิดตัว ‘กรุงเทพศึกษา’ 4 ขอบข่าย ใช้ ‘ประวัติศาสตร์’ แกนหลักเรียนรู้

‘คนกรุงเทพฯ’ ในตลาดท่าเตียนยุคต้นๆ (ภาพจากหนังสือในโครงการกรุงเทพฯศึกษา 2549)

พ.ศ.2549 โครงการกรุงเทพฯศึกษา เปิดตัวภายใต้แนวคิด ‘เรียนรู้อดีต มารับใช้ปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต’ ปักธงในเดือนมิถุนายน มุ่งหมายจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยรูปแบบหลากหลาย ให้คนกรุงเทพฯ และคนทั้งประเทศ ทุกเพศทุกวัย เรียนรู้ และเข้าใจกรุงเทพฯ ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองการปกครอง และชุมชนท้องถิ่น โดยยึดประวัติศาสตร์เป็นแกนการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยกิจกรรม ‘กรุงเทพฯศึกษา ครั้งที่ 1’ ในธีม ‘กรุงเทพฯศึกษา : พารู้จักกรุงเทพฯเพื่อรู้รักกรุงเทพฯ’

โครงการดังกล่าว มีการระบุ 4 ขอบข่ายงาน ว่าประกอบด้วย

1.การพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นสหวิทยาการ เกี่ยวกับกรุงเทพฯ เพื่อเป็นพื้นฐานของการจัดการกระบวนการเรียนรู้ ‘กรุงเทพฯศึกษา’

2.การพัฒนาผู้นำการเรียนรู้ อาทิ ครู จนท. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การท่องเที่ยว กทม. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงประชาชนทั่วไป

3.การพัฒนาการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ด้วยการเผยแพร่ผ่านเอกสาร คู่มือ และสื่อต่างๆ

4.การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมทัศนศึกษาเชิงประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตามเส้นทางต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ข้อมูลนี้ปรากฏในเอกสาร “กรุงเทพศึกษา” ที่มีปกหน้าและหลังเป็นภาพแผนที่กรุงเทพฯ ปกในฝั่งซ้าย พิมพ์นาม

‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’

เคียงคู่ตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และภาพลานคนเมืองอันมีศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า ตระหง่านเบื้องหลัง

ขบวนแห่พระยายืนชิงช้า จากหนังสือ ‘สงกรานต์’ พิมพ์ในโครงการกรุงเทพฯศึกษา เมษายน 2550 จำนวน 5,000 เล่ม

เอกสารชิ้นเดียวกัน ยังเปิดเรื่องด้วยความเป็นมาของกรุงเทพฯว่า นอกจากเป็นราชธานีของกรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองหลวงของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สุวรรณภูมิ’ ฉะนั้น กรุงเทพฯจึงเป็นแหล่งหลอมรวมผลพวงทางสังคมและวัฒนธรรมของยุคสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ราว 2,000 ปีมาแล้ว โดยผ่านพัฒนาการมาจากรัฐโบราณต่างๆ เช่น ทวารวดี กรุงศรีอยุธยา เป็นต้น

ความเป็นมาแท้จริงของกรุงเทพฯ เริ่มจากชุมชนริมแม่น้ำลำคลองอันเป็นเส้นทางคมนาคม-การค้า ระหว่างบ้านเมืองภายในกับทะเลสมุทรอ่าวไทย ชุมชนเหล่านั้นมีอายุร่วมสมัยกับรัฐอยุธยา-สุโขทัย ไม่น้อยกว่า 500 ปีมาแล้ว อยู่ในคลองบางกอกน้อย-บางกอกใหญ่ แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็น ‘ย่านบางกอก’ เป็น ‘กรุงธนบุรี’ จนก้าวหน้าเป็นกรุงเทพมหานครทุกวันนี้

เนื้อหาภายในเอกสารรวม 55 หน้า เล่าความเป็นมาของกรุงเทพฯ พัฒนาการอันสืบเนื่องยาวนาน นามเดิมแรกสถาปนา ‘กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา’ มหรสพคบงันและการละเล่นที่ชี้ให้เห็นถึงร่องรอยหลักฐานด้านความคิด ความเชื่อ เป็นต้น

กทม.เคยพิมพ์ ‘ลิเก ป้อมมหากาฬ’ ก่อนรื้อชุมชนใน 12 ปีต่อมา

ลิเกคณะเพชรปาณี มหรสพรัตนโกสินทร์ ถือกำเนิดที่กรุงเทพฯ ในชุมชนป้อมมหากาฬที่ถูกกทม.รื้อเมื่อปี 2561

อีกเอกสารต้องปัดฝุ่น จัดพิมพ์ภายใต้โครงการกรุงเทพฯศึกษาในเดือนสิงหาคม ปี 2549 เช่นกัน โดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘กรุงเทพฯศึกษา ครั้งที่ 2’ ชื่อว่า ‘ลิเก มหรสพกรุงรัตนโกสินทร์ มีกำเนิดในกรุงเทพฯ’ หน้าปกเป็นภาพถ่ายเก่าวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ที่ป้อมมหากาฬ เนื้อหาภายใน เล่าว่า คนกรุงเทพคือใคร? ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่สุจิตต์ชี้เป้าชัชชาติให้เริ่มต้นด้วยประเด็นดังกล่าว หากจะทำมิวเซียมให้ผู้คนเรียนรู้เรื่องราวของเมืองหลวงแห่งนี้

นอกจากนั้น นำเสนอเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับลิเก ซึ่งมีชุมชนป้อมมหากาฬเป็นฉากสำคัญ ทั้งยังชวนให้มองเห็นภาพกว้างของพื้นที่และย่านต่างๆ โดยรอบ ดังเช่นที่สุจิตต์แนะผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันว่า ย่านที่ตั้งศาลาว่าการฯเสาชิงช้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอยู่แล้วโดยธรรมชาติ การทำมิวเซียมจะยิ่งทำให้คึกคัก หากจัดให้ดี ให้มีความหลากหลาย จะสามารถก่อให้เกิดรายได้ในชุมชนโดยรอบ ทั้งย่านเสาชิงช้า ย่านประตูผี และใกล้เคียง เป็นที่ตั้งของวัดสำคัญ ซึ่งนอกจากวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ยังมีวัดเทพธิดารามฯ และวัดราชนัดดารามฯ รวมถึงวัดมหรรณพารามฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการตีพิมพ์ ‘แผนที่ทอดน่องท่องเที่ยว (Walking Tour) ทางวัฒนธรรมชุมชนป้อมมหากาฬ’ อีกด้วย

2 เดือนต่อมา อาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม-อาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2549 มีการเผยแพร่ เอกสารวิชาการ กรุงเทพศึกษาครั้งที่ 3 เรื่อง ‘ลอยกระทง แม่พระคงคา ป้อมมหากาฬ งานภูเขาทอง คูคลองพระนคร (มหานาค-โอ่งอ่าง-บางลำพู) พร้อมอีเวนต์ฟื้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบริเวณป้อมมหากาฬ สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน ถนนมหาไชย ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการกรุงเทพฯศึกษา

ทว่า อีก 12 ปีต่อมา หลังเผยแพร่พ็อคเก็ตบุ๊กรวมถึงแผนที่ดังกล่าวซึ่งมีชื่อ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ปรากฏบนปกหน้าอย่างโดนเด่นว่าเป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ รวมถึงการจัดกิจกรรมอย่างครึกครื้น

กรุงเทพมหานคร เข้ารื้อถอนชุมชนชานพระนครอย่างป้อมมหากาฬ ในพุทธศักราช 2561 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน โดยการต่อสู้ในช่วงท้าย หนึ่งในผู้ร่วมขบวนชาวบ้าน มีชื่อว่า ศานนท์ หวังสร้างบุญ คนรุ่นใหม่ในวันนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันนี้

ย้อนอ่านสาร ‘อภิรักษ์’ สแกนชื่อกรรมการ ‘บิ๊กเนม’ ร่วมพรึบก่อนพับ

เมษายน 2550 เอกสารภายใต้โครงการกรุงเทพฯศึกษา ผุดขึ้นอีก 1 เล่ม ชื่อว่า ‘สงกรานต์ ขึ้นฤดูกาล (ปีใหม่) ของพราหมณ์สุวรรณภูมิ’ โดยมี สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการเช่นเคย

สิ่งที่น่าสนใจของเล่มนี้ ไม่ใช่แค่เนื้อหา หากแต่เป็นการเปิดเผยรายชื่อ คณะกรรมการโครงการกรุงเทพฯศึกษา อย่างเป็นทางการ พร้อมสารของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นาม อภิรักษ์ โกษะโยธิน เนื้อความตอนหนึ่งว่า

“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการกรุงเทพฯศึกษาจะสามารถสร้าง คลังปัญญา ที่มีคุณค่าให้เราทุกคนได้รู้จักกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี อันเป็นการวางรากฐานให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะต้องรับช่วงดูแลกรุงเทพมหานครต่อไปในวันข้างหน้า เข้าใจและมีจิตสำนึกที่ดีต่อเมือง…”

สารดังกล่าว ประกอบด้วยรายชื่อคณะกรรมการฯอันประกอบด้วยที่ปรึกษา ได้แก่ รองผู้ว่าฯ โดยตำแหน่ง รวมถึงนักวิชาการคนสำคัญ อาทิ สมบัติ พลายน้อย ปราชญ์ผู้ล่วงลับ, เสนอ นิลเดช ปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมไทย, ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร, เอกวิทย์ ณ ถลาง, นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการคนสำคัญของประเทศ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดยมี ศรีศักร วัลลิโภดม นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ รองปลัด กทม. 2 ท่าน เป็นรองประธาน พร้อมด้วย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ส่วนกรรมการ ได้แก่ ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว หรือผู้แทน พร้อมด้วยนักวิชาการชื่อดังอีกหลายราย อาทิ ชาตรี ประกิตนนทการ และสุดารา สุจฉายา เป็นต้น รวมถึง ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ซึ่งต่อมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย

อย่างไรก็ตาม หลังเอกสารชุดดังกล่าวเผยแพร่ ไม่ปรากฏการดำเนินการต่อจากนั้น คล้ายโครงการถูกพับ ไม่มีการเดินหน้าต่อเนื่อง

อีก 9 ปีต่อมา สุจิตต์ เขียนข้อความตอนหนึ่งในคอลัมน์สยามประเทศไทย มติชน ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2559 แนะนำหนังสือ ‘วัดร้างในบางกอก’ จากงานวิจัย ‘หลักฐานศิลปกรรมอยุธยาที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วิเคราะห์ในฐานะชุมชน ปากใต้ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ประโยคสุดท้ายว่า ‘กรุงเทพฯ โชคร้ายที่ไม่มีมิวเซียมกรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ โชคดีที่มีงานวิจัยภาพรวมประวัติศาสตร์สังคมกรุงเทพฯ (เพื่อเตรียมไว้ทำมิวเซียม)’

พาให้นึกถึงโครงการกรุงเทพฯศึกษา ที่ปูทางเข้มข้นด้วยชุดข้อมูลสำคัญของความเป็นกรุงเทพฯ ใน 16 ปีแห่งความหลัง ที่กลับมามีความหวังในวันนี้

วัดสุทัศนเทพวรารามฯ-เสาชิงช้า ศูนย์กลางของเมืองตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ (ภาพถ่ายพ.ศ.2539)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image