เจ้าคุณพิพิธ ผู้ให้ฤกษ์ประวัติศาสตร์ ‘ตรึงหมุด’ พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9

26 ธันวาคม พุทธศักราช 2559

เวลา สิบห้านาฬิกา ห้าสิบเก้านาที เรื่อยไปจนถึงทุ่มครึ่งของวันเดียวกัน

เป็นหนึ่งห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์

หมุดของการก่อสร้างพระเมรุมาศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ถูกปักลงบนท้องสนามหลวง

Advertisement

จากหมุดแรก เรื่อยไปจนครบทั้งเก้าหมุด

พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ “เจ้าคุณพิพิธ” แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม คือ ผู้อยู่เบื้องหลังของการให้ฤกษ์ในพิธีสำคัญดังกล่าว

ศาสตร์แห่งการคำนวณฤกษ์พานาที ธรรมเนียมประเพณีแต่ครั้งโบราณเช่นนี้ มีรายละเอียดมากมายซึ่งล้วนมีที่มาที่ไปอันเปี่ยมด้วยความหมายที่แฝงเร้นชวนให้ศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

เจ้าคุณพิพิธ

– เหตุใดฤกษ์ปักหมุดพระเมรุมาศจึงเป็นช่วงเวลายาวนานหลายชั่วโมง?

ฤกษ์ที่ให้ไปเป็นฤกษ์ยาว เนื่องจากในพิธีมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาประกอบพิธีอยู่ด้วย โดยเป็นฤกษ์ที่คาบเกี่ยวกัน 3 ฤกษ์ คือ 1.ภูมิปาโลฤกษ์ 2.ราชาฤกษ์ 3.เทวีฤกษ์ ถามว่าทำไมต้อง 3 ฤกษ์นี้ เพราะว่าเป็นฤกษ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงพระบารมีอย่างสูง ฤกษ์เหล่านี้เทพยดาดินฟ้าอากาศจะต้องอำนวยฤกษ์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการตรึงหมุด ผู้ประกอบพิธี ต้องถือพรหมจรรย์ด้วย ในที่นี้คือ การสมาทานศีล 8 เรียกว่า ศีลพรหมจรรย์ของฆราวาส ไม่ได้หมายความว่าให้นำสาวพรหมจรรย์มาทำพิธี บริเวณพระเมรุมาศ จะมีมงคล 8 ประการเกิดขึ้น เช่น การบวงสรวงดี, แสงสว่างดี คือ ไม่สว่างเกินไป ไม่มืดเกินไป และขณะที่วางฤกษ์นั้นดี เป็นต้น

– ขั้นตอนการคำนวณฤกษ์?

นำฤกษ์สำเร็จมาหาตัวกลาง แล้วดูวันว่าเป็นพิธีอะไร ใหญ่ขนาดไหน สำหรับงานนี้ เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์มหาศาล ต้องมาคำนวณ และเทียบกับวันอื่นด้วย อีกอย่างคือต้องใช้ความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้อง ความรู้สึกที่เราสัมผัส โหรต้องสัมผัสกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่า ณ เวลานี้คือเวลาอะไร ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้วิเศษนะ แต่การสื่อความรู้สึกจากการที่สัมผัสมาแล้วเป็นร้อยๆ พันๆ งาน มีความสำคัญ พระบารมีของพระองค์ท่าน ทรงอยู่สูงสุดแล้ว ในวันที่ตรึงหมุด ถือว่าเป็นพระบารมีของพระแก้วมรกตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงพระสยามเทวาธิราช และพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก เทวดาภาคพื้นดิน เทวดาในปริมณฑลอากาศ เทวดาบนท้องฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ เทวดาเกี่ยวกับเมฆ ฝน ลม ต้องมาพร้อมกัน

– ไม้ที่ใช้ตอกหมุด ทำไมต้องเป็นไม้ “ตายพราย”?

เพราะโบราณเขาถือ ถ้าไปตัดไม้ที่ยังไม่ตาย เดี๋ยวเทพารักษ์ท่านโกรธ จึงต้องใช้ไม้ตายพราย ซึ่งก็คือไม้ที่ตายโดยธรรมชาติ เช่น กิ่งตาย ต้นตาย ห้ามไปตัดมา พระโกศจันทน์ ก็ใช้ไม้ตายพราย วัตถุมงคลทุกชนิดก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม้ตอกหมุดทั้ง 9 จึงใช้ไม้ตายพรายทั้งหมดตามแบบโบราณ หมุดกึ่งกลางพระเมรุมาศ ใช้ไม้ทองหลาง ส่วนอีก 8 ทิศ ใช้ไม้พะยูง พอตรึงแล้ว มีการใช้สายสิญจน์ที่เสกแล้วมากั้น เรียกว่า กั้นปริมณฑล หมายความว่า 1.คนเข้าไม่ได้ 2.นางโกงที่เร่ร่อนจรจัดเป็นสัมภเวสีก็เข้าไม่ได้ ถือเป็นปริมณฑลมงคล

– ในการเริ่มลงมือก่อสร้าง จะมีพิธีกรรมในลักษณะเช่นนี้อีกหรือไม่?

การลงหมุดครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ส่วนครั้งที่ 2 จะทำเมื่อมีการยกเสาเอก เมื่อจะเริ่มลงมือสร้าง จะตอกไม้มงคลลึกลงไปในดินประมาณ 3 ศอก ตอกลงไปลึกเลย แล้วนำพระพุทธรูปทับไว้ แปลว่า ไม่มีใครถอนขึ้น นอกจากนี้ จะต้องลงไม้มงคล 9 ชนิด กับอิฐ 3 ก้อน และเพชรพลอย ส่วนใหญ่ใช้พลอยหุง ไปหาเม็ดโตๆ เท่านิ้วโป้งมาโปรยปรายลงไป ไม่จำเป็นต้องเก้าเม็ด แต่ใช้เก้าชุดก็ได้ เปรียบว่า พระเมรุมาศ เสมือนภูเขาพระสุเมรุ มีรัตนะเก้าประการ หรือนพรัตน์เก้าประการ ไม้มงคลเก้าชนิด อิฐ ทอง นาก เงิน พิธีสุดท้ายคือ แกนมหาเศวตฉัตร ใช้ไม้ไผ่ ที่ยากคือ ต้องหาไผ่สีสุกที่มีความยาวเพียงพอ นำมาหมักขี้โคลน และย่างไฟ เพื่อให้มอดไม่ต้องการ เพราะเมื่อย่างจะมีกลิ่นไฟ และทำลายเซลลูโลสของไม้ มอดจะไม่กิน อยู่ได้เป็นร้อยปี การยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นก็ ต้องมีกระแจะโบราณไว้ใช้เจิม

– ฤกษ์ที่ใช้ในงานมงคลกับมงคล มีสูตรสำเร็จหรือไม่?

มีสิ โบราณบอกว่าห้ามเผาวันศุกร์ ห้ามตัดจุกวันอังคาร รวมถึงขลิบผมไฟด้วย ห้ามแต่งงานวันพุธ มีกำหนดชายสิบสี่ นารีสิบเอ็ด คือ ผู้ชายห้ามบวชและห้ามสึกขึ้นหรือแรมสิบสี่ค่ำ ผู้หญิงห้ามแต่งงานสิบเอ็ดค่ำ หายนะจะมาเยือน ไม่อย่างนั้นก็เป็นบ้า ในระยะสั้นอาจจะไม่รู้ แต่ระยะยาวจะรู้เลย เพราะอาจมีอุบัติเหตุบ้าง ทำมาหากินไม่เจริญบ้าง ควรจะเจริญก็มีอุปสรรค การหาฤกษ์แต่งงาน อย่าไปชุ่ย เพราะมันหมายถึงชีวิตตัวเรากับครอบครัว อย่าคิดว่า โอ๊ย ! ได้เสียกันแล้ว ยังไงก็ได้ การสวมแหวนหมั้น เจิมหน้าผาก ปูที่นอน ส่งตัว ทุกอย่างให้อยู่คาบเกี่ยวในฤกษ์ และห้ามมีการพักด้วย บางคนขนาดคลอดลูก ยังขอผ่าให้ได้เวลานั้นเวลานี้ เพื่ออะไร บ้าเหรอ? ไม่ได้บ้า มันเป็นความมั่นใจ

– นอกจากฤกษ์เวลานาที แล้วฤกษ์วันดูอย่างไร?

มีตำราสำเร็จ แล้วแต่ว่าใครจะตรวจสอบและประมวลเวลาละเอียดกว่ากัน

– ฤกษ์เป็นเพียงความเชื่อหรือมีส่วนสำคัญกับมนุษย์จริงๆ?

พระพุทธเจ้าเกิดฤกษ์อะไร เบียดกันนาทีเดียว ฟ้ากะดิน คนเกิดวันเดียวกัน แต่เวลาไม่ตรงกัน เบี่ยงนิดเดียว คนหนึ่งเกิดในวัง คนหนึ่งเกิดกลางทุ่ง บางทีอยู่ที่เดียวกัน วันเกิดวันเดียวกัน แต่เวลาเบี่ยง คนหนึ่งอยู่ตึกสูง อีกคนเป็นขอทานข้างตึก อยู่ที่เดียวกัน แต่ต่างกัน ซึ่งเกี่ยวกับบุญกรรมมาสู่ระบบสุริยะจักรวาลให้เกิดมาในเวลานั้น

– ถ้าพลาดฤกษ์ดีไปแล้ว จะแก้ไขอย่างไร?

ก็ต้องแก้อาถรรพ์ มีวิธีละเอียด เช่น การเปลี่ยนชื่อ นอกจากตั้งตามตำราโบราณแล้ว เขาต้องมีอักษรกาลกิณี บริวาร อายุ เดช ศรี อุตสาหะ มูล มนตรี จะเอาอักษรอะไรขึ้นหน้า เดี๋ยวนี้มีการนับคำมาบวกลบอีก แต่มากเกินไป ทำให้ยุ่งยาก โบราณถือว่าเวลาตั้งชื่อ จะต้องขานชื่อเด็ก ตั้งแต่ขานชื่อพ่อแม่ ต่อหน้า ถ้าคลอดที่โรงพยาบาลจะกลับมาอยู่บ้าน พ่อแม่อุ้มลูกมาแล้วให้ปู่ย่าตายายยืนหน้าประตู และขานชื่อ แต่ถ้าตั้งชื่อไปแล้วไม่ถูกกัน ต้องทำพิธีบังสุกุลตาย แล้วบังสุกุลเป็น ต้องสวดใหม่ แล้วให้ขานชื่อใหม่ต่อหน้าพระประธานที่วัด เป็นการเปลี่ยนชะตา เอาชะตาเก่าที่ไม่ดีทิ้งไปเลย และภาวนาชื่อใหม่ในใจไปเรื่อยๆ จนกว่าพระจะสวดจบ และขาน เช่น มารวยหรือมาจน มาเลวหรือมาดี อะไรอย่างนี้ เรียกว่า แก้อาถรรพ์

– การแก้ซับซ้อนมาก ทำให้ถูกฤกษ์ดีกว่า?

ใช่ บางบริษัทมานิมนต์ให้ไปเจิม บอกผมพร้อมหมดแล้วครับ อ้าว! คุณพร้อมแล้ว รออีกวันหนึ่งไม่ได้หรือ ถ้ารอไม่ได้ พอเจิมแล้ว ดี ชั่ว อาตมาเป็นคนรับผิดชอบ ถ้าบริษัทไฟชอร์ต ไฟไหม้ ตายโหง คนรับผิดชอบคือพระที่เจิม ซึ่งยันต์ประจำตัวเขามีอยู่ พระรูปไหนกล้าเจิมด้วยปากกาเมจิก เสี่ยงที่สุด สมมุติถ้ารถที่เจิมไปชน ยันต์ประจำตัวอยู่ ซวยนะ พระรูปนั้นไม่ต้องหากินกันแล้ว (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นต้องดูให้แม่นๆ ไม่งั้นเข้าตัวองค์เจิม พระที่เจิมด้วยแป้ง รอดตัว เผื่อลบ (หัวเราะ)

– ดังนั้นต้องเป็นฤกษ์ที่หามา ไม่ใช้ไปเจิมในฤกษ์ที่ไม่ได้คำนวณ?

ไม่ได้ๆ เสี่ยง ขอให้เห็นใจพระ ว่าไหนๆ คุณดีทั้งหมดอยู่แล้ว อีกนิดเดียว จะสมบูรณ์ หน้าสวยอยู่แล้ว มีไฝขึ้นริมปาก ก็เอาไฝออก จะสวยทั้งหน้า ถูกไหม โครงหน้าดีอยู่แล้ว เอาฝ้าออกอีกนิดเดียวไม่ได้หรือไง

– คำนวณฤกษ์ยามและเจิมบ่อยแค่ไหน?

นานๆ ที เพราะไม่ได้มีอาชีพทางนี้ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งกรมศิลปากรและ ปวช. ลิขิตการช่าง หนึ่งในบริษัทที่ก่อสร้างพระเมรุมาศมาปรึกษาและพูดคุยกันตลอด อะไรที่อาตมารู้ก็แนะนำไป เรื่องงานช่าง บริษัทเขาเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เรื่องโองการบวงสรวงในพิธีตรึงหมุด ก็ได้อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีของกรมศิลปากรมาประพันธ์ให้ ส่วนเรื่องฤกษ์ยาม เขาเห็นว่าทางวัดสุทัศน์เป็นต้นตำรับ

– ทำไมเลข 9 ในไทยจึงเป็นเลขมงคลสำหรับฤกษ์ยาม เพราะพ้องเสียงกับก้าว (หน้า) หรือมีเหตุผลอื่นด้วย?

9 เป็นเลขสูงสุดใน 10 ตัว มันดีของมันอยู่แล้ว อะไรที่เป็นมงคลจะลงด้วย 9 เช่น พระพุทธเจ้ามีคุณ 9 ประการ คือ นวหรคุณ รัตนชาติที่มีคุณค่ามากที่สุดในโลก มี 9 ชนิด เรียกว่า มณีนพรัตน์ ถ้าเลข 9 ไม่สำคัญมาแต่เดิม คงไม่มีการแย่งเลขเก้ากัน มีใครแย่งเลขศูนย์กันไหม ไม่มี

– มงคลที่มีได้โดยไม่ต้องอาศัยฤกษ์ และเจิม?

พ่อกับแม่ ซึ่งเป็นคนที่สำคัญที่สุด ไม่มีอะไรสำคัญเท่าท่านทั้งสอง ถ้าออกรถใหม่ ให้บอกพ่อแม่แต่งตัวหล่อๆ สวยๆ พานั่งรถ ให้ท่านอวยพร ไปกินข้าวมื้อหนึ่ง ไหว้พระวัดหนึ่ง ขับอวดชาวบ้านแถวนั้นสักรอบหนึ่ง อาตมาแนะนำมาเยอะ มีรายหนึ่งพ่อแม่ตายหมดแล้ว อาตมาบอก กระดูกยังมีอยู่ ให้ปูผ้าขาว ไปซื้อพวงมาลัย ถึงเวลาออกรถ เอารถไปจอดที่บ้าน อัญเชิญกระดูกพ่อแม่เข้าไปตั้ง อธิษฐานดังๆ ว่า อยากได้อะไร แล้วไปทำบุญที่วัดอุทิศส่วนกุศลให้ท่านจากนั้นพาท่านมาส่ง พระไม่ต้องเจิม

ถ้าเป็นรถใหม่ ฤกษ์สำคัญ แต่ถ้ารถเก่า เลือก สำคัญกว่าฤกษ์ คือ ต้องดูประวัติว่าเดิมเป็นของใคร อาชีพอะไร เคยประสบอุบัติเหตุไหม เพราะเจ้าของคนแรก ก็ต้องเจิมกับพระมาก่อนแล้ว เจิมแล้วเอาไม่ออกนะ อย่างอาตมา มีโยมถวายรถมา ไม่เคยเจิมสักคัน ถามว่าทำไม ก็เพราะคนจะถวายรถเก่าให้พระ เขาประกอบอาชีพสุจริตรวยไปหมดแล้ว ทำบุญสุนทาน จะขายก็เสียดาย ถวายพระดีกว่า แบบนี้ไม่ต้องเจิม และอย่าปากเสีย ติรถตัวเอง อย่าชมคันข้างหน้าว่าสวยกว่า จงภูมิใจ

– สรุปแล้วฤกษ์ยามเป็นศาสตร์ของใคร พุทธ พราหมณ์?

ตำราเกี่ยวกับฤกษ์ยามมีความละเอียดสูง ผ่านการพิสูจน์ผลมาเนิ่นนาน ศาสตร์การคำนวณ เป็นศาสตร์ของโลก

วิชาโหราศาสตร์ก็เป็นศาสตร์โลกเช่นกัน

เจ้าคุณพิพิธ

โลกใบนี้ยังมี ‘สิ่งฉุกเฉิน’ อีกเยอะ

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ เจ้าคุณพิพิธ มีคำสอนเตือนใจที่นำไปปรับใช้ได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด

“ต้องประเมินผลชีวิตที่ผ่านมา แล้ววางเป้าหมายข้างหน้าที่จะดำเนินต่อไป อนาคตไล่ล่าเรา มันวิ่งมาหาเรา เราวิ่งหนียังพอพ้น แต่วิ่งเข้าชน พ้นยาก การปรับตัวสำหรับอนาคต เป็นเรื่องสำคัญ”

ท่านยังบอกอีกว่า ผู้นำอนาคต คือ เทคโนโลยี แต่ไม่ว่าโลกจะก้าวล้ำไปเพียงใด สัจธรรมยิ่งใหญ่ก็จะยังคงอยู่

ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน

“คนรวยล้นก็จนได้ ถ้าสุรุ่ยสุร่าย ก็หายนะ ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าโลกใบนี้ยังมีสิ่งฉุกเฉินอีกเยอะ โรคภัยไข้เจ็บฉุกเฉิน อุบัติเหตุฉุกเฉิน อุบัติภัยฉุกเฉิน ภัยธรรมชาติฉุกเฉิน ชะตากรรมฉุกเฉิน ต้องเตรียมอาชีพที่สอง และเก็บเงินทองไว้สำรองชีวิตในยามแก่เฒ่า”

เจ้าคุณ ทิ้งท้ายด้วยปริศนาธรรมชวนขบคิดเป็นการบ้านต่อว่า

“พญาอินทรีบินบนฟ้ากินอะไร ร่อนสวยงาม กินสัตว์ดิบ อีแร้งกินซากศพ ใครจะยิ่งใหญ่บนโลกใบนี้ กินไม่เกินสิ่งที่พ่อแม่สอน พ่อแม่ให้เรากินอะไร ให้กินด้วยวิธีการอย่างไร เมื่อโตมาแล้วก็ให้กินอย่างนั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นก่อสร้างร่างกายของเรา ให้เจริญเติบโต และแข็งแรง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image