มหาอำนาจโลกโซเชียล : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

โทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นแค่ “อุปกรณ์” หรือ “เทคโนโลยี” แต่ได้กลายเป็น “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนทั่วโลก

บ้านเราเองติด 1 ใน 100 ประเทศในโลก

ที่มีคนใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าประชากรในประเทศ

ถ้าดูจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือเทียบประชากร (Penetration Rate) ก็จะเห็นจริงตามนั้น โดย ณ ไตรมาส 3/2559 ที่ผ่านมาก็ทะลุ 128% ไปแล้ว

Advertisement

พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทยในปี 2559 สำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ “สพธอ.” ระบุว่า สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ใช้นิยมใช้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมากถึงร้อยละ 85.5 และมีการใช้งานเฉลี่ยที่ 6.2 ชั่วโมง/วัน

(1 ใน 4 ของวัน)

กิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรก คือ การพูดคุยผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก (ร้อยละ 86.8) รองลงมาเป็นการดูวิดีโอผ่านยูทูบ (ร้อยละ66.6) อ่านอีเมล์ (ร้อยละ 55.7) การค้นข้อมูล (ร้อยละ 54.4) และทำธุรกรรมทางการเงิน (ร้อยละ 45.9)

สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ ยูทูบ เฟซบุ๊ก และไลน์

“ยูทูบ” เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนในกลุ่ม GEN Y และ GEN Z นิยมใช้มากที่สุด รองลงมาเป็นเฟซบุ๊กและไลน์

แต่ในมิติของความถี่ “เฟซบุ๊ก” มีปริมาณการใช้งานบ่อยที่สุด รองลงมาเป็นไลน์และยูทูบ

สอดคล้องกับข้อมูลจากหลายแหล่งที่ยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์กโลก “เฟซบุ๊ก” หยิบยกมาอ้างอิงเพื่อสรุปออกมาว่า “ผู้บริโภคชาวไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโทรศัพท์มือถืออย่างเต็มตัว”

62% ของคนทั่วโลกเช็กโทรศัพท์มือถือมากกว่า 30 ครั้ง/วัน

ขณะที่ในประเทศไทย คนใช้เวลาบนสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 160 นาที/วัน

ที่น่าสนใจก็คืออัตราเฉลี่ยการรับชมวิดีโอต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือของคนไทยในขณะนี้สูงถึง 150 นาที/วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 60%

ไม่ต้องแปลกใจที่กระแส “เฟซบุ๊กไลฟ์” และสารพัด “ไลฟ์” จะมาแรงเป็นอย่างยิ่ง

คนไทยรุ่นใหม่ชอบ “ดูและฟัง” มากขึ้น ทำให้การสื่อสารเพื่อเข้าถึงคนในยุคนี้จึงต้องเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่งความยาวของวิดีโอที่คนส่วนใหญ่นิยมดูจะมีความยาวน้อยกว่า 10 นาที

นอกจากนี้ 1 ใน 2 ของคนไทยยังซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน “สมาร์ทโฟน”

ขณะที่ผู้ใช้อีคอมเมิร์ซชาวไทยมีการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสื่อสารสูงสุด โดย 92% ระบุว่าใช้งานเป็นประจำทุกวัน โดยมีความนิยมในการส่งข้อความเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 34% ในปี 2557 สูงขึ้นเป็น 74% ในปี 2558

และ 74% ของคนไทยมีการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีทุกวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 55% (อีกแล้ว)

สำหรับประชากร “เฟซบุ๊ก” ในประเทศไทยในปัจจุบันเกินกว่าครึ่งของประชากรในประเทศ ซึ่งคิดออกมาเป็นค่าเฉลี่ย/เดือน มีคนไทยใช้งานเฟซบุ๊ก 44 ล้านคน แต่ถ้าคิดเป็นในแต่ละวันจะอยู่ที่ 30 ล้านคน

หากจำเพาะมาที่การใช้ “เฟซบุ๊ก” ผ่านโทรศัพท์มือถือจะมีมากถึง 42 ล้านคน/เดือน และ 29 ล้านคน/วัน จึงไม่แปลกที่กรุงเทพมหานคร ณ ประเทศไทยจะติด 1 ใน 10 มหานครแห่ง “เฟซบุ๊ก”

อาการเสพติดมือถือที่ลามไปทั่วโลกทำให้มีโรคใหม่ที่เรียก “โนโมโฟเบีย” เกิดขึ้น โรคที่ว่าคือโรคขาดมือถือไม่ได้ เพราะกลัวขาดการติดต่อสื่อสาร

ในแง่มุมของการค้าการขาย โทรศัพท์มือถือได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างมาก

โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วน 27% ของการซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซทั้งหมด และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย

2 ใน 3 ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค้นหาสินค้าต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือ

และ 1 ใน 2 ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ยอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นถึง 34% ในปี 2559

หันมาดูสถิติผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันบ้าง?ณ เดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ 282 ล้านคน/เดือน โดย 95% ใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ย/วัน จะอยู่ที่?172 ล้านคน/วัน

สำหรับในประเทศไทยในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตขึ้น 15-20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.3-2.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) ทั้งมีการคาดการณ์ด้วยว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยจะขยายตัวมากกว่าสามเท่าภายในปี 2563 ด้วยมูลค่า 1.38 แสนล้านบาท?(ข้อมูลจาก DHL)

การเติบโตของการใช้งาน “เฟซบุ๊ก” และโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างจากยุคโมบายเป็นทุกสิ่งทำให้ยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์กโลก”เฟซบุ๊ก” ไม่รีรอที่จะเข้ามาแสวงหาช่องทางทำเงินในบ้านเราอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการแต่งตั้งผู้บริหารประจำเป็นประเทศไทย

“จอห์น แวกเนอร์” กรรมการผู้จัดการ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย คนแรกกล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการค้นหาและเชื่อมต่อกับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

โดยกว่า 70% ของเส้นทางการซื้อสินค้าในประเทศไทยล้วนมีโทรศัพท์มือถือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจในไทยจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวให้รวดเร็วขึ้น ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือเข้าถึงผู้คนในทุกขณะของพฤติกรรมการซื้อสินค้า ซึ่งมีรูปแบบที่ซับซ้อนและไม่ตายตัว ทั้งการสร้างแบรนด์สินค้า การกระตุ้นความต้องการซื้อ และการเพิ่มยอดขาย

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” ระบุว่ามีเป้าหมายชัดเจนที่จะผลักดันให้ธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโตและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 44 ล้านคนที่มีอยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่างๆ ในไทยในปัจจุบันยังใช้เงินกับสื่อดิจิทัลเพียงแค่ 1% เท่านั้น แต่ใช้เงินกับสื่ออย่างทีวีมากถึง 69% ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ดูทีวีน้อยลงมาก ซึ่งช่องว่างดังกล่าวทำให้สื่อดิจิทัลมีโอกาสเติบได้อีกมาก

เราอาจไม่ได้เป็นมหาอำนาจของโลกด้านอื่น แต่ถ้าดูจากความนิยมในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กของคนไทยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราไม่เป็นรองใครในเรื่องนี้ ทีนี้ก็คงอยู่ที่ว่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้แค่ไหนและอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image