คอลัมน์ไทยพบพม่า : ความตายของทนายฝีปากเอก กับราคาของความปรองดองในพม่า

ประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมพิธีศพของอูโกนี, 31 มกราคม 2560 (ภาพจาก The Myanmar Times)

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในพม่า เมื่อ อู โก นี (U Ko Ni) ทนายความชื่อดังและที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคเอ็นแอลดีวัย 65 ปี ถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจที่สนามบินแห่งชาติเมืองย่างกุ้งในช่วงค่ำวันที่ 29 มกราคม ภายหลังเดินทางกลับจากการร่วมสังเกตการณ์กระบวนการสร้างสันติภาพและการปรองดองในอินโดนีเซีย

อู โก นีที่กำลังอุ้มหลานชายอยู่แนบอกถูกยิงที่ศีรษะในระยะประชิดและเสียชีวิตทันที คนขับแท็กซี่ที่เห็นเหตุการณ์รีบเข้าไปจับกุมคนร้ายแต่ก็ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต 1 คน แม้คนร้ายจะถูกควบคุมตัวได้ในเวลาต่อมา แต่เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายและมูลเหตุของการก่อเหตุน้อยมาก

ศพของอูโกนีถูกนำไปประกอบพิธีตามหลักศาสนาอิสลามในบ่ายวันต่อมา ฝูงชนหลายหมื่นคนร่วมกันแห่ศพของเขาจากบ้านพักบนถนนที่ 42 ไปฝัง ณ สุสานเยเว ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง ไม่ไกลจากจุดที่เขาถูกยิงเสียชีวิต พม่าเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนามาหลายสิบปี และอาจกล่าวได้ว่าชาวพุทธในพม่าจำนวนมากก็มีทัศนคติที่ไม่สู้ดีนักกับชาวมุสลิม ทั้งที่เป็นชาวมุสลิมโรฮีนจาและชาวมุสลิมเชื้อสาย อื่นๆ แต่กลับมีชาวพม่าจากทุกศาสนาเข้าร่วมพิธีศพของเขาอย่างมืดฟ้ามัวดิน นักวิเคราะห์ชาวพม่าบางคนมองว่าอาจเป็นเพราะ อู โก นีเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของพรรคเอ็นแอลดี และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างดีจากนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคและประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐในขณะนี้ เขาจึงได้รับความเคารพจากประชาชนพม่าทุกภาคส่วน หลังจากที่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558 ไม่นาน

เอ็นแอลดีเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อพรรคไม่ส่งผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิมแม้แต่คนเดียวลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไป แต่ต่อมาอู โก นีกลายเป็นชาวมุสลิมเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในรัฐบาลพม่าและในพรรคเอ็นแอลดี

พระสงห์ถือรูปของอูโกนีนำขบวนแห่ศพ (ภาพจาก The Myanmar Times)
พระสงห์ถือรูปของอูโกนีนำขบวนแห่ศพ
(ภาพจาก The Myanmar Times)

อู โก นีเป็นทนายความมืออาชีพที่ว่าความทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งมาแล้วกว่า 2,000 คดี มีบริษัทรับว่าความของตนเองชื่อ Laurel Law Firm และยังเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนออกมาแล้วหลายเล่ม สำหรับชุมชนชาวมุสลิม เขาเปรียบเสมือนผู้นำที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวมุสลิมด้วย เมื่อไม่นานมานี้เขาเป็นหัวหอกร่วมก่อตั้งสมาคมทนายความมุสลิมแห่งพม่า และเป็นสมาชิกเครือข่ายทนายความแห่งพม่าองค์กรหลังนี้เคยรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง หลังมีข่าวลือว่ารัฐบาลจะขายอาคารที่ทำการศาลสูงอายุกว่าร้อยปีที่สร้างตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองให้นายทุนเพื่อสร้างโรงแรม

Advertisement

อู โก นีมิได้เป็นทนายความต้นแบบและตัวอย่างผู้นำที่ดีสำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น สำหรับชาวพม่าอื่นๆ ที่สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีและกระบวนการสร้างประชาธิปไตย อู โก นีเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ และเป็นคนในรัฐบาลเพียงหนึ่งในไม่กี่คนที่มักวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

เหตุที่ชาวพม่ารักอู โก นี อาจมาจากความรักและเคารพที่พวกเขามอบให้นางออง ซาน ซูจี ก็เป็นได้ เพราะอู โก นี เป็นนักกฎหมายที่ยืนยันและยืนหยัดมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2558 ว่ารัฐสภาพม่ามีอำนาจสามารถระงับรัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ.2551) วรรค 59(F) ที่กีดกันไม่ให้นางออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีได้

การเรียกร้องจากฟากฝั่งของเอ็นแอลดีให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกองทัพ โดยเฉพาะในวรรค 59(F) ชี้ให้เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวจากพรรครัฐบาลและที่ปรึกษาทางกฎหมายอย่างอู โก นี อย่างเต็มที่เพื่อลดทอนอำนาจของกองทัพและเพิ่มอำนาจของพลเรือน วรรค 109(B) ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ยังกำหนดให้สภาพพม่าประกอบด้วยตัวแทนจากกองทัพที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และตัวแทนจากกองทัพมีสิทธิยับยั้ง (veto) การขอแก้รัฐธรรมนูญได้ นอกจากนี้ กองทัพก็มีพรรคการเมืองที่เป็นนอมินีของตน ได้แก่ พรรคยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของเอ็นแอลดี

Advertisement

มีการคาดการก่อนการเลือกตั้งว่าแนวทาง “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” ตามมโนทัศน์ของกองทัพพม่านี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของกระบวนการปรองดองและการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ ตลอดปีที่ผ่านมา

อู โก นีและพรรคเอ็นแอลดีพยายามผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยโจมตีวรรค 59(F) และ 109(B) ดังกล่าว เพราะเขามองว่าพรรครัฐบาลจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญได้ตราบใดก็ตามที่กองทัพยังมีสิทธิวีโต้ และแนวคิดของนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งยังไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก

ผู้ที่ติดตามการเมืองในพม่าช่วงที่ผ่านมาอาจจะสังเกตว่าผู้นำระดับสูงในพรรคอย่าง

นางออง ซาน ซูจี อูวินเทง (โฆษกพรรค) และประธานาธิบดีอู ถิ่น จอ แทบไม่เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งนี้อาจเป็นไปเพื่อลดโอกาสที่สื่อหรือประชาชนจะนำข้อคิดเห็นของผู้นำพรรคไปตีความต่อและยิ่งสั่นคลอนกระบวนการปฏิรูป สื่อพม่าจึงมักมุ่งไปสัมภาษณ์อู โก นี และด้วยความที่เขาเป็นทนายฝีปากกล้า จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะเป็นที่เพ่งเล็งจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายขวาจัดที่เกลียดชังชาวมุสลิมในพม่า และฝ่ายการเมืองที่อาจเสียประโยชน์หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น อู โก นีเคยให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปีที่แล้วว่าหากไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง เอ็นแอลดีอาจเลือกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจผ่านการลงประชามติ แทนที่จะเลือกการแก้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม และเขายังเน้นย้ำว่าเอ็นแอลดีต้องให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนมากกว่าที่จะเลือกปกป้องคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้จะสนิทสนมกับผู้นำระดับสูงของพรรค อู โก นีก็วิพากษ์วิจารณ์พรรคเอ็นแอลดีอยู่บ่อยครั้ง เขามองว่าเมื่อถนนสู่ประชาธิปไตยมีปัญหา พรรคก็ไม่ควรปิดปากตัวเอง และยิ่งควรมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพื่อวิจารณ์กองทัพอย่างเถรตรง

ในขณะที่สื่อทั่วโลกพุ่งเป้าประเด็นสังหารไปที่ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม และมองว่าอาจเป็นการกระทำของฝ่ายขวาจัด สังคมพม่าอีกฝั่งหนึ่งกลับมองว่าสาเหตุของการลอบสังหารอู โก นี ในครั้งนี้เป็นประเด็นเรื่องการเมือง โดยให้ความสนใจกับความพยายามแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 อู ราซัก (U Razak) นักการเมืองมุสลิมน้ำดีถูกลอบสังหารพร้อมๆ กับนายพลออง ซาน และนักการเมืองในรัฐบาลอีก 5 คน ในระหว่างที่ทั้งหมดกำลังหารือเพื่อนำไปสู่การปรองดองและอนาคตของพม่าหลังได้รับเอกราช จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 70 ปีแล้ว แต่สังคมพม่าก็ยังติดกับดักของการปรองดองอยู่ จริงอยู่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพม่าโหยหาประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการปรองดอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image