สถาปนาประมุขสงฆ์สองฝั่งโขง : ธีรภัทร เจริญสุข

เดือนกุมภาพันธ์นี้นับเป็นเดือนมหามงคลต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งชาวไทยและชาว สปป.ลาว เนื่องจากได้มีพิธีสำคัญในการสถาปนาประมุขสงฆ์ของทั้งสองแผ่นดิน คือ พระมหางอน ดำลงบุน ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ (อ.พ.ส.) แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เข้าพิธีมหาเถราภิเษก หรือพิธีฮดสง ขึ้นเป็นสังฆนายกปกครองสงฆ์ลาวลำดับที่ 5 และในฝั่งไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการ อาราธนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ยาท่านใหญ่พระมหางอน ดำลงบุน เจ้าอาวาสวัดไซยะพูม แขวงสะหวันนะเขด ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธาน อ.พ.ส. สืบต่อจากพระมหาผ่อง สะมาเลิก ซึ่งมรณภาพและได้ฌาปนกิจไปเมื่อปีที่ผ่านมา ตามลำดับอาวุโสพรรษาและมติเลือกตั้งของสภาสงฆ์แห่ง สปป.ลาว ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มีอำนาจกำกับดูแลและประสานงานสงฆ์ทั้งปวงบนแผ่นดินลาว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นประธาน อ.พ.ส. ลำดับที่ 5 แห่งการปกครองระบอบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากระบอบสังฆราชแห่งราชอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเดิม ตามคำปรารภในกฎหมายคณะสงฆ์ลาวว่า “พุทธศาสนาจะแยกออกจากชาติมิได้ พุทธศาสนาต้องยังประโยชน์ให้แก่ชาติและประชาชนบรรดาเผ่า”

พิธีมหาเถราภิเษก หรือพิธีฮดสง เป็นพิธีกรรมแต่โบราณดั้งเดิมของชาวพุทธลาว โดยมหาชนไม่ว่าจะมีชนชั้นฐานะใด จะนำเครื่องสักการะบูชามาถวายแด่พระภิกษุที่เป็นที่นับถือสูงสุดของบ้านเมือง แล้วรดสรงน้ำแสดงความความเคารพและถือว่าได้ตั้งพระภิกษุอาวุโสรูปนั้นให้เป็นที่มหาเถระผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรแก่การนับถือเชื่อฟังโดยคุณธรรมที่ดำเนินตามรอยบาทองค์พระพุทธเจ้า

พระมหางอน เป็นพระนักปราชญ์ผู้ร่วมสร้างแนวคิดทางพุทธศาสนาร่วมกับการปฏิวัติในยุคปลดปล่อย โดยรับหน้าที่กล่อมเกลาและให้การศึกษาพุทธศาสนาและแนวคิดชาตินิยมในห้าแขวงทางใต้ของ สปป.ลาว รวมถึงมีสายสัมพันธ์อันดีกับพระอาจารย์สายวิปัสสนากัมมัฏฐานในภาคอีสานของไทย โดยท่านได้ศึกษาวิปัสสนาธุระร่วมสำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ร่วมแสดงพระธรรมเทศนากับพระสงฆ์ในจังหวัดมุกดาหาร นครพนม และสกลนคร เป็นประจำ

Advertisement

พิธีมหาเถราภิเษกยาท่านใหญ่มหางอน ดำลงบุน ที่วัดพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับชาติซึ่งผู้นำประเทศจนถึงชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปเข้าร่วมรดสรงน้ำประมุขสงฆ์องค์ใหม่ของ สปป.ลาวอย่างเป็นทางการ

และในวันถัดมา พุทธศาสนิกชนไทยก็ได้รับข่าวมงคล ถึงการพระราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกในรัชกาลที่ 10 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศาสนิกไทยก็ได้ปีติยินดียิ่งเมื่อเสียงระฆังวัด

พระแก้วดังกังวานขึ้นอีกครั้ง บ่งบอกว่าบัดนี้พุทธจักรไทยได้มีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คอยปกครองดูแลคณะสงฆ์หลังจากได้ว่างลงมาเป็นเวลานาน

Advertisement

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระภิกษุสุปฏิปันโน ได้ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานในสายของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และเคยจาริกธุดงค์ยังภาคอีสานร่วมกับสหธรรมิกพระป่าเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระหนุ่ม อีกทั้งยังเป็นพระธรรมทูตออกศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน

ในวาระมหามงคลอันไทยลาวได้มีประมุขสงฆ์สมบูรณ์นี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีซึ่งพุทธศาสนิกชนทั้งสองประเทศ จะได้สืบต่อความสัมพันธ์อันดีงามในพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาหลักของทั้งสองชาติ กวดขันดูแลพระเณรให้อยู่ในธรรมวินัย รักษาพุทธจักรให้ผ่องใสเป็นสรณะที่พึ่งของชนทั้งหลายสืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image