เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์ กับ 4 ‘รอยต่อ’ คน ‘มติชน’

“เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์”

“เกิดขึ้นมาจากเจตนาของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ต้องการบันทึกประวัติ เรื่องราวของคนหนังสือพิมพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่..”

“..ที่สำคัญ เส้นทางคนหนังสือพิมพ์อีก 17 ท่านยังมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์เพราะทุกท่านคือ รอยต่อ ของประวัติศาสตร์ระหว่าง นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าจนถึงนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่..”

รอยต่อ นี้แหละที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย”

“แม้กระทั่งเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 รอยต่อทั้ง 17 ท่าน ล้วนแต่ต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้…”

Advertisement

นี่คือส่วนหนึ่งของคำนำของหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” โดย เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป บรรณาธิการ ที่ได้อธิบายเจตจำนงในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของ “รอยต่อ” ประวัติศาสตร์ ทั้ง 17 ท่านจากสื่อสำนักต่างๆ สู่สื่อมวลชนรุ่นใหม่

ซึ่งทางทีมข่าวเฉพาะกิจได้เรียบเรียงส่วนหนึ่ง

อันเป็น 4 รอยต่อ คน “มติชน” เอาไว้ ณ ที่นี้

Advertisement
ขรรค์ชัย บุนปาน
ขรรค์ชัย บุนปาน

ขรรค์ชัย บุนปาน : ผู้สร้างอาณาจักรมติชน

ชื่อ ขรรค์ชัย บุนปาน เอ่ยขึ้นจริงๆ แล้วย่อมแพร่หลายและเป็นที่รู้จักในวงการสื่อมวลชน ค่าที่เจ้าของชื่อนั้นมีฝีไม้ลายมือ พิสูจน์ความสามารถไม่รู้กี่แขนงต่อกี่แขนงมาแล้ว

แต่ชัดเจนสุด คือ ตำแหน่งหนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

“ขึ้นชื่อว่ามีอาชีพนักข่าวแล้ว อยู่ตรงไหนก็ต้องทำข่าว ต้องหาข่าวเขียนข่าวเสมอไม่ว่ายุคสมัยและสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร คนทำข่าวก็ยังต้องหาข่าวและเขียนข่าว รูปแบบการนำเสนออาจเปลี่ยนไปบ้าง วิธีการหาก็อาจจะเปลี่ยนไป”

“แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังต้องเขียนอยู่ดี”

เป็นบทสัมภาษณ์ของขรรค์ชัย โดยมี ชุติมา นุ่นมัน เป็นผู้เรียบเรียง

ขรรค์ชัยเป็นชาวราชบุรีโดยกำเนิด จบ ม.6 จากโรงเรียนวัดราชโอรสาราม ม.7-8 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ที่ซึ่งโชคชะตานำพาให้รู้จักกับเพื่อนรักที่ผ่านรอยยิ้มและคราบน้ำตามาด้วยกันจนทุกวันนี้อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ ร่วมสร้างสรรค์งานเขียนและกรุยทางสื่อสิ่งพิมพ์ จนได้รับฉายาในวงการสื่อว่า สองกุมารแห่งสยาม

ในระดับอุดมศึกษา ขรรค์ชัยและสุจิตต์ยังเข้าศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยกัน และในช่วงวันเวลาเหล่านี้เองที่ทั้งสองตีพิมพ์งานเขียนร่วมกันหลายต่อหลายเล่ม กอดคอกับ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เพื่อนรักอีกคนให้ช่วยจัดพิมพ์ให้

และตอนนั้นเองที่เขาได้มีโอกาสพบกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นที่โปรดปรานมาก กระทั่งเมื่อเรียนจบ ขรรค์ชัยจึงตรงไปทำงานกับอาจารย์หม่อมที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐอย่างที่ใฝ่ฝันไว้

ทว่าในขวบปีที่ 27 ขรรชัยและสุจิตต์ถูกไล่ออกจากสยามรัฐด้วยเหตุว่าหัวแข็ง เชื่อมั่นในตัวเองเกินไป

นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง

วันที่ 18 มกราคม 2521 นั่นเอง ที่ขรรค์ชัยและเพื่อน ประกอบด้วยสุจิตต์ วงษ์เทศ และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

สำหรับอนาคต ขรรค์ชัยบอกว่า “กว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์มติชน เราก็ผ่านอะไรมาเยอะ เยอะจนทำให้คิดได้ว่าความจริงของชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง และหากเราจะอยู่ให้ได้เราก็ต้องปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงนั้น”

“ทุกวันนี้รูปแบบการนำเสนอข่าวเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ จะค่อยๆ ตายไปทีละน้อย ตายไปพร้อมกับยุคสมัย ดังนั้นจึงอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง”

“ในอนาคตหนังสือพิมพ์อาจจะมีหรือไม่มีก็ตาม รูปแบบการนำเสนออาจจะเปลี่ยนจากกระดาษเป็นออนไลน์ จะอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเป็นนักข่าว เรายังต้องทำข่าว เพราะผู้คนยังต้องการบริโภคข่าวสารอยู่”

เป็นคำตอบต่ออนาคตของผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน

สุจิตต์ วงศ์เทศ
สุจิตต์ วงศ์เทศ

สุจิตต์ วงศ์เทศ : ดุดัน แหกคอก นอกตำรา

ในวัย 70 ปีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ใช้เวลากับการจิบชาอุ่นๆ ในยามค่ำแทนการร่ำสุรา และเขียนวิพากษ์สังคม การเมืองและวัฒนธรรมผ่านคอลัมน์อันดุเดือด ร้อนแรง สยามประเทศไทย รวมถึงกลอนวันอาทิตย์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ช่วงที่สุจิตต์สอบเข้าคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เขามีโอกาสได้ทำนิตยสารช่อฟ้า ซึ่งนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำหนังสือ เพราะแม้นิตยสารจะเลิกไปแล้วก็ยังขอเป็นลูกจ้างโรงพิมพ์ย่านเฟื่องนคร

เช่นเดียวกับขรรค์ชัยที่ถูกไล่ออกจากสยามรัฐพร้อมกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สองกุมารแห่งสยามเริ่มต้นเปิดโรงพิมพ์พิฆเณศย่านแพร่งสรรพศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2515 รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด และภายหลัง 14 ตุลาฯ 2516 ก็ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ร่วมกับเดอะ เนชั่น โดยสุทธิชัย หยุ่น และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมด้วยอีกราย ก่อนขยับขยายเป็นประชาชาติรายวัน โดยสุจิตต์รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร

“ความจริงผมถนัดไปทางฝ่ายผลิต แต่เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ร่วมก่อตั้งมีมติให้เป็นบรรณาธิการบริหาร ก็จำใจต้องรับทั้งที่ไม่ถนัดงานบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก” สุจิตต์กล่าวกับ น.รินี เรืองหนู และพันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร ในบทสัมภาษณ์

หลังจากผ่านพ้นวิกฤต 6 ตุลาฯ 2519 ที่นักเขียน นักข่าวรุ่นใหม่ ถูกตามล่า จนต้องใช้ชีวิตนอน “คืนละบ้าน” เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย ขรรค์ชัยและเรืองชัยได้ออกหนังสือพิมพ์ใหม่ พัฒนาจนเป็น “มติชน”

ส่วนสุจิตต์นั้นแยกตัวไปทำงานด้านประวัติศาสตร์ตามความตั้งใจที่มีแต่แรกเริ่ม และออกนิตยสารรายเดือนชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ฝ่าหลากอุปสรรคและยืนหยัดอยู่บนแผงจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งเมื่อเป็นบรรณาธิการครบ 25 ปี สุจิตต์จึงขอลาออกจากตำแหน่งในมติชนทั้งหมดเพื่อเดินทาง ค้นคว้า และเขียนนิยายอย่างเต็มที่

กระทั่งทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ของสุจิตต์ก็ยังดุดันไม่แพ้งานเขียน ที่แหกคอกและนอกตำราจนขึ้นชื่อ

และแม้มีผลงานมากมาย แต่สุจิตต์ย้ำเสมอว่าสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ดังนั้นเมื่อถามถึงคำแนะนำต่อนักข่าวรุ่นหลัง สุจิตต์จึงส่ายหน้าบอกว่า ไม่มี และยิ่งไม่ควรเอาแบบอย่างจากเขา แต่ควรเป็นตัวของตัวเองมากกว่า

สำคัญ คือ อย่าหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็น “ฐานันดรที่สี่” และมีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น

เวลานี้สุจิตต์ยังคงมุมานะในการตีแผ่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด เขายังยืนยันว่า

“จิตวิญญาณกู คือ หนังสือพิมพ์รายวัน”

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : กุนซือใหญ่ ค่ายประชาชื่น

แม้จะอยู่ในวัยหลักเจ็ด เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หรือที่คนมติชนเรียกอย่างคุ้นเคยว่า อาจารย์ปั๋ง ยังคงเดินทางเข้าออกที่ “มติชน” เพื่อมาทำงานเป็นประจำแทบทุกวัน

เส้นทางชีวิตของเขาก่อนหน้านี้ผูกพันกับหนังสือพิมพ์มานาน ค่าที่ว่าครอบครัวทั้งพ่อ แม่ และน้า ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์และงานเขียน

เรืองชัยในวัยเด็กเขียนเรียงความได้ดีจนมีโอกาสได้ทำหนังสือรุ่นในช่วงชั้น ม.7-8 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ และได้รู้จักขรรค์ชัย-สุจิตต์ ก่อนที่เรืองชัยจะไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา และพักการเรียนไว้เนื่องจากมุ่งมั่นจะทำนิตยสารช่อฟ้า

ชะตาชีวิตยังขีดให้ได้อยู่กับขรรค์ชัยและสุจิตต์อีกครั้ง เมื่อสองกุมารสยามจัดตั้งโรงพิมพ์พิฆเนศขึ้น ก่อนจะทำหนังสือพิมพ์ รวมประชาชาติรายวัน กับเพื่อนสนิททั้งสอง ซึ่งได้นำพาให้เขาทำหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 และเห็นความรุนแรงด้วยตาตัวเอง

“ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะแถลงอย่างไร เป็นหน้าที่ของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์จะรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น”

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้น หนังสือพิมพ์ถูกปิดตาย เรืองชัยจึงไปบวชที่วัดโสมนัสวรวิหารได้ 7 เดือน ก็กลับมาทำหนังสือพิมพ์รายวัน โดยหนังสือพิมพ์มติชนก็เริ่มขึ้นในปีนั้นเอง (พ.ศ.2521) และเป็นเส้นทางของเขาที่ยาวนานมาตลอด 40 ปี โดยที่ไม่คิดหันเหไปทำสิ่งอื่นใดแล้วในชีวิต

“ความภูมิใจคือ ได้อยู่ในแวดวงในอาชีพที่เรารัก ในกลุ่มงานที่เราชอบ ไม่ต้องมีชื่อเสียง ไม่จำเป็นต้องมีคนรู้จักมากมายก็ได้”

เรืองชัยเน้นย้ำถึงคนที่เดินในเส้นทางหนังสือพิมพ์ว่า ต้องรักในวิชาชีพ ศรัทธาในวิชาชีพ และเชื่อมั่นในวิชาชีพ

ขณะที่คนซึ่งตัดสินใจเข้ามาเดินในเส้นทางนี้แล้วนั้น มี 3 เรื่องที่เรืองชัยอยากฝากไว้ คือ 1.ตระหนักถึงความเป็นวิชาชีพและวิชาการควบคู่กันไป 2.เข้าใจพื้นฐานให้มากขึ้นว่าสื่อยึดถือเสรีภาพประชาธิปไตย อยากได้สิ่งที่เขาปกปิด อยากได้สิ่งที่ถูกต้อง และ 3.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องดูแลสมาชิกสมาคม รวมถึงผู้ประกอบการให้ทั่วถึง

ทั้งหมด คือ ฝันของชายผู้เดินอยู่บนทางสายหนังสือพิมพ์ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ : จากนักกิจกรรม สู่สนามข่าวที่เที่ยงธรรม

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ หรือ “ป้อม” ได้สอบเข้าเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถือเป็นนักกิจกรรมตัวยงในรั้วแม่โดมแห่งนี้

เธอเป็นทั้งสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ สมาชิกวงดนตรีไทย “ต้นกล้า” อันมีงานหลักคือการตระเวนแสดงดนตรีให้กับผู้ชุมนุม และทำให้เธอได้มีโอกาส รู้จักกับ สุจิตต์ และ ขรรค์ชัย เป็นครั้งแรก

นอกจากนั้นเธอยังทำกิจกรรมสังคมและการเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในยุคสมัยที่มีการเรียกร้องชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง

“ตอนนั้นได้ฟังเสียงปืน เสียงระเบิดจากฝ่ายที่มาข่มขู่แทบทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกกลัวหรือท้อถอย เราถือว่าทำตามหน้าที่”

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผ่านพ้น นิธินันท์ได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานเป็นนักข่าวของเธออย่างเต็มตัว และหลังจากทำงานได้หนึ่งปีเต็ม นิธินันท์ก็ย้ายมาทำงานที่หนังสือพิมพ์มติชน ในข่าวด้านวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรมและดนตรี

การทำงานกับมติชนครั้งนั้นยาวนานถึง 10 ปี ก่อนที่ในปี 2535 เธอกลับไปอยู่ที่เดอะ เนชั่น อีกครั้ง

วันนี้ในวัยใกล้เกษียณ นิธินันท์รับคำชวนจากผู้บริหารจากมติชนให้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง เพราะมติชนยังต้องการบุกเบิกงานใหม่ๆ โดยเฉพาะงานด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และยังคงมุ่งมั่นตั้งใจจะทำงานต่อไป โดยไม่เชื่อว่าคนสูงอายุจะไร้ประโยชน์เหมือน “ไม้ที่ตาย” แล้ว

“งานสื่อนั้นถ้าเราเปิดกว้างพร้อมสำหรับการเรียนรู้ใหม่ๆ เสมอ เราจะไม่โง่ คับแคบ แก่และเชย ซึ่งเป็นอันตรายต่ออาชีพมาก”

“คนทำสื่ออย่าหยุดเรียนรู้ อย่ายึดติดแต่โลกเก่าความรู้เก่า พูดในภาพรวมคือควรมีความรู้รอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา”

ทั้งยังฝากถึงเรื่องจริยธรรมสื่อว่า ขอเพียงรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง รอบด้าน เที่ยงธรรม ไม่บิดเบือนให้ร้าย

เพื่อข่าวจะผิดพลาดน้อยที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ หนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์”

ยังอีกหลายเรื่องราว หลากมุมมอง ที่ควรพินิจและเรียนรู้จาก “รอยต่อ” ทั้ง 17 ท่าน เหมือนในส่วนหนึ่งของคำนำที่ว่า

“เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นบทเรียนอันมีค่า..”

คนกับหนังสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image