กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช : การก่อการร้าย ความรุนแรงและฝันร้ายแห่งยุคสมัยใหม่

เสียงระเบิดในสนามบินและสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ย่อมเป็นอีกครั้งที่โลกสะท้านด้วยความหวาดกลัว

ล่าสุด กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หรือ ไอซิส (ISIS) ออกมาอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมนี้

ใช่หรือไม่ว่านี่คือการคุกคามที่อุกอาจและชัดเจนอย่างยิ่งของฝ่ายก่อการร้าย เย็นเยียบและน่าหวาดหวั่นเหมือนยาพิษที่แทรกซึมลงสู่กระแสเลือดของประชาคมโลก

ยิ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในรอบปี นับตั้งแต่เหตุบุกยิงหนังสือพิมพ์ชาร์ลีแอบโด ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงเหตุระเบิดที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ก็ล้วนเป็นเหตุวินาศกรรมที่ไอซิสอ้างตัวว่าเป็นต้นเรื่องทั้งสิ้น จนนำมาสู่การจัดระบบความปลอดภัยที่แข็งขันและแน่นหนาของทั่วโลก

Advertisement

และในพื้นที่ซึ่งกวดขันเรื่องความปลอดภัยเช่นนี้เอง ที่ระเบิดในกรุงบรัสเซลส์ถูกจุดขึ้นมาอย่างลึกลับ ก่อนจะคร่าชีวิตผู้คนไปทั้งสิ้น 34 ราย

นี่เองที่ “กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช” นักวิชาการอิสระด้านการก่อการร้าย มองว่า การสามารถเข้าไปก่อเหตุเช่นนี้ได้ นับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐอย่างหนักหน่วงมากกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผ่านมา และส่งผลสะเทือนต่อประชาชนในระดับที่รุนแรงมาก

ในห้วงยามที่โลกจับตามองการก่อการร้ายอย่างแน่นหนา แต่ยังเกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ได้ จึงนับเป็นการเขย่าขวัญและศ
รัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐอย่างรุนแรง

ต่อวันที่ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ความรุนแรงจากปลายกระบอกปืนนั้นจะชี้ตรงไปทางใด และเพื่ออะไร

เหตุก่อการร้ายที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สะท้อนภาพการก่อการร้ายยุคใหม่หรือไม่?

เราต้องเข้าใจว่า รูปแบบการก่อการร้ายหลังสงครามเย็น เรียกว่าการก่อการร้ายแบบใหม่ ซึ่งต่างจากการก่อการร้ายแบบเก่าตรงที่มีเป้าหมายในการทำให้เกิดเหยื่อจำนวนมาก และเลือกตำแหน่งแห่งที่ซึ่งทำเกิดผลกระทบ เช่นกรณีเมืองบรัสเซลส์คือที่สนามบินกับรถไฟใต้ดินที่ตอบโจทย์ในส่วนนี้ เพราะเป็นที่คมนาคม และพื้นที่เหล่านี้ โดยปกติมีภาพลักษณ์ในการตรวจสอบความปลอดภัยสูงกว่าที่สาธารณะอื่นๆ

ผลกระทบรุนแรงมากแค่ไหน?

เหตุการณ์เกิดหลังจากเหตุที่ปารีสราว 4-5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการการเฝ้าระวังของยุโรปเข้มงวดสูงสุดอยู่แล้ว ยังสามารถเกิดเรื่องได้อีก ฉะนั้น เงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้ผมคิดว่า เหตุการณ์นี้รุนแรงยิ่งกว่าเหตุวินาศกรรมที่ปารีสเสียอีก โดยที่ปารีสนั้นรุนแรงกว่าในแง่จำนวนผู้เสียชีวิตและในแง่ความโหดร้าย เช่น การกราดยิงในโรงละครต่อหน้าเหยื่อ ขณะที่นี่เป็นช่วงที่มีความปลอดภัยเข้มงวดมาก

ทำไมต้องเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม?

สาเหตุหลักของการก่อการร้ายครั้งนี้ที่พูดถึงกันคือเป็นการล้างแค้นการจับกุมนายซาลาห์ อับเดสลาม ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในการก่อเหตุวินาศกรรมที่ปารีส
แต่ผมคิดว่าเหตุผลของการล้างแค้นนายอับเดสลามนั้น ไม่ใช่เหตุผลหลัก เพราะผมไม่คิดว่าไอซิสจะเคลื่อนไหวและก่อเหตุวินาศกรรมในระดับนี้เพื่อล้างแค้นให้คนคนเดียว เพราะขบวนการอย่างไอซิสนั้นรู้อยู่แล้วว่าการก่อเหตุมีความเสี่ยงที่ผู้ก่อเหตุจะเสียชีวิต มีการทำใจไว้แล้วว่าจะต้องตาย การจะก่อเหตุที่บรัสเซลส์เพื่อแก้แค้นนั้น ผมคิดว่าเหตุผลไม่หนักพอ
ถ้าการแก้แค้นให้นายอับเดสลามไม่ใช่ประเด็นหลัก คิดว่าเหตุผลที่เลือกเมืองบรัสเซลส์คือ บทบาทของบรัสเซลส์ในฐานะศูนย์กลางขององค์กรระหว่างประเทศที่มีความก้าวหน้าและแนวคิดที่สะท้อนภาวะสมัยใหม่

ถ้าเราต้องเลือกก่อเหตุประเทศใดประเทศหนึ่งในยุโรปต่อจากปารีส แล้วเราต้องการสร้างเหตุการณ์ให้มีผลกระทบรุนแรงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผมไม่คิดว่าบรัสเซลส์จะเป็นตัวเลือกแรก เพราะต่อจากปารีสแล้วยังมีอีกหลายเมืองใหญ่ที่มีคนมุสลิมซึ่งเป็น Homegrown terrorism อาศัยอยู่เยอะ และเป็นเมืองที่ดังในระดับโลกมากกว่าบรัสเซลส์ มันไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากเหตุผลว่า เมืองบรัสเซลส์เป็นศูนย์กลางของสหภาพยุโรปด้านการเมือง และเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ

ฉะนั้น ถ้าเรามองด้วยบริบทตรงนี้ เมื่อมองย้อนกลับมาว่าเกิดเหตุวินาศกรรมที่ปารีสซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางวัฒนธรรมของสหภาพยุโรป ต่อมาเป็นบรัสเซลส์ที่เป็นศูนย์กลางการเมืองและความมั่นคงของยุโรป ถ้ามาตามกระแสนี้ มีแนวโน้มสูงมากที่จุดเกิดเหตุต่อไปมีโอกาสเป็นเมืองแฟรงก์เฟิร์ตหรือกรุงเฮก ซึ่งเป็นสองเสาหลักของสหภาพยุโรปและโลก

แฟรงก์เฟิร์ตนั้นเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ขณะที่กรุงเฮก-เนเธอร์แลนด์ ค่อนข้างเป็นด้านกฎหมาย แต่ไม่ได้แปลว่าจุดอื่นๆ อย่างโรม หรือลอนดอนจะไม่เสี่ยง เพียงแต่ดูจากกระแสแล้วมีโอกาสที่จะเป็นสองเมืองนี้สูงกว่า

การก่อการร้ายในยุคใหม่ ต่างจากยุคเก่าอย่างไรและทำไม?

การก่อการร้ายที่เน้นสร้างเหยื่อให้เยอะ มีมากขึ้นหลังสงครามเย็น เป็นลักษณะที่ต้องการสร้างเหยื่อจำนวนและเกิดขึ้นในยุคที่โลกไม่เกิดการแบ่งขั้วของสองมหาอำนาจโลกแล้ว
ก่อนสงครามเย็น โลกมีหลายขั้วอำนาจ โดยเฉพาะยุคสงครามเย็นที่เป็นสองขั้วชัดเจนคือสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง อเมริกาเป็นประเทศที่มีอำนาจสูงสุดในการจัดการด้านความมั่นคงทั่วๆ ไปของโลก รูปแบบของการโจมตีของการก่อการร้ายค่อนข้างเปลี่ยนอย่างชัดเจนหลังสงครามเย็น เพราะการต่อสู้เพียงเพื่อแสดงสัญลักษณ์ไม่เพียงพอและไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เกิดการคิดที่จะสร้างเหยื่อจำนวนมากขึ้นมาด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าจะละทิ้งความเป็นสัญลักษณ์ไป

การก่อการร้ายสมัยใหม่ จำนวนเหยื่อที่เยอะขึ้นเป็นปัจจัยหลัก ยกตัวอย่างคือเหตุการณ์ 911 เมื่อปี 2001 ที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่ม มีเหยื่อ 3,000 คน แต่จุดเกิดเหตุนั้นผมคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะตัวอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์หรืออาคารเพนตากอน

แต่ในสัญญะที่เลือกนั้น ก็เลือกที่จะทำให้เกิดเหยื่อจำนวนมากไปพร้อมๆ กันด้วย นั่นคือการก่อการร้ายรูปแบบใหม่

อะไรที่ทำให้โลกหวาดกลัวกองกำลังไอซิสมากขนาดนั้น?

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าไอซิสทำได้ คือทุกครั้งที่เขาขู่ เราจะกลัวมาก เพราะเรารู้ว่ามีเครดิตที่ว่าเขาทำได้จริงภายใต้คำขู่นั้น
สมมติเป็นนายกฤดิกร ไปยืนขู่ฝรั่งเศสว่าเดี๋ยวกูจะบอมบ์หอไอเฟลมึงนะ คงโดนขำใส่หน้าว่าทำไม่ได้หรอก แต่ถ้าเป็นไอซิสพูดก็เป็นคนละเรื่องกันแล้ว เพราะความน่าเชื่อถือในคำขู่อยู่บนฐานของการมีแบ็คอัพว่า มันทำได้จริง ซึ่งนี่แหละคือความจำเป็นที่ต้องแสดงให้เห็นเป็นระยะๆ ว่าทุกครั้งที่ขู่-ซึ่งจริงๆ มันขู่บ่อยกว่าที่มันทำจริงนะ แต่การขู่นี้อยู่บนพื้นฐานของการทำได้จริง
ที่น่ากลัวมากสำหรับผมคือ ผมกลัวว่าจะถึงจุดที่เครดิตของคำพูดของไอซิสจะสูงกว่าเครดิตที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล เครดิตที่รัฐบาลบอกว่าเดี๋ยวฉันจะจัดการกับปัญหานี้ให้ได้ กับเครดิตของไอซิสที่บอกว่าเดี๋ยวฉันจะก่อเหตุในจุดถัดไป คำถามคือตอนนี้ อะไรที่มีน้ำหนักกว่ากันในสายตาของประชาชน

ถ้าวันหนึ่งน้ำหนักในการเชื่อคำพูดของไอซิสมากกว่า ผลที่ตามมาคืออะไร?

แทบจะเรียกว่าเป็นการประกาศชัยชนะของไอซิสต่อโลกสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ แต่ผมคิดว่า โลกเราในวันนี้ยังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่ตราบใดก็ตามที่เรายังใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมอย่างที่เราทำอยู่ จะไปถึงจุดนั้นสักวัน

หลังจากเกิดเหตุที่ปารีส ผมพยายามออกมาบอกว่า การแก้ปัญหาแบบการใช้ The War on Terror หรือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย มันไม่แก้ปัญหา เราเห็นกันตั้งแต่เหตุการณ์ 911 แล้วว่า แทนที่จะทำให้การก่อการร้ายมันน้อยลง แต่กลับทำให้มันมีมากขึ้น ยิ่งไปทำซ้ำรอย รังแต่จะให้ผลแบบเดิม

แต่สุดท้ายก็มีการพยายามบอกกันว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้นโยบายการกักพื้นที่ คือกักให้ความรุนแรงอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น ในตะวันออกกลาง ซีเรีย แล้วผมพยายามอธิบายว่า ธรรมชาติของไอซิสไม่เหมือนการก่อการร้ายยุคเดิม มันมี Homegrown terrorism หรือผู้ก่อการร้ายที่เติบโตในบ้านของคุณเองจำนวนมาก การไปกักให้การก่อการร้ายอยู่แต่ในซีเรียก็มีแต่ทำให้คนเหล่านี้แค้นมากขึ้น

ฉะนั้น คนส่วนใหญ่มองว่าผมเป็นนักอุดมคติ เพราะบอกว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงนั้นไม่ตอบโจทย์ แต่ผมอยากบอกว่า พวกที่คิดว่าคุณจะแก้ปัญหาความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรงที่มากกว่า แล้วหวังให้มันยุติโดยที่ทุกอย่างสันติ คุณนั่นแหละที่อุดมคติมากกว่าผม

ไม่มีทางหรอกที่เราจะใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรงแล้วให้ผลจบที่ความไม่รุนแรงได้ ฉะนั้น เหตุที่เกิดขึ้นที่บรัสเซลส์ก็เป็นการพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า วิธีการเดิมๆ ที่ไปสร้างสงครามขึ้นมา มันไม่แก้ปัญหา ถ้ามันแก้ปัญหา ก็ย่อมไม่เกิดเหตุที่บรัสเซลส์

ขนาดรัสเซียบุกถล่มมากมาย ฝรั่งเศสเอาเครื่องบินไปบอมบ์ไม่รู้ตั้งกี่ชุด สุดท้ายคุณได้อะไรมา คุณก็ได้เหตุการณ์ที่บรัสเซลส์มา

คิดว่าในโลกสมัยใหม่ การศึกษาเรื่องการก่อร้ายมีความสำคัญอย่างไร?

ผมคิดว่าถ้าไม่มีภาวะสมัยใหม่จะไม่มีคำว่าการก่อการร้าย ฉะนั้น สำหรับผมแล้วมันสำคัญ เพราะว่าถ้าคุณคิดจะเป็นประชากรส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่ คุณไม่สามารถที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับการก่อการร้ายได้

แต่ว่าในไทยเองเราอาจไม่ค่อยอินกับเรื่องพวกนี้ และคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งๆ ที่เรามีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นแทบทุกอาทิตย์ในภาคใต้บ้านเรา
ผมคิดว่าส่วนนี้สำคัญกับการมองการเมือง เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเราเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่อย่างแท้จริง ในเรื่องเชิงอุดมการณ์ เชิงความคิดเรายังคงฝังตัวเองอยู่ในโลกก่อนสมัยใหม่อยู่ เราจึงไม่รู้สึกว่าการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องก่อการร้ายเป็นเรื่องที่สำคัญ

คือก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับอาณาจักรหรือแผ่นดิน ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งร้ายต่อเจ้าผู้ปกครอง เพราะว่าแผ่นดินเป็นสมบัติของเจ้าผู้ปกครอง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนทั่วไป เพราะประชาชนเองก็เป็นสมบัติส่วนหนึ่ง การก่อเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นการกระทำต่อเจ้าผู้ปกครองหรือรัฐนั้นๆ ประเทศนั้นๆ

ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แนวคิดตรงนี้มันเปลี่ยนหมด ชีวิตของประชาชนจึงไม่ใช่สมบัติของเจ้าผู้ปกครองอีกต่อไป แต่เป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีผลต่อตัวรัฐมันจึงเป็นการกระทำโดยตรงต่อประชาชนทุกคนในรัฐ และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็มีต่อชีวิตของเราเอง

ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของภาวะสมัยใหม่จึงมีความเชื่อมโยงเป็นอย่างมากกับเรื่องการก่อการร้าย เมื่อเราพูดถึงโลกสมัยใหม่เราจึงปฏิเสธไม่ได้ที่การเรียนรู้และรู้จักการก่อการร้าย

เราสามารถนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายมาเข้าใจสภาพสังคมประเทศไทยในมุมใดได้บ้าง?

เราไม่เคยมีคอนเซ็ปต์การเป็นประชาธิปไตยและไม่เคยก้าวไปสู่จุดของประเทศสมัยใหม่อย่างแท้จริง แนวคิดเรื่องการก่อการร้ายจึงไม่เกิดขึ้นในสำนึกของประชาชนไทย ฉะนั้น เราจะเห็นการก่อการร้ายขึ้นทุกอาทิตย์ในบ้านเราที่ภาคใต้ เราก็ยังนิ่งเฉยได้ จนกระทั่งมันมาเกิดขึ้นที่ราชประสงค์ เราก็สนใจ ตกใจ ตื่นกลัว และผ่านไปสองอาทิตย์เราก็ลืม เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญของเรา ต่างจากกรุงปารีสที่ยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นไม่มีหย่อน

ถ้าผมพูดแบบสุดขั้วอย่างที่สุดคือ ทำไมกลุ่มไอซิสไม่คิดที่จะก่อการประเทศเกาหลีเหนือ การโจมตีที่ออกนอกพื้นที่เป็นการโจมตีท้าท้ายกับประเทศสมัยใหม่ เราจะไม่เห็นไอซิสคิดที่จะโจมตีโซมาเลีย โจมตีลิเบีย หรือเกาหลีเหนือ นั่นเพราะว่ามันไม่จำเป็นจะต้องโจมตี และแทบจะเรียกได้ว่าในสายตาของไอซิส นี่คือกลุุ่มประเทศร่วมอุดมการณ์ก่อนโลกสมัยใหม่ด้วยซ้ำ

ดังนั้น หากเรากลับมองตัวเรา ถ้าจะมีอะไรที่เป็นคุณูปการบางอย่างกับสังคมไทยในตอนนี้ คือเราไม่แลดูเป็นเป้าหมายของไอเอส เช่นเดียวกับที่เขาไม่คิดที่จะโจมตีเกาหลีเหนือ

หนทางแก้ปัญหาการก่อการร้ายในอนาคต?

วิธีการแก้ปัญหาอย่างที่ผมเสนอคือ การพยายามใส่ความเป็นมนุษยนิยมเข้าไปในการแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด วิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้อาจใช้เวลาหลายสิบปี และใช้ความอดทนอย่างสูง แต่มันเป็นวิธีการเดียวที่จะไม่ทำให้เรามาถึงจุดที่เราเองล่มสลาย

เพราะหากวันไหนที่เครดิตทางคำพูดของกลุ่มก่อการร้ายมากกว่าที่คุณเชื่อรัฐของตนเอง นั่นคือวันที่กลุ่มก่อการร้ายประกาศชัยชนะต่อโลกสมัยใหม่ได้ 

02

THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ

“เมื่อเราได้รับบทเรียนและตัวอย่างจากประวัติศาสตร์แห่งการฆ่าฟันกันเองของมนุษย์ เราควรเรียนรู้ที่จะก้าวลัดผ่านขั้นตอนดังกล่าว และเริ่มหาหนทางในการแก้ปัญหาใหม่ โดยไม่ต้องให้ความล่มสลายมาเยือนเราก่อน

นั่นคือบางส่วนจากคำนำในหนังสือเรื่อง “THOU SHALL FEAR : เจ้าจงตื่นกลัว การก่อการร้าย ความรุนแรง และการครอบงำ” หนังสือของกฤดิกรที่กำลังจะวางขายในงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 นี้ บอกเล่าถึงฝันร้ายแห่งยุคสมัยใหม่ที่เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งต่อโลกเสรีประชาธิปไตยที่เราแสวงหา

“ถ้าหวังจะได้อ่านว่ากลุ่มไอซิสทำงานอย่างไร ตรงไหนในโลก คุณไม่ได้เห็นนะ (หัวเราะ)” เป็นคำตอบของชายหนุ่มพร้อมเสียงหัวเราะในลำคอ

“สิ่งที่ผมเขียนถึงคือทฤษฎีแกนกลางของการก่อการร้ายว่า การก่อการร้ายเริ่มอย่างไร ใช้งานอย่างไร เวลาเราบอกว่าเรากลัวการก่อการร้าย แท้จริงแล้วความกลัวเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างไร และเราจะจัดการความกลัวเหล่านั้นอย่างไร”

แน่นอนว่าในเรื่องราวที่ร้อยเรียงกันเหล่านั้น กฤดิกรพยายามเสนอทางออกของการแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่การความรุนแรงเพื่อต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะสำหรับเขาแล้ว นั่นนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะนำไปสู่ความล่มสลายในท้ายที่สุด

“ผมเชื่อหมดใจว่าการแก้ปัญหาการก่อการร้ายด้วยความรุนแรงและสงคราม ไม่มีทางแก้ปัญหาหาได้ ซ้ำร้าย มีแต่ทำให้ปัญหามันหนักหน่วงยิ่งขึ้น”

เป็นคำพูดปิดท้ายที่ตรงไปตรงมาของกฤดิกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image