“จุด” สู่ “เส้น” : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

หนังสือเล่มเรื่อง “ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์” อ่านรวดเดียวจบ

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ มี ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เขียนคำนิยม

เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ขณะที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงปกครองอาณาจักร

ราชวงศ์นี้เริ่มจากพระเพทราชา

Advertisement

ใครที่ชมละครดังบุพเพสันนิวาสคงพอจะตั้งต้นได้ เพราะหลังจากพระนารายณ์มหาราชสวรรคต พระเพทราชา ได้ขึ้นปกครองอยุธยาแทน ระหว่าง พ.ศ.2231-2246

และหลังจากแผ่นดินพระเพทราชาแล้ว เป็นแผ่นดินของ พระเจ้าเสือ หรือ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พ.ศ.2246-2251)

ตามมาด้วยแผ่นดินของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275)

Advertisement

เมื่อ พ.ศ.2275 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จขึ้นครองราชย์ จนกระทั่ง พ.ศ.2301 เสด็จสวรรคต

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ต่อ

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนี่แหละที่ถูกเรียกขานว่า “ขุนหลวงหาวัด” ซึ่ง รศ.ดร.ศานติเติมท้ายตรงชื่อเรื่องว่า “กษัตรย์ผู้เสียสละราชย์”

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัด เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ในหนังสือระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระราชบุตรและพระราชธิดากับมเหสีใหญ่ รวม 7 พระองค์

พระราชบุตร ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง

นอกจากนี้ยังมีพระราชบุตรและพระราชธิดากับมเหสีน้อย รวม 8 พระองค์

สำหรับพระราชบุตร มี เจ้าฟ้าเอกทัศ ซึ่งภายหลังคือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์

และ เจ้าฟ้ามะเดื่อ หรือ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

ที่เหลือเป็นพระราชบุตรองค์อื่นที่มีพระอิสริยยศรองลงไป คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ และเจ้า 3 กรม ที่ประกอบด้วย กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าย้อนความให้ทราบว่า เดิมตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นของ เจ้าฟ้ากุ้ง

แต่ภายหลังเจ้าฟ้ากุ้งต้องโทษถูกโบยจนสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งเจ้าฟ้ามะเดื่อเป็นแทน และให้เจ้าฟ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นพี่ไปบวช

กระทั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จึงได้ครองราชย์ต่อ

แต่พระองค์ทรงครองราชย์ได้เพียง 3 เดือนก็เสด็จออกผนวช

เปิดทางให้เจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์เป็นองค์ต่อไป

แม้จะออกผนวช แต่เมื่อยามบ้านเมืองเผชิญหน้ากับพม่า เมื่อ พ.ศ.2302 พระองค์ก็ลาสิกขาออกมาช่วยรบ

ครานั้นฝ่ายพม่ามีพระเจ้าอลองพญาเป็นแม่ทัพ

พระเจ้าอลองพญา ยึดทำเลตรงบริเวณวัดพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา ยิงปืนใหญ่เข้าเมืองหลวง

ภายหลังเกิดประชวร จึงยกทัพกลับ พระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จออกผนวชอีกคำรบ

เหตุการณ์เหล่านี้หลายคนคงทราบแล้ว

แต่หนังสือเล่มนี้่ยังบอกเล่าเหตุการณ์หลังจากนั้น

บอกเล่าเหตุการณ์หลังกรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อ พ.ศ.2310

บอกเล่าตามเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ผู้อ่านจึงสามารถซึมซาบหลักฐาน และทราบเรื่องราวที่สันนิษฐานในเรื่องต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการกวาดต้อนเชลยไทยสู่กรุงอมรปุระ

ไม่ว่าจะเป็นการแกะรอยตาม “ขุนหลวงหาวัด” เมื่อครั้งกระโน้น

รวมไปถึงบั้นปลายชีวิตของพระองค์

รายละเอียดเหล่านี้ได้บรรจุไว้ในหนังสือชื่อ “ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์”

เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา

ประวัติศาสตร์อาณาจักรอยุธยาเรามักคุ้นเคยเหตุการณ์บางเหตุการณ์

อาทิ เหตุการณ์ตอนต้นกรุง สมัยพระเจ้าอู่ทอง เหตุการณ์ตอนปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เหตุการณ์ตอนเสียกรุงครั้งแรกสมัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เหตุการณ์ตอนกอบกู้อิสรภาพสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เหตุการณ์ตอนติดต่อกับต่างชาติ ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

หรือเหตุการณ์ตอนเสียกรุงครั้งที่สองสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

แต่ความจริงแล้ว ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย

แต่ละเหตุการณ์ล้วนน่าศึกษา น่าเรียนรู้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์หนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ เปรียบได้กับจุดจุดหนึ่งที่ปรากฏอยู่บนเส้น

ไม่ว่าจะเป็นเส้นตรง ไม่ว่าจะเป็นเส้นโค้ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นวงกลม ก็มีจุดเป็นองค์ประกอบ

ดังนั้น หากเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือศึกษาเส้นทั้งเส้นมาแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเส้นตรง หรือเส้นโค้ง หรือเส้นวงกลม

หากมีโอกาสได้ศึกษาลงละเอียดในแต่ละเส้น หรือศึกษาไปยังจุดต่างๆ ที่อยู่บนเส้นนั้น

ก็เปรียบเสมือนกับการศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

แม้ว่าจุดแต่ละจุดจะแลดูสำคัญไม่เท่ากัน แต่แท้จริงแล้วจุดทุกจุดบนเส้นล้วนสำคัญ

เพราะหากขาดจุดใดจุดหนึ่งไป ย่อมทำให้เส้นเส้นนั้นขาดช่วง ไม่สมบูรณ์

ความรู้ที่ควรจะได้ครบก็ขาดไปบางส่วน

ดังนั้น หากมีโอกาสก็สมควรจะได้ศึกษาจุดบนเส้น

ได้ศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์

เหมือนดั่งได้ศึกษาเหตุการณ์ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

เป็นอีกห้วงเวลาที่คนไทยควรรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image